สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๒๕. ชายคาภาษาไทย (๔)


กรลา / กระลา / กลา 


         คำกรลานี้เขียนได้หลายรูป มึความหมายว่า บริเวณ เมื่อสองสามปีก่อนศาสตราจารย์ ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ได้เคยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอภิปรายในที่ประชุมคณะอนุกรรมการชำระกฎหมายตราสามดวง และ ผู้เขียนขอยกมาถ่ายทอดดังนี้
1. สุธนูคำฉันท์ มีความว่า
             “เสด็จดับกุนธกรลาวรารศสุธาร”
            คำว่า กุนธกรลา ในที่นี้น่าจะเป็น กุณฑกรลา แปลว่า บริเวณกองไฟ (ศักดิ์สิทธิ์) 
            “จอดรถยืนกลางกรลา” กรลา แปลว่า บริเวณ หรือ ลาน
2. รามเกียรติ์ ฉบับรัชกาลที่ 1
            “ทั้งจะได้เลือดบูชา ในกลางกรลาพิธีการ
            คำว่า กรลา (หรือที่เขียนในรูปอื่น เช่น กระลา) นี้พบเก่าสุดในจารึกวัดป่าแดง (กัลยาณาวาส) ศรีสัชนาลัย สมัยสุโขทัยในคำว่า “กระลาอุโบสถ” หมายถึง บริเวณพิเศษที่กันไว้ต่างหากเพื่อจุดประสงค์เฉพาะซึ่งบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป เมื่อปี พ.ศ. 1949 ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (รามราชาธิราช) เกิดอธิกรณ์ขึ้นในหน (สำนัก) ป่าแดง พระสารีบุตรมหาเถระและพระพุทธวงศ์มหาเถระยื่นอธิกรณ์ (ร้องฟ้อง) ว่า พระครูบรมติโลกดิลกรัตน์ สมเด็จพระสังฆราช สังฆปรินายกฝ่ายอรัญวาสี ตั้งพระมงคลมหาเถระขึ้นเป็นเจ้าอธิการวัดป่าแดงโดยไม่ยุติธรรม ทำให้สมเด็จพระมหาธรรมราชา (รามราชาธิราช) พร้อมทั้งพระราชมารดา   คือ สมเด็จพระศรีธรรมราชมาตา (อดีตสมเด็จพระอัครราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ในรัชกาลก่อน) เสด็จพร้อมเจ้านาย นักปราชญ์ ราชบัณฑิตไปยุติเรื่องราว ครั้งนั้น โปรดให้ปลูกกระลาอุโบสถขึ้นในทะเลฉาง เพื่อให้พระสงฆ์ทั้งสามฝ่าย คือ หนอรัญวาสี หนคามวาสี และหนพระรูปส่งผู้แทนมาประชุมปรึกษาหารือกัน ผลการปรึกษากันนั้น ปรากฏว่า พระครูบรมติโลกดิลกรัตน์ สมเด็จพระสังฆราช สังฆปรินายกเป็นฝ่ายถูก และ พระเจ้าแผ่นดินทรงประกาศหลักการว่า พระองค์ไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจของพระสงฆ์

 

หมายเลขบันทึก: 148205เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2007 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท