เทคนิคการตั้งคำถามเพื่อพัฒนาสมรรถภาพในการอ่าน


การพัฒนาทักษะการอ่าน
                        การอ่านเป็นทักษะสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาภาษาไทย การเรียนรู้ด้านหลักภาษา การใช้ภาษา และวรรณกรรม วรรณคดีเริ่มต้นจากการอ่านทั้งสิ้น ถ้านักเรียนมีสมรรถภาพในการอ่าน การเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ  ก็มิใช่เรื่องยาก 
   
              สมรรถภาพ หรือความสามารถในการอ่านนั้นแบ่งออกเป็น 5 ขั้น ดังนี้                  
                    
1.  อ่านออก คืออ่านถูกต้องตามอักขรวิธี
                      
                    
2.  อ่านคล่อง คืออ่านเร็ว ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สมาธิ การตั้งจุดประสงค์ในการอ่าน
และความรู้พื้นฐานด้านการใช้ถ้อยคำ สำนวนไทย         
                  
  3.  อ่านเข้าใจเรื่อง สามารถจับใจความได้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม อย่างไร
                      
                    
4.  อ่านแล้วแยกแยะข้อความชนิดต่างๆได้ วิเคราะห์ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น อารมณ์
หรือความรู้สึกได้                    
                   
5.  อ่านตีความหรือวินิจสารได้ ว่าน้ำเสียงของผู้เขียนมุ่งไปในทางใด เช่น ให้รู้ ให้คิด เสียดสี โฆษณาชวนเชื่อ
                      
                    
การพัฒนาสมรรถภาพในการอ่านของนักเรียน ควรฝึกทำกิจกรรมเป็นขั้นตอนจากง่ายไปยาก
ดังนี้                  
    
                 1.  พัฒนาความสามารถในการรับรู้คำและความหมายของคำ  โดยฝึกให้นักเรียนแปลความหมายของคำจากบริบท  จากการวิเคราะห์โครงสร้าง  เช่น  สมาสแปลจากหลังไปหน้า  จากชีวิตประจำวัน  และจากพจนานุกรม                   
                    
2.  จับใจความ  เริ่มจากข้อความสั้น ๆ  และค่อยยาวขึ้น  ให้นักเรียนจำแนกใจความหลักและ
ใจความรอง                   
                    
3.  การอ่านตีความ  ให้ฝึกจำแนกความหมายโดยตรง  โดยนัย
       
               
4.  การอ่านขยายความ  โดยให้ฝึกตอบคำถามแบบขยายความโดยใช้เหตุผลประกอบ                     
                     
5.  การอ่านวิเคราะห์วิจารณ์  โดยฝึกกิจกรรมดังนี้คือ  การแยกข้อเท็จจริง  ข้อคิดเห็น ประเมินค่าของข้อมูล  แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่อ่าน  และรู้จักการนำสิ่งที่อ่านไปใช้
                   
                     
การพัฒนาสมรรถภาพการอ่านของนักเรียนได้ ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้และทักษะในการตั้งคำถามอย่างหลากหลาย  ซึ่งแนวการตั้งคำถามนั้นมีมากมาย เช่น  การฝึกสังเกต  ระบุ  สำรวจ  เชื่อมโยง  สรุป  ฯลฯ  ซึ่งจะขอยกตัวอย่างการสอนอ่าน โดยใช้บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่อง พระราชวิจารณ์เรื่องจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีในหนังสือเรียนวรรณลักษณ์วิจารณ์ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่  6  โดยพัฒนาทักษะของนักเรียนดังนี้ 
ทักษะที่พัฒนา ตัวอย่างการตั้งคำถาม 
การสังเกต ถ้อยคำภาษาที่ใช้ในจดหมายเหตุเป็นภาษาที่ใช้ในปัจจุบันหรือไม่
การระบุ ปีที่มีการบูรณะวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามคือปีใด
การสำรวจ โบราณสถานและโบราณวัตถุที่บูรณะมีสิ่งใดบ้าง
การจำแนกความแตกต่าง การอ่านวันเดือนปี  มาตราเงิน  การวัดความยาวแบบโบราณกับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร
การจัดลำดับ จงเรียงลำดับเหตุการณ์ให้ถูกต้อง
การรวบรวมข้อมูล จงรวบรวมค่าใช้จ่ายในการบูรณะและฉลองวัดพระเชตุพนฯ
การเปรียบเทียบ นักเรียนคิดว่าค่าใช้จ่ายเทียบกับปัจจุบันน่าจะเป็นเงินประมาณเท่าใด
การจัดหมวดหมู่ จำแนกคำศัพท์ที่กำหนดให้เป็นหมวดหมู่ดังนี้  ของใช้พระสงฆ์  มหรสพและการละเล่น  ดอกไม้ไฟ   สิ่งก่อสร้างในวัด
การอ้างอิง ถ้านักเรียนจะศึกษาภาษาและเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่  1  นักเรียนจะศึกษาได้จากแหล่งใด
การตีความ จงอธิบายรายละเอียดของข้อความว่า มีหนังคืนละ ๙ โรง
การแปลความ สิ้นพระราชทรัพย์ไป  ๒๐๕ ชั่งจงแปลให้เป็นถ้อยคำปัจจุบัน
การเชื่อมโยง มหรสพในอดีตที่ปัจจุบันยังคงมีให้ชมอยู่คืออะไร
การขยายความ จงอธิบายลักษณะของเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองจากภาพที่กำหนด
การใช้เหตุผล จากพระราชวิจารณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงว่าพระองค์มีพระปรีชาสามารถในด้านใด
การสรุปความ อ่านเรื่องนี้แล้วได้ความรู้และข้อคิดอะไรบ้าง
        การตั้งคำถามบ่อย ๆ ด้วยถ้อยคำที่หลากหลายเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนอ่านอย่างละเอียดรอบคอบ ใช้ความคิด ไม่ใช่อ่านแบบผ่าน ๆ   ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาสมรรถภาพในการอ่านของนักเรียนได้มากขึ้น จนท้ายที่สุดเมื่อเขามีทักษะการอ่านมากขึ้น  การตั้งคำถามก็อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป  เมื่อเขารู้ว่าควรอ่านอย่างไร  นั่นแสดงว่าสมรรถภาพเขาได้พัฒนาจนถึงขึ้นสูงสุดแล้ว  นั่นคือสามารถสร้างองค์ความรู้ได้  อ่านได้ทุกประเภท  ตีความได้กว้างขวาง  และสามารถวิจารณ์กลวิธีการแต่งได้  ทำให้ได้รับคุณค่าของหนังสืออย่างแท้จริง  สมดังพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีบทที่ว่า
            
                          
โลกคือมนทิรแผ้ว                             ไพศาล
                 
             
ห้องหับสรรพโอฬาร                                    เลิศแล้
                 
             
หนังสือดุจประแจทวาร                                ไขสู่  ห้องนา
                
             
จักพบรัตนแท้                                                  ก่องแก้ววิทยา
   

เอกสารอ้างอิง

ถนอมวงศ์   ล้ำยอดมรรคผล และคณะ. การใช้ภาษา.  พิมพ์ครั้งที่ 7.
       กรุงเทพฯ :
มหาวิทยาลัยสุโขทัย     ธรรมาธิราช,  2531.
วิชาการ,กรม.   การเรียนรู้เพื่อพัฒนากะบวนการคิด.   กรุงเทพฯ :
       
ศูนย์พัฒนาหลักสูตร กรมวิชาการ, 2543.
สมบัติ จำปาเงิน และสำเนียง มณีกาญจน์. หลักการอ่าน.       
       
กรุงเทพฯ :  
ต้นอ้อ,  2543.
อนงค์ บุญเลิศ.  การอ่านเพื่อชีวิต.   กรุงเทพฯ : พัฒนาศึกษา,  2538.

 

หมายเลขบันทึก: 148498เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2007 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ในเมื่อวิบัติ จะเห็นใจมิตร

ในเมื่อศึกประชิด จะเห็นใจทหาร

ในเวลาให้กู้ทรัพย์สาร จะเห็นใจผู้ชื่อสะอาด

ในยามสมบัติวินาศ จะเห็นใจภริยา

ตีความอย่างไร ขยายความอย่างไร

ไม่แนะนำตัวเองหน่อยหรือคะ ว่าเป็นนักศึกษาหรือครูอาจารย์ มีจุดประสงค์เพื่ออยากทราบ ทำการบ้าน หรือสร้าง

แบบฝึกทักษะให้นักเรียน มาห้วน ๆ แบบนี้ ก็ขอสรุปแบบห้วน ๆ ให้ฟังว่า บางครั้งเราก็ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว

หรือสิ่งที่คุนเคย จนเมื่อเกิดความเดือดร้อนยากลำบาก เราจึงเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น แล้วขยายความด้วยการยกตัวอย่าง

หรือยกสุภาษิตประกอบ เช่น แกงจืดจึงรู้คุณเกลือ

หนูเป็นนักเรียนโรงเรียนสาธิตเชียงใหม่นะค่ะ

คือหนูอยากทราบว่า

1.หลักการอ่านวิเคราะห์ วิจารณ์และประเมินค่าสารคดี

2.ตัวอย่างการอ่านวิเคราะห์ วิจารณ์และประเมินค่าสารคดี

ถ้าคุณครูตอบกระทู้ของหนู จะเป็นพระคุณอย่างสูง ขอขอบคุณไว้ล่วงหน้าค่ะ

นักเรียนสาธิตต้องเก่งอยู่แล้วใช่ไหมคะ คุณครูไม่เคยเขียนบทความวิจารณ์สารคดีเลย ส่วนมากเป็นบทความ

ด้านการสอน แต่หลักการคร่าว ๆ ที่คุณครูใช้ก็คือ อ่านแล้วบอกให้ได้ว่าสารคดีเรื่องนี้ผู้เขียนน่าจะมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร

ให้ความรู้ เสนอข้อคิดเห็น ช่วยหาทางออก เตือนสติ เสนอแนะแนวทาง สั่งสอน ฯลฯ ใช้กลวิธีเขียนแบบใด เช่น เสนอข้อเท็จจริง

เสนอไปตามลำดับเหตุการณ์ เล่าย้อน ใช้ภาษาแบบใด แบบแผน กึ่งทางการ หรือภาษาแบบไม่เป็นทางการให้เข้าใจง่าย

เนื้อหาที่นำเสนอมีสาระหรือไม่ แปลกใหม่ เร้าความสนใจให้แง่คิดแค่ไหน งานเขียนโบราณที่เป็นตัวอย่างการวิเคราะห์

วรรณกรรมได้อย่างดีมากคือ วรรณสาส์นสำนึก ของสุภา ศิริมานนท์ ห้องสมุด มช.น่าจะพอมีให้อ่านนะคะ หลักการอ่าน

ให้ค้นจากหนังสือที่แต่งโดย บันลือ พฤกษะวัน เขียนเป็นชุดหนังสือเกี่ยวกับกระบวนการอ่าน แยกเป็นเล่มย่อย ๆ

รวม 8 เล่ม ลงค้นคว้าดูนะจ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท