สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๔๑. ชายคาภาษาไทย (๒๐)


พแนงเชิง

         พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้พูดถึงเหตุการณ์แรกในประวัติศาสตร์อยุธยาว่า “จุลศักราช 686 ชวดศก แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง”

         การสถาปนาหรือตั้งพิธีเบิกพระเนตรพระพุทธรูปพระเจ้าพแนงเชิง ต้องถือเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งทีเดียวในสมัยก่อนที่สมเด็จพระ รามาธิบดีที่ 1 จะทรงสถาปนาพระนครศรีอโยธยา (ชื่อที่ถูกต้องในหลักฐานชั้นต้นร่วมสมัย) เป็นราชธานีของราชอาณาจักรของพระองค์ในจุลศักราช 712 ขาลศก หรืออีก 26 ปีต่อมา ข้อเท็จจริงนี้ แสดงว่า แม้ก่อนเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรละโว้เดิมที่จดหมายเหตุจีนเรียกว่า “หลัวหู” บริเวณเกาะอยุธยาและใกล้เคียงได้พัฒนาเป็นชุมชนสำคัญและมีกำลังเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ พอที่จะสร้างวัดขนาดใหญ่และพระพุทธรูปสำคัญอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน 

         ชุมชนที่อยุธยาที่เติบโตขึ้นนี้ก็เหมือนกับชุมชนหรือหัวเมืองใกล้ชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการค้าขายกับจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 แต่ชุมชนที่อยุธยาได้เปรียบกว่าทื่อื่นเพราะอยู่ในทำเลที่เหมาะ กล่าวคือ อยู่ใกล้ทะเลมากกว่าละโว้และอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถควบคุมทรัพยากรจากภาคตะวันตกของเขมรนครหลวง เช่นเดียวกับที่ละโว้สามารถควบคุมทรัพยากรที่มาจากลาวและเมืองในลุ่มแม่น้ำป่าสัก การขยายตัวของชุมชนที่อยุธยาสอดคล้องกับความเสื่อมของเมืองพระนครหลวง จารึกโบราณหลักสุดท้ายของเขมรที่หลงเหลืออยู่มาสิ้นสุดลงอย่างกระทันหันใน ค.ศ. 1327 ก่อนตั้งพระนครศรีอโยธยาเพียง 23 ปี ความตอนต้นของพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับบริติชมิวเซียม เล่าว่า แผ่นดินกัมพุชประเทศว่างกษัตริย์อยู่ ประชาราษฎรจึงอัญเชิญให้บุตรของโชฎึกเศรษฐีขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง (รามาธิบดีที่ 1) ตำนานเรื่องนี้อาจฟังดูเหลวไหล แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า นามโชฎึกเศรษฐีเป็นนามที่เกี่ยวกับขุนนางจีนผู้ทำหน้าที่นายอำเภอจีนในประวัติศาสตร์อยุธยา ถ้าพยายามโยงเข้ากับข้อมูลประวัติศาสตร์ เราพอจะมองเห็นว่า ชุมชนเดิมที่อยุธยาก่อน ค.ศ. 1350 หรือ พ.ศ. 1893 ได้มีคนจีนเข้ามาค้าขายและชุมชนที่นั่นได้รุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแล้ว คนจีนในเมืองไทยมีความผูกพันกับวัดพนัญเชิงมาก ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า ชุมชนอยุธยาเมื่อแรกเริ่มเจริญขึ้นนั้น น่าจะได้มีคนจีนอยู่มากและมีกำลังสนับสนุนพระมหากษัตริย์สร้างวัดและพระพุทธรูปสำคัญขึ้น

         ผู้เขียนเคยสงสัยว่า พระพุทธเจ้าพแนงเชิงนี้ คำว่า พแนงเชิง หรือ พแนงเชอง หรือ พนัญเชิง เป็นนามจำเพาะ หรือ มีความหมายอย่างไรเป็นพิเศษ ได้พบความใน ไตรภูมิพระร่วงตอนหนึ่งว่า
          “เมื่อพระโพธิสัตว์อยูในครรภ์พระมารดานั้น บมิเหมือนดุจคนทั้งหลายเบื้องหลัง พระโพธิสัตว์ผูกหลังท้องแม่แลนั่งพแนงเชิงอยู่ดังนักปราชญ์ผู้งามนั้น นั่งเทศนาในธรมาสน์นั้น (1)

         ในมหาชาติคำหลวงก็มีคำว่า พแนงเชองอยู่ เมื่อแปลคำบาลี “นิสีทิ” ท่านแปลว่า “ธจึงเสด็จพแนงเชอง ดำเกิงเหนือรัตนาศน์” (2)
 
         เมื่ออ่านวรรณคดีเก่าทั้งสองเรื่องนั้นจึงสรุปได้ว่า หมายถึง พระพุทธรูปท่านั่งขัดสมาธิ คำว่า เชิง นั้น ทราบกันทั่วไปอยู่แล้วว่า แปลว่า ตีน ผู้เขียนลองสืบค้นดูคำว่า พแนง หรือ พนัญ ได้ความว่า น่าจะยืมคำเขมรที่เขียนว่า แภฺนน อ่านอย่างเขมรว่า “เพฺนน” แปลว่า ตัก หรือ หน้าตัก รวมความแล้วหมายถึงท่านั่งเอาตีนขึ้นมาไว้บนตักนั่นเอง

----------------------------------------------------------------------------------------

(1) ไตรภูมิพระร่วง: 77
(2) มหาชาติคำหลวง : 6


วิจารณ์ พานิช
๑๖ ธ.ค. ๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 154379เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2007 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แพนงหรือพนัญนี่แปลว่าซ้อนครับ

 

ซ้อนหมายถึงเอาเท้า (เชิง) ซ้อนกัน

 

ความหมายก็คือนั่งสมาธินั่นแหละครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท