เรื่องเล่าริมมูน … จากศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านปากมูน


เอกสาร เรื่องราวข่าวสารจากชาวบ้านนั้น จะได้รับการเผยแพร่ในวงจำกัด แต่เรื่องราวที่สะท้อนออกมานี้ มีมิติหลายอย่างที่น่าสนใจไม่แพ้บทความ และเอกสารที่นักวิชาการได้จัดทำออกมาเผยแพร่เป็นจำนวนมาก

นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งที่ถูกเผยแพร่ในรูปแบบของแผ่นพับ จัดทำโดย ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านปากมูน ซึ่งสนับสนุนโดย AEON Environmental Foundation และถูกนำมาเผยแพร่ในงานมหกรรมสร้างสุขภาคอีสาน ครั้งที่ ๒ ในระหว่าง ๑๖-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

เรื่องเล่าริมมูน

แม่น้ำมูนเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของคนอีสาน มีความยาวกว่า ๗๐๐ กิโลเมตร ไหลผ่าน ๖ จังหวัด มีต้นน้ำอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เรียกว่า "ปากมูน" มีระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ แก่งหินธรรมชาติกว่า ๔๐ แก่ง ทอดตัวสลับกับขุม วัง เวิน แก่งหินเป็นแหล่งอาหาร และอนุบาลูกอ่อนของปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขง นอกจากปลานานาชนิดแล้ว ริมฝั่งแม่น้ำก็นับเป็นแหล่งอาหารตามฤดูกาล เช่น เห็ด หน่อไม้ ผักและสมุนไพร รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากไม้ยืนต้นและพื้นที่เลี้ยงสัตว์

ทรัพยากรล้ำค่าของชาวแม่มูน
"ปลา" รับเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่เอื้อต่อการดำรงวิถีชีวิตและเสริมสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนริมแม่น้ำมูน
ลวงปลา หมายถึง แหล่งที่หาปลาในแม่น้ำมูน มักจะเป็นที่ที่มีปลาชุกชุม บางแห่งมีปลาหลากหลายชนิด บางแห่งอาจมีปลาเด่นๆจำนวนมาก ลวงปลาจะเกิดขึ้นตามระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย อาทิ บ้างวังสะแบงใต้ บ้านด่านเก่า บ้านแสนตอ บ้านห้วยไฮ และบ้านหนองโพธิ์

แก่ง เอกลักษณ์สำคัญของแม่น้ำมูนตอนปลาย คือ มีแก่งหินเรียงรายเป็นแนวยาวจนถึงบริเวณปากมูน ตั้งแต่แก่งกบ อ.พิบูลมังสาหารลงมามีทั้งแก่งขนาดเล็กและใหญ่รวมกัน ๔๑ แก่ง ถูกทำลาย จากการระเบิดเพื่อสร้างเขื่อนปากมูล ๕ แก่ง แก่งที่ชาวบ้านถือว่าเป็นเมืองหลวงของปลา คือ แก่งตะนะและแก่งคันเหว แก่งหินนอกจากจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา แหล่งอนุบาลลูกปลา แหล่งอาหาร แหล่งหลบภัยแล้วแก่งยังเป็นตัวฟอกน้ำให้สะอาดและเป็นเขื่อนธรรมชาติที่ช่วยก ั้นน้ำไว้ไม่ให้น้ำแห้งในฤดูแล้ง

ขุม เป็นลักษณะของพื้นที่ใต้น้ำที่เป็นหลุมลึกใหญ่ อาจจะอยู่ต่อจากคันหรือแก่ง บางแห่งอยู่ไม่ห่างจากฝั่งของแม่น้ำ บางแห่งอาจจะอยู่ตรงกลางแม่น้ำ ขุมทั่วไปในลำน้ำมูนจะมีความลึกราว ๑๕-๑๖ เมตร ในช่วงหน้าแล้งขุมจะไม่ใหญ่มาก จะมีความกว้างราว ๓ ไร่ มีทั้งขุมดินและขุมหิน

วัง หมายถึง พื้นที่ต่อเนื่องจากแก่งต่อแก่ง คือ จากท้ายแก่งตอนบนไปจรดหัวแก่งถัดไปตอนล่าง ในหน้าแล้งวังจะอยู่ราว ๖ - ๑๐ เมตร ขึ้นอยู่กับความถี่ของแก่งสองแก่ง

เวิน เป็นการไหลของน้ำปะทะสิ่งกีดขวางทำให้เกิดการไหลโค้งกลับเป็นน้ำวน เวินจะเกิดในฤดูน้ำหลาก ไม่เกิดหน้าแล้งเพราะปริมาณน้ำที่ลดลง

ดอน เกาะกลางน้ำเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนมีลักษณะเป็นเนินดินและเนินหินกระจาย อยู่ในแม่น้ำมูนตอนปลายและมีขนาดพื้นที่เฉพาะตัว ดอนที่ใหญ่ที่สุดมีพื้นที่กว่า ๔๐๐ ไร่ ดอนเป็นแหล่งรวมพันธุ์พืชนานาชนิด เนื่องจากเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ป่าในดอนเป็นแหล่งอาหารของชุมชนและเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ได้

แม่น้ำสาขา มีหลายขนาดทั้งกลาง ใหญ่ เล็กที่ไหลลงแม่น้ำมูน บริเวณปากมูนมีลำห้วยสาขาใหญ่น้อยถึง ๕๕ สาย ในฤดูน้ำหลากคนหาปลาจะเข้าไปจับปลาในแม่น้ำสาขาเพราะแม่น้ำมูนไหลเชี่ยว ห้วยยังเป็นแหล่งวางไข่ของปลาอีกด้วย

รูปแบบการอพยพของปลา
ปลาในแม่น้ำมูลส่วนใหญ่เป็นปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขง เพื่อเข้ามาวางไข่ และอยู่อาศัยเนื่องจากระบบนิเวศของแม่น้ำมูนตอนปลายมีแก่งหิน ขุม วัง เวิน เหมาะสำหรับการวางไข่ของปลา และหลังจากวางไข่แล้วก็จะอพยพกลับสู่แม่น้ำโขง แต่ปลาจะไม่กลับไปทั้งหมดจะคงมีปลาอยู่ในแม่น้ำมูนอีกเป็นจำนวนมาก "ปลาค้างวัง"

ช่วงเวลาการอพยพ
การอพยพขึ้นลงของปลาเกิดขึ้นตลอดทั้งปี โดยพบว่าปลาเริ่มอพยพขึ้นตั้งแต่เดือนสามหรือเดือนกุมภาพันธ์ไปถึงเดือนสิบห รือเดือนกันยายน และอพยพลงสู่แม่น้ำโขงเริ่มตั้งแต่เดือนแปดหรือเดือนกรกฏาคมถึงเดือนอ้ายหรื อเดือนธันวาคม ความเชื่อที่ว่าปลาอพยพเพียงสี่เดือนจึงไม่เป็นความจริง เว้นแต่เดือนยี่หรือเดือนมกราคมเท่านั้นที่ปลาไม่มีการเคลื่อนย้าย

ก่อนการสร้างเขื่อนปากมูล
แม่น้ำมูนนับเป็นลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่ง จากการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลกพบว่าลุ่มแม่น้ำมูนก่อนการสร้างเขื่อนปาก มูลมีพันธุ์ปลาถึงจำนวน ๒๕๖ ชนิด เนื่องจากการเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขงจึงทำให้มีระบบนิเวศที่ซับซ้ อนและมีความหลากหลายของพันธุ์ปลา จนกระทั่งความเปลี่ยนแปลงแห่งสายน้ำมูนมาเยือนพร้อมกับเขื่อนปากมูลหลังจากก ารสร้างเขื่อนปากมูล นักวิจัยไทบ้านพบว่า มีปลาบริเวณปากมูนเพียง ๔๓ ชนิด ปลาที่พบมาก คือ ปลาเข็ง ปลาแมว ปลาชะโดและปลากระเดิดเพราะเป็นปลาที่ไหลในน้ำนิ่งได้ดี ส่วนปลาชนิดอื่นน้อยลงมาก ปลาหลายชนิดเริ่มหายไปจากแม่น้ำมูน

ทำไมปลาเหล่านั้นจึงหายไป
+ เขื่อนปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาระหว่างแม่น้ำมูนและแม่น้ำโขง แก่งหินธรรมชาติที่เป็นบ้านของปลาบริเวณท้ายเขื่อนถูกระเบิดเสียหายไป ปลาไม่มีที่พักอาศัย
+ การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำจากน้ำไหลเป็นน้ำนิ่ง แม่น้ำสกปรกและเน่าเสีย แก่งหินถูกอุดตัน แม่น้ำตื้นเขินมากขึ้น ตลิ่งพัง

+ อ่างเก็บน้ำได้ท่วมระบบนิเวศน์ที่สลับซับซ้อนบริเวณปากมูนทำให้ปลาไม่สามารถหากินวางไข่และผสมพันธุ์ได้

พันธุ์ปลาหลังการเปิดเขื่อน

หลังการเปิดประตูเขื่อนปากมูลเป็นเวลา ๑ ปี มีพันธุ์ปลาทั้งหมด ๑๕๖ ชนิด ซึ่งจำนวนจริงน่าจะมากกว่านี้ ซึ่งพันธุ์ปลาเป็นปลาธรรมชาติหรือปลาที่มีถิ่นอาศัยอยู่ที่แม่น้ำโขงจำนวน ๑๔๘ ชนิด ที่เหลือเป็นปลาต่างถิ่น พอนับได้ว่าการเปิดเขื่อนทำให้จำนวนและชนิดของปลาเพิ่มขึ้น

ความทุกข์ยากของพี่น้อง

เมื่อระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลงไป แก่งถูกน้ำท่วมจนอยู่ใต้น้ำ พื้นที่สำหรับใช้จับปลาลดลงจำนวนมาก มีการสร้างบันไดปลาโจนเพื่อให้ปลาขึ้นมาวางไข่ แต่ในความเป็นจริงพบว่ามีเพียงปลาขนาดตัวเล็กน้อยเท่านั้นที่ขึ้นได้ เมื่อไม่มีปลาครอบครัวก็ขาดรายได้ แม่น้ำที่เคยใสสะอาดกลับกลายเป็นเน่าเสีย ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ป่าบุ่งทามที่เคยหาอยู่หากินถูกน้ำท่วม หลายครอบครัว และบางหมู่บ้านต้องไปตั้งต้นกับพื้นที่ใหม่และวิถีชีวิตแบบใหม่

"มูนบ่แม่นของผู้ได๋ เป็นของทุกคน" จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะช่วยกันรักษา ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของแม่มูนเพื่อให้ชุมชนได้พึ่งพาอาศัย ทำมาหากินได้อย่างปกติสุข

ชุมชนมีสิทธิ์ที่จะร่วมกันปกป้องในกรณีที่มีใครเข้าทำลายหรือเปลี่ยนแปลง สภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตของคนในชุมชน มูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่ได้จากเขื่อน มิอาจเทียบได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำ ชุมชน และวัฒนธรรมอันดีงาม

สิทธิชุมชน

กรณีการสร้างเขื่อนปากมูลเป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ไม่ได้คำนึงผลกระทบต ่อประชาชนอย่างแท้จริง และชี้ให้เห็นพลังประชาคมไม่อาจจะต้านทานอำนาจรัฐในการดำเนินโครงการพัฒนาต่ างๆได้ ฉะนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเขื่อนปากมูลสามารถแก้ไขได้เพียงการประนีประนอมเร ื่องการเปิดประตูเขื่อนปากมูลเพื่อการเลี้ยงชีพด้วยการทำประมง

จัดทำข้อมูลโดย ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านปากมูน สนับสนุนโดย AEON Environmental Foundation

ถูกนำมาเผยแพร่ในงานมหกรรมสร้างสุขภาคอีสาน ครั้งที่ ๒ ในระหว่าง ๑๖-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 147572เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2007 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท