ควบม้าเหล็กกลับบ้าน(๑): ที่ชานชลา


ชานชลากับแก๊งค์เด็กออกค่าย

ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา

ฉันนึกสนุกด้วยการเดินทางกลับบ้านด้วยรถไฟ หลังจากสัญญากับตัวเองเมื่อหลายสิบปีก่อนว่า จะไม่เลือกนั่งรถไฟอีกด้วยเหตุผลของการใช้ระยะเวลาการเดินทางที่นานและเกินกำหนด

เริ่มต้นด้วยการจองตั๋ว  ฉันเริ่มต้นด้วยความตื่นเต้นกับการเดินทางครั้งนี้ หลังจากการเดินทางครั้งสุดท้ายเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา  ด้วยการโทรศัพท์ไปสอบถามความว่างของที่นั่งว่าพอจะมีที่ให้ฉันเดินทางด้วยหรือไม่  ฉันคิดว่าวิธีการนี้ดีมากเนื่องจากข้อมูลจากการโทรสอบถามกับข้อมูลหน้าห้องขายตั๋วไม่แตกต่างกัน (หากระยะเวลาการสอบถามกับการไปถึงไม่ห่างกันมากเกินไป)    

ฉันไปซื้อตั๋วเดินทางล่วงหน้าหนึ่งวัน และตกลงใจว่าจะเดินทางในชั้นที่มีตั๋วว่าง  เมื่อไปถึงหน้าห้องขายตั๋วสถานีรถไฟดอนเมือง พร้อมแจ้งความจำนงว่าต้องการเดินทางไปเชียงใหม่ในวันพรุ่งนี้  ซึ่งเป็นวันหยุดยาวที่มีคนเดินทางมาก ทำให้ตั๋วรถไฟเต็ม เหลือเพียงที่นั่งชั้นสาม 

เมื่อฉันยืนยันว่าจะกลับตามนั่น  ผู้ชายขายตั๋วเงยหน้ามามองฉันแล้วก้มลงทำอะไรกุกกักอยู่กับแป้นคีย์บอร์ด  แล้วเงยหน้ากลับมาพูดกับฉันว่า พอดีมีตั๋วชั้นสองว่างหนึ่งที่ตกลงไหม

ฉันแอบคิดว่าด้วยสภาพผู้หญิงตัวเล็กๆ พนักงานคงเห็นว่าน่าสงสารมากที่จะปล่อยให้ฉันไปผจญกับการยืนห้อยโหนและเบียนเสียดผู้คนในตู้รถไฟชั้นสามในห้วงเวลานั้น ซึ่งฉันก็เห็นด้วยและนึกขอบคุณเจ้าหน้าที่คนนั้นหลังจากได้เห็นตู้รถไฟชั้นสามที่คนยืนเต็มกว่าครึ่งคืน...

ถึงวันเดินทางฉันมาถึงสถานีรถไฟดอนเมืองก่อนเวลาครึ่งชั่วโมง  ด้วยความเดียงสาฉันถามคนขายของชำหลังจากชำระเงินค่านมและน้ำดื่มว่า ไปสายเหนือรอรถไฟฝั่งไหนคะ...เค้ายิ้มให้ฉันแล้วบอกว่า ฝั่งนี้แหละครับ ขอบคุณที่เป็นรอยยิ้มที่เมตตามิใช่รอยยิ้มแห่งการเยาะเย้ยกับความไม่รู้ของฉัน 

ระหว่างที่นั่งรอฉันพบกับ  แก็งค์เด็กออกค่าย ประมาณ 30-40 คน

แวบแรกรู้สึกชื่นชมที่ใช้วัดหยุดให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น 

แต่ในแวบต่อมากลับเกิดความคิดในมุมลบต่อ พฤติกรรมการรวมกลุ่ม ที่มองไม่เห็นคนรอบข้าง  ซึ่งเป็นการกระทำที่เห็นอยู่เป็นประจำเมื่อเด็กวัยรุ่นอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับสหายเกินห้าคน  พูดคุย หัวร่อ เสียงดังคับสถานีรถไฟ 

ฉันนั่งอยู่ไม่ห่างจากเด็กกลุ่มนั้นเท่าไรนักบนม้านั่งยาวริมทางรถไฟ  ส่วนหนึ่งของเด็กกลุ่มนั้นกำลังถ่ายรูปกันอย่างสนุำกสนาน และเริ่มขยับขยายเข้ามาเบียดเบียนที่นั่งของฉันและชายข้างๆ จนแทบจะเหยียบหัวผู้ชายที่นั่งข้างฉัน จนเค้าทนไม่ได้ต้องลุกหนีไป 

แต่เด็กกลุ่มนั้นไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความผิดของตัวเองแม้แต่น้อย  แล้วเิริ่มมาเบียดเบียนฉันแทน  ฉันเข้าใจว่าพวกเค้าคงไม่ได้ตั้งใจ แต่ด้วยความสนุกกับการถ่ายภาพร่วมกับเพื่อนในสถานที่แปลกตากับการเดินทางครั้งใหม่  ฉันไม่ทำเหมือนผู้ชายที่นั่งข้างฉันหรอก ฉันยังคงนั่งอยู่ และมองการกระทำของพวกเค้าด้วยความตระหนก...

ถ้าการออกค่ายของเด็กกลุ่มนี้มีกิจกรรมที่มองเห็นแต่ตัวเอง  ความสนุกของตัวเอง  พูดคุยแต่เรื่องของตัวเอง  แล้วกลุ่มคนที่คอยมอง  คอยฟัง  คอยรับความช่วยเหลือจากเด็กกลุ่มนี้จะรู้สึกอย่างไร  หรืออาจขมวดคิ้วตั้งคำถามในใจว่า มากันทำไม 

ฉันหวังว่าฉันจะคิดมากไปเองตามประสาคนเริ่มมีอายุ  และเอากิจกรรมค่ายในสมัยตัวเองมาเป็นบรรทัดฐานทั้งที่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปนานแล้ว 

เด็กกลุ่มนี้คงจะมีความคิดและการวางตัวที่ดีเมื่อไปถึงที่ 

ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเพื่อร่วมสร้างรอยยิ้ม 

มิใช่ทำตัวแปลกแยกเพื่อเป็นแขกผู้มาเยือน

 เสียงประกาศดังออกมาจากลำโพง  รถไฟจะเข้าชานชลาช้าจากกำหนดเดิม  15  นาที  นี่คือการเริ่มต้นของ...

การใช้เวลา 

---^.^---  

หมายเลขบันทึก: 154094เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2007 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ คุณพิมพ์ดีด

  • การนั่งรถไฟเป็นอะไรที่ดิฉันโหยหาเหมือนกัน หลายสิบปีแล้วที่ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตบนโบกี้...
  • หากมีเวลาพอนั่นหมายถึงไม่มีความรัดรึงด้านเวลา บรรยากาศของรถไฟ คงทำให้เราได้ "ใช้เวลา" เรียนรู้อะไรๆ มากขึ้น
  • สำหรับเยาวชนๆ นอกจากจิตอาสาที่อยากทำดีด้วยการออกค่าย แต่ประสบการณ์ชีวิตยังน้อย ทำให้ขาดการเรียนรู้ในสิ่งรอบข้าง...เวลาที่ยาวนานและความหลากหลายของผู้คนในขบวนรถนี้คงพอที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้...ตกผลึก และนำคืนสู่สังคม
  • มายิ้มๆๆ
  • อยากไปออกค่าย
  • เอ้ยไม่ใช่อยากไปเที่ยวด้วย
  • สบายดีนะครับน้อง
  • มาทางอีสานบ้างนะพิมพ์ดีด
  • พี่ชอบนั่งรถไฟนะมันให้จินตนาการดี
  • เป็นกำลังให้เด็กรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสังคม
  • ไม่ได้ขึ้นรถไฟนานแล้วค่ะ
  • อืมยังถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่างอยู่ไหมคะ
  • การขึ้นรถไฟทีไรไม่เคยเบื่อ แม้คนจะแน่นแต่เราต่างพึ่งพาอาสํยกัน เคยได้รับน้ำใจแบ่งปันกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ส่งต่อมาเป็นทอดๆให้รองนั่งกับพื้นข้างบันได
  • หลายครั้งหลายหนที่ได้พบว่าคนไม่มี มีน้ำใจมากกว่าคนที่รวยล้นฟ้า หลายพันเท่า

สวัสดีครับหนูพิมพ์

              หวาววววว...หนูพิมพ์เริ่มมีอายุแล้ว...แต่ยังเข้าใจเด็ก ๆ นี่แหละสุดยอดเลย ฮิฮิ

              ผมเกิดที่ร้านหมอ...หน้าสถานีรถไฟโคกโพธิ์...ก็หลายสิบปีแล้วเหมือนกัน(กี่สิบแล้วน๊ะ...เขิน)  หน้าบ้านก็ทางรถไฟ...ดังนั้นจึงจำเสียงรถไฟได้...ตั้งแต่เป็นหัวลากรถจักรไอน้ำ...ไม้หมอนก็เป็นไม้เคี่ยม(ที่เขาใช้ใส่ในน้ำตาลโตนด...เพื่อทำน้ำตาลเมา ภาษาชาวบ้านเรียกว่า" หวาก " )...มาเป็นไม้หมอนคอนกรีต(เปลี่ยนเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ นี่เอง) นับว่าชีวิตไม่ได้ห่างกับทางรถไฟ

            แต่นี่ก็สิบห้าปีแล้วเหมือนกัน...ที่ไม่ได้นั่งรถไฟ (ครั้งสุดท้ายไปราชการที่อุบลราชธานี(๒๕๓๕) รถไฟออกจากหัวลำโพง ไม่รู้ว่าสามทุ่มหรือสี่ทุ่ม ขึ้นรถไฟเขาปูเตียงแล้ว หลับไปตื่นที่วารินชำราบ...ไม่ได้ดูวิวข้างทางเลย เสียดาย)

           เห็นหนูพิมพ์ขึ้นรถไฟ...แล้วนึกถึงบ้าน...แต่สถานีรถไฟโคกโพธิ์ไม่มีแล้วครับ...เขาเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีรถไฟปัตตานีครับ

                           ขอบคุณครับที่ทำให้นึกถึงเรื่องเก่า ๆ เมื่อหลายสิบปีมาแล้วครับ

สวัสดีคะ คุณ tuk-a-toon

การนั่งรถไฟ เป็นการใช้เวลามองสิ่งรอบตัวและมองตัวเองได้ดีทีเดียวคะ แต่...ต้องไม่เร่งรีบใด ใด อย่างที่คุณบอกนั่นแหละคะ

เรื่องเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็คงต้องเป็นกำลังใจและคอยมองอย่างเข้าใจ

ขอบคุณมากที่แวะมานะคะ

สวัสดีคะ พี่อาจารย์ขจิต

ยิ้ม ยิ้ม ด้วยคนคะ 

ตอนนี้กรุงเทพอากาศร้อน ไม่เย็นสบายทั้งกายทั้งใจเหมือนทางอีสานหรือเหนือหรอกคะ...

สบายดี และหวังว่าพี่คงสบายดีเช่นกันนะคะ

สวัสดีคะ พี่ออต

ไปแน่แน่คะ จะไปล้มทับพี่ออต

แต่ถ้าหนูนั่งรถไฟไปพี่อาจต้องรอนานหน่อยนะคะ อิอิ

ขอบคุณมากคะสำหรับกำลังใจ

สวัสดีคะ อาจารย์ naree

ถ้าอาจารย์มีโอกาสและเวลาเหลือเฟือ ลองนั่งเล่นๆ นะคะ เปลี่ยนบรรยากาศ...ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่างเหมือนเดิม เพิ่มเติมเสียงขายของกินตลอดทางด้วยคะ

คนบนรถไฟมีหลายหลาย บวกกับเวลาที่มีมาก ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างเลยคะ...หวังว่าจะติดตามในบันทึกภาคต่อนะคะ

ขอบคุณมากคะ

สวัสดีคะ นายช่างใหญ่

หนูเป็นประเภท อายุเป็นเพียงตัวเลข แต่ใจยังวัยสะรุ่นอยู่คะ...

ความทรงจำของหนูเลือนลางเรื่องสถานีรถไฟมากเลยคะ...แต่เคยเดินบนหมอนรถไฟตอนเด็กๆ รู้สึกว่ามันกว้างเกินกว่าขาเด็กน้อยจะกระโดดได้พอดี  น่าจะไปลองเดินดูอีกสักทีว่าคราวนี้พอดีหรือยัง

ดีใจที่ทำให้นายช่างคิดถึงบ้านได้บ้าง เพราะได้คิดถึงบ้านจากบันทึกของนายช่างมาหลายทีแล้ว...ผลัดกันผลัดกัน

ขอบคุณที่มาเยี่ยมกันนะคะ

---^.^---

  • สวัสดีครับ
  • แต่ก่อนตอนเรียนที่นครศรีธรรมราชนั่งรถไฟไปกลับครับเพราะว่าประหยัดดี แต่ใช้เวลา 16 ชั่วโมง นั่งจนหลังแข็ง แถวชั้น 3 อีกต่างหาก
  • ไปเชียงใหม่ก็นั่งรถไฟไป สนุกดีครับชอบดูวิวข้างทาง
  • เวลาอายุมากขึ้นก็ชอบย้อนไปมองดูอดีตไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่าเอ่ย
  • ผมมีเพื่อนจบเศรษฐศาสตร์ มช เหมือนกันชื่อว่าก้อย ตัวเล็กๆใส่แว่น ตอนนี้ทำงานที่คลังจังหวัดสุโขทัย ไม่รู้ว่าคุณพิมพ์ดีดรู้จักเปล่า ว่าจะถามนานแล้ว
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณพิมพ์ดีด

ผมก็เป็นอีกคนครับที่ชอบนั่งรถไฟถึงแม้จะรู้สึกว่าช้าแต่ก็คุ้มครับเวลารถไฟผ่านไปผมชอบมองหน้าต่างเวลามีเรื่องไม่สบายใจทำให้ผมได้คิดว่าเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าทุกอย่างจะต้องดีขึ้นเพียงแต่ว่าต้องใช้เวลาเท่านั้นเองครับ

สวัสดีคะ คุณสุดทางบูรพา

รถไฟชั้นสาม...ให้นั่งคนเดียวอาจต้องคิดหนัก แต่ถ้าไปกันเป็นพรรคๆ น่าสนุกดีคะ

เพื่อนคุณสุดทาง น่าจะจบคนละรุ่นกับพิมพ์คะ. ..แต่ไงก็ฝากสวัสดีด้วยนะคะ

สวัสดีคะ คุณชีโร่

การเดินทางด้วยรถไฟ ใช้เวลามาก

แต่ทำให้ได้เรียนรู้อะไรอีกหลายๆ อย่าง ซึ่งกำลังพยายามเรียบเรียงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเดินทางครั้งนี้ออกมาเป็นบันทึกคะ...หวังว่าคงติดตามกันต่อไปนะคะ

ขอบคุณมากคะที่แวะมา

---^.^---

  • กำลังคุยกับสายลม
  • แหมมาแรงเชียว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท