ชีวิตที่พอเพียง : 423. สัปดาห์แห่งการพิจารณาตัดสิน


         ชีวิตคนเราคล้ายๆ ความฝันนะครับ    มันกึ่งจริงกึ่งฝันอย่างไรก็ไม่รู้     ผมไม่เคยคิดว่าชีวิตตัวเองจะมาเป็นอย่างนี้ก็ได้เป็น    ที่เป็นอยู่มันดีหรือไม่ก็ไม่รู้     มองมุมหนึ่งมันเป็นชีวิตที่มีเกียรติ    ได้รับความไว้วางใจ     แต่มองอีกมุมหนึ่งมันเป็นชีวิตที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ได้ทำงานที่เป็นเรื่องเป็นราวจนจับต้องได้  

         ชีวิตช่วงสัปดาห์วันที่ 5 – 9 พ.ย. 50 เป็นชีวิตของการทำงานตัดสินทุน ตัดสินรางวัล     ความรู้ที่ใช้ในการตัดสินเป็นความรู้ที่ผมไม่มี หรือไม่รู้จริง      ที่ผ่านมาก็ใช้ความรู้งูๆ ปลาๆ ที่มีกล้อมแกล้มไปได้     เดาว่าที่คนเขาใช้ผมทำงานนี้คงจะเป็นเพราะผมตระหนักในความไม่รู้ของตนนี่แหละ    ทำให้ผมฟังคนอื่นมาก     เอาความรู้จริงของคนอื่นมาใช้ในการตัดสิน     หรือในบางกรณี กรรมการทั้งคณะต่างก็ไม่รู้จริงกันหมดทุกคน ผมก็ไม่แน่ใจ

         เริ่มด้วยวันจันทร์เป็นประธานตัดสินรางวัล API ที่เล่าไปในบันทึกตอนที่แล้ว      ต่อด้วยเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนานาชาติ (IAC – International Award Committee) รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 3 วัน     แล้วตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ไปอุบล สุรินทร์ และลาว เพื่อทัศนาจร     เป็นรายการที่โปรดจัดให้แก่คณะกรรมการนานาชาติฯ ทุกปี    

         ปีนี้มีการเสนอชื่อบุคคลมารับการพิจารณารับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ถึง 69 คน มากกว่าทุกปี     คงจะเป็นผลของการจัดประชุม PMA Conference 2007 ที่จัดระหว่างวันที่ 1 – 2 ก.พ. 50 ทำให้นานาชาติรู้จักรางวัลนี้มากขึ้น    ตรงตามเจตนารมณ์ในการใช้ PMA Conference ทำให้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เป็นที่รู้จักกว้างขวาง     เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระบรมราชชนก      และใช้รางวัลนี้ รวมทั้ง PMA Conference เพื่อสร้างแรงกระตุ้นการขับเคลื่อนพัฒนาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของโลก    อีกปัจจัยหนึ่งคือ เว็บไซต์ ของมูลนิธิฯ ได้รับการปรับปรุงขึ้นมาก     และปีนี้มีการรับการเสนอชื่อ online ทางเว็บไซต์ เพิ่มขึ้นด้วย

         คณะกรรมการ SAC (Scientific Advisory Committee) ที่มีกรรมการเป็นคนไทย 15 คน ประชุมกัน 3 ครั้ง ตลอดปีเพื่อทำงานค้นหาผลงานและบุคคลที่เหมาะสม    ที่จะพิจาณามอบรางวัล    คือเราทำงานเชิงรุกตลอดปี     เรามีวิธีใช้กรรมการที่เป็นคนไม่มีเวลา 15 คน ให้ร่วมกันทำงานเชิงรุกนี้ได้     โดยมีคุณผึ้ง (ภัทรพร คงบุญ) เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงาน     ผู้คนชมกันเปาะว่าผึ้งมีทักษะในการไล่ตามใช้ผู้ใหญ่ได้อย่างนิ่มนวล (แต่ได้ผลงาน)     ปีที่แล้วคณะกรรมการ IAC ชมว่า SAC ช่วยทำให้งานของเขาง่ายขึ้นมาก     และสมาชิกของ SAC ก็ได้เรียนรู้จากสมาชิกของ IAC มาก     เป็น win – win situation     ผมลุ้นขอให้ ศ. นพ. สุพัฒน์ วานิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จัดการให้สมาชิกของ SAC และคู่สมรสได้ร่วมไปทัวร์ที่สมเด็จพระเทพรัตน์โปรดพระราชทานด้วย      แต่ก็ได้ครึ่งเดียว คือเฉพาะตัว คู่สมรสยังไม่ได้สิทธิ์

         เราเก็บ strong candidate ไว้พิจารณา 3 ปี     เราจึงมีคนที่เก็บไว้จาก 3 ปีก่อนอีก 10 คน     แต่ชื่อซ้ำกับรายชื่อในปี 2550 เสีย 4 คน     รวมมี candidate ให้พิจารณา 75 คน    SAC เสนอ very strong candidate ให้ IAC พิจารณา 2 กลุ่ม + 7 ท่าน    ซึ่งผมจะไม่ลงรายละเอียดเพราะต้องเก็บไว้เป็นความลับ     คงจะไม่เหมาะสมที่จะนำมาเปิดเผย    

         กรรมการของ SAC ช่วยกันเขียนเอกสารเสนอ IAC ว่าทำไมเราจึงเห็นว่าสมควรพิจารณาคนที่เราเสนอเป็นพิเศษ     โดยใช้หลักการ 3 ประการเกี่ยวกับผลงาน คือ (1) มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ ว่าเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญ หรือเป็นความรู้ใหม่  (2) มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ในระดับโลกหรือภูมิภาคของโลก  และ (3) ผลกระทบนั้นเกิดขึ้นมานานพอสมควร หรือคาดว่าจะยืนยงอยู่นาน

         ความจำเพาะของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ คือ เน้นที่ผลกระทบต่อผู้คน มากกว่าตัวการค้นพบที่ก้าวกระโดด       คือหากมีเฉพาะตัว scientific discovery จะไม่พิจารณาให้รางวัลฯ     ต้องมีผลงาน application ตามมา และพิสูจน์ว่าเกิดผลดีต่อคนจำนวนมากทั่วโลก หรือในภูมิภาคของโลก  จึงจะเข้าเกณฑ์รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ

         ปีนี้กรรมการที่เป็นคนต่างชาติมาประชุมได้เพียง 3 คน    มาไม่ได้ 5 คน    ส่วนกรรมการที่เป็นคนไทย 4 คนมาประชุมได้ทั้งหมด     และเราเชิญสมาชิกของ SAC มาร่วมประชุมด้วย แต่มาได้เพียง 6 คน (รวมผมด้วย) จาก 15 คน     ในวันที่ 6 พ.ย. เราเริ่มประชุมโดยการมองภาพรวมของผู้ได้รับเสนอชื่อและ short list ที่ SAC เสนอ     แค่เวลาไม่ถึงชั่วโมงที่กรรมการที่เป็นต่างชาติ 3 คนตั้งข้อสังเกต     กลุ่มคนไทยก็ตื่นตาตื่นใจกับความรู้ที่ได้รับ   

         เราเสนอให้กรรมการ IAC ตรวจสอบรายชื่อทั้งหมด ว่ามีชื่อไหนบ้างที่ยังไม่ควรตัดออกไป     ได้มาอีก 4 ชื่อ รวมกับ 14 ชื่อที่มีอยู่แล้ว เป็น 18 ชื่อ     แล้วเราก็เสนอรายละเอียดของแต่ละคนโดยกรรมการ SAC ที่เป็นผู้เขียนข้อเสนอเป็นผู้นำเสนอ

         คณะกรรมการ IAC ชื่นชมข้อเขียนนำเสนอแต่ละชื่อ หรือแต่ละกลุ่มเป็นอย่างมาก     แต่กรรมการ IAC ที่เป็นคนต่างชาติก็มีข้อมูลเพิ่มเติมอย่างมากมาย     เรียกในภาษา KM ได้ว่าท่านมี tacit knowledge เกี่ยวกับ candidate หรือเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ     ในช่วงของการถกเถียงและให้ข้อมูลเพิ่มนี้ผมได้ความรู้เกี่ยวกับวิธีคิดอย่างมากมาย หาเรียนที่ไหนๆ ไม่ได้เลย     เช่น มีการโต้แย้งว่า การค้นพบยาชนิดหนึ่ง และมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางเพื่อลดโคเลสเตอรอล โดยหวังผลในการลดโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจนั้น ยังไม่มีหลักฐานระดับประชากร ว่าลดอัตราเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริง     แต่ก็มีผู้โต้แย้งว่าแม้จะไม่พบหลักฐานระดับประชากร แต่ก็พบหลักฐานระดับบุคคล ว่ายานั้นช่วยลดโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริง

         เวลาเอ่ยถึงตัวบุคคลที่เราสนใจจะให้รางวัล กรรมการ IAC ที่เป็นคนต่างชาติจะเล่าเรื่องย้อนหลังไป 30 – 40 ปีเกี่ยวกับประสบการณ์ของท่านผู้นั้น    โดยที่หลายคนเป็นคนอเมริกันหรือคนยุโรป จบการศึกษาแล้วไปทำงานในอัฟริกา หรือในดินแดนยากไร้     จึงได้เห็นปัญหา และนำไปสู่การคิดแก้ไขปัญหาเชิงระบบ     ทำให้ท่านผู้นั้นมีผลงานในระดับเปลี่ยนระบบหรือเปลี่ยนกระบวนทัศน์     ผมได้เรียนรู้ว่าผู้ยิ่งใหญ่ หรือผู้มีจิตใหญ่นั้น เมื่อเผชิญปัญหาก็จะเห็นโอกาสในการทำประโยชน์ในภาพใหญ่   

         เราใช้เวลาช่วงบ่ายอีกชั่วโมงครึ่งก็แยกรายชื่อที่ถือว่าเป็นผู้เข้ารอบสุดท้าย 5 คน     แล้วรีบไปโรงพยาบาลศิริราช เพื่อลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จกรมหลวงฯ     ไปเห็นที่ศิริราชมีผู้คนไปคอยเฝ้าถวายพระพรมากมายคลาคล่ำ     ผมยังประหลาดใจไม่หายว่าเราทำเวลาในการพิจารณาได้เร็วมาก     แต่นั่นก็หมายความว่าเราให้การบ้านแก่ SAC ไปค้นข้อมูลเพิ่ม และนำกลับมาเสนอ IAC ในปีหน้าอีก 8 คน  

         ผมได้เรียนรู้วิธีคิดในการพิจารณาให้รางวัลผู้มีผลงานริเริ่มเรื่องใดเรื่องหนึ่ง     มักมีคนบอกว่าที่คิดพัฒนาเรื่องนั้นได้ เพราะมีคนพัฒนาอีกเรื่องหนึ่งนำมาก่อน     ซึ่งเป็นความจริง     และถ้าคิดแบบนี้เราก็จะต้องให้รางวัลแก่คนเป็นกลุ่ม ซึ่งหลายคนตายไปแล้ว     แต่ก็มีวิธีคิดที่ดีกว่า ว่าเราพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาที่ก้าวกระโดด เกิดผลด้านใดด้านหนึ่งในเรื่องนั้นอย่างชัดเจน    เช่น เราไม่มองกว้างที่ “นวัตกรรมในการรักษาโรคมะเร็ง”  แต่พุ่งเป้าไปที่ “การรักษาโรคมะเร็งแบบ targeted therapy – รักษามะเร็งแบบพุ่งเป้า”     โดยมองว่าวิธีการรักษาที่เป็นนวัตกรรมนั้นเกิดผลดีต่อคนกลุ่มไหนจำนวนเท่าใดทั่วโลก

         ผมได้เรียนรู้วิธีคิดแบบแยกแยะคนที่มีส่วนสำคัญที่สุด ออกจากฝูงผู้มีส่วนร่วมพัฒนาในเรื่องนั้นๆ     ที่ฝรั่งเรียกว่ามี most significant contribution    โดยตระหนักในความเป็นจริงว่า การค้นพบเรื่องใดเรื่องหนึ่ง วิธีการใดวิธีการหนึ่ง ไม่ใช่คิดขึ้นมาได้ลอยๆ     แต่ต้องอาศัยความรู้และการค้นพบหรือการประดิษฐ์อื่นๆ นำมาก่อนเสมอ

         ผมกลับมาอ่านรายละเอียดของผู้เข้ารอบสุดท้าย 5 คน     และบอกตัวเองว่าจะได้คนไหนหรือจับคู่ให้รางวัลอย่างไรก็งดงามทั้งสิ้น    คณะกรรมการจะสามารถสื่อแก่สังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างหนักแน่น ว่าท่านที่ได้รับรางวัลได้ทำประโยชน์แก่โลกในด้านสาธารณสุขและด้านการแพทย์อย่างไร     หน้าที่ของผมคือเตรียมตัวทำความเข้าใจเพื่อเขียนคำประกาศเกียรติคุณและเพื่อแถลงข่าวให้มีความชัดเจนเข้าใจง่าย     และสื่อให้เข้าใจระดับคุณค่า     สื่อต่อสังคมเพื่อให้สังคมได้ใช้ความรู้ที่สื่อออกไปในการพัฒนาสุขภาพ ทั้งเชิงระบบและเชิงพฤติกรรมหรือลีลาชีวิต (lifestyle) ส่วนตัว    

         เช้ามืดวันที่ 7 พ.ย. หลังวิ่งออกกำลังกาย ผมอ่านรายละเอียดของผู้เข้ารอบสุดท้าย 5 คนอีก เพื่อเตรียมเผชิญความยากลำบากในการดำเนินการประชุมเพื่อตัดสินรอบสุดท้าย รวมทั้งระหว่างนั่งรถจาก สคส. ไปโรงแรมโอเรียนเต็ล สถานที่ประชุม ผมก็ยังคงอ่านรายละเอียดเพื่อเตรียมพร้อม    

         ในการพิจารณารอบสุดท้าย กรรมการช่วยกันดีมากครับ มีการเพิ่มเกณฑ์ตัดสินในรายละเอียด
• ถ้าแข่งกันแบบสูสีระหว่างคนในประเทศพัฒนาแล้ว กับคนในประเทศกำลังพัฒนา ก็ให้เลือกคนจากประเทศกำลังพัฒนา
• ให้เน้นการถกเถียงแสดงความเห็นในกลุ่มกรรมการที่มาประชุมไปเรื่อยๆ จนมองเห็นทางออกร่วมกัน ได้ข้อยุติอย่างเป็นเอกฉันท์
• รางวัลสาขาการสาธารณสุขเน้น application of what is known     รางวัลสาขาการแพทย์เน้นการค้นพบ new idea     โดยมีเกณฑ์ร่วมคือเกิดผลต่อสุขภาพของคนจำนวนมาก ในหลายประเทศในโลก
• ชื่อใดยังมีข้อมูลไม่พอ ก็ส่งให้ SAC ไปหาข้อมูลและเขียน independent view เสนอมาในปีต่อไปอย่างที่ทำในปีนี้

         เราเห็นว่าวิธีทำงานแบบรับลูกกันระหว่าง SAC – IAC อย่างที่ทำในปีนี้เข้ารูปแล้ว    

         เช้าวันที่ 7 พ.ย. ผมเริ่มการประชุมด้วยการถามแบบยิงลูกตรงเลยโดยถามว่า รางวัลสาขาสาธารณสุขควรได้แก่ใคร     สาขาการแพทย์ควรได้แก่ใคร      แล้วถกเถียงกัน    เอกสารเกี่ยวกับรายชื่อผู้ได้รับรางวัลปีก่อนๆ รวมทั้งผลงานที่ได้รับยกย่อง ช่วยให้เราถกเถียงกันแบบ information-based      ต้องชมคุณผึ้งที่เตรียมเรื่องสารสนเทศของทุนมาอย่างดี     ทำให้กรรมการรางวัลนานาชาติยกย่องในระบบการทำงานของ secretariat      และผมก็พลอยได้รับการยอมรับนับถือไปด้วย  

         เถียงกันไปเถียงกันมา เราเหลือ 3 ชื่อ     และมีข้อยุติร่วมกันแบบเอกฉันท์ว่า
• สาขาสาธารณสุข ให้รางวัลแก่ 2 คน     คือ Prof. Basil Stuart Hetzel, Chairman Emeritus, ICCIDD – International Council for the Control of Iodine Deficiency Disorders) ซึ่งเป็นคนออสเตรเลีย จากผลงานการทำให้ IDD ได้รับความสนใจว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก ที่จะต้องแก้ไข   กับ Dr. Sanduk Ruit,  Director, Tilganga Eye Centre, Nepal  จากผลงานนวัตกรรมในการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ในผู้ป่วยต้อกระจก ทำให้ราคาถูกและเข้าถึงประชากรที่ยากจนได้     จุดร่วมของผลงานของทั้ง 2 ท่านคือมีประโยชน์ต่อสุขภาพของคนในส่วนของโลกที่กำลังพัฒนาเป็นหลัก 
• สาขาการแพทย์ได้แก่ Prof. Axel Ullrich, Max Planck Institute of Biochemistry, Martinsried, สาธารณรัฐเยอรมัน  จากผลงานการเป็นผู้นำด้าน Targeted Therapy ของมะเร็ง ในมะเร็งเต้านม     ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขของผู้หญิงทั่วโลก

สาขาสาธารณสุข
1. Professor Basil Stuart Hetzel  จากผลงานการศึกษาความผิดปกติจากการขาดไอโอดีน (IDD – Iodine Deficiency Disorders ท่านเป็นผู้ริเริ่มใช้คำนี้) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเป็นคนแรกที่แสดงให้เห็นว่าการขาดไอโอดีนในทารกและเด็กมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง อันมีผลต่อระดับปัญญา     และได้แสดงให้เห็นว่าการให้เกลือไอโอดีนจะแก้ปัญหาปัญญาอ่อนได้     ได้เผยแพร่ความรู้นี้และเรียกร้องจนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานนานาชาติที่เกี่ยวข้องอันได้แก่องค์การอนามัยโลก และ UNICEF  ให้ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกที่จะต้องได้รับการแก้ไข    โดยจัดตั้งหน่วยงาน ICCIDD (International Council for  the Control of Iodine Deficiency Disorders, www.iccidd.org) ในปี ค.ศ. 1985 โดยได้รับการสนับสนุนจาก UNICEF และรัฐบาลออสเตรเลีย และ Dr. Hetzel เป็นผู้อำนวยการ  และต่อมาเป็นประธาน  และประธานกิตติมศักดิ์ในขณะนี้    ICCIDD ทำงานกำหนด global action plan เพื่อแก้ปัญหา IDD ซึ่งมีคนทั้งโลก 2.2  พันล้านคนที่เสี่ยงต่อการที่สมองด้อยปัญญาจากความผิดปกตินี้     ท่านได้เขียนหนังสือ ชื่อ Towards The Global Elimination of Brain Damage Due to Iodine Deficiency, 2004     ซึ่งอ่านได้จาก เว็บไซต์ ของ ICCIDD – www.iccidd.org 

        ผลกระทบจากการทำงานของ ICCIDD ร่วมกับ WHO, UNICEF, UN, WB ในช่วงปี ค.ศ. 1990 – 2000 ทำให้ จำนวนประเทศที่มีโครงการเติมไอโอดีนลงในเกลือเพิ่มจาก 46 เป็น 93     ในประเทศที่มี IDD เป็นโรคประจำถิ่น 2/3 ของครัวเรือนมีเกลือที่เติมไอโอดีนใช้     และมี 20 ประเทศอยู่ในสภาพที่ใช้เกลือที่เติมไอโอดีนกันทั่วไป 
       สรุปว่า Dr. Hetzel เป็นผู้ศึกษาจนเข้าใจปัญหา IDD ชัดเจน (และตั้งชื่อให้ด้วย ทำให้จำง่าย)     เป็นผู้ทำให้ปัญหา IDD ได้รับการยอมรับว่า เป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก     เป็นผู้ทำให้โลกมองปัญหา IDD เป็นปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการของสมอง     ไม่ใช่แค่ปัญหาคอพอกอย่างสมัยก่อน    และเป็นผู้นำของโลกในการดำเนินการแก้ปัญหา
         Dr. Hetzel เปลี่ยนกระบวนทัศน์ระดับโลก เกี่ยวกับ IDD     จากคอพอก สู่ ปัญญาอ่อน    
         IDD ยังเป็นปัญหาทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย     ดังนั้นการที่รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ยกย่องท่าน     จึงจะเป็นสัญญาณต่อโลกและต่อสาธารณชนไทย ให้เอาใจใส่ เอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหา IDD      ยิ่งสังคมปัจจุบันเป็นยุคความรู้ ศักยภาพทางสมองของพลเมืองจึงมีความสำคัญยิ่ง     ปัญหา IDD เป็นตัวถ่วงความเจริญก้าวหน้าของสังคมที่เราไม่น่าจะยอมให้ดำรงอยู่     แต่การแก้ไขต้องการการดำเนินการโดยมีความรู้ความเข้าใจความซับซ้อนของปัญหา     มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ  มีการจัดการที่ดี  มีระบบข้อมูลและสารสนเทศสำหรับใช้ติดตามผล 
         ผมฝันเห็นว่าการที่รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ให้รางวัลแก่ Prof. Hetzel และท่านเดินทางมารับรางวัลต้นปีหน้า      จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เกิด “แชมเปี้ยน” คนไทยที่เอาจริงเอาจังต่อการแก้ปัญหา IDD ในประเทศไทยแบบกัดไม่ปล่อย     จน IDD หมดไปจากแผ่นดินไทย    เวลานี้ประชากรไทยไม่ถึง 2/3 ได้รับเกลือเสริมไอโอดีน (ดูจากแผนที่ใน เว็บไซต์ ของ IDD)      และเรามีข้อมูลว่าเด็กไทยมี ไอคิว ต่ำลง     ค่าเฉลี่ยอยู่แถวๆ 90 เท่านั้น 

 2. Dr. Sanduk Ruit  จากผลงานพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์เทียม แบบ “ไร้รอยเย็บ” (suture-less) ทำให้ไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง และผ่าตัดได้ในเวลารวดเร็วมาก และได้ผลดี    ผลงานผลิตเลนส์ตาเทียม (intraocular lens) ที่มีคุณภาพสูงมากแต่ราคาถูก (ราคา US$ 3 – 6  ในขณะที่ราคาในท้องตลาด US$ 150)     มีผลทำให้คนในประเทศยากจนได้รับการผ่าตัดอย่างทั่วถึง    
         ได้เริ่มงานโดยจัดหน่วยผ่าตัดเคลื่อนที่ไปให้บริการผ่าตัดต้อกระจกด้วย intra-ocular lens technique ในพื้นที่ห่างไกลของเนปาล ตั้งแต่ ค.ศ. 1988    ได้คิดวิธีผ่าตัดที่ทำได้อย่างมีคุณภาพในสภาพของหน่วยเคลื่อนที่    โดยได้ผลเหมือนการผ่าตัดในห้องผ่าตัดอย่างดี     และต่อมาก็ได้คิดค้นวิธีการ sutureless surgery อันมีชื่อเสียง    ต่อมาในปี 1994 ได้ตั้ง Tilganga Eye Centre (TEC) ในนครกาฏมัณฑุ  เนปาล   ทำงานเป็น NGO จัดการบริการอย่างเป็นระบบ      ให้บริการผ่าตัดต้อ กระจกได้วันละ 700 คน     และได้ก่อตั้ง NGO อื่นๆ เพื่อป้องกันตาบอด ได้แก่ Nepal Eye Program, Nepal Eye Program Australia     และร่วมมือกับ International NGOs ได้แก่ Fred Hollow Foundation (Australia), Himalayan Cataract Project (USA) ดำเนินการรักษาและป้องกันตาบอดทั่วเอเซีย    และร่วมมือกับวงการด้านตาของทั่วโลก     
       สรุปว่า Dr. Ruit ได้สร้างประวัติการณ์ในการป้องกันตาบอดทั่วโลก     โดยเริ่มจากฐานชนบทในประเทศกำลังพัฒนา      ซึ่งสำหรับผมเป็นเรื่องที่น่าพิศวงมาก     คือตามปกติการดำเนินการอย่างเป็นระบบมักมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว     และถ่ายทอดเทคโนโลยีมายังประเทศกำลังพัฒนา      แต่กรณีของ Dr. Ruit กับการป้องกันตาบอด กลับสวนทาง 
         
       คณะกรรมการ IAC รอบคอบมาก ในการตรวจสอบว่า Dr. Ruit มีผลงานระดับนวัตกรรม หรือเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ วิธีการที่หมอผ่าตัดแต่ละคนปรับปรุงเทคนิคการผ่าตัดของตน     เราโทรศัพท์ถามผู้รู้ที่ออสเตรเลีย และที่ รพ. ศิริราช ก็ได้ความตรงกันว่าท่านมีผลงานระดับนวัตกรรม     และเป็นประโยชน์กว้างขวางจริงๆ     แถมเรายังได้ข้อมูลว่า Dr. Ruit เป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนมาก    
        เรามักเผลอคิดกันว่าความสำเร็จและเกียรติยศของคนเก่งได้มาง่ายๆ     ซึ่งไม่มีเลยที่เป็นความจริง      อย่างกรณีของ Dr. Ruit นี้ ในช่วงแรกก็ถูกหมอตาในประเทศเนปาลต่อต้าน     อ่านได้จาก citation ตอนที่ท่านได้รับรางวัลแม็กไซไซ ปี 2549 ที่   http://www.rmaf.org.ph/Awardees/Citation/CitationRuitSan.htm  
                   
สาขาการแพทย์
        Professor Axel Ullrich    จากผลงานพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งแบบพุ่งเป้า (targeted cancer therapy)     ซึ่งในกรณีนี้คือมะเร็งเต้านมที่มี gene HER2 amplification    ใช้ยา Herceptin ซึ่งพัฒนาขึ้นจาก monoclonal antibody ที่จำเพาะต่อ HER2     จึงถือเป็นผู้นำในการใช้ monoclonal antibody เป็นยารักษาโรคด้วย
       ที่จริง ศ. อุลริค มีผลงานหลากหลายด้าน     จนเป็นนักวิจัยที่มีผลงานได้รับการอ้างอิงสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก    โดยมีผลงานวิจัยอยู่ในกลุ่ม molecular biology of cancer ซึ่งนอกจาก target – specific cancer therapy แล้ว ยังมีผลงานวิจัยด้าน
• Growth factors
• Growth factor receptor
• Antiangiogenesis cancer  therapy
• Cellular signaling network
• เป็นต้น 
        ท่านเคยทำงานวิจัยในบริษัทวิจัยผลิตยา คือ Genentech ที่แคลิฟอร์เนีย อยู่ถึง 10 ปี     แล้วจึงกลับเยอรมัน ไปทำงานใน Max Planck Institute    และเวลานี้ก็ยังเป็นที่ปรึกษาบริษัทวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในสิงคโปร์ด้วย 
         ผมมองว่า ศ. อุลริค น่าจะอยู่ในข่ายได้รับรางวัลโนเบลด้วย 

         รุ่งขึ้น วันที่ 8 พ.ย. ศ. นพ. สุพัฒน์ วานิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มาร่วมประชุมด้วย  และเรามีคณะกรรมการ SAC มาร่วมประชุมอีก 4 คน คือ ศ. นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน, ศ. ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์, นพ. ปรีดา มาลาสิทธิ์, และ ศ. นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร     รวมกับ ศ. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กับผมซึ่งเป็น SAC ด้วย รวมมี SAC มาร่วมประชุม 6 คนจาก 15 คน     สาระของการประชุมมี 3 ส่วน คือ (1) ประเด็นและบุคคลที่ SAC ต้องรับไปค้นข้อมูลต่อ   (2) เรื่องการจัด youth program    และ (3) การใช้มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เป็นเครื่องมือสร้างความร่วมมือในภูมิภาค 

           ประเด็นและบุคคลที่ SAC ต้องรับไปค้นข้อมูลต่อได้แก่  เรื่องวัคซีน (varicella, JE และมาลาเรีย)    เรื่องมาลาเรีย ให้ค้นข้อมูลผลงานของ 3 คน     เรื่องโรคเรื้อน    เรื่องสุขภาพของแม่และเด็ก     เรื่องสุขภาพเด็ก    เรื่องวัณโรค   เรื่องภาวะพร่องเหล็ก  เรื่องเบาหวาน    เรื่องการป้องกันมะเร็ง     เรื่องวิธีการด้านสาธารณสุขที่ช่วยลดโรคเรื้อรัง     เรื่องฟันผุ    เรื่องโรคอ้วน   เป็นต้น    รวมแล้วเรามีรายชื่อเก็บไว้ศึกษาผลงานต่ออีกหลายคน   และมีประเด็นของความก้าวหน้าที่มีคุณประโยชน์ต่อมนุษยชาติหลากหลายด้าน     ซึ่งผมไม่ควรเอามาเปิดเผยมากเกินไป

           แต่ก็ควรบันทึกความรู้สึกไว้ว่า ชีวิตของผมได้เรียนรู้และสนุก ประเทืองปัญญา จากงานนี้มากจริงๆ

           ในวันที่ 20 พ.ย. 50 คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ลงมติเห็นชอบต่อข้อเสนอของคณะกรรมการ IAC อย่างง่ายดาย     ผมรู้สึกว่าคณะกรรมการมูลนิธิฯ ให้ความไว้วางใจการทำงานคัดเลือกของ IAC – SAC เพิ่มขึ้น    ทำให้ผมชื่นใจมาก

วิจารณ์ พานิช
11 พ.ย. 50  ปรับปรุงแก้ไข 24 พ.ย. 50

หมายเลขบันทึก: 153250เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2007 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
หัวข้อนี้น่าสนใจมาก เศรษฐกิจพอเพียง อยากรู้ว่ามหาลัยหรือสมาคมห้องสมุดมีการขับเคลื่อนอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท