ระวัง ! ทรัพย์สินที่คู่รักควรรู้ก่อนแต่งงาน


สำหรับคนที่กำลังจะแต่งงาน

ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มี 2 ประเภท คือ

1.สินส่วนตัว (มาตรา 1471) เป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นส่วนตัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ ได้แก่

•  ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีกรรมสิทธิ์อยู่ก่อนสมรส เช่น - หญิงได้รับโอนรถยนต์และจดทะเบียนการซื้อขายกับเจ้าของเดิมก่อนสมรสกับชาย - บิดาของชายได้ยกบ้านและที่ดินให้ชายในระหว่างที่ชายหญิงอยู่กินกันฉันสามีภริยา และต่อมาภายหลังชายหญิงจึงได้จดทะเบียนสมรส เช่นนี้ ที่ดินและบ้านย่อมเป็นทรัพย์สินที่ชายมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของชาย (แต่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันก่อนสมรสเป็นกรรมสิทธิ์รวม)

1.2 ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น - มีดโกนหนวด - เครื่องมือในการใช้ทำผมกรณีภริยาเป็นช่างเสริมสวย แม้จะใช้เงินสินสมรสซื้อมาก็ยังเป็นสินส่วนตัว - สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวนเข็มขัดนาก เป็นเครื่องประดับกายราคารวมกันประมาณ 60,000 บาท นับว่าเป็นราคาไม่มากเมื่อพิจารณาตามฐานะและรายได้ของคู่สมรส เป็นสินส่วนตัว

1.3 ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา เช่น - ระหว่างสมรส แม่ให้สร้อยคอทองคำแก่ลูกสาวซึ่งเป็นภริยาของชาย เช่นนี้ย่อมเป็นสินส่วนตัว - สามีได้รับมรดกจากบิดาเป็นเงิน 400,000,000 บาท ย่อมเป็นสินส่วนตัวของชาย - พ่อยกที่ดินให้ลูกชายในระหว่างสมรส เป็นสินส่วนตัว เพราะการยกให้มิได้ทำเป็นหนังสือระบุว่าให้เป็นสินสมรส ที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของชาย - สามียกรถยนต์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้ภริยา ย่อมตกเป็นสินส่วนตัวของภริยา

1.4 ของหมั้น เป็นสินส่วนตัวของหญิง - สินส่วนตัว เมื่อได้ทำการ แลกเปลี่ยน เป็นทรัพย์สินอื่น หรือ ซื้อ ทรัพย์สินอื่น หรือ ขาย ไปได้เงินมา ย่อมเป็นสินส่วนตัว - สามีเอาเงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินมา 1 แปลง ที่ดินย่อมเป็นสินส่วนตัว - สามีเอาที่ดินสินส่วนตัวไปแลกเปลี่ยนกับที่ดินแปลงอื่นกับได้สิทธิที่จะได้รับเงินตอบแทน เงินนั้นก็เป็นสินส่วนตัว - ภริยามีรถยนต์สินส่วนตัวเอาประกันภัยชั้น 1 ไว้ ต่อมารถยนต์ถูกชนเสียหายทั้งคัน บริษัทฯ ประกันชดใช้รถยนต์ให้ เช่นนี้ย่อมเป็นสินส่วนตัว สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใด ฝ่ายนั้นมีอำนาจจัดการแต่เพียงผู้เดียว***** เช่น ภริยาฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกซึ่งเป็นสินส่วนตัว จึงเป็นการจัดการสินส่วนตัว ภริยามีอำนาจฟ้องคดีโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี

 2.สินสมรส (มาตรา 1474) เป็นทรัพย์สินร่วมกันของสามีภริยาซึ่งทั้งสองฝ่ายมีสิทธิคนละครึ่ง ได้แก่

2.1 ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น - เงินเดือน โบนัส เงินบำเหน็จ บำนาญ เงินที่ได้จากการประกอบอาชีพ หรือจากการถูกรางวัลต่างๆ เช่น ถูกล๊อตเตอรี่ หรือรางวัลที่ได้จากรายการวิทยุ โทรทัศน์ - ชายหญิงดำเนินกิจการปั้มน้ำมัน เงินที่ได้เป็นสินสมรส - ชายหญิงร่วมกันซื้อบ้านและที่ดินโดยรับโอนกรรมสิทธิ์มาหลังจากทำการสมรสแล้ว ย่อมเป็นสินสมรส -เงินบำนาญ ได้มาในระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรส นำไปซื้อบ้านและที่ดิน จึงเป็นสินสมรส

 2.2 ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างการสมรสโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

 2.3 ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว เช่น - ภริยามีแม่หมาเป็นสินส่วนตัว ลูกหมาที่เกิดในระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรส - สามีมีบ้านซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้เช่า ค่าเช่าบ้านเป็นสินสมรส

อำนาจในการจัดการสินสมรสนั้น โดยปกติสามีหรือภริยาเพียงฝ่ายเดียวมีอำนาจจัดการได้โดยลำพัง เว้นแต่กิจการสำคัญๆ ที่สามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกัน หรือฝ่ายหนึ่งจัดการโดยได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่ง หากฝ่าฝืนอีกฝ่ายมีสิทธิฟ้องศาลขอให้เพิกถอนได้ เช่น •  การขาย หรือจำนอง •  ให้เช่าซื้อบ้านและที่ดินสินสมรส •  นำเงินสินสมรสไปให้บุคคลอื่นกู้ •  ยกรถยนต์สินสมรสให้แก่บุคคลอื่น •  เอาที่ดินสินสมรสไปประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา

คำสำคัญ (Tags): #สัตหีบ
หมายเลขบันทึก: 145156เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2007 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท