มาลด 630 ล้านปีแห่งความระทมกันเถอะ


ตั้งชื่อซะน่ากลัวเชียว

จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่ว่า เป็นความระทมของใคร คนใดคนหนึ่ง

เป็นความระทมร่วมกันของคนทั้งประเทศที่สถิติคาดการณ์ว่าน่าจะเกิด

ตอนนี้ อายุเฉลี่ยคนไทยทั้งประเทศ อยู่ที่ 70 ปี (คิดจากเพศชาย 68 ปี  และเพศหญิง 72 ปี)

มีข้อมูลจากงานวิจัยที่สำรวจใน 191 ประเทศเมื่อไม่กี่ปีก่อน ว่า อายุเฉลี่ยการหง่อมหมดสภาพของคนไทย อยู่ที่ 60.2 ปี

(ข้อมูลจาก World Health Report ปี 2000 ในงานวิจัยเรื่อง
Healthy life expectancy in 191 countries, 1999. ตีพิมพ์ใน Lancet 2001; 357: 1685–91 โดย Colin D Mathers, Ritu Sadana, Joshua A Salomon, Christopher JL Murray, Alan D Lopez)

ก็เท่ากับว่า คนไทย ต้องหง่อมหมดสภาพเฉลี่ย คนละ 10 ปี

หมายความว่า เป็นภาวะที่ช่วยตัวเองไม่ได้ เป็นภาวะแห่งความระทมจากโรคภัยไข้เจ็บทางกาย ต้องพึ่งคนอื่น ถ้าไม่มีใครให้พึ่ง ก็คือเสมือนตกนรกบนดิน

เวลาพูดถึงคำว่า เฉลี่ย อย่าคิดว่า เราจะตรงตามค่าเฉลี่ยนะครับ

ค่าเฉลี่ย หมายถึงว่า เรามีโอกาสครึ่งหนึ่ง ที่จะมากกว่านั้น และอีกครึ่งหนึ่ง น้อยกว่านั้น

บางคน ไม่ยอมใช้สิทธิเรื่อง ค่าเฉลี่ย

ในขณะที่บางคน ใช้สิทธิเหนือค่าเฉลี่ยซะคุ้ม

คูณค่าเฉลี่ยความระทมคนละ 10 ปี เข้ากับจำนวนประชากร 63 ล้านคน ก็จะเป็น 630 ล้านปีแห่งความระทม

ความระทมนี้ เป็นความระทมของเจ้าตัวที่ร่างกายหง่อมหมดสภาพ

จริง ๆ แล้ว ควรรวมความระทมของคนที่ต้องจัดการดูแลเข้าไปด้วย

แต่ค่านี้ มีสิทธิเปลี่ยนกันได้

ข้อมูลอายุเฉลี่ยการหง่อมหมดสภาพที่เขาสำรวจไว้อีกเช่นกัน เขาชี้ว่า ไทย อยู่อันดับกลาง ๆ คืออยู่อันดับที่ 99 ในขณะที่ประเทศบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งอยู่อันดับหนึ่ง ตัวเลขอายุเฉลี่ยการหง่อมหมดสภาพ อยู่ที่ 74.9 ปี และมี 24 ประเทศในโลก ที่ตัวเลขเกิน 70 ปี

ทำไมคนญี่ปุ่นมีอายุยืนแบบสุขภาพดี หง่อมช้ากว่าที่อื่น ประเด็นนี้น่าคิด ว่าเกี่ยวข้องกับวิถีชิวิตเรื่องอาหารหรือไม่ ?

หากคนใส่ใจกับสุขภาพอย่างฉลาด เช่น ด้วยการออกกำลังกาย ด้วยการกินอย่างฉลาด (ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น และเป็นไปได้ว่า จะใช้เงินน้อยลงด้วยซ้ำ) ด้วยการปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้ถนอมสุขภาพขึ้น  ตัวเลขเหล่านี้ อาจลดลงได้หลายเท่า

ผมเคยพบเห็นคนสูงวัยที่กิน ๆ นอน ๆ อยู่แต่กับบ้าน ถ้าไม่มีการออกกำลังกายเลย ถึงวันหนึ่ง ก็มักมีโรคประจำตัวให้ต้องนอนติดเตียง ต้องให้คนอื่นป้อนข้าวป้อนน้ำ และมักมีโรคร่วมหลายโรค และกระย่องกระแย่งเดินแบบไม่มีเรี่ยวแรง ทั้งที่อายุเพิ่งหกสิบต้น ๆ

แต่ในมุมกลับ ผมเคยไปออกชุมชน เห็นคุณยายที่อายุราวเก้าสิบปี ที่ตักน้ำบ่ออาบเองอย่างกระฉับกระเฉงแบบหนุ่มสาวหลายคนต้องอาย ไม่ต้องเรียกให้ใครช่วย ทั้งที่มีลูกหลานอยู่กันเต็มบ้าน เป็นการทำกายภาพบำบัดที่เนียนเข้าไปในวิถีชีวิตประจำวัน ออกกำลังกายแบบธรรมชาติกันเต็มที่

หากเราออกกำลังกายบ้างตามควร แล้วทำให้อายุเฉลี่ยการหง่อมหมดสภาพ สูงขึ้นสัก 5 ปีเท่านั้น ความระทมทุกข์ของการหง่อมหมดสภาพจะหายวับไปจากประเทศไทยถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว

 

การปรับเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่า เรารู้หรือไม่ ว่าทำอย่างไร

อยู่ที่ว่า เราทำหรือไม่ ต่างหาก

หากไม่คิดทำเพื่อตัวเอง อย่างน้อย ก็ทำเพื่อคนข้างเคียง ไม่ต้องเหนื่อยมากเพราะเรา

หรือไม่อย่างนั้น ก็คิดเสียว่า ทำเพื่อ "พ่อหลวง" ของเรา ด้วยการเป็นคนไทยที่แข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองเป็น ไม่เป็นภาระคนอื่นโดยใช่เหตุ

 

 

หมายเลขบันทึก: 147540เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2007 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอขอบคุณอาจารย์ wwibul...

  • ดูเหมือนว่า คนส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิ์เลือกที่จะมีอายุสั้น
  • เทคโนโลยี เช่น น้ำประปา ยา ฯลฯ มีส่วนทำให้เราอายุยืนขึ้น ทว่า... ยืนแบบมากโรค

คนที่อายุยืนแบบโรคน้อย...

  • ส่วนใหญ่จะกินไม่มากเกิน ออกแรง-ออกกำลังมากอย่างที่อาจารย์ว่าไว้นั่นละ

สวัสดีครับ คุณหมอ P  นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์

 

  • คนที่ไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยแบบหนักมาก ๆ แบบพึ่งตัวเองไม่ได้ มักตั้งอยู่ในความประมาทด้วยการปฎิเสธ ความเป็นไปได้ที่เป็นธรรมดาชีวิต
  • วันใดที่เกิดแบบนั้นมาถึงตัว ก็ยังไม่วายปฎิเสธความเป็นจริงที่เป็นธรรมดาชีวิตที่กำลังเกิดขึ้น
  • ประโยคว่า "ทำไมสิ่งนี้ต้องเกิดกับตัวเรา" คือประจักษ์พยานของการปฎิเสธดังว่านั้น
  • ผลคือ มีหลายท่าน ใช้วิธีหลบหนี ไม่คิด ไม่มอง ไม่คำนึงถึง ต่อความเป็นไปได้เหล่านี้ และไม่ลงทุนด้วยการออกกำลังกาย คิดแบบง่าย ๆ ว่า เดี๋ยวคงมีคนมารักษา
  • แต่รักษาสุขภาพที่ย่ำแย่ ยังไงก็ไม่สุโขเหมือนสุขภาพดีตั้งแต่ต้น
  • ในแวดวงสุขภาพ รู้ กับ ทำ เป็นคนละเรื่องกันเสมอ ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน
  • สงสัยเพราะ รู้ ไม่พอ ?

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท