BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ว่าด้วย... ติลักขณาทิคาถา ๔


ติลักขณาทิคาถา ๔

จากครั้งก่อน (ดู ว่าด้วย... ๓ ) ในประเด็นว่า  เห็นไตรลักษณ์ด้วยปัญญา นั้น ผู้เขียนได้ขยายความคำว่า ปัญญา ไปแล้ว ต่อไปนี้จะเริ่มต้นการอธิบายไตรลักณ์ด้วยความหมายของคำว่า สังขาร

สังขาร คำนี้คนไทยทั่วไปมักสำคัญว่า ร่างกายและจิตใจ ว่าเป็น อนิจจัง คือ ไม่เที่ยง ซึ่งก็ถูกต้อง... ส่วนผู้ที่สนใจยิ่งขึ้นก็อาจขยายความได้ยิ่งขึ้นไปอีกตามภูมิรู้ของแต่ละคน... เรามาทบทวนกันอีกครั้ง...

  • สํ + กร +ณ  = สังขาร

สํ เป็นอุปสัคนำหน้ารากศัพท์บ่งความหมายว่า พร้อม, กับ , ดี

กร เป็นรากศัพท์แปลว่า กระทำ

และ  เป็นปัจจัยลงแล้วก็ลบ แต่มีอำนาจทำเสียงสระอะ ที่ (กะ) ให้ยาวขึ้น เป็น กา (ไวยากรณ์เรียกทำนองนี้ว่า ทีฆะ คือ การทำเสียงสั้นให้ยาวขึ้น ได้แก่ อะ เป็น อา... อิ เป็น อี ... และ อุ เป็น อู )

ดังนั้น สํ + กร + ณ = สังการ ... แต่คำว่า สังการ ออกเสียงค่อนข้างยาก จึงแปลง ก.ไก่ เป็น ข.ไข่ ... จึงสำเร็จรูปเป็น สังขาร ...( ลองออกเสียงดูก็ได้ สังขาร ออกเสียงได้คล่องกว่า สังการ )

สังขาร เมื่อรวมความหมายตรงตัวแล้ว อาจแปลได้ว่า กระทำพร้อม กับกระทำ หรือ กระทำดี

แปลอย่างนี้ ไม่ได้อรรถรสเชิงภาษา ลองนึกดู กระทำพร้อม ไม่อาจทำจากสิ่งเดียวได้ นั่นก็คือ หลายๆ อย่างกระทำกันขึ้นมา ซึ่งสิ่งที่ถูกกระทำขึ้นมาหลายๆ อย่างทำนองนี้ สำนวนไทยตรงกับคำว่า สารประกอบ นั่นเอง... ดังนั้น สังขาร ก็คือ สารประกอบ หรือสิ่งที่ถูกประกอบ ถูกสร้างขึ้นมาจากหลายๆ สิ่ง นั่นเอง

กับกระทำ คำนี้ บ่งชี้ถึง สิ่งที่ขึ้นอยู่กับการกระทำ สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา กล่าวคือ มิใช่สิ่งที่เป็นพื้นฐาน หรือมิใช่เป็นธาตุเดิมแท้ เป็นเพียงสารประกอบ.... ประมาณนั้น

กระทำดี หมายความว่า สิ่งนั้น ถูกกระทำขึ้นมาอย่างเหมาะสมตามเหตุตามเวลา หรือผสมกันอย่างถูกส่วน ถ้าไม่เหมาะสมแล้วก็ไม่อาจเป็นสิ่งนั้นได้... อาจเทียบเคียงได้กับ น้ำ ซึ่งเป็นสารประกอบจากไฮโรเจน ๒ อะตอม กับออกซิเจน ๑ อะตอม... ถ้าอัตราส่วนผสมต่างไปจากนี้ หรือมีสิ่งอื่นเป็นสารประกอบเพิ่มขึ้นมาก็อาจไม่เป็น น้ำ

ดังนั้น สังขาร ก็คือสารประกอบนั่นเอง แต่โบราณาจารย์ของไทยเลือกใช้คำว่า ปรุงแต่ง เป็นคำแปล... ดังนั้น สิ่งที่เป็นสังขาร ก็คือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา หรือไม่ก็มักจะใช้ทับศัพท์ตามที่เคยได้ยินได้ฟังกันมาว่า สังขาร

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่า อะไรก็ตามที่เป็นไปตามนี้ก็จัดว่าเป็นสังขารทั้งหมด ส่วนตามคัมภีร์ก็ได้จำแนกไว้ ๒ ชนิด กล่าวคือ

  • อุปาทินนกสังขาร คือ สังขารที่มีใจครอง ได้แก่ สิ่งมีชีวิตทั่วไป เช่น วัว ควาย เทวดา มนุษย์ ผี แมลง หนอน ฯลฯ ...
  • อนุปาทินนกสังขาร คือ สังขารที่ไม่มีใจครอง ได้แก่ สิ่งไม่มีชีวิตทั่วไป เช่น ก้อนหิน น้ำ ทราย อากาศ บ้านเรือน ถนน ฯลฯ

บางคนอาจสงสัยว่า ต้นไม้ จัดอยู่ชนิดใด ? .... ตามที่ผู้เขียนเคยเจอ ตำราทางพุทธศาสนาทั่วไปมักจะจัดเป็นชนิดไม่มีใจครอง... แต่บางตำราก็บอกว่า ต้นไม้มีชีวิตจิตใจเช่นเดียวกัน แล้วก็อ้างว่าเป็นชนิดมีใจครอง....

.........

เฉพาะร่างกายและจิตใจของคนเรานี้ รวมเรียกว่า ขันธ์ ๕ ซึ่งได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ...

เฉพาะคำว่า สังขาร ในขันธ์ ๕ นี้ ท่านหมายถึงเจตสิกธรรม ๕๐ ชนิด ที่ปรุงแต่งจิตใจ เช่น โทสะ ปัญญา วิตก วิริยะ ปิติ ฯลฯ ซึ่งคอยปรุงแต่งจิตใจของเราให้ดำเนินไปเรื่อยๆ.....

อธิบายสั้นๆ ว่า ความรู้สึกนึกคิดของเราซึ่งมีนามธรรมเล็กๆ (เจตสิกธรรม ๕๐) ผสมผสานกันหลายๆ อย่าง อยู่ทุกๆ ขณะนั่นเอง เรียกว่า สังขารในขันธ์ ๕ .....

.......

อนึง ยังมี สังขารอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า อภิสังขาร (ปรุงแต่งเฉพาะ) ซึ่งท่านจำแนกเป็น ๓ กล่าวคือ

  • ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ บุญ ซึ่งคอยตกแต่งชะตาชีวิตของเราให้เจริญงอกงาม
  • อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ บาป ซึ่งคอยตกแต่งชะตาชีวิตของเราให้ตกต่ำลง
  • อเนญชาภิสังขาร ได้แก่สิ่งที่มิใช่บุญหรือบาป ซึ่งไม่ทำให้เราเจริญงอกงามหรือตกต่ำลง....

.......

สังขารแต่ละชนิด หรือแต่ละนัย ตามที่ว่ามาโดยย่อ ผู้สนใจอาจค้นคว้าเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยากนัก... ผู้เขียนจึงละไว้เพียงแค่นี้

ประเด็นสำคัญก็คือ สิ่งที่ชื่อว่า สังขาร ซึ่งได้แก่สารประกอบ หรือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งทั้งหมดจะตกอยู่ภายใต้สามัญญลักษณ์หรือไตรลักษณ์ ตามที่ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง และ สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์

อนึ่ง สิ่งที่มิใช่สังขาร มิใช่สารประกอบ หรือไม่ถูกปรุงแต่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสังขาร เรียกว่า วิสังขาร .... และทั้งสองอย่างนี้รวมกันเรียกว่า ธรรม... ซึ่งธรรมนี้เอง อยู่ในใตรลักษณ์ที่สาม ตามที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา .....

 ประเด็นเหล่านี้ ผู้เขียนจะขยายความในตอนต่อไป....

 

    

หมายเลขบันทึก: 146255เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2007 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการหลวงพี่

P
  • อนิจา สังขารคนเราไม่แน่นอนมีเกิดก็ต้องมีดับ
  • รู้อยู่วันหนึ่งต้องตาย จงย่าประมาด จงทำดีเทิดจะเกิดผล ทำบูญเข้าวัดฟังธรรม ไม่ต้องรอแก่ ทำได้เลยถ้ามีโอกาส เด็กเล็ก โตใหญ่ทำได้ทั้งนั้น
  • ขอกราบนมัสการครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท