การเขียนบทความทางวิชาการ: ชื่อผู้นิพนธ์ และผู้ร่วมนิพนธ์


เจ้าหน้าที่ที่ทำงานตามปกติ (พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ) แต่ถูกเอางานที่ทำอยู่เป็นประจำ ไปศึกษาวิเคราะห์และรายงาน มาร้องเรียนว่าทำไมไม่มีชื่อของตนเอง มีปรากฎเฉพาะที่กิตติกรรมประกาศ หรือบางครั้งไม่มีปรากฎ ณ ที่ใดเลย

          ในยุคสมัยที่มหาวิทยาลัยกำลังวิ่งกวดสุดชีวิต เพื่อไล่ให้ทันกับ ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย  และต้องลากเอาขบวนคณะวิชา คาราวานอาจารย์ทั้งหลายไปด้วย

          ความเหนื่อยล้า  ความท้อแท้  ความขัดแย้ง การแข่งขัน ความไม่เข้าใจ ไม่ปรองดองสามัคคีกัน  เป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ ที่พบพานเป็นรายวัน  คงเป็นธรรมดากระมังว่า  สิ่งดีๆ สิ่งมีค่า ย่อมไม่ได้มาโดยง่าย

          แต่ในวันที่เราไปถึงจุดหมาย  มันคงจะต่างกันมาก  ถ้าวันนั้นเป็นวันที่เหลือไพร่พลเพียงหยิบมือเดียว  หรืออยู่พร้อมหน้าร่วมฉลองชัยชนะกันอย่างปรีดาปราโมช  ทั้งที่...ก็ชนะแล้วเหมือนกัน

          ช่วงเวลาแห่งความทุกข์นี้เอง ที่มีค่ามากกว่าเป้าหมายที่จะไปถึง บทเรียนที่ต้องเอาชนะกับ ความเหนื่อยล้า  ท้อแท้  ความขัดแย้ง การแข่งขัน ความไม่เข้าใจ ไม่ปรองดองสามัคคี ต่างหากคือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

          ดิฉันก็เพิ่งได้ประจักษ์วันนี้เองว่า  การบริหารงานวิจัย  นั้นมันยากเหลือหลาย สำหรับดิฉันมันยากกว่าการบริหารวิชาการ การบริการวิชาการ ฯลฯ เสียอีก ไม่เชื่อท่านก็ลองเปรียบกับหน่วยที่เล็กที่สุดที่จะบริหารได้  นั่นคือตัวเราเองไงคะ!

          ปัญหาหนึ่ง ที่ดิฉันเคยเกริ่นไว้ในบันทึก เรื่อง วิจัยสถาบัน: ชื่อผู้วิจัย ใน Blog NU_officeKM ว่า เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก  แต่จะเป็นเรื่องใหญ่มากกกก (โดยเฉพาะกับบุคลากรสายวิชาการ: อาจารย์ ) เมื่อจะทำรายงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร  ก็เพราะ ดิฉันประสบปัญหานี้เช่นกันภายในคณะวิชาของดิฉันเอง

          การทำความเข้าใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผู้บริหารต้องรีบจัดการ ณ จุดเกิดเหตุ ให้ได้ทันที อย่าหมักหมมให้ปัญหาคาใจ นี่คือหลักการ.....แต่ 

          ในความเป็นจริง  บางครั้งเราก็ไม่มีปัญญาสูงพอที่จะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ปัญหาบางอย่างจึงยังคงอยู่ และปัญหาบางอย่างเรียกว่า เป็นปัญหาคลาสสิก ทุกยุคทุกสมัย ก็ว่าได้

          ปัญหาเรื่อง ชื่อผู้นิพนธ์ และผู้ร่วมนิพนธ์ ในวารสารทางวิชาการ  ที่ดิฉันอยากนำมาขยายความ ในวันนี้  เนื่องจากดิฉันได้แสงสว่างทางแจ้ง จากหนังสือเรื่อง การเขียนบทความทางวิชาการ ของศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ  ทองเจริญ จึงอยากจะนำมาฝากให้ท่านผู้สนใจท่านอื่นๆ โดยเฉพาะก๊วนบริหารงานวิจัย (มือใหม่) ได้รับทราบด้วย ดังนี้


ชื่อผู้นิพนธ์ และผู้ร่วมนิพนธ์ (Authorship)

          ในการปฏิบัติหน้าที่บรรณาธิการวารสารทางการแพทย์ของผู้นิพนธ์  ซึ่งรวมเป็นเวลานานประมาณสามสิบปีนั้น  นอกจากปัญหาความไม่ได้มาตรฐานของบทความทั้งด้านเนื่อหาและการเรียบเรียงแล้ว  เรื่องคณะผู้นิพนธ์ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ของไทยเราส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจ  หรือเข้าใจผิดๆ  หรือมีค่านิยมที่ผิดๆ ยึดติดอยู่  โดยไม่มองกว้างออกไปดูสังคมวิทยาศาสตร์นานาชาติ  ปัญหาที่ประสบมีอาทิ

  1. บางบทความมีชื่อผู้นิพนธ์มากเกินไป จนเกินความจำเป็น
  2. บางบทความตัดชื่อผู้ร่วมวิจัยออกหมดเหลือชื่อตนเองคนเดียว  ราวกับว่าเป็นทศกัณฐ์สิบหน้า ยี่สิบมือ จึงวิจัยงานนั้นได้สมบูรณ์
  3. เจ้าหน้าที่ที่ทำงานตามปกติ (พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ) แต่ถูกเอางานที่ทำอยู่เป็นประจำ ไปศึกษาวิเคราะห์และรายงาน มาร้องเรียนว่าทำไมไม่มีชื่อของตนเอง มีปรากฎเฉพาะที่กิตติกรรมประกาศ  หรือบางครั้งไม่มีปรากฎ ณ ที่ใดเลย
  4. ผู้นิพนธ์ชื่อแรก แอบขโมยเอาผลงานของทั้งคณะนักวิจัยไปเขียนเป็นบทรายงาน  ส่งไปตีพิมพ์ โดยผู้ร่วมคณะวิจัยไม่ทราบ  ไม่เคยได้เห็นมาก่อนเลย
  5. ชื่อของผู้ร่วมวิจัยขาดหายไปบางคน  ไม่ครบเหมือนในพิธีสาร (protocol) ที่ยื่นเสนอขอทำวิจัย จึงเขียนจดหมายมาประท้วง
  6. ผู้ที่มีชื่อร่วมรายงานเขียนหนังสือมาประท้วงว่า บทความแย่ๆ อย่างนั้น ใส่ชื่อท่านไปทำไม  โดยที่ท่านไม่ทราบมาก่อน
  7. ผู้ที่ได้รับการกล่าวคำขอบคุณในกิตติกรรมประกาศ  เขียนจดหมายมาต่อว่าว่า ไม่น่าเอาชื่อไปขอบคุณเลยว่าช่วยตรวจบทความ  หรือช่วยดูภาษาอังกฤษให้  อันที่จริงแล้วท่านผู้นั้นไม่เคยได้อ่านต้นฉบับครบตลอดทั้งเรื่อง  สุดท้ายบทความบทนั้นเป็นยทความที่คุณภาพต่ำ  สับสน  ภาษาอังกฤษสุดแย่  ทำให้ท่านเสียเครดิตไปเปล่าๆ
  8. เรื่องที่ลงในวารสาร เมื่อมีการแบ่งการมีส่วนร่วมในรายงานนั้น  มีผู้ร้องว่าทำไมมีส่วนร่วมเพียงน้อยนิด 2% บ้าง 5% บ้าง น่าจะมีมากกว่านั้น
  9. มีการนำเอาชื่อชาวต่างประเทศเป็นผู้ร่วมนิพนธ์  แต่ไม่สามารถติดต่อเจ้าตัวเพื่อลงนามในแบบฟอร์มที่จะส่งบทความไปตีพิมพ์ได้  จะให้ปฏิบัติอย่างไร

          นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความวุ่นวายเฉพาะในเรื่องขององค์ประกอบของผู้นิพนธ์เพียงเรื่องเดียว

อ่านต่อบันทึกหน้า......           

หมายเลขบันทึก: 147065เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2007 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท