สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๑๗. ประวัติศาสตร์กับการศึกษาวรรณคดีไทย (๑๖)


         ไตรภูมิพระร่วง ไม่ได้เป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับนรก โลกมนุษย์และสวรรค์ สาระของวรรณคดีเรื่องนี้ คือ การเป็นวรรณกรรมคำสอนสำหรับคนทุกชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ปกครองบ้านเมือง ไตรภูมิพระร่วง ได้กล่าวถึงพระยาบรมมหาจักรพรรดิราชว่า พระราชทานพระราโชวาทสำคัญที่เรียกว่า “ไชยวาทาสาสน์” แก่ท้าวพระยาทั้งหลายเพื่อให้นำไปปฏิบัติในการปกครองบ้านเมือง ธรรมนี้โดยสรุปแล้วมี 10 ประการ ผมไม่เคยเห็นใครให้ความสำคัญ จะขอนำมากล่าวไว้ในที่นี้เพื่อว่า ท่านจะได้นำไปยกเป็นประเด็นให้นักเรียนนักศึกษาวิพากษ์สังคมไทยร่วมสมัย

1. ทรงต้องมีทศพิธราชธรรม ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาไทย กล่าวว่า พระยาลือไทยเสวยราชย์ชอบด้วย “ทศพิธราชธรรม” (I-156)
2. การเก็บภาษีข้าวเปลีอก (ภาษีเศรษฐกิจ) เพียง 1 ใน 10 ถ้าไม่ได้ข้าวก็ไม่ให้เอาภาษีเลย อย่าให้ประชาชนลำบาก ในจารึกป่ามะม่วงกล่าวว่า “เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด” (I-17–18)
3. ถ้าจะใช้แรงงานไพร่บ้านพลเมือง ไม่ให้ใช้เกินเหตุอันสมควร และต้องไม่ใช้ผู้เฒ่าผู้แก่ (การยกเว้นผู้สูงอายุ) จารึกพระบรมธาตุนครชุมมีความทำนองเดียวกันว่า “ให้รู้ปรานีไพร่ฟ้า…[ผิชอบ7]งานใช้ไซร[จึ่ง]ใช้ ผิบ่ชอบ  เมื่อใช้ไซร้ อย่าพาใช้” (II-39) และ “รู้ปรานีแก่ไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลาย”8
4. การเรียกสินส่วย (ภาษีอากร) ต้องไม่เกินกว่าที่จารีตประเพณีเคยอนุญาต
5. ไม่สร้างแบบอย่างที่ผิดๆ ซึ่งจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้ปกครองรุ่นหน้า เพราะบาปหนักจะตกแก่ผู้เริ่มธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรม
6. ท้าวพระยาผู้มีทรัพย์ต้องส่งเสริมความเจริญทางเศรษฐกิจ ให้ผู้กู้พระราชทรัพย์ไปทำมาค้าขายไม่ต้องเสียดอกเบี้ย “เราผู้เป็นไทย (พระเจ้าแผ่นดิน) บ่มิควรเอาเป็นดอกเป็นปลายแก่เขา”
7. พระเจ้าแผ่นดินไม่ควรหวงพระราชทรัพย์ ท้าวพระยา “ควรให้ทรัพย์สิ่งสินแก่ลูก แก่เมีย ชาวแม่ ชาวเจ้า ผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายเพื่อเป็นเสบียงเลี้ยงเขากินอยู่เป็นกำลัง” กล่าวคือ ต้องทะนุบำรุงขวัญข้าราชการ
8. ท้าวพระยามหากษัตริย์ต้องรู้จักวางพระองค์เพื่อให้ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาและมีความยุติธรรม ไม่ทรงเจรจาในสิ่งไร้สาระ
9. ทรงต้องทำนุบำรุงสมณพราหมณาจารย์ ราชบัณฑิต และผู้ทรงศีลสัจ ตรงกับคำสอนพระยาลือไทยที่ว่า “ให้ยำปู่ครู ยำผู้เถ้าผู้แก่”9
10. พระราชทานบำเหน็จบำนาญแก่ผู้มีความชอบ “โดยอำเภอคุณและอำเภอประโยชน์” ซึ่งหมายความว่า ตอบแทนคุณงามความดีของบุคคลอย่างชอบธรรม

         คำประกาศปฏิญญาการปกครองของพระยาลือไทยในจารึกพระบรมธาตุนครชุมและจารึกวัดป่ามะม่วง มีเนื้อหาต้องกันกับธรรมสำหรับท้าวพระยาที่พระยาบรมมหาจักรพรรดิราชทรงกล่าวสั่งสอนไว้ใน ไตรภูมิพระร่วง   หลักการนี้สามารถนำมาใช้วิพากษ์วิจารณ์สภาพทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมไทยในปัจจุบันได้อย่างดี เพราะท้าวพระยาทั้งหลายนี้ ในความหมายอย่างกว้าง คือ ท่านผู้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง

         ผมได้ใช้ประโยชน์จาก ไตรภูมิพระร่วง ในการศึกษาประเด็นทางประวัติศาสตร์ ผมอาจยกตัวอย่างได้มากมาย เมื่อเราพิจารณาเรื่องสถานภาพพยานในพระไอยการลักษณะพยานของกฎหมายตราสามดวง อันได้แก่ อุตริพยาน อุดรพยาน และทิพพยานนั้น สถานภาพของทิพพยานสูงสุด   แต่เราไม่เข้าใจที่ไปที่มาของแนวคิดเรื่องทิพพยานนัก นอกจากเดาว่าหมายถึง พยานที่เป็นเทพ พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี ได้ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดนี้มาจากเรื่องนางอสันธมิตตา อัครชายาของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่อ้างพระไพศพมหาราช จตุโลกบาลแห่งทิศอุดรเป็นพยานแก่นางในเรื่องการทำบุญถวายผ้าผืนหนึ่งแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า จตุโลกบาลทั้ง 4 มีหน้าที่ช่วยพระอินทร์ดูแลโลกจึงมีทิพจักษุได้รู้ได้เห็นความจริงหมด     การศึกษาวรรณคดีจึงนับว่า เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์อย่างมาก ถ้าผมจะกล่าวถึงเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ในด้านภาษาและอื่นๆ อีก
คงจะไม่จบลงง่ายๆ

-------------


6 หมายถึง ด้านที่ 1 บันทัดที่ 15 ของจารึกที่อ้างถึง
7 ไม่ชอบ ไม่ถูกต้องตามจารีตประเพณี
8 จารึกพระบรมธาตุนครชุม (I-16)
9 จารึกพระบรมธาตุนครชุม (I-9)

 


วิจารณ์ พานิช
๑๙ ต.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 145157เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2007 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท