บุคคลสาธารณะ ล้วนมีได้มีเสีย


คำถาม ถึงพื้นที่ส่วนบุคคล กับพื้นที่สาธารณะ ในความเข้าใจของบุคคลสาธารณะ และความล่วงล้ำของสื่อสารมวลชน ด้วยความสนใจของประชาชนทั่วไป ถึงจุดแห่งการเรียกร้อง และความพอดีซึ่งไม่ค่อยเป็นจริง ในความต้องการของบุคคลสาธารณะในสังคมไทย

บุคคลสาธารณะ ล้วนมีได้มีเสีย

อ้างอิง - ภาพ http://www.lomography.com/folkways

ถกกันมาหลายครั้งหลายครา

บอกเล่าบอกกล่าวและเถียงกันก็มาก

สำหรับเรื่องราวในความเป็นบุคคลสาธารณะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลสาธารณะ ขัดแย้งกับผลประโยชน์สาธารณะ ความคาดหวังไม่พึงประสงค์ หรือไม่พึงใจล้วนเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ไม่นับกับสายตาของสื่อมวลชนซึ่งคอยจับจ้องมองดู

กรณีเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเก่า

ที่สามารถหาบทสรุปได้ลงตัว

ตราบใดก็ตามที่ผลประโยชน์ไม่ลงตัว ความสมประโยชน์ของแต่ละฝ่าย ไม่สามารถเจรจาต่อรองกันได้ อารมณ์ปะทะถกเถียง เพื่อหาข้อสรุปจากสิ่งที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นข้อความสำคัญ ของพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งได้ไม่ยาก

ข้อความว่า

น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่านั้น

ใช้ได้ไม่ยาก แต่ทำได้ยากเข้าใจยาก

เมื่อใครสักคนอยากดัง อยากมีชื่อเสียง หรือหวังว่าการมีชื่อเสียงคือเครื่องมือไปสู่ความมั่งคั่งร่ำรวย หรือไปสู่ผลประโยชน์ด้านอื่นของชีวิต ดังนั้นความรักใคร่ชอบพอกับผู้สื่อข่าวจึงเริ่มต้นขึ้น จะสนิทสนมเอ็นดูชิดใกล้กันเพียงใด ก็มีคำตอบอยู่ที่การรักษาสัมพันธ์

ผู้สื่อข่าวหลายคนรักษาระยะห่างได้

หลายคนไม่สามารถทำได้

แต่มีข้อสรุปกับตัวเองว่า เขาไม่ใช่แหล่งข่าว

จะสรุปเช่นไรวิชาชีพและความหวังของนักข่าวที่ดี ก็ยังคงมีต่อไป แต่อย่าลืมว่า ตัวตนในวิชาชีพของผู้สื่อข่าวนั้นมีเส้นแบ่งที่บางมาก ยากต่อการตีความ เพราะสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับใจของสื่อ ในแต่ละความภาคภูมิใจต่อจรรยาบรรณวิชาชีพของตัวเอง จะภูมิใจมากภูมิใจน้อยไม่มีใครรู้ได้

เมื่อบุคคลสักคนอยากเป็นบุคคลสาธารณะ

เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่า

เขาจะสูญเสียความเป็นส่วนตัว

ซึ่งก็ยากขึ้นไปอีกว่า เส้นแบ่งความเป็นส่วนตัวคืออะไร เส้นแบ่งนี้อยู่ที่ใดตรงไหน หรือเวลาใดคือเวลาส่วนตัว เวลาใดคือเวลาสาธารณะ ยากมากและลำบากอย่างยิ่ง จนกระทั่งคำตอบของการปฏิบัติตัวที่ดี อยู่เพียงความคาดหวังของคนอื่น สายตาของสาธารณชน และการจับจ้องมองดู สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นตั้งแต่บุคคลคนนั้นเดินออกจากบ้าน หรือก้าวขาสู่สายตาของสังคม

ดารานักร้องรุ่นใหญ่คนหนึ่ง

พูดถึงความเป็นบุคคลสาธารณะไว้อย่างน่าฟัง

เขากล่าวว่า เวลาของเราหมดลง เมื่อเราก้าวขาออกจากบ้าน

เมื่อใดก็ตามที่เราก้าวขาออกจากบ้าน ความคาดหวังของคนอื่นจะพุ่งมาที่เรา ไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อยทรมานใจเพียงใด ไม่มีใครรู้ เพราะสิ่งที่คนรอบข้างรู้ และสังคมรอบข้างรู้ คือรอยยิ้มจากเรา ดังนั้นตราบใดก็ตามที่ก้าวขาออกมา เราต้องยอมรับสภาพของความจริง จากความคาดหวังเหล่านั้น

เป็นหนึ่งในต้นทุนและราคาที่ต้องจ่าย

เป็นราคาซึ่งบุคคลสาธารณะต้องเข้าใจและต้องจ่าย

เมื่อสิ่งที่ได้มาคือ ชื่อเสียง เงินทอง และ อภิสิทธิ์

ที่สังคมมอบให้บุคคลสาธารณะ จนมีความแตกต่างจากคนอื่น ทั้งได้รับการยอมรับมากขึ้น และได้รับการก่นด่ามากขึ้น เรื่องราวในชีวิตส่วนตัวที่ผู้คนอยากรับรู้ เวลาเดินไปที่ไหนอาจได้รับความเอ็นดู มีคนอยากเข้ามาสวมกอด หอมแก้ม เหมือนเช่นเวลาที่อยู่หน้าจอ แล้วทำหน้ายิ้มละไมเพื่อสร้างความรักความชอบบนสื่อสาธารณะ

 

ราคาที่ต้องจ่ายเหล่านี้

บางคนก็ทำได้ บางคนก็ทำไม่ได้

มีบ้างทำได้เป็นครั้งคราว มีบ้างหลงลืมไป

ว่ากันไม่ได้สำหรับความชอบความศรัทธา ที่บุคคลสาธารณะจะได้รับการยอมรับจากสังคม จากสื่อมวลชน หรือจากการตีความของผู้คนในสังคม เป็นศรัทธาความชอบที่นำพา ชื่อเสียง เงินทอง อภิสิทธิ์ในสังคม ที่บุคคลสาธารณะต้องบริหารจัดการด้วยตนเอง

บ่อยครั้งที่การระเบิดอารมณ์ของบุคคลสาธารณะเกิดขึ้น

บางครั้งบางเวลาปรารถนามีเวลาส่วนตัว

แต่กลับพบเจอกล้องถ่ายภาพ

บุคคลสาธารณะบางคน เลือกจะหลบเร้นในสถานที่ซึ่งเฉพาะเจาะจง ยากต่อการยุ่งเกี่ยวกับชีวิต มีความเป็นส่วนตัว แต่สถานที่เหล่านั้นก็ยังมีราคาที่ต้องจ่าย สูงกว่าแพงกว่าพิเศษกว่า อยากมีเวลาส่วนตัวไม่อยากมีใครกวนใจ ไม่อยากถูกขอลายเซ็นต์ อยากเดินชายหาดโดยไม่มีใครสนใจ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนต้องจ่ายแพงกว่า

ต้นทุนราคาชื่อเสียงเงินทองอภิสิทธิ์

มีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่า

มีความคาดหวังของที่มอบให้กับความนิยมในตัวตน

ที่กลายเป็นราคาตามเก็บ จากการสูญเสียช่วงเวลาส่วนตัว จากการติดตามจับจ้องของสื่อ จากข้อความตีความผิดๆด้วยความหมั่นไส้ จากความลับในชีวิตเช่นบุคคลทั่วไปในโลกนี้ แต่ดันถูกเปิดเผย

บุคคลสาธารณะไม่ได้เป็นฝ่ายรับอย่างเดียว

แต่บุคคลสาธารณะคือคนที่ต้องเข้าใจ

ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมา

การกล่าวอ้างเมื่อยามระเบิดอารมณ์ ว่าถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล คงต้องถกเถียงตามรายกรณี ไม่สามารถเหมารวมได้ บางครั้งการแต่งงานที่ประกาศออกสู่สาธารณชน ก็สามารถสื่อสารได้ว่า เวลาใดเป็นช่วงเวลาส่วนตัว เวลาใดจะสามารถให้จับภาพ เปิดแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ได้ สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความคิดพิจารณา สื่อสารบอกกล่าวอย่างชัดเจน และวางตำแหน่งอันเหมาะสม ยามใดควรอยู่ไม่ควรอยู่ ควรพูดไม่ควรพูด หรือควรแสดงออกเช่นไร

 

สิ่งเหล่านี้คือราคาที่ต้องคิด

คิดมากกว่าคนทั่วไป และละเอียดมากกว่า

ไม่ใช่การได้รับเพียงประการเดียว

แต่ยังต้องมีการให้ประกอบเข้าไว้ ในความคาดหวังอันหลากหลายมากมายของผู้คนในสังคม ยิ่งผู้คนรักคุณ รักในตัวตนของคุณเช่นที่บุคคลสาธารณะทั้งหลายเป็น บทบาทความคาดหวังในแต่ละย่างก้าวตัวตนของคุณ คือสิ่งที่บุคคลสาธารณะต้องคิดให้ละเอียดอ่อนซับซ้อนมากขึ้น

สื่อมวลชนก็ไม่ได้ดีเสมอไป

บุคคลสาธารณะก็ไม่ได้ดีเสมอไป

เราท่านทุกคนต่างก็ไม่ได้ดีเสมอไป

เพราะบางเวลาก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง เพราะเราล้วนเป็นคนเหมือนกัน มีดีเลวในแต่ละช่วงเวลา มีความปรารถนาความพึงพอใจและไม่พึงใจ จะมากจะน้อยเช่นไรก็ล้วนมีอยู่เหมือนกัน แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับบทบาทสวมใส่ และสถานะของเรา ที่มากพร้อมภาระอันยิ่งใหญ่

จะตั้งใจเลือกหรือไม่ตั้งใจไม่รู้

รู้แต่ว่า ยามเกิดปัญหา

ความขัดแย้งระหว่างพื้นที่ส่วนบุคคล

กับพื้นที่สาธารณะ หรือระหว่างตัวตนความเป็นบุคคลสาธารณะ กับสาธารณชน และสื่อมวลชน มักจะมีการโอดครวญเสมอ ถึงสิทธิในความเป็นมนุษย์ ซึ่งต้องละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า บทเรียนของการสื่อสารบอกกล่าว หรือยืนยันในตำแหน่งพื้นที่ใด ความเหมาะสมเช่นไร เวลาใดอันพึงกระทำนั้น คือบทบาทของบุคคลสาธารณะที่ต้องเรียนรู้และเข้าใจ

จะไม่อยากเข้าใจก็ไม่เป็นไร

แต่จำไว้ประการหนึ่ง

สำหรับการให้และการรับ

มีราคาและต้นทุน รวมทั้งบทเรียนในแต่ละย่างก้าวชีวิตอยู่เสมอ จะสนใจหรือไม่สนใจไม่ทราบได้ แต่ต้องจ่าย เมื่อเรารักความสำเร็จในชีวิต เมื่อเรารักช่วงเวลาส่วนตัว เราแต่ละคนต่างย่อมรู้ว่า ตำแหน่งแห่งหนใดจะเหมาะสมและลงตัวที่สุด 

สิ่งที่เป็นปัญหาเสมอ ยามเถียงเรื่องบุคคลสาธารณะ

คือการอยากได้มา

แต่ไม่ต้องการจะจ่ายไป

หมายเลขบันทึก: 150736เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2007 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะคุณ Kati

โลกนี้ยุติธรรมเสมอนะคะมีได้ก็ต้องมีเสีย..จะเอาแต่ได้ๆๆๆๆๆก็ดูจะผิดกฎธรรมชาติไป

การเลือกที่จะเป็นบุคคลสาธารณะ ( หรือไม่อยากเลือกแต่ต้องเป็นก็ตาม ) และการเลือกที่จะเป็นสื่อ ( ที่ดี ) ก็ต้องมีส่วนที่ไ้ด้และเสียคละเคล้ากันไป

เบิร์ดนึกกระเจิดกระเจิงไปที่คำขอโทษค่ะ ..เบิร์ดยอมรับว่าแปลกใจที่เห็นคนไทยที่เราคิดกันว่าเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ประนีประนอม กลับกล่าวคำขอโทษได้ยากเย็นยิ่งนักแม้แต่ในสิ่งที่เราทราบอยู่แก่ใจว่าผิดหรือไม่เหมาะสมก็ดูจะยากเย็นเหลือเกินในการกล่าวคำๆนี้คุณ Kati คิดว่าเป็นเพราะอะไรคะ ? 

  • สวัสดีครับ คุณเบิร์ด P
  • คำถามน่าสนใจมากครับ
  • สำหรับเรื่องราว ในความยุติธรรมของโลก ระหว่างโลกของบุคคลสาธารณะ ความเป็นส่วนตัว การเรียกร้องของผู้คนรอบข้าง ความมั่งคั่งร่ำรวย ชื่อเสียงเงินทอง อภิสิทธิ์ในสังคม
  • โลกนี้ยุติธรรมเสมอครับ
  • เห็นด้วยอย่างยิ่ง
  • สำหรับคนไทย
  • ผมว่า ความรู้สึกไม่ยอมขอโทษ ถือเป็นค่านิยมทางสังคม ค่านิยมทางวัฒนธรรม
  • ผมเชื่อว่า คนส่วนใหญ่
  • หากทำสิ่งใดแล้วรู้สึกดี ทำแล้วได้รับการยอมรับ ได้รับเกียรติ ได้ตระหนักว่าเป็นความดีอันพึงกระทำ ก็จะกระทำ
  • ผมว่า สังคมและวัฒนธรรมของเรา สอนถึงคำว่า ขอโทษ ในมิติมุมมองของความพ่ายแพ้
  • เราจึงไม่เชื่อมั่นในคำขอโทษ
  • เราเชื่อในการเอาชนะคะคาน โดยไม่จำเป็นต้องขอโทษ แม้ตนเองจะผิด
  • ผมคิดว่า เป็นความหวาดกลัว และอ่อนแอในตัวตนของคน ที่สังคมไทยแอบซ่อนไว้
  • ในวัฒนธรรมบางแห่ง สอนว่า การขอโทษ และการขออภัย ถือเป็นความกล้าหาญ เป็นเกียรติที่พึงได้รับการยกย่อง ผิดว่ากันตามผิด ผิดแล้วขอโทษว่ากันตามตรงถือว่า มีสำนึก มีเกียรติที่พึงได้รับ
  • ผมคิดว่า คำถามคุณเบิร์ด
  • คือคำถามในสังคมไทย
  • คำถามว่า
  • สังคมเรา สอนกันอย่างไร ในท่ามกลาเกียรติแห่งมายามากมาย สำนึกแห่งความดีงาม และความเป็นคนดีของเรา
  • ไม่อยู่ในคำว่า ขอโทษ
  • เป็นคำถามตัวโตโต ที่เราต้องช่วยกันถามครับ
  • คุณเบิร์ด

สวัสดีค่ะคุณ Kati

เบิร์ดชอบคำตอบของคุณนะคะ  สังคมและวัฒนธรรมของเรา สอนถึงคำว่า ขอโทษ ในมิติมุมมองของความพ่ายแพ้

เพราะแท้จริงแล้วการขอโทษมิใช่เครื่องหมายแสดงถึงความอ่อนแอเลยแม้แต่นิดเดียว  เพราะมีแต่ในอาณาจักรสัตว์เท่านั้นที่ตัวอ่อนแอเป็นฝ่ายคืนดีก่อน  แต่สำหรับมนุษย์ผู้มีวัฒนธรรมแล้ว ผู้ที่เอ่ยปากขอโทษก่อนต่างหากคือผู้ที่เข้มแข็งกว่า  เข้มแข็งเพราะเขากล้าขัดขืนคำบัญชาของอัตตาที่ต้องการประกาศศักดาเหนือผู้อื่น..

คุณ Kati ทำให้เบิร์ดสนใจมากว่า " เราสอนกันมาอย่างไร ? " เพราะดูจะมีความขัดกันอยู่หลายมิติ  อย่างความเชื่อว่าคนไทยเป็นผู้อภัยง่าย ยิ้มเสมอ รักสนุกและประนีประนอม แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าคนไทยเครียดสูงมาก และมีอัตราการฆ่าตัวตายพุ่งลิ่ว  แถมยังมีความรู้สึกว่าการขอโทษคือความพ่ายแพ้ จึงพูดคำนี้ได้อย่างยากเย็นกลายเป็นสิ่งแปลกประหลาดในความรู้สึกเพราะไม่เคยไปซะนี่ แปลกจริงๆในความขัดแย้งเหล่านี้นะคะ

เพราะอย่างนี้หรือเปล่าคะเราจึงโยนภาระการตัดสินถูก - ผิดไปให้ศาล ?  ทั้งๆที่มโนธรรมจิตสำนึกของเราน่าจะบอกเราได้ดีว่าสิ่งที่ทำนั้นถูก - ผิดเพียงใด เพราะเราก็ทราบกันดีว่าบางครั้งทนายและศาลก็ทำให้การตัดสินยืนอยู่บนหลักฐานมิใช่มโนธรรม ! ..เราสอนเรื่องนี้ัีี้น้อยไปหรือเปล่าคะ ?

 

 

  • สวัสดีครับ คุณเบิร์ด P
  • รู้สึกยินดีอย่างยิ่ง สำหรับการถามและตอบ
  • ด้วยคำถาม และ คำตอบ
  • เพื่อมองสังคมไทย
  • โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่า สังคมและวัฒนธรรมของเรา ในบริบทสังคมไทย ผลักดันตนเองและทิศทางไปสู่สังคมและวัฒนธรรมแห่งอำนาจ
  • เรายอม สยบยอมต่ออำนาจ
  • แม้อำนาจนั้น จะเป็นอำนาจที่ผิดก็ตาม
  • แต่เราไม่ยอม และไม่สยบต่อความดี หรือความถูกต้อง เพราะความดีหรือความถูกต้อง บางครั้งไม่ได้ยืนอยู่บนฐานของอำนาจ
  • อำนาจในสังคมไทยมีหลายแบบครับ
  • อำนาจทุน อำนาจการบังคับบัญชา หรือที่ร้านแรงมากในขณะนี้คืออำนาจของความรุนแรง
  • เราพร้อมจะใช้อำนาจ
  • เราไม่พร้อมจะใช้ความดีตัดสิน
  • ผมเชื่อว่า อำนาจ เป็นส่วนสำคัญ กับสิ่งที่เรียกว่าการขอโทษ
  • เราไม่สอนให้ขอโทษ เพราะการขอโทษหมายถึงสัญลักษณ์ของความพ่ายแพ้ และความพ่ายแพ้ คือการไร้ซื่งอำนาจ เราจึงรู้สึกด้อยค่าด้อยราคา หากจะต้องกล่าวคำว่าขอโทษ
  • มุมมองที่คุณเบิร์ด อธิบาย
  • ถึงการเอาชนะความอ่อนแอในตนเอง
  • เอาชนะความถือดี กิเลส และวิธีคิดแบบสัตว์
  • ซึ่งลำพังจะเอาชนะ เพียงความต้องการของตน
  • ด้วยการตระหนัก รำลึกถึงการระงับยับยั้ง หรือหักห้ามใจ ด้วยความสุภาพ ข่มใจ สำรวมนั้น
  • คือสิ่งที่ท้าทายสังคมไทยมานาน
  • ผมมีมุมมอง ที่สังเกตุได้ง่ายว่า
  • เราจะพบเห็นว่า คนไทยฟังคนที่พูดเสียงดัง คนที่ตะโกนเสียงดัง มากกว่าฟังคนที่สงบนิ่ง ค่อยๆพูด
  • อำนาจของการพูดเสียงนั้น
  • เป็นทักษะในการเรียนรู้แบบหนึ่ง
  • เท่ากับการเรียนรู้ว่า การสื่อสารมีหลายแบบ
  • เราสอนเรื่องเสียงดังกว่า อำนาจที่รุนแรงมากกว่า มากกว่าการนั่งลงฟัง ใส่ใจในการรับฟัง ในแต่ละรายละเอียดของการสนทนา จับใจความ ทั้งเหตุผล และอารมณ์ความรู้สึก
  • ทักษะเหล่านี้ ถูกทำลายล้าง ด้วยสังคมและวัฒนธรรมผ่านคำสอนเรื่องของอำนาจ
  • ผมเชื่อว่า มโนธรรมในสังคมไทย ด้านดีหรือด้านใฝ่ดีนั้น ยังคงมีอยู่
  • แต่ถูกลดทอนให้น้อยลง
  • มองเพียงมุมของคำว่า ขอโทษ
  • การรู้ผิดชอบชั่วดี หรือ รู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งถูกต้อง สิ่งใดเป็นสิ่งดีงาม
  • คือภาวะเดียวกันทั้งโลก
  • ในคำถามว่า ปัจจุบัน เราตีความกำกับ หรือให้คำจำกัดความ ความดี และความไม่ดีอย่างไร
  • ในเมืองฝรั่งดั้งขอ
  • ถามกันถึงความซับซ้อนของสิ่งที่เรียกว่า
  • Depend on  Good - Evil
  • เช่นเดียวกัน ในสังคมที่ใช้กฎหมายนำ ใช้ตัวอักษร ใช้คนกลางเช่นทนาย อัยการ และตุลาการศาล มาคอยพิจารณาตัดสิน
  • เราจะเห็นได้ว่า
  • เรากำลังยืนอยู่บนความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
  • คนในบ้านเรารู้ว่า
  • ถ้าจะชนะคดี ต้องไปชนะในศาล
  • เราเอาชนะตำรวจได้ เอาชนะคนธรรมดาได้ เอาชนะนักเลงหัวไม้ได้
  • เราเรียนรู้อำนาจในทุกระดับ
  • ด้วยการใช้ความรุนแรง ด้วยการใช้อำนาจ
  • อำนาจซ้อนกันเยอะครับ คุณเบิร์ด
  • ยิ่งอธิบาย ยิ่งสนใจเพิ่มเติม
  • วันหน้าวันหลัง ผมจะนำงานศึกษาของอาจารย์หมอประเวศ มานำเสนอนะครับ มีหลายมุมมองที่ผมเห็นด้วย สนใจ และเชื่อว่าควรได้รับการบอกกล่าว ถกเถียงและสื่อสารร่วมกัน
  • วันนี้ ขอเพียงเท่านี้ครับ
  • หากคิดรายละเอียดเพิ่มเติมได้
  • จะนำมาเสนอครับ คุณเบิร์ด
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับคำถามและความคิดเห็น
  • ขอบคุณครับ คุณเบิร์ด
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท