ห้องเรียนปริญญาเอก


รางวัลที่ให้ครู

ห้องเรียนปริญญาเอก

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2550  เวลา 8.00-10.00 น.

วันนี้ นิสิตปริญญาเอก เรียนวิชาวิจัยสถาบัน    ไม่มีใครขาดเรียนเลย   ทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันในห้องเรียนตามคำแนะนำของอาจารย์ภาวิณี   เพื่อนๆ ทั้ง 14 คนเลือก   นางสาวพัชรินทร์  สมบูรณ์ ทำหน้าที่ประธานดำเนินกิจกรรม นำเสนองานวิจัยสถาบันที่ได้ไปค้นคว้ามา พร้อมกับวิจารณ์ว่ามีคุณภาพ  และคุณค่าอย่างไร  เป็นงานวิจัยสถาบันหรือไม่     การนำเสนอได้ดำเนินไปตามลำดับที่ตกลงกันไว้  หมดเวลาแล้วยังเหลืออีกสองคน   ที่ประชุมได้เห็นพ้องกันว่าให้นำเสนอต่อจนเสร็จสิ้นไปเลย เรารับประทานอาหารเที่ยงด้วยและฟังเพื่อนด้วย พร้อมกับร่วมอภิปราย  หลังจากนั้นจึงสรุปประเด็นการเรียนรู้ร่วมกัน   วันนี้แม้อาจารย์ไม่อยู่  แต่ทุกคนมีความรับผิดชอบดีมาก และร่วมทำกิจกรรมอย่างจริงจัง ”            

ข้อความข้างต้น เป็น e-mail ที่นิสิตปริญญาเอกส่งถึงผู้สอนตามข้อตกลง ทันทีที่ผู้สอนกลับจากประเทศอินเดีย สามารถอ่านและนึกตาม เห็นภาพห้องเรียนชัดเจน    

 บรรยากาศห้องเรียนที่ไร้ครูวันนี้เกิดการเรียนรู้อย่างสนุกสนานและมีความสุข ทุกคนมีโอกาสแสดงออกอย่างเต็มที่ (ไม่ต้องเกร็ง) ทุกคนให้ความร่วมมือในการนำเสนอเป็นอย่างดี ทั้งนี้มีการเตรียมตัวมาค่อนข้างดีทีเดียว  สิ่งที่ทุกคนนำเสนอทำให้มีความหลากหลาย  แต่ละคนได้แสดงออกถึงความสามารถในการวิคราะห์  วิจารณ์งานวิจัยตามหลักวิชาความรู้ที่ได้เรียนรู้มา ประธานทำหน้าที่ตนเองอย่างไม่ขาดตกบกพร่องเลย ให้สัญญาณการหมดเวลาโดยการเคาะแก้ว 1 ครั้ง เพื่อเตือนให้รู้ว่าเตรียมสรุปประเด็นได้แล้ว และเพื่อให้คนต่อไปได้เตรียมตัวเองสำหรับการนำเสนอต่อไป และเพื่อว่าให้แต่ละคนไม่พูดนอกประเด็นหรือออกนอกเรื่อง  รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังจากที่ได้มีการนำเสนอไป  เพื่อน ๆ มีการซักถามประเด็นที่สงสัย  และอภิปรายร่วมกัน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันอย่างมีความหมายมาก และทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้สำหรับเพื่อน ๆ บางคน  นิสิตรู้สึกว่าได้รับความไว้วางใจจากผู้สอน จึงทำให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะกระทำกิจกรรมให้สำเร็จดังความคาดหวังของผู้สอนในช่วงเวลาที่จำกัด           

 ผู้สอนภูมิใจในผู้เรียน 

จุดที่ควรปรับปรุง คือเรื่องของเวลา เพราะว่าเวลาในการนำเสนอและอภิปราบซักถามด้วย คนละ 10 นาทีน้อยไปนิดนึง  เลยทำให้ดูเหมือนว่าเร่งรีบมากเกินไป ทำให้บางคนต้องมีการถามกันนอกรอบต่ออีก  นอกจากนี้บางคนยังมีการนำมาถามต่อเวลาพักเที่ยงเลย  หรือเดินมาถามต่อเมื่อผู้นำเสนอกลับมานั่งที่แล้ว นับว่าเป็นการเรียนรู้ที่เป็นกันเองและสนุกไปอีกแบบ คิดว่าถ้ามีเวลามากกว่านี้อีกสักคนละประมาณ 20-25 นาที น่าจะได้ความชัดเจนมากขึ้น ส่วนเรื่องอื่น ๆ ไม่มี เพราะทุกการเรียนรู้มีคุณค่าหมด  แม้ว่างานบางเล่มจะไม่ค่อยดีแต่เราสามารถเรียนรู้จุดด้อยเพื่อเป็นข้อคิดสำหรับตนเองให้มีความรอบคอบและระมัดระวังในการทำงานวิจัยของตนเองมากขึ้น .

ผู้สอนจะได้อ่านรายงานเต็มฉบับต่อไป และจะได้ร่วมอภิปรายเพิ่มเติม

ผลที่ได้จากการเรียนรู้โดยปราศจากอาจารย์ทำให้ข้าพเจ้าได้บรรยากาศในเรื่อง กระบวนกลุ่ม และได้ข้อคิดจากการได้อภิปรายร่วมกันของเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งต่างคนก็มีความคิดอย่างอิสระทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เพื่อนที่ไม่กล้าแสดงออกก็มีความกล้าเกิดขึ้น  แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าขาดครูห้องเรียนก็เหมือนขาดสิ่งสำคัญที่สุดไป .......... ในความคิดของข้าพเจ้า."

 นี่เป็นรางวัลที่ครูได้รับ ยามที่จำหายหน้าwx  ครูได้เรียนรู้ว่า ครูควรดุน้อยลง  พูดน้อยลง เพื่อให้ผู้เรียนไม่เกร็ง  ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสบายใจ 

ครูทำได้ ครูสัญญา

ครูภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์

     

คำสำคัญ (Tags): #ให้รางวัลครู
หมายเลขบันทึก: 152721เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2007 01:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
ขนิษฐา ชัยรัตนาวรรณ

ขนิษฐา ชัยรัตนาวรรณ เป็นนิสิตปริญญาเอกคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ เรียนวิชาวิจัยในชั้นเรียนที่เป็นห้องเรียนที่ไร้ครู

สาเหตุที่ทุกคนใช้เวลานำเสนอและอภิปรายประมาณ 10 นาที เนื่องจาก มีสมาชิกมากถึง 14 คน ดังนั้นจึงเกรงว่าจะนำเสนอไม่ครบ เพราะมีเวลาในชั่วโมงเรียนตั้งแต่ 08.00-10.00 น. เท่านั้น แต่ทุกคนได้เรียนรู้ สามารถบ่งบอกถึงคุณค่า  คุณภาพของเรื่องวิจัยสถาบันที่ได้ศึกษาและค้นคว้ากัน และดำเนินกิจกรรมด้วยความสุข สนุกสนาน (อีกแบบ)

แต่ขอยืนยันได้ว่าครูภาวิณี ไม่ดุเลย ครูคนนี้ใจดีมากๆๆ (จริงๆค่ะ) และสิ่งที่ได้เรียนรู้อีกอย่างจากครูคนนี้คือ กิจกรรมในชั้นเรียน ที่มีรูปแบบต่างๆ ซึ่งได้นำไปใช้และให้คุณค่ากับอาชีพความเป็นครูซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้กับศิษย์เพิ่มขึ้น

ด้วยความรักและเคารพอย่างสูง

ขนิษฐา ชัยรัตนาวรรณ

  • ตามมาสมัครเป็นลูกศิษย์ครับ
  • ฮ่าๆๆ
  • ดีใจที่ได้อ่านเรื่องอาจารย์อย่างสม่ำเสมอครับผม
พัชรีรัตน์ บัณฑิตวงศ์

ศิษย์เป็นนิสิตปริญญาโทภาคพิเศษสาขาวิจัยฯ ที่เคยตกอยู่ในสภาพ ห้องเรียนที่ไร้ครูมาแล้ว 1 ครั้ง

             จึงอยากแสดงความเห็นเพิ่มเพื่อยืนยันว่า ห้องเรียนที่ไม่มีครูอยู่นั้นผ่อนคลาย ออกจะครื้นเครงเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะมีการนำเสนองานหน้าชั้น ของแต่ละกลุ่ม นิสิตบางคนที่เคยนั่งนิ่งเงียบ มีความกล้าที่จะแสดงออก ในการซักถามข้อมูลเพิ่มเติม และขอให้ผู้นำเสนอยกตัวอย่าง หากไม่เข้าใจ อีกทั้งช่วยกันแก้คำผิด หากผู้นำเสนอพูดผิด  แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างคือ ขาดความเป็นระเบียบไปบ้างในบางช่วงเวลา

            ในขณะที่หากมีครูอยู่ และครูป้อนคำถามจี้ในบางเรื่อง หรือในกรณีที่ครูบอกจะหัก 1 คะแนน พบว่านิสิตหลายคนเริ่มเครียด นึกอะไรไม่ออก ไม่ค่อยมีใครกล้าพูด

            เราคงต้องหาทางออกกันคนละครึ่งทางกระมัง

การเข้ามาแสดงความคิดเห็นในที่นี้ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่านี่เป็นการฝึกกระบวนการประเมินของนิสิตอย่างหนึ่งใช่ไหมคะครู

ด้วยความเคารพอย่างสูง

 

บุณยานุช เฉวียงหงส์

หนูก็เป็นนิสิตอีกคนหนึ่งที่อยู่ในห้องเรียนที่ไร้ครูเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ค่ะ ตามความคิดของหนูคิดว่าถึงแม้ว่าห้องเรียนที่ไร้ครูจะทำให้บรรยากาศการเรียนรู้เป็นไปด้วยความสนุกสนาน ไม่มีความกดดันจากครู ก็จริงอยู่ แต่ถึงอย่างไรหนูก็คิดว่าสู้การมีครูอยู่ไม่ได้ เพราะบางครั้งเมื่อเกิดประเด็นที่จะต้องอภิปรายกันเพื่อหาข้อยุติพวกเราไม่สามารถหาข้อยุติได้ จนเราต้องบอกกันว่า "รอให้อาจารย์มาก่อนแล้วค่อยถามอาจารย์"  และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากเรียนให้ครูทราบเหมือนกับพี่ขนิษฐา คือครูไม่เคยดุพวกเราเลยนะคะ  ถึงแม้บางครั้งดูเหมือนว่าครูจะเสียงดังบ้างแต่ก็ไม่ใช่เป็นลักษณะของการดุ  เพราะตามความคิดหนูน้ำเสียงหนักเบาเป็นการบอกความเข้มของการให้ความสำคัญของเรื่องมากกว่าค่ะ ส่วนเรื่องที่ครูจะพูดให้น้อยลงบางครั้งหนูก็เกรงว่าหนูจะขาดความรู้บางสิ่งบางอย่างไปค่ะ เพราะคำพูดของอาจารย์แม้แต่ประโยคสั้น ๆ เพียงประโยคเดียวมันก็เป็นความรู้สำหรับหนูมากค่ะ

ด้วยความรักและเคารพอย่างสูงค่ะ

บุณยานุช  เฉวียงหงส์

กราบเรียนอาจารย์ด้วยความเคารพ

ไม่น่าเชื่อเลยว่า การเรียนในระดับปริญญาเอกจะเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้สอดคล้องกับแนวปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ มักจะพบในระดบประถมแบะมัธยม

ด้วยความเคารพ

กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพ

    ดิฉันเป็นสมาชิกคนหนึ่งในห้องเรียนที่ไร้ครู  ยอมรับว่าเป็นการเรียนรู้ที่มีความสุขไปอีกแบบหนึ่งจริง ๆ ทุกคนได้กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าซักถาม แม้จะไร้ครู แต่พวกเราก็ยังคงไว้ซึ่งกฎ กติกาและมารยาทในกระบวนการกลุ่ม ช่วยเหลือในการให้การนำเสนอ การอภิปรายซักถามดำเนินไปด้วยดี อย่างไรก็ตามคิดว่าห้องเรียนที่มีครูย่อมน่าจะดีกว่า เพราะสามารถให้ความกระจ่างในบางประเด็นที่พวกเราคิดว่ายังขาดอยู่ได้ในทันทีโดยไม่ต้องรอ

     ด้วยความเคารพ

            นุชนาถ  เลิศวาสนา. 

กระผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์ระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว ลูกศิษย์ ดร.สำเนาว์  ดร.บุญเรียง  ดร.กันยา    สำเร็จเมื่อ  ปี พ.ศ.2534  เคยได้รับความกรุณาจากอาจารย์ในการให้คำแนะนำเรื่องแบบทดสอบและยังมอบหนังสือเกี่ยวกับการวัดและประเมินผล ฉบับโรเนียวปกสีเขียว  กระผมยังใช้จนปัจจุบัน

ห้องเรียนปริญญาเอก คงต้องมีบรรยากาศแห่งการสร้างองค์ความรู้   การวิพากษ์   และการรับฟังที่ดีที่เหมาะสม มากกว่าปริญญาโท    ผมเชื่อว่าอาจารย์ของผมทำได้สบาย  ผมภูมิใจในความเป็นลูกเกษตรศาสตร์ ซึ่งไม่อายใครในวงวิชาการ

การเรียนโดยปราศจากครู ทำให้นิสิตไม่เกร็งก็จริง แต่ก็ขาดความเชื่อมั่นว่าข้อสรุปที่ได้นั้น ถูกต้องหรือไม่ บางทีอาจจะหลงประเด็น หรืออาจตรงประเด็นแล้ว แต่ก็ไม่มีความมั่นใจในประเด็นเหล่านั้น การที่ห้องเรียนมีครูถือว่าสำคัญมาก

ประเด็นเรื่องเกร็ง น่าจะใช้วิธีการอื่นในการแก้ไข

แต่เรียนกับท่านอาจารย์ภาวิณีที่ใบหน้าท่านยิ้มอยู่เสมอแถมยังมีมุขตลกแทรกอีกต่างหาก ไม่น่าจะต้องเกร็ง ถึงแม้จะโดนคอมเม้นท์บ้าง (ดุบ้าง) แต่มันก็เป็นความจำเป็น ถ้าไม่ทำอย่างนั้น จะช่วยเราพัฒนาความคิดของเราได้อย่างไร

"ไม่ผิดหวังที่ได้มาเรียนกับอาจารย์ค่ะ"

"ไม่เฉพาะความรู้ แต่ได้พัฒนาทักษะ และความคิด"

หนูจะสง่างาม ดังที่อาจารย์ตั้งใจไว้ค่ะ หนูสัญญา ^.^

มยุรี เสือคำราม

เวลาผ่านไปรวดเร็วดังกับนิยาย บัดนี้ ลูกศิษย์ทุกคนก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างน่าชื่นใจเป็นความสำเร็จที่ทุกคนพัฒนาโยนิโสมนสิการที่เป็นแบบอย่างของคนรุ่นหลัง นับเป็นบุญของครูที่ได้พบลูกศษย์อย่างท่านทั้งหลาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท