คำกล่าวต่อคุณกิจและคุณอำนวย โรงเรียนชาวนา ๕ จังหวัด


คำกล่าวต่อคุณกิจและคุณอำนวย โรงเรียนชาวนา ๕ จังหวัด

         เมื่อวันที่ ๙ – ๑๐ กพ. ๔๙  ทีมถอดบทเรียนกระบวนการ KM รร. ชาวนา นำโดย รศ. ดร. เนาวรัตน์ พลายน้อย ได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนทัศนะจากการปฏิบัติการจริงของ “คุณกิจ” และ “คุณอำนวย” ใน รร. ชาวนาของ ๕ จังหวัด    โดยจัดที่โรงแรมกีฬา  จ. สุพรรณบุรี    คุณน้ำ  อ้อม  และผมไปร่วม
         ผมได้รับเชิญให้กล่าวกับที่ประชุมในตอนเริ่มประชุม    จึงขอนำคำกล่าวดังกล่าวมาลงบันทึกไว้

         เพื่อน “คุณกิจ” และ “คุณอำนวย” โรงเรียนชาวนา  ท่านอาจารย์และนักวิชาการ ที่เคารพรักทั้งหลาย
         ผมขอแสดงความยินดีที่ท่านได้รับเลือกให้มาประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันใน ๒ วันนี้    ผมเชื่อว่าท่านจะได้รับประโยชน์มากจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้อย่างมากมาย    สำหรับนำไปปรับใช้กับกิจกรรมของท่านต่อไป
         กิจกรรมโรงเรียนชาวนา     คือการรวมตัวกันเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง    เป็นเรื่องที่ชาวนาควรทำในวิถีชีวิตประจำวัน    โดยไม่จำเป็นต้องมีใครมาจัดให้    ชาวนาน่าจะรวมตัวกันไปบอก อบต. ว่าต้องการเรียนรู้ในลักษณะของโรงเรียนชาวนา และขอให้ อบต. จัด “คุณอำนวย” ให้    หรือแม้ไม่มี คุณอำนวย จากภายนอกกลุ่มชาวนา    ตัวชาวนาเองก็น่าจะผลัดกันทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ได้   

         สคส. ยินดีช่วยฝึกอบรมเทคนิคการเป็น “คุณอำนวย” ให้    กิจกรรมการรวมตัวกันเรียนรู้จากการปฏิบัตินี้ คนเราควรทำตลอดชีวิต    ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร  
         ชาวนาต้องไม่ใช่เพียงเป็นผู้ปลูกข้าว    แต่ต้องเป็นผู้ “ปลูกความรู้” ด้วย    ชาวนาต้องปลูกความรู้ผ่านแปลงนา    โดยปลูกลงไปในหัว (สมอง)   ใจ (ความคิด ความเชื่อ)   และมือ (ทักษะ) ของชาวนาทุกคน    การปลูกความรู้นี้ไม่เหมือนปลูกข้าว    เพราะข้าวเป็นไม้ล้มลุก    มีรอบของการเพาะปลูก ๑๖ – ๑๘ สัปดาห์    ต้นข้าวงอก เติบโต ให้รวงให้เมล็ด แล้วก็ตาย    แต่การปลูกความรู้มีความต่อเนื่อง    ดำเนินไปตลอดชีวิต และถ่ายทอดหรือสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้    ที่เรียกว่าทุนปัญญาของสังคม    หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ ภูมิปัญญาท้องถิ่น    ภูมิปัญญาท้องถิ่นต้องงอกเงยเพิ่มพูนขึ้นตลอดเวลา ท้องถิ่นจึงจะอยู่รอดได้ 
         นอกจากปลูกความรู้ หรือปัญญา ลงไปในคน หรือตัวเราเองแล้ว ต้องปลูกลงไปในบันทึก     ต้องมีการจดบันทึก ทั้งในรูปของตัวอักษร การวาดภาพ  ภาพถ่าย และอื่นๆ     การจดบันทึก และปรับปรุงบันทึกอยู่ตลอดเวลา จะเป็นเครื่องช่วยการยกระดับความรู้ หรือการเรียนรู้    และช่วยการสืบทอดความรู้ให้ต่อเนื่อง
         เวลาลงไปในนา    ชาวนาควรจะเห็นไม่เฉพาะต้นข้าว และคาดหวังผลผลิตเป็นข้าวเปลือกเท่านั้น    ชาวนาควรมองให้เห็นเชื่อมโยงออกไปจากต้นข้าว รวงข้าว และเมล็ดข้าวเปลือก    ควรมองให้เห็นสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในแปลงนา    ที่อยู่น่วมกันเป็นระบบนิเวศ    คือควรฝึกให้มองเห็นระบบนิเวศในแปลงนา    และเข้าใจสภาพเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ของระบบนิเวศในแปลงนา     ให้เห็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำ ในดิน    เห็นจุลินทรีย์ที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น    แต่เห็นได้ด้วยปัญญา    การเห็นระบบนิเวศคือลู่ทางของความยั่งยืน
         นักเรียนโรงเรียนชาวนา     คือชาวนาแห่งยุคสังคมอุดมปัญญา (Knowledge-based Society)   เป็นผู้นำชาวนาสู่การปฏิวัติเกษตรกรรมต่อจากปฏิวัติเขียว คือปฏิวัติชีวภาพ    ชาวนาเมืองไทยจะร่วมกันเข้าสู่ยุค ทำนาชีวภาพ    ไม่ใช่นาเคมี อย่างในยุคปฏิวัติเขียว    การทำนาชีวภาพเท่านั้นที่จะเป็นเกษตรกรรมยั่งยืน    ชาวนาต้องรวมตัวกันเรียนรู้จากการทำนา จึงจะเกิดเกษตรกรรมยั่งยืน
         ผมขออวยพรให้ท่านทั้งหลายได้ ลปรร. กันอย่างสนุกสนานและประเทืองปัญญา
         สวัสดีครับ

วิจารณ์ พานิช
๙ กพ. ๔๙ 
โรงแรมกีฬา สุพรรณบุรี

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15393เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 08:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เป็นคำกล่าวที่น่าประทับใจมากค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท