5 เทคนิคการปรับปรุงบำรุงดิน


เอกสาร เรื่องราวข่าวสารจากชาวบ้านนั้น หลายชิ้นจะได้รับการเผยแพร่ในวงจำกัด เช่น ในงานนิทรรศการ การประชุม สัมมนา เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมงานจะได้รับเอกสารข้อมูล รวมถึงได้ซักถามกับเจ้าของข้อมูลโดยตรง

นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งที่ถูกเผยแพร่ในรูปแบบของเอกสาร ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ในงานมหกรรมสร้างสุขภาคอีสาน ครั้งที่ ๒ ในระหว่าง ๑๖-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ในส่วนของลานกิจกรรม บริเวณชั้น ๑ กลุ่มที่ ๔ หัวข้อ สุขภาวะ (นวัตกรรมหมูหลุม, สาธิตการทำน้ำหมัก, การกู้ชีพ) ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม


เทคนิคการปรับปรุงบำรุงดิน

1. ปุ๋ยหมักชีวภาพ (ปุ๋ยชีวภาพในท้องถิ่น ที่นอกเหนือจากการใช้ขยะเปียก) มีขั้นตอนในการเตรียมดังนี้

- เลือกวัสดุที่จะใช้ทำปุ๋ยหมัก ควรเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในแปลงหรือพื้นที่ ย่อยสลายง่าย เป็นวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรหรือครัวเรือน วัสดุเหลือใช้จากโรงงานที่ใกล้เคียง เช่น ฟางข้าว ผักตบชวา หญ้า ส่วนต่างๆของมันสำปะหลัง ต้นและซังข้าวโพด เถาและเปลือกถั่วลิสง เมื่อเป็นปุ๋ยหมักจะให้ธาตุอาหารหลักแก่พืชในปริมาณที่สูง หรืออาจจะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก เช่น ขี้เลื่อย แกลบ กากอ้อย ขุยมะพร้าว ซึ่งเมื่อเป็นปุ๋ยหมักจะให้ธาตุอาหารหลักต่ำกว่า แต่ให้สารปรับปรุงดินมากกว่าปุ๋ยหมักจากวัสดุที่ย่อยสลายง่าย ซึ่งจะส่งผลดีต่อดินและพืชในระยะยาว โดยในการทำปุ๋ยหมักอาจจะใช้วัสดุหลายชนิดทำการหมักร่วมกัน โดยใช้วัสดุย่อยสลายยากและง่ายร่วมกัน โดยวิธีการนี้จะทำให้ใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายสั้นลงกว่าการใช้แต่เพียงวัสด ุย่อยสลายยาก และยังทำให้ปุ๋ยมีทั้งธาตุอาหารและสารปรับปรุงดิน

- นำเศษวัสดุมากองรวมกันบนพื้นที่ราบ หรือในหลุม ให้ขนาดกว้างประมาณ 2-3 เมตร สูงประมาณ 1-1.5 เมตร ผสมเศษวัสดุคลุกเคล้าให้ทั่วถึง รดด้วยน้ำหมักชีวภาพ กากน้ำตาล ผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 10 ให้ชุ่มพอสมควร บีบเศษวัสดุไม่ให้ออกตามนิ้วมือ เมื่อคลายมือออกวัสดุยังจับตัวเป็นก้อน


- คลุมกองปุ๋ยด้วยพลาสติก ทางมะพร้าว ฟาง หรือเศษพืช เพื่อลดการระเหยของน้ำ

- ดูแลกองปุ๋ยหมักให้มีความชื้นที่พอเหมาะอยู่เสมอ ถ้ากองปุ๋ยแห้งเกินไป (บีบดูแล้วไม่มีน้ำติดมือ) ต้องรดน้ำเพิ่ม เพราะถ้าความชื้นน้อยเกินไปจะทำให้กระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์เกิดขึ้นไ ด้ช้า รวมทั้งถ้าแฉะเกินไป ทำให้เกิดการขาดออกซิเจน กระบวนการย่อยสลายที่เกิดขึ้นก็เกิดได้ช้าเช่นกัน


- ระบายอากาศแก่กองปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ โดยสอดท่อเจาะรูในกองปุ๋ยตั้งแต่แรกเริ่ม หรือกลับกองปุ๋ยทุก 5-7 วัน เนื่องจากจุลินทรีย์ต้องใช้ออกซิเจนในการสร้างพลังงาน และโดยเฉพาะถ้าใช้วัสดุที่มีขนาดใหญ่ทำการกองเป็นชั้นๆ การกลับกองจะช่วยคลุกเคล้าเศษวัสดุให้เข้ากัน


- เมื่อกระบวนการหมักเสร็จสมบูรณ์แล้ว (ประมาณ 3 เดือน) ก็สามารถนำไปใช้ได้ โดยสังเกตจาก สีของเศษวัสดุจะเป็นสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ อ่อนนุ่ม ยุ่ย ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือฉุน อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยใกล้เคียงกับภายนอก

การใช้
1) ใส่แบบหว่านทั่วแปลง ประมาณ 1-3 ตัน / ไร่ โดยหว่านในช่วงเตรียมดินแล้วไถกลบทันที
2) ใส่แบบโรยเป็นแถว ประมาณ 1-3 ตัน/ไร่ โดยโรยในช่วงเตรียมดินแล้วพรวนดินกลบ หรือโรยใส่แถวพืช / แปลงผักแล้วพรวนดินกลบ
3.) ใส่แบบหลุม ประมาณ 20-50 กก./ หลุมแบ่งใส่เป็น 2 ระยะ
- ระยะเตรียมหลุม ใส่ปุ๋ยหมักลงในหลุมคลุกเคล้าด้วยหน้าดิน แล้วจึงใส่ต้นไม้
- ระยะที่พืชเจริญแล้ว ขุดเป็นร่องรอบๆต้น ตามแนวทรงพุ่ม ใส่ปุ๋ยหมักลงในร่องแล้วกลบด้วยดิน ในกรณีไม้ผลที่เติบโตแล้วอาจเพิ่มปริมาณปุ๋ยหมักมากขึ้น และมักใส่ปีเว้นปี

2. ปุ๋ยหมักเร่งด่วน (โบกาชิ)
ส่วนผสม ประกอบด้วย

- มูลสัตว์แห้ง 1 ส่วน + แกลบดิน 1 ส่วน + รำละเอียด 1 ส่วน หรือ มูลสัตว์แห้ง 5 ส่วน + แกลบดิน 5 ส่วน + แกลบเผา 3 ส่วนรำละเอียด 2 ส่วน

การเตรียม
คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันดี รดด้วยน้ำหมักชีวภาพ (น้ำหมัก 1 แก้ว + กากน้ำตาล 1 แก้ว + น้ำ 10 ลิตร) ให้พอหมาด เอาไปกองไว้ในที่ร่มให้หนา 1 ฟุต คลุมกองด้วยกระสอบป่านหรือเศษพืช คอยกลับกองไม่ให้ร้อนจัด ประมาณ 7-10 วัน จะมีกลิ่นหอมคล้ายเห็ด มีราสีขาว และกองปุ๋ยเย็นลง ผึ่งให้แห้ง เก็บใส่กระสอบไว้ใช้ได้

การใช้ - เช่นเดียวกับปุ๋ยหมัก แต่ลดปริมาณเพียง 1 ใน 5 เช่น หว่านใส่นาข้าว ถ้าปุ๋ยหมักต้องใช้ 1 ตจัน/ไร่ ถ้าใส่โบกาชิ ใช้เพียง 200 กก./ไร่ โดยแบ่งใส่ช่วงไถ 100 กก. หลังปักดำ 7 วัน 30 กก. ข้าวอายุ 1 เดือน 30 กก. และก่อนข้าวตั้งท้องอีก 40 กก.

3. ปุ๋ยพืชสด

คือการไถกลบหรือคลุกพืชที่ยังสด และมีสีเขียวอยู่ลงไปในดิน เพื่อปรับปรุงดินและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน ซึ่งส่วนมากนิยมใช้พืชตระกูลถั่ว เนื่องจากมีปมรากเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ปุ๋ยพืชสดส่วนใหญ่จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ย่อยสลายได้รวดเร็ว มีประมาณ 50-80% เป็นส่วนที่ให้ไนโตรเจนแก่พืชที่ปลูกตามมา อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่ย่อยสลายช้า จะช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ชนิดของปุ๋ยพืชสด ได้แก่ พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า ถั่วขอ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง และถั่วอื่นๆ , โสนอัฟริกัน, ปอเทือง, กระถิน, แค, ชะอม, ฉำฉา, อะราง ตลอดจนพืชน้ำ เช่น จอก ผักตบชวา เป็นต้น

วิธีการ
1) ปลูกพืชหมุนเวียน โดยปลูกสลับกับพืชหลัก เช่น หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็ปลูกพืชปุ๋ยสด และไถกลบเมื่อพืชปุ๋ยสดเริ่มออกดอกจนถึงดอกบาน (ส่วนใหญ่ประมาณ 45-60 วัน) ซึ่งเป็นช่วงที่มีธาตุไนโตรเจนสูงสุด และน้ำหนักสดก็สูงด้วย ถ้ารอจนเก็บเกี่ยวเมล็ดแล้วไถกลบเศษพืชที่ยังเขียวอยู่ก็ได้ แต่จะได้ประโยชน์น้อยลง

2) ปลูกก่อนปลูกข้าวประมาณ 3 เดือน คือ ปลูกพืชปุ๋ยสดประมาณปลายเดือนเมษายน แล้วไถกลบปลายเดือนมิถุนายน แล้วจึงดำข้าวตาม


3) ปลูกเป็นพืชแซม โดยปลูกแซมในแถวพืชหลัก เช่น ปลูกข้าวโพดแซมด้วยถั่วพร้า เมื่อพืชปุ๋ยสดได้อายุพอแล้วก็สับกลบลงในดินเพื่อให้พืชหลักได้รับธาตุอาหาร


4. การใช้วัสดุคลุมดิน
วิธีการ
1) การใช้เศษอินทรียวัตถุ เช่น ใบไม้ หญ้า ฟาง แกลบ ขี้เลื่อย ชานอ้อย อินทรียวัตถุสดจากต้นไม้ ขยะอินทรีย์จากครัวเรือน มูลสัตว์แห้ง คลุมดินในบริเวณที่ปลูกพืช หรือ บริเวณที่ไม่ต้องการให้เกิดการชะล้างพังทลาย

2) การปลูกพืชคลุมดิน นิยมใช้พืชตระกูลถั่ว เนื่องจากพืชหลักจะได้รับแร่ธาตุจากการร่วงหล่นของใบพืชคลุมดิน และได้ไนโตรเจนโดนการตรึงของปมรากพืชตระกูลถั่ว

ประโยชน์
1) ปรับปรุงบำรุงดิน อินทรียวัตถุที่คลุมดินจะค่อยๆย่อยสลายให้ฮิวมัส และปลดปล่อยแร่ธาตุอาหารให้แก่พืชอย่างช้าๆ เปรียบเหมือนการทำ "ปุ๋ยหมักที่ผิวหน้าดิน"
2) เพิ่มปริมาณสิ่งมีชีวิตในดิน และช่วยเพิ่มผลผลิตพืช
3) รักษาความชื้นภายในดิน ทำให้พืชไม่เหี่ยวเฉา และประหยัดน้ำในการเกษตร
4) ทำให้อุณหภูมิของผิวดินไม่สูงมากนัก จึงมีอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมต่อพืช รวมทั้งจุลินทรีย์ต่างๆ
5) ป้องกันการชะล้างของผิวดินเนื่องจากน้ำและลม
6) ช่วยควบคุมวัชพืช และลดความจำเป็นในการไถพรวน

ข้อควรระวัง
1) วัสดุที่ใช้คลุมดินควรมีลักษณะแห้ง เพื่อมิให้เกิดการหมักจนเกิดความร้อน
2) วัสดุคลุมดินที่ย่อยสลายยาก เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ควรใช้วัสดุที่มีการย่อยสลายแล้วบางส่วน เพื่อป้องกันการแย่งไนโตรเจนจากพืช และไม่ควรทับถมกันแน่นจนเกินไป เพราะจะเกิดสภาพการย่อยสลายแบบไร้ออกซิเจน ซึ่งจะทำให้เกิดกรดที่เป็นพิษต่อพืช

5. การไถกลบเศษวัสดุ

คือ การนำเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ฟางและตอฟาง เถาและเปลือกถั่วลิสง ใบและยอดอ้อย ใบไม้แห้ง แกลบ คายข้าว ขี้เลื่อย กากอ้อย ขี้อ้อย ไถกลบลงในดินในระหว่างการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก แล้วทิ้งไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลายวัสดุในดินก่อนที่จะทำการเพาะปลูกต่อไป

วิธีการ
หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วควรทิ้งเศษพืชไว้ในแปลงเพื่อรักษาผิวหน้าดิน ก่อนทำการเพาะปลูกประมาณ 1 เดือน ก็ทำการไถกลบเศษวัสดุ ซึ่งอาจมีการนำเศษวัสดุนอกแปลงมาเพิ่มเติมด้วย ในพื้นที่ทำนา หลังจากไถกลบแล้ว 1 เดือน จึงทำการปล่อยน้ำเข้านาเพื่อเตรียมดำต่อไป ในพื้นที่ที่มีการปลูกพืชหมุนเวียนตลอด เศษพืชแต่ละชนิดก็ทำการไถกลบก่อนปลูกพืชต่อไป

ประโยชน์
1) เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน และช่วยปรับปรุงสภาพดิน
2) รักษาความเป็นกรดด่างของดินให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับพืช
3) เพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดิน
4) ลดการสูญเสียธาตุอาหารในดิน ซึ่งจะติดไปกับเศษพืชที่ถูกเผาหรือนำออกจากแปลงถ้าไม่มีการไถกลบ
5) เพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดิน และลดปริมาณศัตรูพืชในดิน
6) เพิ่มผลผลิตพืชที่เพาะปลูก

 



ที่มา : เอกสารเผยแพร่ในงานมหกรรมสร้างสุขภาคอีสาน ครั้งที่ ๒
ระหว่าง ๑๖-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ในส่วนของลานกิจกรรม บริเวณชั้น ๑กลุ่มที่ ๔ หัวข้อ สุขภาวะ (นวัตกรรมหมูหลุม, สาธิตการทำน้ำหมัก, การกู้ชีพ)ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม










หมายเลขบันทึก: 147570เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2007 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับคุณพี่ ขออณุณาตนำข้อมูลของคุณพี่มาใช้หน่อยนะครับ คือว่าผมกำลังทำเกษตรอินทรีย์ผมไม่มีข้อมูลเลย ถ้าคุณพี่มีอะไรดีๆก็ส่งมาให้ผมบ้างนะครับ ขอบคุณครับ

เชิญนำข้อมูลไปใช้ได้เลยครับ เพราะเป็นเอกสารเผยแพร่

แกลบดิน คือ  แกลบดิบหรือเปล่าครับ

หรือว่าคืออะไร

นายชญงค์ รัตนแก้วมณี

สวัสดีครับ ขอบคุณมากได้มีความรู้ และได้รับประโยชน์เพิ่มครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท