เกาะติดหลักสูตร


"ศิลปะ" จากหลักสูตรสู่สถานศึกษา

สวัสดีครับ  พี่น้องเพื่อนครูศิลปะที่รักทุกท่าน 

เมื่อวานผมบังเอิญไปเจอบทความของ อาจารย์ธำรงศักดิ์  ธำรงเลิศฤทธิ์  นักวิชาการศึกษา  สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ท่านได้เขียนถึงเรื่องราวของกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะเอาไว้ค่อนข้างน่าสนใจยิ่งนัก  ผมจึงอดไม่ได้ที่จะขออนุญาตนำบทความดังกล่าวมาเล่าสู่พี่น้องของเราฟัง ดังนี้

ในโครงสร้างของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544   สาระการเรียนรู้ศิลปะเป็นสาระที่ถูกกำหนดให้เป็นสาระการเรียนรู้พื้นฐานที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนตั้งแต่ช่วงชั้นที่ 1 - ช่วงชั้นที่ 4  เพื่อเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และมีศักยภาพพื้นฐานในการคิดและการทำงาน

จุดประสงค์ของการเรียนการสอนศิลปะ

     ศิลปะมีจุดประสงค์เฉพาะให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สามารถแสดงออกตามความถนัดและความสามารถอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน  ให้เด็กได้มีโอกาสสร้างสรรค์ทั้งโดยตนเองและร่วมกับผู้อื่นปลูกฝังให้เด็กมีจิตสำนึกในคุณค่าและประโยชน์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  พร้อมนำศิลปะมาประยุกต์ให้เกิดคุณค่าและสร้างเสริมรสนิยมที่ถูกต้อง

แนวคิดของการเรียนการสอนศิลปะ

    ศิลปะเป็นของคนทั่วไป  ไม่เลือกเพศ เลือกวัย หรือชั้นวรรณะ  คนทุกคนมีสิทธิสร้างสรรค์ศิลปะขึ้นได้ในทำนองเดียวกันศิลปะเป็นสมบัติของเด็กทุกคน  ไม่ว่าเด็กโง่ ฉลาด หรือทุพพลภาพ  ย่อมมีความสามารถที่จะแสดงออกทางการสร้างสรรค์   หากเราเปิดโอกาสให้เขาแสดงความคิดความชื่นชมอย่างอิสระ  ศิลปะส่งเสริมให้เด็กทุกคนเจริญงอกงามตามกำลังความสามารถของแต่ละคน  ศิลปะจึงไม่ใช่เป็นของผู้ที่มีพรสวรรค์ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยเท่านั้น  นักการศึกษาและนักจิตวิทยารุ่นใหม่เชื่อว่าเด็กทุกคนมีความสามารถเรียนศิลปะได้

   ครูผู้สอนต้องคำนึงเสมอว่า จุดมุ่งหมายของการสอนศิลปะคืออะไร  สอนศิลปะเพื่อผลิตศิลปินหรือสอนศิลปะเพื่อพัฒนาบุคลิคภาพของเด็ก  และควรตระหนักอย่างยิ่งว่า  ศิลปะ ไม่ใช่รายวิชาที่เป็นพิเศษ  เฉพาะสำหรับการฝึกทักษะ  หากมีความสำคัญเช่นเดียวกันกับคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  ภาษอังกฤษ  สังคมศึกษาฯ  คุณค่าของการเรียนศิลปะไม่ได้อยู่ที่ผลงานที่ดีเด่น สวยๆ งามๆ เพียงอย่างเดียว  ประโยชน์ที่แท้จริง  ย่อมอยู่ที่การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในตัวเด็ก

หลักสูตรต้องการอะไร

     ศิลปะตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2544  ได้กำหนดแนวทางในการสอนที่พึงให้เกิดแก่ผู้เรียน  ดังนี้

ประการที่หนึ่ง  ให้่้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์โดยไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปิน  เพราะความคิดสร้างสรรค์มีความจำเป็นต่อทุกคนทุกอาชีพ  ความสำเร็จของทุกคนย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างสรรค์มีความคิดวิเคราะห์ เป็นวิถีทางพิเศษของการเขียน การคิด และการรับรู้

ประการที่สอง

ให้สนใจและแสดงออกตามความถนัด และความสามารถของตน  เมื่อเด็กทำกิจกรรมด้วยความตั้งใจจยสำเร็จตามความสามารถของตน  จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง

ประการที่สาม

ให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของศิลปะ  ธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อมการธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติ  เป็นสิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมและปลูกฝังแต่เยาว์วัย

ประการที่สี่

ให้มีความสนุกสนานเพลิดเพลินและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ซึ่งจะมีผลดีต่อเด็กในด้านการพัฒนาทางอารมณ์ สังคม  และประสบกับความสำเร็จในการทำงานจนเป็นกิจนิสัย

ประการที่ห้า

ให้รู้จักนำศิลปะมาประยุกต์ใช้ให้เกิดคุณค่าและรสนิยมที่ดี  การประยุกต์ใช้ในทางศิลปะนั้นคือการออกแบบใช้ความคิดในการแก้ปัญหา  ได้คิดประดิษฐ์สิ่งที่แปลกใหม่

    เอาล่ะครับเมื่อเราได้ทบทวนถึงจุดมุ่งหมายของการสอนศิลปะและความต้องการของหลักสูตรแล้ว  ต่อไปพวกเราก็จะมาดูกันนะครับว่า  เราจะปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนศิลปะอย่างไร  ซึ่งผมขออนุญาตคุยกันวันหลังนะครับ  วันนี้ขออนุญาตจบไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ     สวัสดีครับ... 

 

คำสำคัญ (Tags): #ศิลปะ
หมายเลขบันทึก: 152049เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2007 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท