งานไหว้พุทธเจดีย์ในพม่า


ชาวพม่าส่วนมากจะร้องเพลงกล่อมเด็กสั้นๆข้างต้นนี้ได้ เพลงนี้นิยมร้องกันจนคุ้นหูมาแต่เล็ก เด็กวัยซุกซนมักชอบร้องล้อผู้เฒ่าที่เดินหลังโก่งงอให้ขบขัน
งานไหว้พุทธเจดีย์ในพม่า
                               ผู้เฒ่าเอ๋ย                                                                     vz6btWdutv6b
                               หลังโก่งๆ                                                                   -jtd6oNtd6oNt
                               อย่าเพิ่งด่วนตาย                                                          ,glxjOa'NHv6"t|
                               ปีหน้า (เดือน)ตะซองโมง                                             gok'NOa0N-j 9oNgCk'N,6oNt
                               รอดูงาน(ไหว้เจดีย์)ก่อนเอย                                          x:cEdPNHxjv6"t|
ชาวพม่าส่วนมากจะร้องเพลงกล่อมเด็กสั้นๆข้างต้นนี้ได้ เพลงนี้นิยมร้องกันจนคุ้นหูมาแต่เล็ก เด็กวัยซุกซนมักชอบร้องล้อผู้เฒ่าที่เดินหลังโก่งงอให้ขบขัน โดยมิได้ตริตรองคติที่แฝงอยู่ในเนื้อเพลงนัก เพลงผู้เฒ่าหลังโกงดูจะสะท้อนวิถีชีวิตของชาวพม่าที่มีความผูกพันต่อพุทธเจดีย์อย่างลึกซึ้ง จนว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทั้งนี้เพราะชาวพุทธพม่าจะได้รับการปลูกฝังให้กราบไหว้ขอพรจากองค์พระเจดีย์มานับแต่วัยเยาว์ แม้จนวัยร่วงโรย ก็ยังหวังที่จะมีชีวิตอยู่เที่ยวงานไหว้พระเจดีย์จนวาระสุดท้าย
ชาวพุทธพม่ามีพระเจดีย์เป็นที่พึ่งทางใจ ความสุขทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางใจ โอกาสในชีวิต หรือแม้แต่ทรัพย์สินและโชคลาภ มักมีพระเจดีย์เป็นกำลังเกื้อหนุนและเป็นกองบุญให้คาดหวังอยู่เสมอ การไปไหว้พระเจดีย์ในช่วงงานฉลององค์พระ จึงนับเป็นโอกาสอันสำคัญที่ชาวพุทธพม่าไม่ค่อยพลาด เพราะนอกจากจะเป็นช่วงเวลาแห่งการทำบุญสร้างกุศลแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาแห่งความบันเทิง ตลอดจนเที่ยวชมจับจ่ายสินค้าที่เร่มาวางขายกันในงาน  งานไหว้พุทธเจดีย์ในพม่านิยมจัดกันในเดือนตะซองโมง อันเป็นเดือนพ้นฤดูฝน หลังออกพรรษา และหมดภาระจากการเก็บเกี่ยวพืชผลในไร่นา
พม่าเรียกเจดีย์ว่า พยา (46ikt)มีความหมายเทียบได้กับ “พระ” พม่าถือว่าพุทธเจดีย์เป็นองค์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขตเจดีย์ไม่นับเป็นเขตพำนักของสงฆ์หรือชี หากแต่กำหนดไว้เป็นเขตสำหรับปฏิบัติบูชา เพื่อที่ชาวพุทธพม่า ไม่ว่าสงฆ์ ชี โยคี หรือฆราวาสจะมาสวดมนต์ นั่งสมาธิ และขอพร ส่วนงานไหว้พุทธเจดีย์ พม่าเรียกว่าพยาบะแวด่อ (46iktx:cg9kN) คำว่า พยา หมายึง พุทธเจดีย์ ดังกล่าวแล้ว บะแว(x:c) หมายึง งาน ตรงกับคำว่า ปอย ในภาษาคำเมือง ส่วน ด่อ (g9kN) เป็นปัจจัยพิเศษเติมท้ายคำนาม มักใช้กำกับคำบ่งชี้สิ่งอันควรเทิดทูน อาทิ ประเทศ ธงชาติ กองทัพ และพระราชวัง เป็นต้น
ชาวพม่ามักนิยมไหว้พระเจดีย์กันอยู่เป็นนิจ ในเมืองย่างกุ้งมีพระเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ชาวพม่าเคารพศรัทธาสูงสุด ด้วยเชื่อว่ามีพระเกศาธาตุบรรจุไว้ ๘ เส้น หากต้องเดินทางไกล หรือกลับคืนมาจากแดนไกล หรือเพียงมาเยี่ยมเยือนเมืองย่างกุ้ง ชาวพุทธพม่ามักจะต้องมาสักการะพระเจดีย์ชเวดากองเพื่อเป็นศิริมงคล เขตพระเจดีย์ชเวดากองจึงเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มากราบไหว้ขอพรกันอยู่แทบไม่ขาดสาย จนดูประหนึ่งว่ามีงานฉลองพระเกศธาตุไม่เว้นวัน
ชาวบ้านมักหาเวลาว่างมาเที่ยวเจดีย์ บ้างสรงน้ำพระประจำวันที่ตั้งอยู่ตามเชิงเจดีย์ บ้างมาทำบุญปิดทององค์เจดีย์ บ้างมาขอพรจากองค์พระเจดีย์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่รายรอบบนลานเจดีย์ อาทิ พระสิวลี(ia'Nlu;]b) พระอุปคุต(ia'Nfx»869µ) พ่อปู่โพโพจี(46bt46btWdut) และผู้วิเศษที่พม่าเรียกว่าทวดยะเป้า(5:dNixNgxjdN) บ้างมาเที่ยวชมสินค้าและเลือกหาหนังสือธรรมะที่วางขายตามบันไดสู่องค์พระ และบ้างมาดูหมอ หรือมาเดินเที่ยวเล่นในยามว่าง ในแต่ละวัน ตามเขตเจดียสถานในพม่า จึงเป็นทั้งสถานที่ที่ชาวพม่าจะมาทำบุญขอพรและเป็นสถานพักผ่อนหย่อนใจสำหรับชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง
การไปไหว้พระเจดีย์นั้น พม่ามีธรรมเนียมอยู่ว่าทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด จะเป็นสงฆ์ ชี โยคี เจ้าใหญ่นายโต หรือสามัญชน เมื่อเข้าในเขตพุทธเจดีย์จะต้องถอดรองเท้านับแต่เริ่มย่างสู่ทางเข้าเขตเจดีย์นั้น ในประวัติศาสตร์พม่าเคยเกิดกรณีพม่าประท้วงฝรั่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ด้วยฝรั่งไม่ยอมถอดรองเท้าเวลาเข้าเขตพุทธเจดีย์ ชาวพม่าจึงใช้เป็นชนวนต่อต้านอังกฤษที่ปกครองพม่าอยู่เวลานั้น โดยวาดการ์ตูน แสดงภาพฝรั่งชายหญิงสวมรองเท้าขี่คร่อมหลังชายพม่าที่เดินเท้าเปล่าในเขตลานเจดีย์ การสวมรองเท้าหรือถุงเท้าเข้าเขตเจดีย์จึงถือเป็นข้อห้ามสำหรับทุกคน
ลานพระเจดีย์ในพม่ามักเป็นลานหินอ่อน หลายแห่งจะปูหินอ่อนชนิดไม่อมความร้อน  มีสีขาว เรียกว่า ซะจีงเจาก์(0dy'NgdykdN) หากเดินบนพื้นปูด้วยหินอ่อนชนิดนี้กลางเปลวแดดจัด จะช่วยให้ไม่ร้อนเท้า หรือร้อนแต่น้อย ฉะนั้นยามเดินบนลานเจดีย์ในพม่า จึงไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเดินสะดุ้งเท้าในขณะย่างเวียนประทักษิณตามพื้นหินนั้น อย่างไรก็ตามเวลาที่เหมาะที่สุดในการไปเที่ยวชมพระเจดีย์ควรจะเป็นช่วงเช้า หรือไม่ก็ยามเย็น จนถึงหัวค่ำ
จุดที่ชาวพม่านิยมนั่งไหว้ขอพรในเขตองค์เจดีย์นั้น มักเป็นที่มณฑปซึ่งอยู่รอบองค์เจดีย์ทั้งสี่ด้าน ในมณฑปนั้นจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่  และอีกที่หนึ่งที่ชาวพม่านิยมนั่งไหว้ขอพร  เป็นจุดสำหรับไหว้องค์เจดีย์โดยเฉพาะ อยู่บนเขตลานเจดีย์ทางด้านทิศเหนือ   หรือ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือใกล้กับเสาหงส์ โดยมากกำหนดหมายไว้เป็นวงกลมหรือเป็นลานกว้าง ชาวพม่าถือว่าถ้าขอพรตรง ณ จุดนี้ จะช่วยให้พรที่ขอสัมฤทธิผล พื้นที่ตรงนี้พม่าเรียกว่า “พื้นดินแห่งความสำเร็จ” หรือ อ่องมเย(gvk'Nge,) เจดีย์ทุกแห่งในพม่าจะกำหนดพื้นที่นี้ไว้ อีกจุดหนึ่งที่ชาวพม่ามักไปขอพรกันบ่อยๆ คือพระประจำวันรอบองค์เจดีย์ทั้ง ๘ ทิศ เกิดวันใดก็ไหว้พระประจำวันนั้น และมักบูชาด้วยดอกไม้ใบหว้า พร้อมกับสรงน้ำพระพุทธรูป น้ำสำหรับสรงพระจะมีไว้บริการแถวลานเจดีย์ ซึ่งทำเป็นซุ้มมีคนคอยเฝ้าตักใส่หม้อดินเรียงไว้บริการ ส่วนค่าน้ำนั้นบริจาคได้ตามแต่ศรัทธา
ตอนเย็นเป็นช่วงที่ชาวบ้านมักนิยมไปเที่ยวเจดีย์ เพราะเป็นเวลาว่างจากงาน หลังจากไหว้พุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่รายรอบพระเจดีย์แล้ว ชาวบ้านมักจะเดินเที่ยวรอบๆองค์พระ  ซื้อขนมมานั่งกินบ้าง พูดคุยกันบ้าง และทุกเย็นจะเห็นเด็กหนุ่มสาวเรียงแถวหน้ากระดานเดินกวาดลานรอบเจดีย์ เจดีย์จึงเป็นแหล่งชุมนุมของชาวบ้านในยามเย็น เช่น ณ ที่ลานพระเจดีย์ไจ้ก์กะสั่ง(dy7bd¡CoN)ชานเมืองย่างกุ้ง มีต้นพิกุลต้นใหญ่หลายต้น ยามเมื่อพิกุลออกดอก ผู้ใหญ่จะพาเด็กๆมานั่งใต้ต้นพิกุล คอยเฝ้าเก็บดอกพิกุลที่ค่อยๆโปรยลงมาจากต้น บางคนนำมาร้อยเป็นมาลา เพื่อนำไปบูชาพระ บางคนก็ร้อยขายพวงละ ๑-๒ จั๊ต ชาวบ้านมักจับกลุ่มพูดคุยกันชีวิตยามเย็นใต้ต้นพิกุล บนลานพระเจดีย์ไจ้ก์กะสั่ง จึงเป็นชีวิตที่เย็นกายเย็นใจ มีส่วนโน้มใจคนให้อยากใกล้พระศาสนา
บริเวณทางเข้าสู่ลานเจดีย์ หลายแห่งจะเป็นเรือนซุ้มครอบทางเดิน สองฟากทางซ้ายขวา จะเป็นร้านรวงเล็กๆ เป็นร้านหมอดู ร้านขายดอกไม้ใบไม้และเครื่องหอมสำหรับบูชาพระ นอกนั้นยังมีร้านขายหนังสือธรรมะ ร้านขายแป้งตะนะคา ร้านขายของเล่นของที่ระลึก หากเป็นเจดีย์ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จะมีของขายมากชนิดให้เลือกซื้อ โดยเฉพาะของใช้ของประดับที่เป็นงานศิลปะพม่า ฉะนั้นยามไปไหว้เจดีย์ในพม่า จึงพลอยได้ชมสินค้าพื้นเมืองที่วางขายตามแนวทางเดินสู่ลานเจดีย์นั้น
ในแต่ละย่านชุมชนหรือตามหมู่บ้านแทบทุกแห่ง มักพบองค์เจดีย์น้อยใหญ่ประดิษฐานอยู่ไปทั่ว แต่ละปีจะมีงานฉลองพุทธเจดีย์ กำหนดวันแตกต่างกันตามแต่ละท้องที่ และถ้าปีใดมีการปิดทององค์เจดีย์ทั้งองค์ ชาวบ้านก็จะจัดงานฉลองกันยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ จากการที่เมืองพม่ามีเจดีย์ค่อนข้างมาก และมีงานไหว้เจดีย์ต่างช่วงเวลากันตามท้องถิ่น จึงมักพบเห็นงานฉลองเจดีย์อยู่บ่อยๆ โอกาสในการเที่ยวงานบูชาเจดีย์จึงหาได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะในช่วงเดือนนอกฤดูฝน
การกำหนดช่วงเวลาไหว้พระเจดีย์ในแต่ละแห่งนั้น มักจะต้องจัดตรงกันทุกปี การกำหนดวันก็แล้วแต่ท้องถิ่น เจดีย์บางที่จัดงานฉลองตามวันที่ผู้สร้างเจดีย์นั้นๆกำหนดไว้ บางที่จัดตามวันที่กำหนดสืบเนื่องกันมา บางที่จัดตามความพร้อม แต่ก็จะพยายามจัดให้ตรงตามวันที่เคยจัดในปีผ่านๆมา หากปีใดขาดงานฉลองเจดีย์ในท้องถิ่น ชาวบ้านจะรู้สึกไม่สบายใจและน้อยหน้าคนหมู่บ้านอื่น งานไหว้เจดีย์จึงแสดงถึงความพร้อมและการร่วมไม้ร่วมมือของคนในชุมชนด้วยเช่นกัน
งานไหว้เจดีย์ส่วนมากมักจะนิยมจัดกันในเดือนหลังออกพรรษา กำหนดวันมักจะเลือกจัดในคืนเดือนหงาย ช่วงเวลาใกล้ๆกับวันเพ็ญ คือก่อนวันเพ็ญหนึ่งคืน ในวันเพ็ญ และหลังวันเพ็ญอีกหนึ่งคืน ทั้งนี้เพราะในพื้นที่ห่างไกล หรือในอดีต จำต้องพึ่งแสงจันทร์ส่องนำทาง บางที่จัดกันมากกว่า ๓ คืน โดยมากมักอยู่ในราวสิบวัน บางแห่งจัดงานกันเป็นเดือนก็มี ในช่วงงานไหว้เจดีย์ พ่อค้าแม่ค้าที่เร่ขายของก็จะเร่ขายย้ายงานไปเรื่อยๆ เสร็จจากงานหนึ่งแล้วก็ย้ายไปอีกงานหนึ่งแทบไม่หยุด
งานไหว้พุทธเจดีย์ประจำปีที่ผู้คนนิยมมาเที่ยวกันมาก ได้แก่งานไหว้พระเจดีย์ชเวแซะด่อ (gU­0dNg9kN) ที่เมืองมีงบู(,'Nt4^t) งานไหว้พระเจดีย์มยะตะหลู่น(e,l]:oN) ที่เมืองมะเกว(,gd:t) งานไหว้พระเจดีย์ชเวซีโข่ง(gU­0PNt-6") ที่เมืองญองอู(gPk'NFt) ใกล้พุกาม และงานไหว้พระเจดีย์ไจ้ก์ทีโย(dy7bdN5utU6b) หรือพระธาตุอินทร์แขวน ที่เมืองไจ้ก์โท(dy7bdN56b) ตอนเหนือของรัฐมอญ งานไหว้เจดีย์ที่กล่าวมานี้ มักจัดงานติดต่อกันไม่ต่ำสิบวัน ที่จัดงานนานที่สุดคืองานไหว้พระเจดีย์ชเวแซะด่อ จัดงานบุญกินเวลาร่วมสองเดือนทีเดียว
ในเดือนพฤศจิกายนของปีพ.ศ. ๒๕๓๘ มีงานฉลองปิดทองพระเจดีย์โม่กองพยา(,6btgdk'Nt46ikt) เจดีย์นี้เป็นเจดีย์ขนาดกลางอยู่ในเขตกังแบะ เมืองย่างกุ้ง ห่างจากที่ตั้งพระเจดีย์ชเวดากองราว ๕ กิโลเมตร งานฉลองมีติดต่อกันราว ๑๐ วัน งานบันเทิงจะจัดอยู่นอกเขตลานเจดีย์ มีการแสดงเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน รูปแบบงานก็เหมือนกับงานวัดของบ้านเรา มีทั้งการละเล่น และเปิดร้านขายสินค้าและของกิน ผู้คนมาเที่ยวกันหนาตาทุกคืน
ในบริเวณงานมีการแสดงหลากหลาย ส่วนมากจะปิดวิกเก็บค่าผ่านประตู จุดเด่นของงานจะเป็นละครพม่า ในงานปีนั้นเป็นคณะละครชเวมาง ซึ่งเป็นคณะละครชื่อดัง พระเอกประจำคณะมีชื่อเสียงไม่แพ้ดาราตุ๊กตาทอง ละครพม่าดูคล้ายลิเกไทย โดยเฉพาะเครื่องแต่งตัวบางชุด มีการแสดงดำเนินเป็นเรื่อง สลับด้วยการแสดงท่าเต้นและร้องรำในเครื่องทรงชุดต่างๆ  การแสดงที่เป็นคู่แข่งของละครพม่า และปิดวิกประชันอยู่ใกล้ๆ เป็นดิสโก้กะเทย ทำนองอะคาซ่าในเมืองไทย แต่จะไม่แสดงกันเลยเถิดจนเกินงาม หนุ่มๆพม่าชอบดูกันไม่น้อย พม่ามีกะเทยมากไม่แพ้บ้านเรา นอกจากจะยึดอาชีพเต้นกินรำกินหาลำไพ่พิเศษแล้ว กะเทยพม่าจำนวนไม่น้อยมีอาชีพเป็นร่างทรงผีนัต(o9N) ซึ่งเป็นผีแบบเจ้าพ่อเจ้าแม่ของไทย บางคนเป็นถึงเจ้าสำนักทรง ในงานฉลองเจดีย์ที่โม่กองพยา มีละครลิงให้ดูอีกด้วย ก่อนแสดงจะจูงใจให้ผู้คนสนใจ ด้วยการสาธิตการแต่งตัวพระเอกนางเอกในร่างลิงกัง จากนั้นก็ปิดม่านเก็บค่าดู ส่วนภาพยนตร์นั้นมีปิดวิกฉายกันคืนละหลายเรื่อง โดยมากเป็นหนังพม่า ภาพยนตร์ต่างประเทศที่นิยม จะมีหนังจีนและหนังฝรั่ง นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์จอเล็กกว้างเพียง ๑ วา ฉายหนังการ์ตูนสีมัวๆ ดูแทบไม่มีสีสัน กำหนดฉายเป็นรอบๆ รอบหนึ่งกินเวลาไม่กี่นาที คนดูออกจะบางตาสักหน่อย ส่วนความบันเทิงอื่นๆ ที่พบเห็นแทบทุกงาน คือ ชิงช้าสวรรค์ และม้าหมุน  ชิงช้าสวรรค์มีที่นั่งราว ๑๐ ที่ เล่นกันง่ายๆเพียงใช้แรงคนโหนชิงช้าให้หมุน  รอบหนึ่งๆจึงกินเวลาไม่นานนัก
จากการที่คนพม่านิยมดูหมอดูกันมาก ในงานเจดีย์จึงมักมีซุ้มหมอดูไว้บริการลูกค้า ส่วนใหญ่เป็นหมอดูลายมือที่ต้องอาศัยความรู้ทางโหราศาสตร์  และมีหมอดูอีกประเภทหนึ่ง เป็นหมอดูเสี่ยงทาย ใช้การทำนายด้วยการทอยหอยเบี้ย โดยนับตัวที่หงายเป็นเลขสำหรับโพยที่จะเฉลยโชคชะตา ลูกค้าที่มาดูหมอส่วนมากเป็นหนุ่มๆสาวๆ หากสังเกตจะพบว่าร้านหมอดูทุกแห่งจะมีรูปเทพนัตอยู่ที่ร้าน โดยมากจะเป็นพระนางสุรัสสตี(l^iÊ9u) เทวีผู้ดูแลพระไตรปิฎก นัยว่าช่วยการทำนายให้แม่นยำ  หมอดูพม่าจึงได้อาศัยเทวีองค์นี้ช่วยเกื้อกูลให้ทำมาหากินมาตลอด
อาหารที่มีขายในงาน มักเป็นของกินเล่น อาทิ ของทอดนานาชนิด ร้านขนมจีนและหมี่ยำ ร้านขายขนมหวาน ร้านน้ำชา ร้านขายหมาก บุหรี่  ขนมที่วางขายในงานไหว้เจดีย์โม่กองพยา มีอาทิ ขนมครกไข่นกกะทา น้ำเต้าทอด กุ้งทอด ผักชุบแป้ง  มันต้ม รากตาลต้ม อ้อยควั่น ขนมหม้อแกง เครื่องในหมู และข้าวหลามสอดไส้มะพร้าวโรยน้ำตาล เป็นต้น
ส่วนร้านค้าภายในงาน ทำเป็นซุ้มและแผงลอยวางสินค้า เช่น ร้านขายแป้งตะนะคา ร้านขายกะปิปลาร้า  ร้านขายเครื่องจักสานและเสื่อกก ร้านเครื่องดินเผา  ร้านเสื้อผ้าสำเร็จรูป ร้านขายหนังสือเก่า ที่น่าสนใจคือร้านขายของเด็กเล่น ที่เห็นวางขายหลายจุดเป็นชุดนักรบพม่า มีหมวกทหารโบราณพร้อมดาบ เห็นบอกว่าเป็นชุดของมหาพันธุละ(,skrO¸7])  อดีตนักรบพม่าที่ต่อสู้กับอังกฤษในสงครามพม่า-อังกฤษครั้งแรก เด็กพม่านิยมซื้อชุดนักรบกันมาก เห็นเดินแต่งอวดกันตามละแวกบ้าน ของเล่นอื่นๆมีเช่น ลูกโป่ง หน้ากาก และกระดาษกล ในงานบางแห่งมีมายากลและหมองู และบางครั้งพบการแสดงของแปลก ซึ่งมักเป็นสัตว์รูปกายผิดธรรมชาติเสียเป็นส่วนใหญ่
ร้านที่น่าสนใจอีกประเภทหนึ่งคือร้านสักยันต์ ที่สักด้วยเครื่องสักกำลังไฟจากหม้อแบตเตอรี่ มีลวดลายยันต์ให้เลือกมากมาย สักกันสดๆกลางงานนั้น พม่ายังคงมีผู้นิยมสักยันต์ แต่เท่าที่สังเกตผู้ที่มาสักนั้น มักเป็นหนุ่มวัยรุ่น บางคนมีท่าทีเป็นนักเลงหัวไม้ ทราบว่าแถวเมืองพะโคหรือเมืองหงสาวดี เป็นแหล่งของช่างสักที่ขึ้นชื่อของพม่าแห่งหนึ่ง
บรรยากาศของงานไหว้เจดีย์มักคึกคักไปด้วยผู้คนทั้งกลางวันและกลางคืน ในตอนกลางวันบริเวณงานจะกลายเป็นตลาดนัดที่ผู้คนมาจับจ่ายซื้อของ พอตกเย็นจนพลบค่ำเป็นช่วงเวลาไหว้เจดีย์ ผู้คนจากทุกสารทิศ ทั้งบ้านใกล้และไกลต่างทยอยมาแวะสักการะองค์พระเจดีย์ แล้วจึงออกไปเดินเที่ยวและจับจ่ายสินค้ากันในงาน บ้างอยู่ชมการละเล่นตลอดคืนจนค่อนแจ้ง ทั่วเขตลานเจดีย์จะมีการประดับไฟ ส่งให้แสงทองเหลืองอร่ามขององค์เจดีย์ในยามค่ำคืนดูเด่นสยบแสงตะเกียงแสงไฟบนลานงาน เสียงประกาศบอกบุญดังประชันกับเสียงเพลงอื้ออึงแซ่ไปหมด ยิ่งตกดึกผู้คนยิ่งแน่นขนัด พลุกพล่านเบียดเสียดตลอดทางเข้างาน และหากเผลอไผลไม่ระวังอาจถูกนักล้วงแดนโสร่งฉกชิงทรัพย์สินไปโดยมิรู้ตัว
งานไหว้พระเจดีย์ในพม่า นับเป็นบรรยากาศที่ชวนสัมผัส ด้วยได้เห็นวิชีวิตของชาวบ้าน ที่ต่างมาไหว้เจดีย์และเดินเที่ยวงานหาความสุขกันตามมีตามเกิด  เจดีย์จึงมิเพียงเป็นที่พึ่งทางใจสำหรับชาวพุทธพม่าเท่านั้น แต่ยังเป็นตลาดนัด และแหล่งบันเทิงในชุมชนพม่าจวบจนถึงปัจจุบัน
วิรัช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15550เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท