ในชีวิตเราคุยกับใครมากที่สุด?


  • มนุษย์ในด้านหนึ่งดังที่ อิบนุ คอลดูน กล่าวว่า "เป็นสัตว์สังคม" จึงเป็นธรรมดาที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ในระหว่างกันและใช้เวลาในการทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน
  • และหนึ่งในกิจกรรมที่เป็นที่นิยมก็คือ"การพูดคุย"ในระหว่างกัน และจากการพูดคุยกันนี่เองคนหนึ่งได้สื่อบางสิ่งแก่อีกคนหนึ่งหรือมากกว่า ซึ่งจากการสื่อสารกันก็มีการถ่ายทอดข่าวสาร ข้อมูล ทัศนะคติ ความรู้สึก ความคิดความเห็น และอื่นๆ
  • หากเรา"พูดคุย" กับใคร กลุ่มใด เราก็จะได้รับอิทธิพลจากคนนั้น กลุ่มนั้น ซึ่งสอดคล้องกับสุภาษิตไทยที่ว่า "คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล"
  • เราควรใช้เวลาในการพูดคุยกับใคร และพูดคุยมากน้อยแค่ใหนจึงจะเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเอง ครอบครัว งานในหน้าที่ และในฐานะสมาชิกหนึ่งขององค์การ ชุมชน และสังคม
  • ในฐานะบ่าวคนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า
  • ในฐานะอุมมะฮฺของท่านนบีมุหัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)
  • ในฐานะที่ชีวิตที่แท้จริงและนิรันดร์นั้นอยู่ ณ วันภายหลังการพิพากษาตัดสินของอัลลอฮฺ
  • ในฐานะที่อัลลอฮฺได้ทรงประทาน "อัลกุรอาน" เป็น"คำแนะนำ"และ"ข้อตักเตือน" สำหรับเราและมนุษยชาติทั้งมวล
  • นี่คือคำแนะนำนั้น
    • ขอท่านใช้เวลาให้มากในการพูดคุยกับอัลลอฮฺ มีสิ่งใดได้ยับยั้งท่านจากการพูดคุยกับ พระผู้เป็นเจ้าของท่านกระนั้นหรือ และแท้จริงพระองค์ทรงเป็นพระผู้อภิบาลและราชันแห่งมวลมนุษยชาติ
    • ขอท่านใช้เวลาให้มากในการพูดคุยกับศาสดาของพระองค์ เพราะท่านถูกส่งมาเพื่อมนุษย์และท่านมีภารกิจสำคัญคือ เชิญชวนท่านสู่ความโปรดปรานของพระองค์
    • และหากจะมีอีกคนหนึ่งที่ผมจะแนะนำท่านเพื่อท่านจะให้เวลาพูดคุยกับเขานั่นคือ ใครก็ตามที่พูดคุยกับทั้งสองนั้น และไม่มีใครอื่นอีกจากนี้
    • และหากจำเป็นที่ท่านจะต้องพูดคุยกับใครอื่นอีกจากนี้ ขอท่านจงพูดคุยกับเขาเถิดเกี่ยวกับทั้งสามนั้น
หมายเลขบันทึก: 152697เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2007 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

มีเรื่องให้อัปเดทบล๊อกเยอะนะคะ ดีจัง ซันไชน์จะได้มาอ่านบ่อยๆ 

อ่านหัวข้อปุ๊บ นึกถึงการพูดคุยกับตนเองเป็นอันดับต้นๆในทำนองที่ว่า วันนี้ทำอะไรไป ดีไม่ดีอย่างไร ควรแก้ไขอะไรบ้าง ฯลฯ

ว่าแต่ การพูดคุยกับศาสดานี่ พูดคุยยังงัยเหรอคะ? ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ อีกอย่าง ท่านจากเราไปแล้ว แล้วเราจะพูดคุยกับท่านได้อย่างไร

ไม่น่าจะเหมือนการพูดคุยกับอัลลอฮ์ (ซบ.)

..

 

เรื่องขำๆ...
ว่าแล้ว พอพูดถึงการพูดคุยกับตนเอง ทำให้นึกถึงฝรั่งบางคนที่มักจะคุยกับตนเองเวลาเค้าทำงาน ทำงานไปบ่นไปคนเดียว บ่นดังๆด้วย คนนั่งข้างๆ ก็มักจะคิดว่าเค้าคุยกะเรา พอเราโต้ตอบกลับไป เค้าก็จะหันมาพูดว่า

"Nothing, I am just talking to myself"
"ไม่มีอะไรหรอก, ผมแค่พูดกับตัวเอง"

มั้ยหล่ะ...หน้าแตกเลยเรา (^_^)

  •  อัสสะลามุอาลัยกุมฯครับคุณsunshine
  • ท่านศาสดามุหัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) นั้นได้ถูกส่งมาในฐานะ "คอตะมันนบียีน" หรือศาสดาท่านสุดท้ายของอุมมะฮฺหรือประชาชาติปัจจุบันซึ่งจะมีระยะเวลานับแต่ท่านได้รับการแต่งตั้งจวบจนกระทั่งถึงวันสิ้นโลก
  • การวาฟาต หรือ การตายของท่านนั้น เป็นการตายในแง่ที่ท่านเป็น "มนุษย์ปุถุชน" ครับ แต่ความเป็น "รอซูลุลลอฮฺ" นันหาได้ตายจากไปพร้อมกับสังขารของท่านไม่
  • ลองดูในแง่ของ "ชีวประวัติ" ของท่านนบีซิครับ แม้ว่าท่านจากเราไปไป 1,400 กว่าปีแล้ว แต่เราสามารถที่จะรู้เกี่ยวกับชีวิตของท่านในแต่ละช่วงวัยอย่างละเอียด เสมือนหนึ่งท่านเกิดและมีชีวิตอยู่"ข้างบ้าน"ของเราเลยทีเดียว และเรารู้เกี่ยวกับท่านนบี มากกว่าปู่ย่าตายายของเราเสียอีก
  • และในส่วนที่เป็น "การพูด การกระทำ และการนิ่งเงียบของท่านอันถือเป็นการอนุญาตของท่านต่อการกระทำใดๆ" หรือที่เราเรียกว่า "อัลหะดิษ" นั้นได้รับการบันทึกและส่งต่อผ่านรุ่นต่อรุ่นจวบจนมาถึงรุ่นเรา ณ วินาทีนี้ และมันได้รับการบันทึก จดจำ เหมือนที่ท่านกล่าวกับบรรดาศอหาบะฮฺของท่าน คำต่อคำ เมื่อเราอ่านอัลหะดิษ เราจะรู้สึกเสมือนหนึ่งท่านนบีกำลังพูดกับเรา ต่อหน้า
  • ลองเอาหนังสือหะดิษวางไว้ใกล้ๆตัวซิครับ และอ่านหรือสนทนากับท่าน คุณsunshine จะพบว่า เสมือนท่านได้มาอยู่ใกล้ๆ คอยให้คำแนะนำ ชี้แนะต่างๆ คอยตักเตือนด้วยความห่วงใย
  • ขออัลลอฮฺทรงประทานความดีแด่คุณsunshine อามีน

สวัสดีครับ..ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ ในประเด็นของการพูดคุย ผมมักจะพูดคุยกับ "ฮาวอนัฟซู" ที่อยู่ในใจเราครับ  ว่างๆ ผมใช้ "สติ" ลงเข้าไปดูที่ "จิต" ครับ ดูว่าวันนี้มีเจ้า "ฮาวอนัฟซู" มาเยี่ยมเยือนหรือไม่  ถ้าพบก็ใช้ "สติ" นั่งพูดคุยกับเขาครับ นั่งพุดคุยกับเขาจนกว่าเขาจะเกรงใจและลากลับไป โดยไม่ให้เขามามีสิทธิมีเสียงในชีวิตของเราครับ

ประเด็นคุยกับตัวเอง มีเรื่องที่ควรนำมาพิจารณาหลากหลายประเด็นครับ ในมุมมองผมถ้าพิจารณาจากคำสอนในหลายๆ บริบท ผมว่า มุสลิมจำเป็นต้องคุยกับตัวเองในประเด็นต่อไปนี้ครับ

  • ใคร่ครวญและตรวจสอบการกระทำของตนเองอยู่เสมอ ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ดีหรือไม่ดี
  • การรำลึกถึงความผิดพลาด สำนึกผิด และขออภัยต่ออัลลอฮ์อย่างสม่ำเสมอ
  • คิดถึงความตาย
  • แค่นี้นะครับ

 والله اعلم

 

 

  • อรุณสวัสดิ์ครับท่าน ผอ.P  small man
  • ผมขออนุญาตนำเสนอจากมุมมองของอิสลามนะครับ
  • กิเลศตัณหา หรือฮาวอนัฟซูนั้นเป็นธรรมชาติหนึ่งของมนุษย์ มันมีและเกิดขึ้นในเรือนใจของเราหากเราปล่อยให้มันเติบโตจนเกินพอดีมันจะไปครอบงำและบ่งการสติปัญญา ซึ่งตรงนี้นี่เองที่จะเกิดปัญหา อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงสภาพของบุคคลที่ถูกฮาวอนัฟซูครอบงำว่า "เจ้าเคยเห็นผู้ที่ยึดถือเอาอารมณ์ต่ำของเขาเป็นพระเจ้าของเขาบ้างไหม?  และอัลลอฮ์จะทรงให้เขาหลงทางด้วยการรอบรู้  (ของพระองค์)  และทรงผนึกการการฟังของเขาและหัวใจของเขาและทรงทำให้มีสิ่งบดบังดวงตาของเขา ดังนั้นผู้ใดเล่าจะชี้แนะแก่เขาหลังจากอัลลอฮ์ พวกเจ้ามิได้ใคร่ครวญกันดอกหรือ ?" และในอีกอายะฮฺหนึ่งพระองค์ตรัสว่า "แล้วไฉนเล่า พวกเขาจึงไม่นอบ น้อม เมื่อการลงโทษของเราได้มายังพวกเขา แต่ทว่าหัวใจของพวกเขาแข็งกระด้าง และชัยฏอนก็ได้ให้เป็นที่สวยงามแก่พวกเขาด้วยในสิ่งที่พวกเขากระทำกัน"[6.43] นี่คือสภาพที่บุคคลนั้นได้ปล่อยให้ฮาวอนัฟซูเติบโตจนเกินพอดีและนอกจากสภาพภายในของเขาเองแล้ว โองการนี้ยังพูดถึงอีกสิ่งหนึ่งนั้นคือชัยฏอน หรือมารร้าย ที่เข้ามาทำให้เขารู้สึกเอาเองว่ามันดีงาม  
  • แต่ในอิสลามตามความเข้าใจของผมนั้นไม่มีแนวคิดที่จะกำจัดฮาวอนัฟซูให้หมดสิ้นไป และมันไม่อาจทำเช่นนั้นได้ แต่อิสลามส่งเสริมให้ "ขัดเกลา" หัวใจให้สะอาดหรือทำให้บ้านของฮาซอนัฟซูสะอาดซึ่งจะส่งผลต่อฮาวอนัฟซู และควบคุมมันให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ควบคุมมันและใช้มันในทางที่ดีงามและสร้างสรรค์
  • อัลลอฮฺ ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานของพระองค์ว่า "

    พระผู้อภิบาลของเรา ได้ทรงโปรดให้ในหมู่พวกเขามีรอซูล(ศาสดา)ขึ้นมาคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่จะมาสาธยายอายะฮ์ทั้งหลายของพระองค์แก่พวกเขา และสอนคัมภีร์และวิทยปัญญาให้แก่พวกเขา และขัดเกลาชีวิตของพวกเขาให้สะอาด แน่แท้ พระองค์คือผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงปรีชาญาณ" [2.129]

  • "แน่นอนผู้ที่ขัดเกลาตนเอง ย่อมบรรลุความสำเร็จ  และเขารำลึกถึงพระนามแห่งพระเจ้าของเขา แล้วเขาทำละหมาด" [87.14-15]  

  •  "แท้จริงบรรดาผู้ที่ศรัทธานั้น คือ ผู้ที่เมื่ออัลลอฮ์ถูกกล่าวขึ้นแล้ว หัวใจของพวกเขาก็หวั่นเกรง และเมื่อบรรดาโองการของพระองค์ถูกอ่านแก่พวกเขา โองการเหล่านั้นก็เพิ่มพูนความศรัทธาแก่พวกเขา และแด่พระเจ้าของพวกเขานั้นพวกเขามอบหมายกัน" [8.2]

  • "อัลลอฮ์ได้ทรงประทานคำกล่าวที่ดียิ่งลงมาเป็นคัมภีร์คล้องจองกันกล่าวซ้ำกัน  ผิวหนังของบรรดาผู้ที่เกรงกลัวพระเจ้าของพวกเขาจะลุกชันขึ้น แล้วผิวหนังของพวกเขาและหัวใจของพวกเขาจะสงบลงเพื่อรำลึกถึงอัลลอฮ์  นั่นคือการชี้นำทางของอัลลอฮ์ พระองค์จะทรงชี้นำทางแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์และผู้ใดที่อัลลอฮ์ทรงให้เขาหลงทาง ดังนั้นสำหรับเขาจะไม่มีผู้ชี้นำทาง" [39.23] 

  • อัลลอฮฺทรงแจ้งให้มนุษย์ตระหนักอยู่เสมอว่า พระองค์นั้นกำลังเฝ้ามองพวกเขาตลอดเวลา พระองค์ตรัสว่า "

    แท้จริงพระเจ้าของเจ้านั้นทรงเฝ้าดูอย่างแน่นอน" [89.14]  และทรงย้ำอีกว่า " ดังนั้นผู้ใดกระทำความดีหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะเห็นมัน  ส่วนผู้ใดกระทำความชั่วหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะเห็นมัน  [99.7-8] และทรงกำชับอีกว่า "เขาไม่รู้ดอกหรือว่า แท้จริงอัลลอฮ์ นั้นทรงเห็น  มิใช่เช่นนั้น ถ้าเขายังไม่หยุดยั้ง เราจะจิกเขาที่ขม่อมอย่างแน่นอน  ขม่อมที่โกหกที่ประพฤติชั่ว" [96.14-16] และ"

    ดังนั้นข้าขอเตือนพวกเจ้าถึงไฟที่ลุกโชน  ไม่มีผู้ใดจะเข้าไปในเผาไหม้ในมัน นอกจากคนเลวทรามที่สุด 

     คือผู้ที่ปฏิเสธและผินหลังให้   และส่วนผู้ที่ยำเกรงยิ่งนั้นจะถูกปลีกตัวให้ห่างไกลจากมัน  ซึ่งเขาบริจาคทรัพย์สินของเขาเพื่อขัดเกลาตนเอง [92.14-18]

  • "แท้จริงบรรดาผู้ยำเกรงต่อพระเจ้าของพวกเขาโดยทางลับ  สำหรับพวกเขาจะได้รับการอภัยโทษและรางวัลอันใหญ่หลวง  และพวกเจ้าจงปิดบังคำพูดของพวกเจ้าหรือเปิดเผยมันก็ตาม แท้จริงพระองค์ทรงรอบรู้สิ่งที่อยู่ในทรวงอก   พระผู้ทรงสร้างจะมิทรงรอบรู้ดอกหรือ?  พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วนผู้ทรงตระหนักยิ่ง" [67.12-14] 

  • การที่เราได้ พูดคุยกับ อัลลอฮฺ และรอซูล (ศาสดา) ของพระองค์ และกับผู้ที่พูดคุยกับทั้งสอง จะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยเราไม่ให้หลงระเริงในโลกชั่วคราวนี้ และระลึกอยู่เสมอต่อวันหนึ่งที่เราจะต้องกลับไปหาพระผู้เป็นเจ้า และจะเตรียมเสบียงแห่งการปฏิบัติที่ดีสำหรับวันนั้น

  • แค่นี้ก่อนนะครับ ขอบคุณท่าน ผอ.small man สำหรับการร่วมเสวนาธรรมครับ ขออัลลอฮฺทรงชี้นำทางที่เที่ยงตรง อามีน

Pสวัสดีครับ ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ
  • แต่ในอิสลามตามความเข้าใจของผมนั้นไม่มีแนวคิดที่จะกำจัดฮาวอนัฟซูให้หมดสิ้นไป และมันไม่อาจทำเช่นนั้นได้ แต่อิสลามส่งเสริมให้ "ขัดเกลา" หัวใจให้สะอาดหรือทำให้บ้านของฮาซอนัฟซูสะอาดซึ่งจะส่งผลต่อฮาวอนัฟซู และควบคุมมันให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ควบคุมมันและใช้มันในทางที่ดีงามและสร้างสรรค์
  • ตามความเข้าใจของผม ผมคิดว่า "ฮาวอนัฟซู" น่าจะคือ "ความคิด" ของคนเรา ใช่ใหมครับ  ถ้าใช่ ในทางพุทธ ก็ไม่ต้องการขจัดให้หมดสิ้นไปเหมือนกันและก็ส่งเสริมให้ขัดหัวใจให้สะอาด ที่เรียกว่า "จิตว่าง" ครับ  จิตว่าง ไม่ใช่เป็นจิตที่ไม่มีอะไร ไม่คิดอะไร เลยนะครับ แต่เป็นจิตที่คิดด้วย เหตูผล โดยปราศจากอารมณ์ ครับ น่าจะคล้ายๆกับ ควบคุมมันให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ควบคุมมมันและใช้ในทางที่ดีงามและสร้างสรรค์ นั่นก็คือ การควบคุมความคิดนั่นเอง  (ทั้งหมดนี้ผมคิดเอาเองนะครับ ถ้าไม่ถูกก็ขออภัย)..ขอบคุณครับ
    • P  จารุวัจน์ ครับ
    • ที่อาจารย์กล่าวนั้นหรือที่คุณsunshine ก็กล่าวในทำนองเดียวกันนั้น ผมเข้าใจว่ามันคือ "การมุฮาซาบะฮฺ" หรือ "การตรวจสอบตนเอง"นั้น ผมขอเพิ่มเติมดังนี้ครับ คือ การมุฮาซาบะฮฺ นั้นต้องเทียบกับ (๑) เป้าหมาย (๒) มาตรฐาน  (๓) ความรู้ (๔) ความบริสุทธิ์ใจ    และ (๕) อัลกุรอานและซุนนะห์
    • การเทียบกับเป้าหมายนั้นเพื่อจะทราบว่า ณ ปัจจุบันนั้นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นใกล้ไกลแค่ใหนกับเป้าหมายที่วางไว้
    • การเทียบกับ มาตรฐาน ก็เพื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นได้ตามเกณฑ์มาตรฐานมากน้อยแค่ใหน อย่างไร และอย่างน้อยที่สุด สิ่งที่กำลังทำอยู่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำหรือไม่
    • การเทียบกับความรู้ ในที่นี้หมายถึง เพื่อดูว่ามันสอดคล้อง ถูกต้องกับหลักวิชาของศาสตร์นั้นๆหรือไม่อย่างไร? และเนื่องจากในปัจจุบันนั้น ความรู้ต่างๆได้รับการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา การเทียบกับความรู้ล่าสุดจึงมีความจำเป็น
    • การตรวจสอบ ความบริสุทธิ์ใจ ของเราเองอย่างสม่ำเสมอนั้นสำคัญมากครับ เสมือนการฟื้นฟูหรือ refresh ความบริสุทธิ์ใจให้สดใหม่อยู่เสมอให้เหมือนกับตอนเริ่มต้น แม้เมื่องานนั้นประสบความสำเร็จ แต่หากว่า ขาดไปซึ่งความบริสุทธิ์ใจแล้วการงานนั้นก็เสียหาย ณ อัลลอฮฺ
    • และการตรวจสอบกับอัลกุรอานและซุนนะห์นั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับผู้หวังในอัลลอฮฺและการตอบแทนของพระองค์ ณ วันอาคิเราะฮฺ ซึ่งจะครอบคลุมมิติด้านต่างๆ หะลาล-หะรอม ซุนนะห์ หลักอิหซาน และอื่นๆ
    • ซึ่งการมุฮาซาบะฮฺ ๒ ประการหลังนั้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของอิสลาม วัลลอฮฺฮูอะอฺลัม

     

    สวัสดีครับ ท่าน ผอ.small man P

    • คำว่า "ฮาวอนัฟซู" (หรือในสำเนียงมาเลย์กลางจะอ่านว่า "ฮาวานัฟซู) นั้น เป็นอย่างนี้ครับ "ฮาวอนัฟซู" ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ คำว่า "ฮาวอ"(الهوى)  และคำว่า "นัฟซู"(النفس)
    • คำว่า "ฮาวอ" หรือ"ฮาวา" นั้น ในแง่ของภาษา มีหลายความหมายด้วยกัน เช่น อากาศ อุณหภูมิ ส่วนคำว่า "นัฟซู" นั้น หมายถึง ความอยาก ความต้องการ หรือ ความปรารถนาที่รุนแรง
    • เมื่อผสมคำ 2 คำเข้าด้วยกันเป็น "ฮาวอนัฟซู"

      โดยปกติหมายถึง ความปรารถนาที่แรงกล้าที่จะทำในสิ่งที่ไม่ดี บางครั้งหมายถึง ความเจริญอาหาร เมื่อเกี่ยวกับอาหาร และนัฟซูชะฮฺวัต (nafsu syahwat) หมายถึง ความคลั่งไคล้ หรืออยากในกาม ราคะ

    • คำว่า ฮาวอ / นัฟซูและ/ ชะฮฺวัต ทั้งสามคำนี้ยืมคำในภาษาอาหรับมาใช้

    • ฮาวอ  Hawa (الهوى) แปลว่า รักมาก/ความต้องการ

      นัฟซู Nafsu (النفس) แปลว่า วิญญาณ (รูห)/ ชีวิต หัวใจ/ ร่างกาย/ ตนเอง /คนๆหนึ่ง/ ความอยาก/ เจตนา /ความพยายาม ชะฮฺวัต Syahwat (الشهوة) ความอยากในรสชาติ ความใคร่
    • ดังนั้นคำว่า "ฮาวอนัฟซู" จึงน่าจะไม่ใช่ "ความคิด" ครับ  วัลลอฮฺฮูอะอฺลัม 


    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์อาลัมที่เคารพ ตามที่ท่านอาจารย์บอกว่า ฮาวอนัฟซู ไม่ใช่ความคิด แต่หมายถึง ความปรารถนาในการกระทำสิ่งที่ไม่ดี หรือความอยากในกามราคะ  ผมว่าน่าจะเปรียบกับ "ตัณหา" ในพระพุทธศาสนาได้ใหมครับ ตัณหา (Craving ; selfish desire) หมายถึง ความทะยานอยาก ความปราถนาจะบำรุงบำเรอปรนเปรอตน ความอยากได้อยากเอา   ในทางพระพุทธศาสนา  มีความต้องการอยู่  2 ประเภทครับ  ความต้องการที่ไม่ดี เรียก ตัณหา ขณะเดียวกัน ความต้องการที่ดี เราเรียก ฉันทะ(will ; zeal ; aspiration)   สิ่งที่ชาวพุทธต้องการ คือ พัฒนาความต้องการประเภทตัณหา ให้เป็นความต้องการประเภทฉันทะครับ....ขอบคุณครับ

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    • สวัสดีครับท่าน ผอ.small man P
    • ครับ ฮาวานัฟซู เปรียบได้กับ ตัณหา ตามทัศนะของ พุทธศาสนาได้ครับ
    • อัลกุรอานได้กล่าวถึง นัฟซู ไว้หลายชนิด (บางท่านว่ามีถึง 7 ชนิด) แต่ในที่นี่ผมจะขอนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3 ชนิดครับ นั่นคือ
    • นัฟซูอัมมาเราะฮฺ เป็นนัฟซูที่หากว่ามันมีอยู่ในตัวคนหนึ่งคนใดมันจะขับเคลื่อนมนุษย์ให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนาห้าม ผู้ที่ครอบครองนัฟซูชนิดนี้จะมีชีวิตอยู่ในวังวนของอบายมุขจะทำสิ่งที่เป็นบาปเป็นอาจิณ ใฝ่ต่ำ ทำชั่ว อัลลอฮฺกล่าวถึงผู้ครอบครองนัฟซูชนิดนี้ความว่า

      และฉันไม่อาจชำระจิตใจของฉันให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ แท้จริงจิตใจนั้นถูกครอบงำไว้ด้วยความชั่ว นอกจากที่พระเจ้าของฉันทรงเมตตา แท้จริงพระเจ้าของฉันเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ [12.53]

    • นัฟซู เลาวามะฮฺ  คือ เป็นนัฟซูที่รู้จักดีชั่วเมื่อผู้ครอบครองนัฟซูนี้พลั้งเผลอทำบาปหรือสิ่งที่ไม่ดีไม่งามก็สำ นึกตนเองได้พร้อมกล่าวประณามการกระทำของตนเองด้วยความรู้สึกสำนึกแต่ผู้ที่ครอบครองนัฟซูนี้ยังขาดความมั่งคงในการเชื่อฟังอัลลอฮฺ และมักพบว่า ผู้ครอบครองนัฟซูชนิดนี้มักเผลอทำบาปอยู่บ่อยๆ อัลลอฮฺตรัสถึงนัฟซูนี้ว่า    ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปรานี
      [75.1] ข้าสาบานต่อวันกิยามะฮ์ 
      [75.2] และข้าขอสาบานต่อชีวิตที่ประณามตนเอง  
      [75.3]มนุษย์คิดหรือว่าเราจะไม่รวบรวมกระดูกของเขากระนั้นหรือ ?   
      [75.4] แน่นอนทีเดียวเราสามารถที่จะทำให้ปลายนิ้วมือของเขาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ 
      [75.5] แต่ว่ามนุษย์นั้นประสงค์ที่จะทำความชั่ว 

    • นัฟซู มุตมาอินนะฮฺ  เป็นนัฟซูที่ขับเคลื่อนผู้ที่ครอบครองมันให้อยู่ในการเชื่อฟังอัลลอฮฺอย่างสงบ นัฟซูนี้เป็นนัฟซูที่ได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺ และคนที่ครอบครองนัฟซูชนิดนี้จะได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และจะเป็นผู้ที่จะได้รับความดีงามในบั้นปลายของชีวิตและเป็นผู้ที่มุ่งสู่การได้รับความดีงามจากสวนสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า อัลลอฮฺได้ตรัสถึงผู้ครอบครองนัฟซูนี้ว่า 

      [89.27] โอ้ชีวิตที่สงบแล้วเอ๋ย 

      [89.28] จงกลับมายังพระเจ้าของเจ้าด้วยความยินดีและเป็นที่ปิติเถิด   [89.29] แล้วจงเข้ามาอยู่ในหมู่ปวงบ่าวของข้าเถิด 

      [89.30] และจงเข้ามาอยู่ในสวนสวรรค์ของข้าเถิด  

    • วัลลอฮฺฮูอะอฺลัม 

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท