สังคมไทยกำลังถูกวางหมาก


การเมืองไทย

ผมขออนุญาตคัดลอกงานเขียนชิ้นหนึ่งของผมที่ได้เขียนไว้เมื่อปี 2548 ในสภาวะวิกฤตทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากอดีตนายกฯ ทักษิณ ได้ขายกิจการของตนเอง และนำไปสู่การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่การแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มนักวิชาการ และในที่สุด นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2549 ลองอ่านกันดูนะครับ

-------------------------------------------

ผมได้มีโอกาสติดตามการบริหารงานของท่านอาจารย์อมราในฐานะคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าผมจะไม่นิยมชมชอบในวิธีการบริหารงานของท่านก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงการแสดงบทบาทของนักวิชาการของประเทศแล้ว ผมให้การยอมรับท่านในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก (และรวมถึงการแสดงจุดยืนของคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ท่านอื่นๆ) ที่ได้เรียกร้องถึงการลาออกของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

หากพิจารณาว่าคณาจารย์ทั้ง 24 ท่านที่ได้ลงชื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกได้อะไรหรือไม่จากการกระทำดังกล่าว ผมมองไม่ออกว่าโดยคณาจารย์เหล่านี้จะได้ประโยชน์อะไรเป็นการส่วนตัว ยกเว้นก็มีเพียงการแสดงถึงความเชื่อมั่นในหลักวิชาที่คณาจารย์เหล่านี้ได้รับการบ่มเพาะขึ้นเท่านั้น และผมก็ไม่คิดว่าการมาแสดงออกของคณาจารย์ทั้ง 24 ท่านนี้จะกระทำด้วยความอิจฉารัฐบาล หรือทำเพราะผิดหวังจากการที่มิได้มีโอกาสไปทำงานให้กับรัฐบาลแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม คณะบุคคลที่มาต่อต้านคณาจารย์ทั้ง 24 ท่านนี้ (รวมถึงคณาจารย์ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อีกบางส่วน) แม้จะมาคัดค้านว่าการประท้วงรัฐบาลของคณาจารย์ทั้ง 24 ท่านมิอาจกระทำในนามของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เรื่องนี้มีทั้งจริงและไม่จริงปะปนกัน การคัดค้านดังกล่าวจริงครับ ผมเห็นด้วยในฐานะที่ผมก็เป็นคณาจารย์ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่สามารถพูดได้ว่าจุดยืนของคณาจารย์ทั้ง 24 ท่านมิใช่ความเห็นในนามของสถาบัน แต่ในทำนองเดียวกัน ผมก็เห็นว่าการคัดค้านของคณะบุคคลเหล่านี้มิอาจกล่าวได้ว่าเป็นการดำเนินการในนามของสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยเช่นกัน หากเป็นเพียง นาย ก., นาย ข., อาจารย์ ก., อาจารย์ ข. และคนอื่นๆ เท่านั้น

ที่ร้ายแรงไปกว่านั้นก็คือ คณะบุคคลที่มาต่อต้านการแสดงจุดยืนของคณาจารย์ทั้ง 24 ท่านนั้น ล้วนมีภูมิหลังที่เคยหรือกำลังทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล ทำให้สามารถสืบสาวถึงที่มาที่ไปได้อย่างชัดเจนว่าการออกมาประท้วงดังกล่าวจะได้ประโยชน์อันใด หรือหากไม่มาประท้วงจะสูญเสียประโยชน์อันใด พูดง่ายๆ ก็คือถ้าหากนายกรัฐมนตรีคนนี้ยังคงทำหน้าที่ต่อไปและยังคงใช้วิธีการบริหารราชการแผ่นดินเช่นนี้ต่อไปแล้วนั้น มีสัญญาณบ่งบอกหลายอย่างว่าคณะบุคคลเหล่านี้จะสามารถแสวงหาประโยชน์ใดได้บ้าง (ความก้าวหน้าในการงาน, ได้รับโครงการต่างๆ จากรัฐบาล, ฯลฯ) อันนี้จึงเป็นเหตุที่ทำให้กล่าวได้ว่าคณะบุคคลผู้มาประท้วงคณาจารย์ทั้ง 24 ท่านมีเจตนารมณ์อื่นแอบแฝง และไม่น่าจะมีความชอบธรรมเท่าใดนักในการออกมาประท้วงคณาจารย์ทั้ง 24 ท่านนี้

อย่างไรก็ตาม หากมองข้ามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้แล้วนั้น สิ่งที่ผมเป็นห่วงก็คือมีคนกำลังวางหมากให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในองค์กรหรือสถาบันที่มีความคิดเห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาล อันทำให้ความเข้มแข็งขององค์กรเหล่านี้ลดลงไป หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ดิสเครดิต” ในภาษาอังกฤษ ผลลัพธ์ที่ผู้วางหมากต้องการก็คือทำให้สังคมเกิดความสับสนว่าองค์กรที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลกำลังทำอะไร (ดังเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในปัจจุบัน) หรือทำให้ผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลดูหมดความน่าเชื่อถือ (ดังเช่นกรณีของนายสนธิ ลิ้มทองกุล) และที่สำคัญที่สุด กลับเป็นการเบี่ยงประเด็นจนทำให้สังคม “ลืม” ว่าประเด็นปัญหาต้นตอแท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่ ใช่ปัญหาจริยธรรมในการบริหารงานของนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่? ใช่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและการใช้อำนาจรัฐ (แก้กฎหมาย) เพื่อประโยชน์ของพวกพ้องใช่หรือไม่? หรือปัญหาความขัดแย้งในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กันแน่? น่าเสียใจที่ผู้ชนะกลายเป็นผู้วางหมาก (ซึ่งผมเชื่อว่าอยู่ในทีมงานของรัฐบาล) แต่ผู้แพ้ก็คือผู้คนที่ออกมาทะเลาะกัน และผู้คนอื่นๆ ในสังคมที่มิได้อะไรเลยจากการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน แถมยังเสียเพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสให้คนไทยหันหน้าเข้าหากันเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ผมเห็นว่าคนไทยหลายฝ่ายกำลังร่วมมือกันพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวทัดเทียมนานาอารยประเทศ แต่ฝ่ายที่ไม่หันหน้าเข้าหาประชาชนตอนนี้กลับกลายเป็นรัฐบาล ไม่เคยเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลได้ร่วม “ปรึกษาหารือ” (ไม่ว่าจะเป็นกรณีการขายหุ้น กฟผ., การถ่ายโอนสถานศึกษาฯ, การเปิดการค้าเสรี, ฯลฯ) โดยรัฐบาลมักอ้างถึงความชอบธรรมที่ได้รับจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย โดยมิได้มองว่า “ตัวบุคคล” ตอนนี้ได้หมดความชอบธรรมลงแล้ว ประชาธิปไตยมิได้มีแต่เพียงรูปแบบ หากเป็นเรื่อง “จิตสำนึก” ของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ให้เกียรติและไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ความจริงปรากฏชัดแล้วว่าจิตสำนึกดังกล่าวมิอาจสร้างขึ้นได้จากคะแนนเสียงของคน 18 ล้านคน และมิอาจสร้างขึ้นได้หากบุคคลนั้นเติบโตขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมที่ได้รับสิทธิผูกขาดมาโดยตลอด

แม้ว่าผมจะมิได้ร่วมลงชื่อเป็นส่วนหนึ่งของคณาจารย์ทั้ง 24 ท่านของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เนื่องจากตัวมิได้พำนักอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ แต่ “จิตสำนึก” ของผมยังคงผูกติดอยู่กับ “รัฐไทย” ตลอดเวลา และจิตสำนึกของผมก็จะไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมีรัฐบาลชุดใดมาแอบอ้างใช้อำนาจรัฐไทยก็ตาม ถึงตอนนี้ ผมพร้อมที่จะหันหน้าเข้าหาคนไทย ร่วมที่จะเป็นอาจารย์คนที่ 25 ที่ร่วมลงนามเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และขอเรียกร้องให้สังคมไทยตาสว่าง มิได้ถูกบิดเบือนข่าวสารสำคัญของบ้านเมืองจากการ “เดินหมากทางการเมือง” ของรัฐบาลชุดนี้

หมายเลขบันทึก: 151212เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2007 06:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นงานเขียนที่ดีครับ และสามารถพิสูจน์ได้ว่าสังคมและวงการต่างๆมีเหตุการณ์ดังกล่าวในทุกสถานการณ์ และเปลี่ยนแปลงได้ตามอำนาจของกลุ่มการเมืองต่างๆในสังคมไทย แต่ก็อย่ามองเฉพาะในรัฐบาลทักษินเลยครับ ทุกวันนี้สังคมไทยเราก็อยู่ในภาวะที่รัฐวางหมากให้เราต่อสู้กับความคิดเห็นและการกระทำที่ไม่ถูกต้องอยู่หลายอย่าง เราทั้งสองก็อาจตกอยู่ในเครื่องมือของทั้งสองฝ่ายนั้นด้วยนะครับ

  • กำลังรอดูหมากกระดานใหม่หลังวันที่ 23 นี้ค่ะ
  • ประชาชนคนเดินดินคงต้องตกเป็นเบี้ยล่างอีกตามเคย
ชนิตา บุญยะเกียรติ

เป็นคนที่เกลียดเรื่องการเมืองอย่างมาก ทำให้ไม่ค่อยสนใจเท่าที่ควรทั้งที่รู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าไม่สุดวิสัยก็ไม่เคยนอนหลับทับสิทธิ์ 

เคยคุยเรื่องอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิน ชินวัตร กับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือครอบครัวหนึ่ง ทั้งสองเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์และไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยใด ๆ จนกระทั่งเกษียน เป็นที่เคารพนับถือของข้าราชการในสายอาชีพของท่านอย่างกว้างขวาง และโดยส่วนตัวที่สัมผัสได้ว่าทั้งครอบครัวเป็น 'คนจริง' ไม่ใช่ประเภท 'สร้างภาพ'

ท่านให้ความเห็นว่าหลาย ๆ สิ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิน ชินวัตร ทำในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่เป็น 'รูปธรรม' ซึ่งรัฐบาลชุดอื่น ๆ ยังไม่สามารถทำได้เท่า ถึงแม้ว่าจะใช้อำนาจในรัฐบาลเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องและตัวเอง ส่วนหนึ่งก็มาจากช่องโหว่ของกฏหมาย ซึ่งทุกรัฐบาลไม่มีความแตกต่างในข้อนี้ โดยสรุปก็คือ นิยมและสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้มากกว่าคนอื่น

และวันนี้ได้คุยกับรุ่นพี่ (รุ่นใหญ่กว่ามาก) คนหนึ่ง ซึ่งโดยวัย ความรู้และประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์การทำงานที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมากของเขา กลับให้ความเห็นในทางตรงกันข้ามเกี่ยวกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิน ชินวัตร อย่างสิ้นเชิง เหตุผลของความไม่นิยมคือ สร้างความเสียหายมากกว่าสร้างประโยชน์เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว และเขาก็ไม่ได้มีส่วนได้หรือเสียมากน้อยไปกว่าประชาชนคนอื่นทั่ว ๆ ไป

ใกล้จะถึงวันเลือกตั้งอยู่แล้ว ตั้งใจเลือกหัวหน้าพรรค ๆ หนึ่งโดยที่ไม่เคยเห็นผลงานของเขา (เพราะไม่เคยติดตาม) และบุคลิคภายนอกก็ดูเหมือนจะไม่ 'เก๋าเกมส์' เท่ากับหัวหน้าพรรคอีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่เลือกเพราะบุคลิคที่แข็งกร้าว ค่อนข้างทะนงตัว (ไม่ใช่เพราะมีกระแสว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิน ชินวัตร หนุนหลังอยู่) และก็คิดเอาเองว่าน่าจะเลือกอีก 3 คนในแต่ละเขตให้สอดคล้อง ทั้งที่ไม่เคยรู้จักและไม่เคยเห็นผลงาน ครั้นจะเลือกคนที่เคยเห็นผลงานมาบ้าง ก็อยู่ต่างพรรค ซึ่งมองว่า ถ้า 3 คนแต่อยู่คนละพรรค คงจะทำงานร่วมกันลำบากถ้าเผอิญว่าคะแนนพาไป ได้แต่หวังว่า 'กุนซือ' หลาย ๆ คนที่หนุนหลังพรรคที่ตั้งใจจะเลือก จะสามารถนำพาไปได้

มาถึงเรื่องการวางหมากและชัยชนะของผู้เล่น โดยส่วนตัวคิดว่าเขาเป็นต่อค่อนข้างมาก และจะชนะอยู่เสมอเพราะเขาดักถูกจุด กล้าได้กล้าเสีย เวลาจะได้ก็รัดกุมต่อให้ดูออกว่า 'ตุกติก' ก็ยังทำอะไรได้ไม่ถนัด เวลาจะเสียเขาก็เลือกที่จะเสียให้คนกลุ่มใหญ่ที่เขาเลือกเพื่อ 'ต่อยอด'

คนที่มีความรู้ ประสบการณ์หลาย ๆ ด้าน มีจิตสำนึกที่ดีไม่ด้อยไปกว่ากัน ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ประสาอะไรกับคนธรรมดาที่หาเช้ากินค่ำ รวมถึงคนที่หาเช้าจนค่ำยังไม่มีอะไรจะกิน จริง ๆ ทุกคนก็รักชาติ แต่ความอยู่รอดของปากท้อง ก็ยังคงเป็นข้อต่อรองที่ได้ผลเสมอ อยากจะเข้าข้างพวกเขา เพราะนโยบายของทุก ๆ พรรคคล้าย ๆ กันทั้งตอนเริ่มและตอนจบ คือไม่มี 'รูปธรรม' ให้เห็นมากนัก เพราะต่างฝ่ายต่างหมดเวลาไปกับการตักโคลน

ฝ่ายหนึ่งมองเกมส์ทั้งกระดาน ทะลุปรุโปร่งว่าอีกฝ่ายจะไปทางไหน เล่นกี่ครั้ง ๆ ก็ไม่เคยเลยที่อีกฝ่ายจะปิดจุดบอดของตัวเอง ได้แต่หวังว่าผู้เล่นคนใหม่จะมองเกมส์ออก และก็เอาจริงกับการแก้ปัญหาสักที จะแพ้กี่ครั้งก็ช่างมันเถอะ แต่ให้เขาชนะเรากับเบี้ยเดิม ๆ มันเสียเวลารณรงค์ 

ขอบคุณความเห็นของทุกๆ ท่านครับ ผมก็นำเสนอเพียงมุมมองหนึ่งที่พอจะวิเคราะห์ได้เท่านั้นครับ เคยสงสัยอยู่เสมอว่าสังคมทุกวันนี้ เป็นไปอย่างที่เป็นอยู่ได้อย่างไร ใครทำให้มันเป็นเช่นนั้น ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นตัวอย่างว่าต้องมีใครซักคน หรือใครซักกลุ่มที่ทำให้เกิดขึ้น หรือเป็นอยู่เช่นนั้น เข้าทำนอง Conspiracy นั่นแหล่ะครับ

ส่วนบทความที่เขียนนั้นไม่ได้ตำหนิใครนะครับ แค่อยากให้เรามองเกมส์การเมืองออก จะได้ไม่ตกอยู่ภายใต้กระแสการชักนำของกลุ่มคนบางกลุ่ม

 เห็นด้วยกับความเห็นของคุณชนิดาครับว่าท้ายที่สุด การบริหารงานในยุคทักษิณนั้น แม้จะมีผลงานเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง แต่ก็มีสิ่งที่ปิดบังซ่อนเร้นอยู่หลายเรื่องเช่นก้น ท้ายที่สุดผมก็เห็นว่าผลเสียที่เกิดขึ้นกับสังคมโดยรวม และต่อภาครัฐเองมีมากกว่าผลดีครับ เพียงแค่ว่าผลเสียจะมองเห็นในระยะยาวเท่านั้น ตอนนี้คนทั่วไปเลยเห็นข้อดีเสียมากกว่า... ไม่รู้นะครับ คงต้องค่อยๆ ดูต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท