พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ: ทางรอดของประเทศไทย


          วันที่1 และ 2 พฤศจิกายน 50 ดิฉันได้เข้าร่วมประชุม "เวทีขับเคลื่อนและร่วมเรียนรู้กระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ" ณ ห้องประชุมแอสแคป ฮอลล์ อาคารสหประชาชาติ  กรุงเทพมหานคร ในฐานะหนึ่งในตัวแทนเครือข่ายวิชาการ/วิชาชีพ ตามหนังสือเชิญของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) : National Health Commission Office

          เป็นหนังสือเชิญที่ให้เกียรติและให้ความสำคัญกับบุคคลที่ได้รับเชิญเหลือเกิน นั่นอาจเป็นเหตุผลประการแรกก็ได้ที่เป็นมูลเหตุจูงใจให้ผู้ที่ได้รับหนังสือ(ตัวดิฉันเองนั่นแหละ) อยากเข้าร่วมประชุม และเมื่อได้อ่านเหตุผลหลักการตลอดจนกำหนดการแล้ว ก็ยิ่งต้องการเข้าร่วมมากขึ้น เพราะมีคำว่า "สุขภาพ" อยู่ด้วย ซึ่งต้องมีอะไรเกี่ยวกับคณะสหเวชศาสตร์  และองค์การวิชาชีพของดิฉันอย่างแน่นอน

          ดิฉันประทับใจกระบวนการจัดประชุมครั้งนี้มากค่ะ เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างบ่งชี้ให้ทราบว่า  ผู้จัดมีเป้าประสงค์ชัดเจน จึงใส่ใจในรายละเอียดที่จะให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์จากการประชุม อันเป็นการประชุมที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งฝ่ายประชาชน/สังคม ฝ่ายบริหาร/รัฐ  และฝ่ายวิชาการ/วิชาชีพ  เป็นจำนวนนับพันคนทั่วประเทศ

          ช่วงเช้าของวันที่ 1 พ.ย. 50 มีเสียงเพลงขับกล่อมจากศิลปิน " ศุ บุญเลี้ยง" ก่อนที่ทุกคนจะมาพร้อมเพรียงกันในที่ประชุม หลังจากนั้นมีวีดีทัศน์ประกอบละครเพลงโดย "สโมสรผึ้งมหัศจรรย์" ที่ร้อยเรียงเรื่องราวการปฏิรูประบบสุขภาพสู่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ผู้แสดงมีทั้งเด็กผู้ใหญ่และคนชรา แต่งกายอย่างไทย แม้จะต่างแบบต่างภาคแต่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว  ผู้ที่ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนเลยอย่างดิฉันเข้าใจได้โดยง่ายและโดยทันทีในเวลาไม่ถึงชั่วโมงของการแสดง  รับรู้และเข้าใจได้ว่า กว่าจะมาถึงวันนี้  กว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติจะคลอดออกมาได้ ได้ตั้งท้องมานานถึง 7 ปี มีภาวะแท้งคุกคามหลายครั้งหลายหน  แต่ก็น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ในที่สุดก็คลอดออกมาได้เมื่อวันที่  3 มีนาคม  พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายที่ก่อกำเนิดมาจากประชาคมทุกภาคส่วนของประเทศไทยเป็นกฎหมายมหาชนอย่างแท้จริง

          ต้องขอปรบมือดังๆให้แก่ประธานการจัดงานฯคราวนี้คือ นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ

          ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ประธาน คสช. ก็ให้เกียรติมาเปิดงานและแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติกับการสร้างสุขภาวะ" ด้วย

          ช่วงเวลาถัดมา 10.30 - 12.00 น. เป็นเวทีเสวนา "พ.ร.บ.สุขภาพฯจะมีน้ำยาจริงหรือ?" มีผู้เสวนาหลายท่าน (ที่ดิฉันไม่เคยรู้จักมาก่อนอีกเช่นกัน)  คือ

  1. คุณรัตนา    สมบูรณ์วิทย์
  2. คุณเล็ก   กุดวงษ์แก้ว
  3. นพ.อำนาจ  กุสลานันท์
  4. นพ.ณรงค์ศักดิ์   อังคะสุวพลา
  5. ดร.เสรี   พงศ์พิศ
  6. คุณสุทธิชัย   เอี่ยมเจริญยิ่ง
  7. คุณสมชาย  แสวงการ
  8. นส.จุฑามาศ  แพงเวียง

          คุณรัตนา    สมบูรณ์วิทย์ ท่านผู้เสวนาท่านหนึ่งที่ดิฉันประทับใจ กล่าวตอนหนึ่งว่า "กฎหมายนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกที่เกิดจากประชาชนจริงๆ และผู้ใช้กฎหมายก็คือประชาชน ดังนั้นกฎหมายนี้จะมี "น้ำยา" แค่ไหนก็อยู่ที่ประชาชนทุกคนอีกนั่นแหละ"

          ท่านผู้เสวนาเกือบทุกท่านพยายามจะบอกว่า ขอให้พวกเรามอง พ.ร.บ. ให้ออก  อย่าตีความเฉพาะตัวอักษรที่ปรากฎอยู่ใน พ.ร.บ. (โดยเฉพาะหมวดที่ 1 มาตราที่ 5 -12 ) ให้ตีความสิ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัดด้วย และอย่าให้ พ.ร.บ. เป็นเพียง "กระดาษเปื้อนน้ำหมึก"

          คนที่ดิฉันประทับใจมากที่สุด  คือคนสุดท้าย น.ส.จุฑามาศ แพงเวียง  คะเนจากสายตาที่มองจากระยะไกลและจากน้ำเสียงที่พูด ดิฉันเดาว่า เธอคงอายุราว 14 - 15 เท่านั้น เธอกล่าวตอนหนึ่งว่า "หากเปรียบเทียบอย่างง่าย  พ.ร.บ.สุขภาพ เปรียบเสมือน "ยา"  เรามี "ยา" ที่จะรักษาโรคแล้ว แต่เราต้องหาวิธีการใช้ยา ที่ถูกต้องด้วย นั่นก็คือ ธรรมนูญสุขภาพ" (อันเป็นหัวข้อการประชุมคราวนี้) 

          และเธอยังเสนอแนะวิธีการเสริมสร้างเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่อง พ.ร.บ. สุขภาพ ออกไปในวงกว้าง ไว้อย่างชาญฉลาดว่า  ต้องพยายามอธิบายอย่างง่ายๆให้เด็กฟัง ถ้าเด็กเข้าใจแล้วละก็  การปลูกฝังในระดับครอบครัวก็จะง่ายและเป็นไปได้ นี่คือ การทำให้ พ.ร.บ. มี "น้ำยา"

          ช่วง 12.00 - 12.30 น. เป็นการนำเสนอกรอบและร่าง ระบบ กลไกในการจัดทำธรรมนูญ  ว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติและแนวทางการประชุมกลุ่ม  ซึ่งผู้จัด จัดให้มี 4 กลุ่มคือ

  1. ระบบและกลไกการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ
  2. ระบบและกลไกการจัดสมัชชาสุขภาพ
  3. ระบบและกลไกการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
  4. ระบบและกลไกการจัดการความรู้เพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพ

          ใครจะเลือกเข้าประชุมกลุ่มไหนก็ได้ในช่วงบ่าย ซึ่งดิฉันเลือกเข้ากลุ่มที่ 1

          ดิฉันไม่ได้แสดงบทบาทหรือความคิดเห็นอะไรเลยในการประชุมกลุ่มย่อย (เป็นร้อยคน) แต่ดิฉันได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง เช่น

  1. ความเป็นประชาธิปไตยในการประชุม มีการเลือกประธานกลุ่มแต่ละกลุ่มเองโชคดีที่กลุ่มนี้ผู้ที่เข้าร่วมส่วนหนึ่ง คงเคยมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติมายาวนาน  จึงพอจะรู้จักมักจี่กันบ้างแล้ว และต่างทราบดีว่า ใครคือผู้ที่เหมาะสมจะเป็นประธาน
  2. คุณหมอประพจน์  เภตรากาศ  (ซึ่งดิฉันไม่รู้จักมาก่อน) ได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่ม1  ท่านทำหน้าที่ประธานในการประชุมได้ดีอย่างน่าทึ่ง  ท่านเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ท่านจะสรุปประเด็นความคิดเห็นเป็นระยะๆ  และท่านสามารถคุมเกมส์การประชุมให้อยู่ในกรอบได้เป็นอย่างดี
  3. ข้อเสนอแนะต่างๆของท่านผู้เข้าร่วมประชุมที่หลากหลาย  ระหว่างการประชุมกลุ่มย่อย  ทำให้ดิฉันได้รับทราบความเป็นมาของสิ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัด ของ พ.ร.บ. สุขภาพมากยิ่งขึ้น 
  4. ในตอนท้ายของการประชุม  มีการขออาสาสมัคร หรือให้เลือกด้วยว่า ท่านใดจะเป็นผู้นำข้อสรุปจากข้อเสนอแนะยื่นแก่ ท่านรองนายกฯ : นายไพบูลย์   วัฒนศิริธรม  ตอนพิธีปิดโครงการวันที่สอง

          วันที่ 2 พ.ย. 50

          ปาฐกถาพิเศษ "พ.ร.บ. สุขภาพในมุมมองของผู้ทำคลอด" โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์  ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  มีอันต้องฟาวล์ไป  เพราะท่านติดภารกิจสำคัญ  มาไม่ได้จริงๆ

          แต่เวลาแห่งการรอคอยที่พิเศษสุดช่วงท้าย  ก็ไม่ทำให้ใครผิดหวัง เพราะมี ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี  มาแสดงปาฐกถาพิเศษ "พ.ร.บ. สุขภาพ: เครื่องมือการสร้างสังคมสมานฉันท์" ตามกำหนดการ

          ท่านอาจารย์หมอประเวศกล่าวว่า " 7 ปี แห่งการออกกฎหมาย 1 ฉบับนี้ นับว่าเป็นกระบวนการทางสังคมที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นวิธีเปิดพื้นที่ของสังคมและปัญญาให้กว้างขวาง  เพื่อแก้ไขปัญหายากๆ ในโลกปัจจุบัน เป็น Social revolution  ที่มาช่วยแก้ปัญหาซึ่งมาถึง point of impossible

          "พ.ร.บ. สุขภาพฯ เป็นนวัตกรมเพื่อการปฏิรูปสังคม ด้วยการใช้ปัญญาโดยไม่ต้องใช้อาวุธ ไม่มีที่ไหนในโลกทำได้ แม้แต่ WHO"

          "พ.ร.บ.นี้อาจเป็นต้นแบบแก่ชาวโลก  จะมีประโยชน์ต่อชาวโลกด้วยไม่เพียงเฉพาะประเทศไทย"

          ความจริงความบรรยายทั้งหมดของท่านอาจารย์หมอประเวศ ได้รับการตีพิมพ์เป็นเอกสารแจกประกอบการประชุมด้วย  เป็นเอกสารขนาด A4 พับครึ่ง เพียง 4 บท 10 หน้า ดิฉันอยากจะคัดลอกมาให้ทุกท่านได้อ่านกันซะจริงๆ เพราะมีประโยชน์อันเอนกอนันต์  ท่านจะได้ทราบว่า ทำไม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ จึงเป็นทางรอดของประเทศไทย

 

.......... 

 

หมายเลขบันทึก: 143854เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2007 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
น่าสนใจเชียววันนั้นดูทีวี

ยังมีต่อให้ติดตามได้นะคะ ที่นี่ ค่ะ

ขอบคุณมากนะคะที่ทุกๆคนรับฟังความคิดของเด็กอย่างหนู

ปลื้มใจจังเลยค่ะ

เพราะไม่คาดฝันว่า คนที่เราแอบปลื้ม และคิดว่าอยู่ไกลตัวมาก จะมาเยี่ยมถึงที่

ขอขอบคุณน้องจุฑามาศ มากนะคะ ที่มาประทับลายเซ็นไว้ ณ Blog แห่งนี้

 : )   : )   : )

ดีใจค่ะ  ที่ทุกๆคนนำเรื่องราวในงานวันนั้นมาเป็นประเด็นคิดต่อช่วยกันทำให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมพอดีมาพบเว็บนี้โดยบังเอิญค่ะก็ดีใจและขอบคุณอีกครั้งนะคะที่ให้เกียรติหนูมากขนาดนี้

โอกาสหน้าคงได้พบกันอีกแน่ค่ะ

ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็บอกได้นะคะ _ถ้าช่วยได้ก็เต็มที่ค่ะถ้าช่วยไม่ได้ก็จะหาคำแนะนำที่ช่วยได้มาให้ค่ะ

กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร

ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง ที่สนใจและให้ความสำคัญกับการประชุมเพื่อการขับเคลื่อนการทำธรรมนูญสุขภาพร่วมกับ คณะกรรมการจัดงาน และ สช. และอาจารย์สามารถถ่ายทอดเนื้อหาสาระ อารมณ์ความรู้สึกจากการประชุมได้ดีเยี่ยม  ผู้ใดที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมก็สามารถรับรู้เรื่องราวรวมทั้งเนื้อหา บรรยากาศได้เลยล่ะ ต้องขอขอบคุณอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม คำมั่นสัญญาจากที่ประชุมในพิธีปิดนั้น คงต้องร่วมมือกันทำต่อไป คือการ"ร่วมสร้างสรรค์ ธรรมนูญ" ในปี 2551 นี้ต่อไปค่ะ ทางเรา สช.จะร่วมมือกับอาจารย์ /มน./คนพิษณุโลก และทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในการดำเนินงานต่อไป ซึ่งจะขออนุญาตติดต่ออาจารย์ต่อไปนะคะ

ขอขอบพระคุณ

กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร

081-4971410, www:nationalhealth.or.th

ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์กรรณิการ์ 

ดิฉันยินดีและเต็มใจอย่างยิ่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท