กรณีทีวีบูรพา จากบุญมาเป็นบาปส่ง ขอออกตัว ในมุมมองความคิดเห็น โดยถือเป็นการสนับสนุนแนวทางน้ำใจอารี และมิตรไมตรีในสังคมไทย ผ่านการทำงานและความตั้งใจของทีวีบูรพา เพียงแต่ว่าวันวานในการรับชมเนื้อหารายการ คนค้นคน วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน 2550 กลับได้รับความรู้สึกบางประการ กระทั่งมีเสียงถามไถ่พูดคุย ยิ่งทำให้รู้สึกถึงแง่มุมบางอย่าง ต่อน้ำใจไมตรีของการเอื้ออารีในสังคมไทย เมื่อคนทำบุญเกิดรู้สึกว่าตัวเองทำบาป ความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของคนค้นคน ในการนำเสนอเรื่องราวของผู้คน ชะตากรรม ความคิด และการก้าวย่างจากชีวิตผู้คน สู่การรับรู้ของผู้คนในสังคมไทย เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ และควรตระหนัก แต่ในอีกด้านมุมหนึ่ง เรื่องราวอันอ่อนไหวเหล่านี้ ล้วนได้รับคำถามจากผลกระทบตามมาอยู่เสมอ เพราะโทรทัศน์กำลังนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิต คนต้นเรื่อง อย่างมิอาจปฏิเสธ ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตคนหลายคน เมื่อยามได้รับการเผยแพร่สู่สังคม ไม่ใช่เพียงบทเรียนของสังคมไทยหรือคนไทย ตามข้อสรุปบางประการของรายการ กระทั่งแง่มุมในการอธิบายความเข้มแข็งภายในจิตใจ ภูมิคุ้มกันในชีวิต ความเข้าใจต่อความเปลี่ยนแปลง ความเท่าทันเรียนรู้ และรับรู้ ล้วนเป็นทั้งจุดแข็งและความอ่อนด้อย ของคนต้นเรื่องและคนเดินเรื่อง อย่างเท่าเทียมกัน ข้อเสนอจากบทนำ ในการถามหาคนเอาเปรียบ และผู้หาประโยชน์จากความอ่อนด้อยของคนอื่น ซึ่งรายการพยายามนำมาตำหนิ และสรุปว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลอันเลวร้าย ในบาปเคราะห์ของคนต้นเรื่อง ไม่น่าจะใช่คำถามหลักของเนื้อรายการ เพราะสุดท้ายรายการก็ไม่อาจก้าวล่วง เพื่อตัดสินในแต่ละการกระทำของคนอื่นได้ ยังไม่นับว่า เนื้อรายการไม่มีเวลาพอ ต่อการนำเสนอชีวิตผู้กระทำรายอื่น ทั้งด้วยข้อจำกัดของเวลา และข้อจำกัดของเนื้อหาการนำเสนอ ซึ่งอ่อนไหวและยากลำบาก ต่อการตีความยิ่ง เท่าเทียมกับความด้อยสามารถของการปรับตัว จากคนต้นเรื่อง ซึ่งได้รับน้ำใจไมตรี มิตรอารีและความช่วยเหลือจากคนไทย ที่ต่างอยากช่วยเหลือทำบุญและมอบน้ำใจ จนกลับกลายเป็นแบบทดสอบยิ่งใหญ่ ในสังคมไทยที่น้ำใจความดีงามถูกถามหา หลายครั้งหลายคนเปลี่ยนแปลงชีวิต สู่ทิศทางที่ดีกว่าดีขึ้น หลายคนประสบมหันตภัยจากความเปลี่ยนแปลง ความถาโถมของน้ำใจ บางครั้งก็สร้างปัญหาต่อวิถีชีวิต ความคิด และการดำเนินชีวิตของคนต้นเรื่องผู้อ่อนด้อย ยิ่งไม่นับกับน้ำใจของผู้คน ซึ่งปรารถนาในบุญแห่งน้ำใจไมตรี ที่เพื่อนมนุษย์จะพึงมีต่อกัน แต่เมื่อยามได้เห็นบุญจากตนกระทำ กลับนำพาบาปเคราะห์มาสู่คนต้นเรื่อง คำตอบชวนคิดจึงเกิดขึ้น ว่าบทเรียนจากผู้ชม คนดูคนไทย สังคมไทย และคนต้นเรื่อง กลับไม่มีบทเรียนของรายการ กำกับไว้ในบทเนื้อหา บทเรียนตัวโตของรายการ ซึ่งเข้าใจมาอยู่เสมอว่า กำลังอยู่ท่ามกลางความอ่อนไหวในการตีความ และรับรู้ของผู้คน โดยเฉพาะความพยายามในการเป็นผู้สังเกตุการณ์ที่ไม่อยากก้าวล่วง ไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตคนต้นเรื่องมากนักนั้น ไม่อาจใช้ได้จริง เพราะหลายครั้งรายการได้หยิบยื่นความช่วยเหลือ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งแห่งข้อต่อน้ำใจไมตรี เพื่อส่งผ่านจากผู้ใจบุญไปสู่คนต้นเรื่อง
แต่เม็ดเงินและความช่วยเหลือจำนวนมหาศาล ไม่อยู่ในความสามารถของหัวใจและกำมือ จากคนต้นเรื่องที่ต้องการมากกว่าเงิน หรือกระทั่งต้องการผู้ช่วยเหลือประคับประคองที่มากกว่า คำถามจากความสูญเสียของผู้ทำบุญ อาจรุนแรงไปสู่คำถามว่า ทำไมเราไปสร้างวิบัติภัยให้กับชีวิตเขาเหล่านั้นเพิ่มขึ้น การอธิบายว่าคนบริจาคควรได้รับการเรียนรู้ น่าจะตอบไปสู่คำตอบที่มากกว่านั้น ว่าทำไมคนบริจาคจึงไม่ได้รับการรับรู้ มากกว่าสร้างความสะเทือนใจ ยามได้รับชมแล้วน้ำตาไหล เงื่อนไขและบทเรียนของรายการ อาจนำพาไปสู่ความร่วมมือใหม่ เช่นการหาเจ้าภาพร่วม ในความช่วยเหลือคนต้นเรื่องเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรรัฐ หรือองค์กรเอกชน ผู้คน บุคลากรหรือผู้ที่สังคมยอมรับ ให้เขามาเป็นพี่เลี้ยง เป็นกรรมการวัด ที่พิจารณาความเหมาะสมในการช่วยเหลือคนต้นเรื่อง อย่างไรเช่นไรเพียงใดจึงจะเหมาะสมลงตัว เม็ดเงินหรือความช่วยเหลือระดับใด จึงจะสามารถปลดปล่อยภาระยากลำบาก ไปสู่หนทางก้าวย่างอันเข้มแข็ง ธนาคารรับเงินบริจาค ควรจะต้องก้าวมากำกับดูแลเงินบริจาค จากจิตศรัทธาและน้ำตาของคนดูได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับบทเรียนของรายการ และความเข้าใจใหม่ว่า ตนเองไม่ใช่เพียงผู้สังเกตุการณ์เท่านั้น เพราะเมื่อขาข้างหนึ่งกลายเป็นผู้ให้ และเป็นข้อต่อสำคัญ เชื่อมโยงจิตศรัทธาน้ำใจไมตรี และการทำบุญของผู้คน มิติของรายการก็เปลี่ยนไป ตำแหน่งที่ยืนต้องเพิ่มขึ้น ระมัดระวัง และตระหนักต่อชีวิตอันละเอียดอ่อนของคน วิธีการให้อาหารปลาทอง ที่มีความทรงจำประหลาด ไม่ต่างจากความเข้าใจของคนทำบุญ ซึ่งมัวแต่หยิบยื่นอย่างเดียว โดยไม่นำพาต่ออาการท้องแตก เจ็บป่วย เจ็บไข้และโบยตีชีวิต ด้วยบาปเคราะห์และความอ่อนด้อยในปมจิตใจของคนต้นเรื่อง วันนี้สิ่งที่มากกว่า การค้นหาผู้มาฉกฉวยผลประโยชน์ คือบทเรียนของรายการในการเชื่อมโยงเชื่อมต่อ และหยิบยื่นน้ำใจไมตรี ว่าจะสรุปบทเรียนของตน จนนำไปสู่ภาคีร่วมของสังคม ทั้งของรายการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อกำหนดก้าวย่างอันเหมาะสม มากกว่ารอดูความอ่อนด้อยของคนต้นเรื่อง ให้ต้องเป็นคดีความ ซึ่งอาจบั่นทอนน้ำใจของผู้ทำบุญด้วยจิตศรัทธา แต่ถอนหายใจยามชมโศกนาฎกรรมชีวิตคนต้นเรื่องรอบใหม่ ที่เกิดขึ้นเพราะความอ่อนด้อยของผู้บริจาค รายการ และค้นต้นเรื่อง จนระยะยาวอาจเกิดความชาชิน หรือสิ้นศรัทธาต่อความละเอียดอ่อนในจิตใจ เมื่อยามเห็นผู้ตกทุกข์ได้ยาก ความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นความเจ็บปวด หากทางออก จากบทเรียนของรายการไม่เกิดขึ้น วันนี้นอกจากสรุปว่า เป็นบทเรียนของทุกฝ่าย เนื้อหารายการซึ่งไม่ได้เขียนไว้ ยังต้องถือเป็นบทเรียนของรายการด้วยว่า ทำอย่างไรในอนาคต จะทำให้ความช่วยเหลือไม่มากล้นจนเกินรับ หรือสิ่งเกินรับเหล่านั้นจะกระจายไปสู่ผู้อ่อนด้อยคนอื่นได้อย่างไร กระทั่งตำแหน่งที่ยืนของรายการ ซึ่งต้องสรุปให้มากขึ้น ว่าจะตำหนิและเฝ้าจับจ้องมองดูอย่างเดียวไม่ได้ หากจะลงไปเชื่อมน้ำใจมาสู่คนต้นเรื่อง บทสรุปที่มากกว่าในวันนี้ จึงอยู่ที่ภาคีของน้ำใจ และการมีส่วนร่วมซึ่งมากกว่านี้ มากกว่าปล่อยความอ่อนด้อยของคนต้นเรื่อง ให้เดินเพียงลำพัง |
สวัสดีครับคุณkati
อ่านเรื่องที่คุณสรุปมาก็พอเข้าใจครับ แต่ต้องตีความกับสำนวนลึกซึ้งอยู่พอควร
เข้าใจครับเพียงแต่อยากให้สื่อตรง ๆ ด้วยอักษรมากขึ้นน่ะครับ ขออนุญาต ตินิดนึงครับ
ทั้งนี้ผมเข้าใจแนวที่คุณสื่อนะครับ
ประเด็นละเอียดอย่างนี้ผมเห็นด้วยว่ารายการน่าจะรับผิดชอบด้วย แล้วเมื่องเราก็มักเป็นแบบนี้น้ำใจมืดฟ้ามัวดินเมื่อเห็นภาพ มุมกล้อง การสื่อแบบการตลาดอารมณ์ ( โทษทีผมก็เล่นคำเหมือนกัน)
ระบบการช่วยเหลือของบ้านเราความจริงก็มีหน่วยงานรับผิดชอบอยู่แล้วเหมือนกัน ตัวรายการน่าจะเชื่อมั่นในระบบรัฐบ้างนะผมว่า
ที่จริงระบบของการดำเนินชีวิตมีอยู่ การใช้ปัจจัยดำเนินชีวิตก็มีหลักการของมันอยู่ คุณเช็คแห่งทีวีบูรพาผู้ชอบเล่นคำและเล่นอารมณ์ก็น่าจะคิดเรื่องนี้ด้วย
ผมเห็นด้วยกับคุณที่ว่าการช่วยเหลือของผู้คนกลายเป็นย้อนกลับมายังความตั้งใจดีของผู้คนในความรู้สึกที่ย่ำแย่กว่าตอนบริจาคช่วยเหลือ
แต่เรื่องของการบริจาคนั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของความรู้สึกตอนหลังนะหากคนเข้าใจได้ ผมว่าอย่างน้อยการบริจาคก็ช่วยให้คนบริจาคชำระกิเลศได้ และก็ช่วยให้คนรับบริจาคดำเนินชีวิตด้วยสะดวกมากขึ้น ส่วนอะไรจะเกิดหลังจากนั้นก็เป็นวิบากกรรมของคนต้นเรื่อง
ประเด็นที่ชัดคือ รายการที่หากินกับความทุกยากของผู้คนและมุมกล้องเร้าอารมณ์จะอธิบายอย่างไรต่อในสังคมนี้
ขอบคุณที่ตอบแบบยาว ๆ และมีประเด็นครับ
ผมเห็นด้วยที่คุณวิเคราะห์นะครับ
ที่จริงเรื่องนี้ก็มองได้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงนะครับ
แต่ผมไม่อยากให้นำเรื่องบาปบุญมาเกี่ยวข้องกับระบบกรอบสังคมที่ล้มเหลวหรืออ่อนแอ เลย
เพราะเรื่องของบุญและบาปก็อธิบายโดยหลักของความเชื่อและหลักปฏิบัติของศาสนาที่มีทางอธิบายอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องนี้เป็นเรื่องของกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น (อันนี้ในมุมของศาสนานะครับ ) แต่ผมก็ไม่อยากก้าวไปในมนฑลนี้นักต้องให้ผู้รู้อธิบายจะดีกว่า
แต่เรื่องการนำเสนอนี่เป็นประเด็นแน่นอน
ผมไม่ได้ดูรายการ แต่เท่าที่ดูผ่าน ๆ มา รายการมักจะสรุปแรง ๆ ด้วยข้อถกเถียงทางความคิดของผู้คนทั่วไป และบางทีเป็นคำถามที่สังคมไทยต้องตอบด่วนแต่ ไม่มีใครจะตอบได้
หลายครั้งผมเห็นรายการติดต่อกับหน่วยงานเช่นกัน เรื่องทัศนคติต่อองค์กรรัฐรายการคงไม่ได้อยู่ฝ่ายตรงข้ามและไม่เชื่อมั่นภาครัฐเสียทีเดียว
ผมอยู่ในหน่วยงานรัฐ ไม่ได้ออกตัวแทนรัฐนะครับ แต่บางทีภาพที่เห็นไม่ใช่โหดร้ายขนาดนั้น ชีวิตจริงคนที่ลำบากใช้ชีวิตอยู่ในสังคมมากมาย และได้รับการช่วยเหลือเยี่ยวยาในอัตภาพที่เหมาะสม
แต่บางครั้งการตีแผ่ชีวิตผู้คนของสื่อ เป็นการตอกย้ำความอ่อนแอของชีวิตผู้คน ให้ซ้ำเติมทั้งตัวผู้ถูกสื่อ และซ้ำเติมระบบการดูแลกันของสังคมให้รู้สึกเลวร้ายลงไปอีก
ผมไม่แน่ใจว่าการบริจาคเป็นการชดเชยอะไรหรือไม่ แต่ผมไม่เชื่อว่าการมีจิตเอื้อเฟื้อจะเป็นเจตนาที่เลวร้ายนะครับ
ในฐานะที่ผมอยู่ในหมู่บ้านทำงานเพื่อชาวบ้านมาบ้าง ผมเห็นชีวิตที่ร้ายกว่าคนที่ได้รับเงินบริจาคนั่นอีกครับ ผมเคยถามคุณยายที่ดูแลหลานด้วยความลำบากว่าอยากได้รับเงินบริจาคแบบในรายการโทรทัศน์บ้างไหม ( ในตอนนั้นผมนึกไม่ถึงจริง ๆ เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเพียงความคิดแรกอยากจะให้ยายกับหลานมีเงินมากกว่านี้ ซึ่งเป็นความคิดที่โง่มากของผม ) ยายแกตอบว่าไม่หรอก อายเขาลูกหลานมีหน้ามีตาก็หลายคนอยู่แม้ว่าเขาไม่ค่อยสนใจอะไรแต่เขาก็พอได้ช่วยเหลืออยู่ ลำบากแค่นี้ยายทนได้
ผมอึ้งไปเลยเหมือนกัน บางทีคนเรามีศักดิ์ศรีไม่ได้อยากให้ผู้คนอื่น รับรู้เรื่องความลำบากของตนเอง และไม่ได้เรียกร้องการช่วยเหลือจากใคร ๆ
เหมือนรายของปู่เย็นจากรายการนี้เช่นกัน
หากจะมีเรื่องที่ดีส่วนหนึ่งของรายการนี้ก็คือ การนำเสนอรูปแบบของศักดิ์ศรีของมนุษย์ อย่างปู่เย็น อรหันต์ชาวนา หรือกวีบทสุดท้าย อย่างน้องข้าวฟ่างและครอบครัวอดีตศิลปินที่เข้าป่าใช้ชีวิต
แต่รายการที่แสดงความยากลำบากของมนุษย์นั้นไม่ต่างอะไรกับละครโศกนาฎกรรม ที่เรียงบทเอาไว้เรียกน้ำตาและความสงสาร มองผู้ชมเป็นลูกค้าหรือเหยื่อในบางความคิด ไม่ต่างอะไรกับวงเวียนชีวิตที่นำเสนอในเนื้อข่าว ที่อาจจะอ้างว่าเป็นการนำเสนอบทความข่าวที่สะท้อนสังคม แต่ประสงค์หนึ่งคือการโฆษณาประชาสัมพันธ์องค์กรข่าว
ผมเคยดูรายการพวกนี้ขนาดได้ยินเสียงบอกบทให้คนเป็นข่าวทำตาม "ให้ตักน้ำเดินมาแล้วค่อย ๆ เทลงในโอ่ง นะ ค่อย ๆ ๆ ดีครับ "
สื่อทำตามธุรกิจอย่างที่คุณบอกน่ะครับ ก็ยอมรับว่าเป็นการสะท้อนสังคมได้ แต่นักข่าวไม่ใช่นักสังคมหรอกครับ สังเกตได้อีกส่วนหนึ่งว่า เขาไม่เคยได้ไต่ถามถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบเลย
ผมไม่ได้มองสื่อในมุมร้ายนะครับ เพียงแต่อยากบอกว่า สื่อที่แสดงออกไปนั้น แม้เป็นเนื้อหารายงานข่าวก็ยังตั้งอยู่บนภาพมายาที่ต้องการขาย
แล้วเนื้อหาบทความสะเทือนอารมณ์แบบค้นชีวิตคนด้วยสื่อศิลป์เชิงพาณิชย์ เช่นนี้ ยิ่งไกลความจริงออกไปครับ
และเมื่อเกิดประเด็นถกเถียงเช่นนี้แล้ว สังคมต่างโทษกันไปมา และมองความหวังทางออกไม่เจอ
ผมยังคิดว่าไม่มีอะไรที่ล้มเหลวลงไปอย่างสิ้นเชิงสิ้นหวัง เพียงแต่ยอมรับในข้อจำกัด และยอมรับในข้อที่ต้องแก้ไข ผนวกกับเอกชนที่มองปัญหาจริง ๆ แล้วเปิดการทำงานในรูปแบบของสาธารณะอย่า มูลนิธิเด็ก บ้านพักคนชรา บ้านพักผู้ติดเชื้อ และอีกหลาย ๆ ส่วน
สังคมเราช่วยกันอยู่ครับ ผมเชื่อเช่นนั้น และเราจะช่วยกันมากขึ้นอย่างไม่มีเงื่อนไขให้ต้องแสดงความลังเลหวาดระแวงต่อกัน ผมหวังเช่นนั้นครับ
ขอบคุณอย่างมากด้วยเช่นกันครับ
แม้เป็นการถกเถียงกันหรือเกื้อหนุนกันทางความคิดในจุดเล็ก ๆ แต่ ผมก็ดีใจที่ได้โอกาสนั้น
อย่างน้อยก็สร้างความเคารพกันได้ระหว่างผมกับคุณ kati และเชื่อมั่นไปอีกได้ว่า สังคมเราเลือกที่จะถกเถียงกันในเรื่องสิ่งที่จะก่อประโยชน์ต่อไปได้อีกมากมาย ไม่ใช่เพียงถกเถียงกันเรื่องประโยชน์เบื้องหน้าหรือความเชื่องมงายแบบผิวเผิน
ขอบคุณมากครับ
ผมเป็นคนหนึ่งที่ดูรายการ คนค้นคน ในหลายตอน ผมเห็นข้อดีและข้อด้อยของรายการในแบบนี้พอจะสรุปความเห็นส่วนตัวดังนี้
1.แง่ดี
-ผมได้เห็นรายการที่มีสาระ เห็น role model ที่ดีในสังคม เช่นตอนที่ เกี่ยวกับคนดีของแผ่นดิน ซึ่งดูแล้วมีกำลังใจในการทำความดี
-เป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการดูรายการ เพราะช่วงเดียวกันนั้นก็มีละครที่ดูแล้วแฝงความรุนแรงและค่านิยมที่สร้างปัญหา เช่น พระเอกต้องหล่อ นางเอกต้องสวย+รวย (ต่างจากในชีวิตจริงซึ่งทุกคนเป็นพระเอง/นางเอกในวิตตัวเอง)
-ผมเห็นอีกแง่มุมของชีวิตคนที่ลำบากกว่า
2.แง่ที่ต้องระมัดระวัง
-ถูกอย่างที่คุณ kati ว่าก็คือ ผมกระทบต่อชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนต้นเรื่องที่มีทั้งบวกและลบ
-การพาดพิงบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเชิงบวก/ลบ
ความเห็นของผมคิดว่า สื่อคงต้องชั่งน้ำหนักเกี่ยวกับเนื้อเรื่องจริงกับการตลาดให้ลงตัว+รับผิดชอบต่อสังคม
ส่วนตัวผู้ชมเองก็ควรมีภูมิคุมกันที่ดีว่าจะเลือกเสพสื่อแบบไหนให้เกิดประโยชน์กับชีวิตของตน
คนต้นเรื่องต้องมีปัญญารู้เท่าทันโลกธรรม ที่เข้ามาในชีวิตของตนเอง
ผู้ที่ถูกพาดพิงก็ควรมีใจเป็นกลาง นำข้อบกพร่องมาปรับปรุง ส่วนข้อที่ไม่จริงก็ชี้แจง หรือหากขาดความยุติธรรมโดนกล่าวหาแบบเลื่อนลอยและไร้ความรับผิดชอบ ศาลก็เป็นที่พึ่งได้เสมอ
ภาพรวม : ผมชอบรายการ style นี้ครับ