"เงินนั้นอยากได้แต่ อย่าทำร้ายชุมชน" วิกฤติคือจุดเริ่มต้นความเข้มแข็งของคนท้องถิ่น


ผมขับรถเข้าตัวเมืองปาย ตีไฟเลี้ยวเข้าถนนทางไปโรงพยาบาล เห็นรถจอดสองฝั่งถนนทั้งที่ถนนแคบและห่างจากสี่แยกไฟแดงไม่กี่คืบ ...นอกจากไม่ถูกกฎจราจรแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย บ้านของเรา ...หากไร้ระเบียบ ก็คงวุ่นวายและมีผลต่อสุขภาวะของเมืองโดยรวม

เกริ่นบันทึกเป็นเหมือนคำบ่นที่ผมรู้สึกถึง การถูกคุกคามของความเจริญที่ไม่สนใจวิถีชีวิตท้องถิ่น ปัญหาที่บ้านเกิดนับวันจะมีมากขึ้น หากเจ้าของบ้านไม่ลุกขึ้นมาจัดการนั้น เราลองคิดว่า จะมีใครเล่าจะยื่นมือเข้ามาดูแล

เราประชุมกันบ่อยขึ้น ตามวิกฤติปัญหาที่รุ่มเร้าบ้านของเรา

--------------------------------- 

วันนี้ผมมีนัดประชุมกับภาคประชาสังคมอำเภอปาย ครั้งล่าสุดที่เราได้จัดสนทนาวงน้ำชากัน จุดประกายความคิดสำนึกรักษ์บ้านเกิดที่มีอยู่ในใจให้กับแกนนำท้องถิ่นมาได้เพียงสัปดาห์เดียว การประชุมครั้งนี้ เหมือนกับเป็นคำสัญญาของมติที่ประชุมวันนั้น ผมจำคำของ คุณหมอ ผอ.โรงพยาบาลได้ดี ที่บอกเรื่อง วาระเร่งด่วน กอบกู้วัฒนธรรมเมืองปายและวาระประชุมวันนี้ก็พูดคุยเรื่องนี้กันครับ

         

ผู้อาวุโสเมืองปาย และเวทีพูดคุยในวันนี้

------------------------- 

เราพูดถึงประเพณีของไทยใหญ่ในวงสนทนาครั้งก่อน และประเพณีนั้นจะเกิดขึ้นในช่วง ไม่ถึงสิบวันที่จะถึงของเดือนนี้ก่อนประเพณีลอยกระทงของเมืองปาย  ชื่อประเพณี หลู่ ส่าง กาน เครือ เป็นภาษาไทยใหญ่ แปลความได้ว่า ประเพณีทานผ้าเหลือง เพื่อห่มพระพุทธรูป และ คลุมรอบๆเจดีย์ เป็นประเพณีดั้งเดิมของพี่น้องไทยใหญ่ในรอบปี ผมพยายามหาข้อมูลเพื่อจะทำความเข้าใจในเนื้อหาประเพณีที่กล่าวถึงนี้ ก็ไม่พบ ค้นในเอกสารประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมไทยใหญ่ก็ไม่มีการกล่าวถึง ซึ่งผู้รู้ (ปราชญ์ท้องถิ่น) ได้เล่าให้ฟังว่าเป็นประเพณีดั้งเดิมจริงๆของพี่น้องไทยใหญ่ และ เราคุยกันว่าจะฟื้นประเพณีนี้ขึ้นมาอีกคราที่เมืองปาย- - -น่าตื่นเต้นดีครับ หากเราจะรื้อประเพณีที่ไม่ได้กล่าวถึงมานานเพื่อจะนำมาสืบสานกันอีกครั้ง

ผมเองเป็นลูกหลานคนเมืองล้านนา แต่ได้คลุกคลีกับพี่น้องไทยใหญ่ ที่สำคัญเป็นคนอำเภอปายมาแต่กำเนิด พบเห็นประเพณีไทยใหญ่ที่ร้อยรัด เชื่อมโยงกับพุทธศาสนา ล้วนแล้วแต่เป็นประเพณีที่งดงาม ลองมาทำความรู้จักประเพณีไทยใหญ่กันดูนะครับ เป็นประเพณีทั้ง ๑๒ เดือน (เดือน = เหลิน)

ไทยใหญ่แม่ฮ่องสอน

--------------------------------

ในรอบปีหนึ่ง ๆ คนไทยใหญ่มีงานที่สำคัญมากมายที่ยังคงรักษาไว้ มีการสืบทอดต่อกันมาอย่างเหนียวแน่น ในรอบปีมีประเพณีสำคัญต่าง ๆ มากมายเช่น    

เหลินเจ๋ง ( เดือนอ้าย ) ตรงกับเดือนธันวาคม จะมีประเพณี " กาบซอมอู " หรือทำบุญข้าวใหม่ คือ นำข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวมาใหม่ ๆ เตรียมอาการหรือขนม แล้วเชิญคนเฒ่าคนแก่ไปร่วมทำบุญถวายพระที่วัด ถือว่าได้บุญกุศลใหญ่ยิ่ง     

เหลินก๋ำ ( เดือนยี่ ) ตรงกับเดือนมกราคม มี " ปอยกาบซอมบุ๋ญเจ้าเข้าก๋ำ " คือการทำบุญ นำข้าวปลาอาหารและขนมหวานไปถวายพระที่เข้าปริวาสกรรม ตลอดเวลา 3วัน 5 วัน หรือ 7 วัน ก็แล้วแต่     

เหลินสาม ( เดือนสาม ) ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์มี " ปอยหลู่ข้าวหย่ากุ๊ " หรือการบริจาคข้าวเหนียวแดง โดยการนำข้าวเหนียวมานึ่งแล้วคลุกกับน้ำอ้อยให้เข้ากันดี แล้วโรยหน้าด้วยเนื้อมะพร้าวฝอย ถั่งลิสง นำไปทำบุญที่วัดและแจกเป็นทานในหมู่บ้านหรือตามบ้านญาติสนิทมิตรสหาย กลางเดือนสามจะมี " ปอยโหล " คืองานจุดไฟฟืนในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนสาม ทุกคนจะนำฟืนมารวมกันจุดให้แสงสว่างที่วัดในเวลากลางคืน และมีการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการรับเสด็จพระพุทธเจ้าจากสวรรค์ ซึ่งเสด็จลงมาสั่งสอนมนุษย์บนโลก     

เหลินสี่ ( เดือนสี่ ) ตรงกลับเดือนมีนาคม - เมษายน จะมีงานประเพณีอันยิ่งใหญ่ของชาวไทยใหญ่ เรียกว่า " ปอยส่างลอง " คือการนำเด็กชายมาโกนผมแต่งกายเป็นส่างลอง เตรียมเครื่องไทยทาน แห่ไปตามถนนหนทางต่าง ๆ แล้วไปทำพิธีบรรพชาสามเณรที่วัดเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัสและเรียนรู้ธรรมะของพระพุทธองค์ ในช่วงฤดูร้อนซึ่งตรงกับเวลาเก็บเกี่ยวเสร็จ เหรือปิดภาคเรียนพอดี     

เหลินห้า ( เดือนห้า ) ตรงกับเดือนเมษายน มีประเพณี " ขั้นจองปีใหม่ " คือการทำบุญเทศกาลสงกรานต์ ชาวไทยใหญ่จะเตรียมข้าวปลาอาหาร เครื่องไทยทานไปทำบุญที่วัด คนเฒ่าคนแก่นอนจำศลีที่วัด หลังลงจากวัดมีการเล่นสาดน้ำกัน จากนั้นจะมีการ     " กั่นตอ " คือการขอขมาพระสงฆ์ ผู้หลักผู้ใหญ่ และรวมกันไปขอขมาพระสงฆ์และผู้ใหญ่ต่างหมู่บ้าน    

เหลินหก ( เดือนหก ) ตรงกับเดือนพฤษภาคม มีงานประเพณี " ปอยจ่าตี่ " คือประเพณีการขนทรายไปก่อเจดีย์ทรายที่วัดในวันวิสาขบูชา และร่วมกันทำบุญที่วัด เมื่อเสร็จพิธีมีการจุดบ้องไฟเพื่อเป็นพุทธบูชา     

เหลินเจ็ด ( เดือนเจ็ด ) ตรงกับเดือนมิถุนายน มีงานประเพณี "วานปลิก" และ "เลี้ยงเจ้าเมือง" คือการทำบุญหมู่บ้าน โดยทุก ๆ คนจะนำถังใส่น้ำและทราย มีตะแหลวเจ็ดชั้น ใบไม้มงคล ด้ายสายสิญจน์ ธูปเทียน ไปรวมกันที่กลางหมู่บ้าน นิมนต์พระมาทำพิธีสวดพระปริตรเพื่อเป็นศิริมงคลแก่หมู่บ้าน ขณะเดียวกันก็มีการเลี้ยงถวายศาลเจ้าประจำหมู่บ้านด้วย     

เหลินแปด เหลินเก้า เหลิอสิบ ( เดือนแปด เดือนเก้า เดือนสิบ )  ตรงกับเดือน กรกฏาคม - กันยายน มีงานประเพณี " ต่างซอมต่อโหลง " คือการบุญถวายข้าวมธุปายาสที่วัดในหมู่บ้าน และเลี้ยงอาหารคนเฒ่าคนแก่ที่มาภวานาจำศีลอยู่ที่วัดในวันพระตลอดพรรษา โดยเปลี่ยนไปตามวัดต่างๆ     

เหลินสิบเอ็ด ( เดือนสิบเอ็ด ) ตรงกับเดือนตุลาคม มีงานประเพณี " แฮนซอมโก่จา " คืองานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเจ้าภาพจะเตรียมข้าวปลาอาหารและเครื่องไทยทานไปทำบุญที่วัด ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณร และเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่มาร่วมงานพระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี นอกจากนั้นยังมีประเพณี "ออกหว่า" คืองานออกพรรษา ตอนเช้ามีพิธีตักบาตร ตอนสายเตรียมเครื่องไทยทานไปทำบุญที่วัดและตอนกลางคืนมีการแห่     " จองพารา " หรือปราสาทพระ ไปถวายวัดหรือประดับบูชาไว้หน้าบ้าน นัยว่าเป็นเครื่องรับเสด็จพระพุทธองค์และเป็นศิริมงคลแก่ครอบครัวของตนเอง และในช่วงเดือนสิบอ็ดนี้จะมีประเพณีการละเล่นต่าง ๆ และการฟ้อนรูปสัตว์ เช่น นางนก กิงกะหล่า โต และสัตว์อื่น ๆ เพื่อความสนุกสนานในเทศกาลออกพรรษา  

 เหลินสิบสอง ( เดือนสิบสอง ) ตรงกับเดือนพฤศจิกายน มีประเพณี หลู่ส่างกานเครือ  คือชาวบ้านจะมาช่วยกันจัดทำผ้าจีวรผืนใหญ่ประดับประดาด้วยริ้วกระดาษทองแล้วนำไปถวายที่วัดเพื่อใช้ห่มพระพุทธรูปในวัด และมีประเพณี " ส่างกานกะถิ่ง " หรืองานถวายผ้ากฐิน

เมื่อสิ้นเดือน 12 มี " ปอยก๋อยจ้อด " ดับไฟเทียน คืองานเสร็จสิ้นฤดูกาล ชาวบ้านจะช่วยนำไม้สนมาจักเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วมัดรวมกันเป็นลำใหญ่ เข้าขบวนแห่ไปถวายพระที่วัด แล้วจุดเป็นพุทธบูชา เป็นอันเสร็จสิ้นฤดูกาลของปี

จะเห็นว่า ทั้งสิบสองเดือนมีประเพณีของพี่น้องไทยใหญ่ตลอดทั้งปี ในการพูดคุยวันนี้ก็ได้เสนอว่าน่าจะทำปฏิทินวัฒนธรรมไว้ให้ชัดเจน ให้เห็นถึง Event ใหญ่ๆที่จะจัดงาน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย และส่งเสริม ฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นของเรา

สิ่งที่หารือต่อ คือการดื่มสุรา -เบียร์ น่าจะมีการควบคุมด้วย เพราะที่ผ่านมาช่วงงานประเพณีมีคนดื่มสุราเมามาย เด็กเยาวชนก็ดื่มกันเป็นเรื่องปกติ...ประเด็นนี้ได้หารือกันในรายละเอียดถึงวิธีการควบคุมทั้งการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานประเพณี อาจจะยากบ้างแต่น่าจะมีทางออกที่ดี

มีผู้อาวุโสสองสามท่านเสนอว่า การห้ามไม่ให้ขาย และดื่มนั้นนั้นลำบากมาก ขบวนแห่ตามประเพณี หลู๋ส่างก่านเครือ ที่จะถึงนี้ น่าจะรณรงค์ให้ทุกคนแต่งกายไทยใหญ่ทั้งชายหญิงเข้าร่วมขบวน  เพราะการแต่งกายที่มีความพิเศษจะสร้างความรู้สึกที่ภาคภูมิใจ เราพบว่าประเพณีที่เคร่งครัด การแต่งกายที่มีเกียรติสูงสุดของกลุ่มชาติพันธุ์สามารถลดปัญหาการดื่มสุราได้  ทั้งนี้ให้ทางปกครองท้องถิ่น รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรณรงค์และหาวิธีการแก้ไขปัญหานี้ควบคู่ไปด้วย

ในเวทีพูดคุยในหลายๆประเด็น รวมถึงถนนสายวัฒนธรรมที่เราจะทำให้มีขึ้นเคียงคู่กับถนนคนเดินเดิมที่มีอยู่ที่ออกแนวลูกครึ่งส่วนใหญ่ ประเด็นการพัฒนาถนนเส้นใหม่เป็นถนนคนเดินที่แสดงถึงวิถีคนพื้นเมือง เมืองปายจริงๆ เป็นประเด็นที่พวกเราจะยกยอดไปคุยในวงสนทนาวงน้ำชาครั้งต่อไป

สิ่งทีผมสังเกตในเวที เป็นความกระตือรือร้นของทุกท่านที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ทุกท่านมีแววตาที่มุ่งมั่น มีความสุขในการได้คุยเรื่องเก่า เล่าความ ทุกท่านมีความสุขที่จะได้รื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมที่ใกล้จะหายไป

นี่เป็นเวทีเล็กๆที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจาก สนทนาวงน้ำชาครั้งก่อน ผมมองว่า เมื่อเริ่มสตาร์ทเครื่องไฟก็เริ่มติด กลไกต่างๆเริ่มทำงาน และหากเราทำงานสอดคล้องประสานกันผมก็คิดว่า เราจะเดินหน้าไปด้วยดี

งานจิตอาสา เป็นงานที่ต้องใช้ ใจ ในการมาร่วมกันร้อยรัด งานแบบนี้ หากไม่มีใจให้กัน งานก็ไม่เกิด การขับเคลื่อนก็หยุด  นอกจากนี้สิ่งที่เร่งเราให้เดินหน้าต่อไปคือ เราทนไม่ไหวแล้วกับการถูกคุกคามจากคนนอก ที่มาทำร้ายและย่ำยีเมืองของเรา เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของนักธุรกิจ นายทุน แต่ส่งผลกับคนท้องถิ่นอย่างเราอย่างไม่เป็นธรรม

เงินนั้นอยากได้ แต่อย่าทำลายชุมชน

คำขอร้องฝากมาจากภาคประชาสังคมเมืองปาย

 

หมายเลขบันทึก: 145918เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2007 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีเจ้าอ้ายเอก

มาเรียนรู้ประเพณีไทยใหญ่ผ่านบันทึกเล่าเรื่องของอ้ายด้วยคน

เป็นกำลังใจในการฟื้นฟู "ฮีตฮอย"  ที่งดงามให้กลับคืนสู่ชุมชนเจ้า

---^.^---

ตามมาอ่านของเอก

ช่วยลิงค์ไว้หน่อยเผื่อมีผู้สนใจ

ยังทำไม่เป็น??

           เสน่ห์เมืองเหนือ มีให้น่าติดตามค่ะ

แต่สิ่งหนึ่งกับทุกถิ่น ปัญหา วัฒนธรรมที่เริ่มเสื่อมถอย เพราะเราไม่รักษา เหล้า ทำให้หลาย ๆ ถิ่น เกือบถูกทำลาย น่าเสียดายที่ลูกหลานคนรุ่นใหม่ ไม่รู้จักคิด

อ่านเนื้อหาการประชุมและเรื่องราวของประเพณีไทยใหญ่ "หลู่ส่างกานเครือ" โดยคร่าวๆที่บันทึกของคุณMr. Kraton Pai ที่ เรื่องเล่าของคนทำงาน » ประเพณี"หลู่ส่างกานเครือ"ที่เมืองปาย

สวัสดีครับน้องพิมพ์P พิมพ์ดีด

วาระเร่งด่วนของคนบ้านเฮา ครั้งนี้ เป็นเหมือนการประกาศกอบกู้เอกราชที่สูญเสียไป

ผมมองว่า พลังของภาคประชาสังคมนั้นมหาศาลหากเรารวมพลังกันได้ ก็จะเกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดสิ่งดีๆที่ส่งผลต่อ "สุขภาวะ"คนท้องถิ่นด้วย

ก้าวย่างของภาคประชาสังคมที่ปาย น่าสนใจมากครับ

  • เห็นด้วยเลยค่ะ
  • พลังของภาคประชาสังคมนั้นมหาศาลหากเรารวมพลังกันได้ ก็จะเกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดสิ่งดีๆที่ส่งผลต่อ "สุขภาวะ"คนท้องถิ่นด้วย..
  • แต่ปัญหาที่พบในหลายๆ แห่งก็คือ การขาดตัวเชื่อมประสานพลังของแต่ละเซลล์ของภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดการประสานพลังเป็นหนึ่งเดียว
  • จะใช้ "อะไร"..หรือ "ใคร" เป็นตัวเชื่อมดีคะ
  • ..
  • ทำอย่างไรการท่องเที่ยวจะอยู่คู่วัฒนธรรมเมืองปายไปตลอดชั่วลูกชั่วหลาน....????
  • ขอบคุณค่ะ

คนยวนกล่าวถึงคนไตว่า คนไตตานกล้วยเป๋นเครือ ครับเอก แสดงความหมายในเชิงชมเชย ที่คนไตชอบทำบุญทำทาน

คนไตที่อ้ายเคยรู้จัก (ย่า และแม่นายอีกหลายๆคน) ไม่ฆ่าสัตว์ ไปกาดซื้อแต่ปลาตายมาปรุงกิน บางรายกินเจตั้งแต่วัยกลางคน

ชอบสำเนียงที่พูดจากันครับที่ลงท้าย "ออข้าๆ" บ่ฮู้ว่าทางปายยังคงมีหื้อฟังอยู่ก่

พี่หมอรอนครับMr. Kraton Pai

ผมทำlink ให้แล้วครับ ส่วนเรื่อง แผ่นพับ "หลู่ส่งกานเครือ" นั้น รบกวนพี่ส่งเอกสารให้ผมภายในวันนี้ได้มั้ยครับ  ผมจะได้นั่งออกแบบและทำให้เสร็จเลยครับ

พรุ่งนี้ผมจะเดินทางไปดงหลวงแล้วครับ

ขอบคุณพี่หมอรอนมากครับผม

สวัสดีครับ คุณเพชรP  เพชรน้อย

เรื่องของความเจริญนั้น เป็นเรื่องที่ต้านทานไม่ได้ เรามาคิดว่า จะพัฒนาเมืองให้เจริญพร้อมกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองนั้น เราสามารถทำได้อย่างไร?

เป็นคำถามที่เราพูดคุยกันครับ

ผมคิดว่ากระบวนการคงค่อยๆขับเคลื่อนไป พร้อมกับ การการเรียนรู้ของคนท้องถิ่นกับสิ่งเก่าเชื่อมสิ่งใหม่

จะมีการถอดบทเรียนออกมาเรื่อยๆครับ

-------------

ยินดีต้อนรับเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโลกเสมือนครับ - - -

จตุพร

สวัสดีครับ ครูรัตน์ - - - กั๊ตจัง

วันนี้ผมได้ส่งหนังสือสองเล่ม เล่มที่ผมเขียนหนึ่งเล่ม พร้อมกับหนังสือที่คิดว่าครูจะได้ใช้ประโยชน์อีกหนึ่งเล่มไปให้ และคิดว่าจะทยอยส่งไปให้เรื่อยๆนะครับ

ผมศรัทธาในวิธีการทำงานของครู ดังนั้นกำลังใจที่ผมมีให้นี้ เพื่อเป็นดอกไม้ดอกเล็กๆให้บานกลางใจครูเสมอๆเลยนะครับ

ปัญหาที่เมืองปาย เป็นเหมือนพรมที่ผมเคยอ้างถึง ใต้พรมนั้นไม่มีใครสนใจ เราคนท้องถิ่นหากไม่ลุกขึ้นมาจัดการ แล้วเราคงรอใครไม่ได้

พลังประชาสังคมนั้น เป็นงานยาก เพราะเป็น จิตอาสา หากทำงานด้วยความรักในงาน รักในบ้านเกิด ผมคิดว่าพลังรักเหล่านี้ จะช่วยขับเคลื่อนงานพัฒนาที่ปายให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ด้วยความศรัทธาครับคุณครู

อ้ายเปลี่ยน paleeyon ครับ

ขอบคุณหนำๆข้า (ขอบคุณมากๆ) ภาษาไทยใหญ่

---------

เมืองปายเป็นเมืองที่หลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ครับผม ทั้งชาวไทยภูเขา ชาวราบ (พื้นเมือง-ไทยใหญ่) ผมจัดอยู่เป็นคนล้านนาครับ อู้กำเมือง กิ๋นข้าวเหนียว

ดังนั้นวิถีที่นี่จึงหลากหลาย ผสมผสานกัน เราได้เห็นสาวไทยใหญ่แต่งชุดไทยใหญ่สีสวย เสื้อเล็กๆรัดตัว น่ารักดี ผ้าซิ่นลายดอก อุ๊บ(พูด - คุย)ภาษาไต ฮ่างหลี (รูปร่างสวย) น่าหลีฮัก (น่ารัก) ภาษาไทยใหญ่จึงใช้กันทั่วไปครับ

ผมก็เห็นวิถีไทยใหญ่ตลอดครับ ในงานประเพณี คนไทยใหญ่ผูกพันกับพุทธศาสนามาก ถือว่าการทำบุญเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และวิถีประจำวันนั้นงดงามมากด้วย

อ้ายเปลี่ยน อุ๊บไต ได้ก่อครับ...หากอุ๊บไตได้ เฮาอุ๊บไตจอมกั๋นตี้ ดงหลวง เน้อครับ

(พี่เปลี่ยนพูดภาษาไทยใหญ่ได้มั้ยครับ หากพูดได้ ที่ดงหลวงเราคุยเป็นภาษาไทยใหญ่กันนะครับ)

ผมเคยทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ทำให้ผมพูดภาษาลีซูได้ และไทยใหญ่ได้ ส่วนภาษาจีนได้เพียง "หว่อไอ้หนี่" ครับ อิอิ

 

 

  • สวัสดีครับอาจารย์เอก
  • ช่วงนี้ผมเองก็ไม่ค่อยมีเวลา เข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์เอกบ้างแต่ไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยน
  • จุดเริ่มต้นที่ดีครับที่จะมีการบันทึกวัฒนธรรมต่างๆเหล่านี้ไว้จากผู้เฒ่าผู้แก่ บันทึกวัฒนธรรมเหล่านี้ถูกใช้อ้างอิงในปัจจุบัน เช่นเรื่องพระราชพิธี 12 เดือน ยังมีการนำเอาข้อความต่างๆเหล่านี้มาอ้างอิงทางประวัติศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง นับว่าเป็นสายพระเนตรที่ยาวไกลของ ร. 5 ที่ได้ทรงบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลัง ผมว่าเป็นแบบอย่างที่ดีที่น่าดำเนินการตามครับ
  • นอกจากการบันทึกแล้ว การถ่ายทอดให้รับรู้ถึงแก่นแท้นของวัฒนธรรมก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงสักแต่ว่าทำ แต่ไม่เข้าใจความหมาย ทุกอย่างควรบันทึกไว้เพื่อให้เกิดการปฏิบัติด้วยความเข้าใจ
  • ชอบมากครับบันทึกนี้ จะได้ไปเที่ยวถูกครับ
  • สวัสดีอีกรอบครับอาจารย์เอก
  • เห็นด้วยครับเรื่องไม่ควรขายเหล้าในงานบุญเหล่านี้
  • หากจะขายก็ควรเป็นสุราพื้นบ้านที่เขากินกันแก้หนาว อย่าเอาถึงเมาครับ
  • แถวบ้านผมบางครั้งมีงานบุญกรรมการวัดเห็นแก่ได้เอาเหล้ามาขาย เงินขายเหล้างมันเป็นเงินบาป ทำบุญก้ไม่ขึ้นครับ คนเมาก็ไปก่อความเดือดร้อน ก่อนกินเป็นคน หลังกินเป็นหมา ไม่น่าดูเลย
  • ขอบคุณครับ สำหรับความคิดนี้

สวัสดีครับ คุณประดิษฐ์P สุดทางบูรพา

  • เป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับประชาสังคมเมืองปายอีกครั้งครับ ครั้งนี้ ผู้อาวุโส มารวมกันคิดเรื่องประเพณีเก่าๆของไทยใหญ่ คนรุ่นต่อมาช่วยสนับสนุน สืบสานต่อ ผมอยากเห็นภาพแบบนี้มานาน
  • เริ่มประเพณีแรก วันที่ ๒๒ ที่จะถึงนี้ "แห่ส่างกานเครือ" เป็นประเพณีไทยใหญ่ที่เราภูมิใจครับ ผมไปค้นหาข้อมูลหลายๆแห่งไม่มีเลยครับ คิดว่าต้องสัมภาษณ์เชิงลึกแล้วรวบรวมใหม่
  • ว่ากันว่าประเพณีนี้สวยงาม และเป็นการรวมศรัทธาของคนไทยใหญ่มาก
  • วันที่ ๒๒ จะมีการแห่ ผ้าเหลือง เพื่อนำไป ถวายพระ และพันรอบเจดีย์ ขบวนยิ่งใหญ่ มีนางฟ้อน นางรำไทยใหญ่เต็มที่
  • งานอะไรก็ตามที่ภาคประชาชนทำ อย่างเสรี ด้วยจิตวิญญาณมีชีวิตชีวาเสมอเลยนะครับ
  • เรื่อง สุรา ยาเสพติด ทางสาธารณสุขพยายามรณรงค์ และประเพณีที่จะมีไม่กี่วันนี้ เรามีมาตรการหลายอย่างเพื่อควบคุม
  • สิ่งดีๆเหล่านี้ เกิดขึ้นที่ "ปาย" ครับ

เป็น กำลังใจให้ไตยเฮาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท