พระนิพพานในโลก : ทำความเข้าใจเพื่อให้เข้าถึง?


ท่านเคยเป็นอย่างนี้บ้างไหมครับ?

พระนิพพานในโลก : ทำความเข้าใจเพื่อให้เข้าถึง?          

          หลายวันมานี้  หลังจากผมเขียนบันทึก กิจกรรมรับน้อง : วัฏจักรแห่งการสูญเสียในวงการศึกษา  มีนักศึกษาถามผมถึงข่าวการรับน้องรุนแรงจนนักศึกษารุ่นน้องต้องเสียชีวิต จนผมเกิดอาการไม่พึงพอใจในการกระทำอันป่าเถื่อนนั้น (สังเกตจากทำนองเสียงการใช้ภาษาในบันทึกของผม)  อาจารย์บางท่านก็มาเตือนให้รู้จัก วาง  เพราะกลัวผมจะเครียด หัวใจวายไปเปล่าๆ          

        ในยามว่างช่วงสั้นๆ ของวันหนึ่ง ผมนั่งพักความคิดที่วุ่นวายจากการงาน  เผอิญเห็นวารสารเล่มหนึ่ง ไม่รู้ใครเอามาวางไว้บนโต๊ะผม  จึงหยิบมาพลิกดู (พุทธจักร , กรกฎาคม 2549)  เห็นข้อความหนึ่งที่ปกใน น่าสนใจมาก นั่นคือ พระธรรมบทจตุรภาค ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หน้า 184-185  เขาพิมพ์ไว้เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  ผมเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับการปล่อยวาง  พอดี  เลยนั่งทบทวนดู  และเกิดความคิดต่างๆ มากมายพอที่จะนำมาบอกกล่าวเล่าให้ฟังกัน ข้อความมีดังนี้ครับ 

.................................................................................... 

เยสํ   สมฺโพธิยงฺเคสุ       ผู้มีจิตอบรมดีแล้ว

                              Whose  minds are well

                              perfected 

สมฺมา  จิตฺตํ  สุภาวิตํ    ในธรรมซึ่งจะนำไปสู่การตรัสรู้ 

                             In the Factors of

                             Enlightenment, 

อาทานปฏินิสฺสคฺเค     ไม่ยึดมั่นถือมั่น

                            Who,without clinging,  

อนุปาทาย  เย  รตา  ยินดีในความปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง                               

                          Delight in the renunciation

                          of  attachment 

ขีณาสวา  ชุติมนฺโต  ท่านเหล่านั้นเป็นผู้สิ้นกิเลส,มีปัญญาแจ่มแจ้ง                                

                         thay , the corruption-

                         free,bright  ones, 

เต  โลโก  ปรินิพฺพุตา เข้าถึงพระนิพพานในโลก 

                           Have attained Nibbana

                            in the world 

 .....................................................................................

           ตอนแรก อ่านแล้วก็ไม่สู้จะเข้าใจมากนัก  ผมต้องค่อยๆตั้งสติตีความดู  ก็พอจะเข้าใจได้ว่า         

         ผู้มีจิตอบรมดีแล้วในธรรมซึ่งจะนำไปสู่การตรัสรู้  ก็น่าจะหมายถึง ผู้ฝึกจิตให้นิ่ง ทิ้งกิเลส  หรือจะเรียกว่า  ขัดเกลาจิตของตนให้สะอาด บริสุทธิ์  ปราศจากกิเลส มลทินคือเครื่องเศร้าหมอง นั่นหมายถึงต้องใช้จิตที่เข้มแข็งมากๆ จึงจะสลัดขัดเกลากิเลสให้เบาบางไปเรื่อยๆ  จนกว่าจะสะอาด บริสุทธิ์   สิ่งที่จะขัดเกลาจิตใจตนได้ ก็คือการยึดถือ ปฏิบัติ  ธรรม   อันพระพุทธเจ้าได้ประทานไว้แล้ว

            ธรรม  ที่ว่านั้น คือ  ไม่ยึดมั่นถือมั่น   ยินดีในความปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง   กล่าวโดยง่ายคือ  การละอัตตา  ถึงตอนนี้ผมนึกถึง กฏแห่งไตรลักษณ์ อันเป็นความจริงแท้ 3 ลักษณะ  นั่นคือทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็น   อนิจจตา  คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอน  ทุกขตา  คือ ความเป็นทุกข์  และอนัตตา  คือความไม่ใช่ตัวตนของตน  การทำความเข้าใจในกฎแห่งโลกนี้แล้ว และสุดท้ายปล่อยวางอย่างพระธรรมบทดังกล่าว  จิตจะเกิดความว่าง  แม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง ในขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่  ก็เท่ากับบรรลุพระนิพพานได้แล้ว      นั่นแปลว่า  เราบรรลุพระนิพพานได้แม้เรายังไม่ตาย  ที่เรียกว่า พระนิพพานในโลก  นั่นคือสภาวะของจิตใจที่ว่างเปล่า       

        แต่การที่เราจะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้นั้น  ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องฝึกฝนจิตของเรามาดีแล้ว  ประเภทจิตวุ่นวายอย่างผมค่อนข้างจะยาก  เพราะสภาวะจิตของคนมักไม่ค่อยนิ่ง  เราต้องฝึกจิตให้นิ่ง  และต้องนิ่งอยู่นานๆ  ปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดที่เกิดจากความอยาก ความไม่อยาก จนไม่รู้สึกนึกคิดอะไรเกี่ยวกับความอยาก ไม่อยาก เลยแม้แต่น้อย 

       ย้อนไปคิดต่อว่า  การฝึกจิตให้นิ่ง ก็คือ  สมาธิ  เมื่อมีสมาธิก็เกิดปัญญา  มองเห็นปัญหา คือ  ทุกข์   และพิจารณาต่อไปให้เห็นเหตุแห่งทุกข์  พิจารณาต่อไปก็คือ ความดับทุกข์  แล้วปฏิบัติตามหนทางแห่งการดับทุกข์  แต่ทว่าไม่ง่ายนัก ต้องใช้เวลาฝึกฝนตนจนเกิดพลังจิตอันแก่กล้า  บางคนต้องใช้เวลานานนับหลายปี  ดังพระอริยสงฆ์ทั้งหลายได้กระทำมาแล้ว 

       แต่สำหรับฆราวาสอย่างเราๆ  การฝึกปล่อยวางน่าจะทำได้ แต่ต้องทำจิตให้นิ่งก่อน  จนเกิดปัญญามองเห็นความจริงของปัญหาหรือทุกข์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้ อย่างที่ผมกำลังรู้สึกเป็นทุกข์ เพราะเห็นการกระทำอันโหดร้ายของรุ่นพี่ดังที่กล่าวมาแล้ว   ผมพยายามทำจิตให้นิ่ง เพื่อปล่อยวางความรู้สึกอันโกรธขึ้ง ไม่พึงพอใจนั้น  ซึ่งในที่สุดก็ทำความเห็นให้แจ้งได้เพียง แวบเดียว ชั่วขณะ  ผมไม่รู้สึกอันใดเลย มันเป็นสภาวะที่มองเห็นว่า  นั่นคือ กรรม อย่างหนึ่ง  ทุกคนมีกรรมเป็นของตน รุ่นพี่ที่เป็นฝ่ายกระทำ หรือ รุ่นน้องที่ถูกกระทำ  ล้วนมีกรรมเป็นของตน  และต้องได้รับกรรมที่ทั้งสองได้ก่อมาแล้วในอดีตหรือปัจจุบัน  ผมคิดว่า สภาวะที่เกิดขึ้นขณะนั้นคือ สภาวะอันว่าง  เกิดจากการปล่อยวาง ซึ่งเกิดสติปัญญาสว่างขึ้นมาจนมองเห็นความเป็นไปทั้งหมดนั้น ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่มีอะไรเลย จะเรียกสภาวะนั้นว่า นิพพาน ก็น่าจะได้         

          แต่เพียงแวบเดียวคือชั่ว 2-3 นาที  จิตผมกลับมาแกว่งไกวอีก ต้องกลับไปเผชิญกับปัญหาเดิมที่ปล่อยทิ้งเอาไว้   การปล่อยวาง จึงไม่ใช่ลักษณะ การปล่อยทิ้ง   เพราะการปล่อยทิ้ง เป็นการปล่อยโดยจิตไม่นิ่ง มันปล่อยเพราะเครียด  เพราะเบื่อ  เพราะไม่พึงใจ ฯลฯ  การปล่อยทิ้งเป็นการหนีปัญหา จึงไม่เกิดปัญญา    แต่การปล่อยวาง จะเกิดปัญญา มองเห็นปัญหาได้กระจ่างหมด        

       ครับ  ผมปล่อยวางเรื่องหนึ่งได้ชั่วประเดี๋ยว แต่รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพราะได้ลงมือปฏิบัติเอง ค้นพบเอง  เออ!...ทำไมหนอเราจึงไม่ปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยๆ อบรมจิตตนไปเรื่อยๆ  ล่ะ?       

      คงยาก  เพราะชีวิตคุณวุ่นวาย และคุณปล่อยกิเลส มลทิน เกาะกินจิตคุณจนหนาแล้ว  ต้องใช้เวลานานมากจึงจะสำเร็จ  อย่าพยายามทำอะไรเลย  ทำตามใจ ตามรู้สึก ที่ปรารถนาดีกว่า มันง่ายกว่ามากนะ   ประโยคนี้ จิตฝ่ายต่ำของผมมันตะโกนก้องอยู่  เพราะฉะนั้น  ผมขออนุญาตท่านผู้อ่านไปจัดการจิตฝ่ายต่ำนี้ก่อน  มันชอบลวงให้ผมดำเนินไปตามที่มันประสงค์อยู่เรื่อยๆ และมันชนะผมทุกทีครับ  แต่คราวนี้เห็นทีจะยากครับ เพราะผมรู้ทันมันแล้ว และกำลังจะลงมือขัดเกลามันเสียที         

       แล้วท่านล่ะ  ท่านเคยเป็นอย่างนี้บ้างไหมครับ?                 

หมายเลขบันทึก: 144212เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2007 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ

การปฏิบัติธรรมต้องลงมือปฏิบัติ สม่ำเสมอต่อเนื่อง สบายๆค่ะ

สวัสดีครับ

ยินดีด้วยครับ ที่ได้ลงมือปฏิบัตินะครับ

เห็นด้วยว่า ยาก คงต้องหาปัจจัยที่เกื้อหนุน เพื่อให้มีสมาธิ มีความปลอดโปร่ง แต่จะว่าไปแล้ว ก็สะดวก เพราะว่าไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไร นอกจากตัวเรานี่เอง

 

สวัสดีค่ะ อ.กรเพชร

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนนะคะ  ^ ^

อาการจิตไม่นิ่ง เป็นอาการปกติของคนทั่วไปค่ะ เรามักคิดโน่นคิดนี่อยู่เสมอ แต่ที่แย่คือเวลาคิดแล้วแทนที่จะคิดเฉยๆ "ดู"เฉยๆ กลับเกิดอาการรู้สึก "เป็น"ไปกับสถานการณ์ที่คิดด้วย อาการแบบนี้เรียกว่าส่งจิตออกนอกค่ะ

เราสามารถเลิกการส่งจิตออกนอกได้โดยการเจริญสติ โดยการเป็นผู้ดู มากกว่าเป็นผู้เป็น ยังคิดได้แต่จิตไม่แกว่ง ไม่มีอารมณ์ร่วม เป็นไปกับสถานการณ์ เจริญปัญญา หาทางแก้ไขได้ แม้ทางแก้ไขบางครั้งจะทำไม่ได้ ก็จะไม่ทุกข์ หรือเป็นไปกับเรื่องนั้นๆ

ถ้าเราเป็นเพียงแต่เป็นผู้ดู จะทำให้ปล่อยวางได้ง่ายขึ้นค่ะ  ดิฉันเองก็ยังฝึกอยู่ แต่พบว่าทางนี้เป็นทางที่ถูกเป็นทางที่สว่าง และได้ผลดีจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณค่ะ ^ ^ 

เรียน... อ.กรเพชร ที่นับถือ

P

ตั้งแต่งาน KM เชียงใหม่เสร็จสิ้นไปแล้วก็ได้เเต่พบอาจารย์ในบลอกนี่หละครับ

ติดตามอ่านเสมอมาครับ และนับวันก็ได้ความรู้ วิธีคิดจากบันทึกสม่ำเสมอ

อ.ลูกหว้า ได้ส่งหนังสือ "พยาบาลไร้หมวก" มาให้ผมมีที่คั่นหนังสือ มีข้อความว่า "ปล่อยแล้ววาง วางแล้วเบา เอาแล้วหนัก"

อ่านแล้วได้คิดดีครับ

 

สวัสดีครับP

     ความไม่สม่ำเสมอเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติ เพราะต้องสู้กับธรรมชาติของจิตที่ไม่นิ่ง ยากแต่จะพยายามครับ

คุณธวัชชัยครับ

          การปฏิบัติเป็นการทำลายความสบายของจิต  เพราะปฏิบัติมันไปขัดกับจิต ทำให้จิตอึดอัด  เหมือนพยายามจับของที่ลื่นไหลให้อยู่นิ่งครับ

สวัสดีครับP

      ขอบคุณครับจะนำไปใช้ดูครับ เพราะบางทีการดึงจิตออกมาเป็นผู้ดู ก็ละวางได้ดีครับ บางทีเราแก้ไขไม่ได้ เราก็ไม่ทุกข์ เพราะจิตไม่กระทบกับสิ่งนั้นๆ จนเกิดความยึดมั่นถือมั่น ปรุงแต่งจนเกิดรูปขันธ์  ขอบคุณครับสำหรับคำแนะนำดีๆ อย่างนี้

สวัสดีครับP

        ช่วงนี้ผมไม่ได้แวะไปเยี่ยมคุณจตุพรเลย  ขอบคุณที่แวะมาครับ  ผมพยายามจะไปพูดคุยที่บันทึกนะครับ  ระยะนี้ภารกิจวิ่งชนผมมากมายบางวันผมก็ไม่ได้เขียนบันทึกเลย เพราะวิ่งนั่นวิ่งนี่จนหมดเวลาไปวันหนึ่งๆ  แต่ก็จะพยายามเข้าไปคุยด้วยครับ  คิดถึงครับ  

P

นายกรเพชร

อาจารย์... ในวรรคสุดท้ายคือ

  • เต โลโก ปรินิพฺพุตา (คำว่า โลโก ไม่ถูกต้อง)
  • เต โลเก ปรินิพฺพุตา  (แก้เป็น โลเก จึงจะถูกต้อง)
เจริญพร
อาจารย์รับธรรมะหรือยังคะ สนใจอยากจะรับธรรมะไหมคะ

นมัสการพระคุณเจ้าP

          ขอบพระคุณยิ่งครับ  เห็นทีหนังสือจะพิมพ์ผิดไปนะครับ 

สวัสดีครับคุณ oum

            ยินดีรับครับ  ธรรม คือสิ่งแสนวิเศษ  ส่งมาได้เลยครับ

สวัสดีครับ

ผมเป็นสมาชิกใหม่ของที่นี่ครับ

ผมก็กำลังเล่นเกมนี้อยู่เหมือนกัน ก็คงต้องลองผิดลองถูก ลองสู้กันสักตั้งเพราะไม่มีอะไรจะเสียมีแต่ได้กับได้ ผลจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ก็สนุกดี สองข้างทางก็ยังมีของให้เล่นเยอะ

อย่างเมื่อคืนก่อนผมนอนหลับไปสักพัก รู้สึกตัวเคลิ้มๆขึ้นมา มองเห็นภาพตัวเองนอนอยู่บนที่นอนในท่านอนนั่นแหละ เหมือนมองมาจากมุมสูง แหม! เห็นชัดเสียด้วย แต่เห็นอยู่แว๊บเดียว  ก็เป็นประสบการณ์ที่แปลกเหมือนกันผมไม่ค่อยเข้าใจอะไรมากนัก ผมอ่านหนังสือของหลวงพ่อเทียน ฯ แล้วก็ลองฝึกดู ก็นั่งสร้างจังหวะ ดูกาย-ดูใจนั่นแหละ

ก็ยังจำคำเตือนอยู่เสมอว่า "รู้แต่อย่าไปรู้อะไร"

ผมจะคอยติดตามต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท