9Qกับผู้นำ ตอน 2


5. CQ : Creative Quotient หมายถึง ความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ มีความคิดจินตนาการ รวมถึงความคิดเห็นใหม่ ๆ ในการทำสิ่งต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า หากผู้นำคนใดที่มี CQ สูงกว่าคนอื่น ๆ นวัตกรรมหรือการสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นมากกว่าคนทั่วไปด้วย และในปัจจุบันนี้ ได้มี  CQ เพิ่มมาอีก 1  ตัวได้แก่

    CQ: Cultural Inelligence for Exectives   หมายถึง  ความฉลาดทางวัฒนธรรมสำหรับผู้นำ การมีทักษะและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการที่จะเข้าใจวัฒนธรรม และเรียนรู้ได้ดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ต่างกัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนให้เหมาะสมเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มาจากวัฒนธรรมที่ต่างกัน การที่โลกได้ก้าวผ่านสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้การติดต่อสื่อสารทั่วโลกเป็นไปอย่างง่ายดายและรวดเร็ว จึงเกิดความจำเป็นให้ผู้นำยุคใหม่ต้องเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของบุคคลในแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะสามารถเข้าใจถึงสาเหตุของการดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนในการทำงาน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะ สม การที่ไม่เข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างของชนชาติอื่นนั้น นำมาซึ่งความขัดแย้ง และความล้มเหลวในการเจรจาธุรกิจได้อย่างง่ายดายอีกด้วย

 

6.  MQ : Morral Quotient หมายถึง  ความฉลาดทางคุณธรรมและจริยธรรม มีความสามารถในการควบคุมตนเอง มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ความกตัญญู เป็นคนดี มีระเบียบวินัย  การฝึกตัวเองให้มีคุณธรรม คือ การฝึกให้มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เอาเปรียบผู้อื่น มีความเที่ยงตรง และมีธรรมะในการทำงาน นั่นคือ อิทธิบาท 4 ได้แก่ 

1) ฉันทะ ความพอใจ  รักงานที่ทำ

2) วิริยะ ความเพียร ความพยายาม

3) จิตตะ มีความเอาใจใส่ เรียนรู้ในการทำงาน และ  

4)วิมังสา หมั่นทบทวนเอาใจใส่ต่องาน 

โดยที่องค์กรสามารถสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้โดยการส่งเสริมกิจกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรม ในองค์กร

 

7.  PQ : Political Quotient  หมายถึง ความฉลาดทางการเมือง   เป็นการใช้อำนาจของผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องทราบว่าฐานของอำนาจมาจากไหน และแหล่งที่จะใช้อำนาจในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือการทำงานให้มีประสิทธิภาพว่าอยู่ที่ใด ทั้งจากการใช้อำนาจของเราเองและการใช้อำนาจของผู้อื่น ซึ่ง Sarch Cook, Steve Macaulay และ Hilary Coldicott (2004, อ้างใน ชัยเสฏฐ์ พรหมศรี, 2548)  ได้อธิบายโมเดลของความฉลาดทางการเมืองโดยเปรียบเทียบเป็นสัตว์ต่างๆ 4 ชนิด  ได้แก่

 1) หมาป่าเจ้าเล่ห์ (Wolves)  หมายถึงผู้นำที่มีความสามารถอ่านสถานการณ์ทางการเมืองในองค์กรได้ดี คือ รู้ว่าจะกระตุ้นใครด้วยวิธีการแบบใด แต่จะทำเพื่อประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก ผู้นำที่มีลักษณะนี้มีความซื่อสัตย์น้อยมาก หรือแทบไม่มีเลยและพร้อมที่จะฆ่าเหยื่อเพื่อความอยู่รอดของตน 

2) เจ้าลาโง่ (Asses) หมายถึงผู้นำที่มีลักษณะคล้ายหมาป่าเจ้าเล่ห์ มีความซื่อสัตย์น้อย และมุ่งเน้นที่ผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก แต่ความสามารถในการอ่านสถานการณ์ทางการเมืองในองค์กรต่ำเมื่อเทียบกับผู้นำแบบหมาป่าเจ้าเล่ห์

3) แกะ (Lambs) หมายถึงผู้นำที่มีความมุ่งมั่นหรือปรารถนาดีแก่องค์กร แต่มีความสามารถในการอ่านสถานการณ์ทางการเมืองในองค์กรอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ผู้นำที่มีลักษณะนี้สามารถถูกชักจูงหรือกลายเป็นเหยื่อของผู้นำแบบหมาป่าเจ้าเล่ห์ได้ง่าย

4) นกฮูก (Owls) หมายถึงผู้นำที่มีความสามารถอ่านสถานการณ์ทางการเมืองในองค์กรอยู่ในเกณฑ์สูง มีความซื่อสัตย์ และมีความปรารถนาดีแก่องค์กรเป็นหลัก เปรียบได้กับนกฮูกที่บินอยู่เหนือพื้นดิน และสามารถมองเห็นทุกอย่างข้างล่างได้ขัดเจน

ซึ่งถ้าหากผู้นำที่มีความฉลาดทางด้านการเมืองที่สูงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการนำเอาความสามารถของบุคลากรในองค์กรมาใช้ เช่น การจูงใจโดยใช้ตำแหน่งหรือรางวัล หรือการให้ผลประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของบุคคลนั้น ๆ

8. SQ : Social Quotient หมายถึง ทักษะทางสังคม  การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น  เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากคนเราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งกับสังคม จึงต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ทำงาน จะต้องพึ่งพาอาศัย และสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน มีการทำงานเป็นทีม จึงทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ องค์กรควรให้สมาชิกในองค์กรเข้าใจเรื่องการทำงานเป็นทีม การเข้าใจในเรื่องความแตกต่างของมนุษย์ การละลายพฤติกรรมให้สมาชิกได้มีเวลาใช้ชีวิตทำกิจกรรมร่วมกัน  และในปัจจุบันนี้ ได้มี  SQ เพิ่มมาอีก 1  ตัวได้แก่  SQ : Spiritual Quotient   หมายถึง  ความฉลาดทางด้านจิตใจและความรู้สึกภายใน คือ สิ่งที่เป็นเรื่องคุณค่าของบุคคล และความตั้งใจที่จะยอมรับความคิดหรือข้อมูลใหม่ ผู้นำที่มีความฉลาดทางด้านนี้สูง จะมีระดับความเชื่อมั่นและการตระหนักรู้ในตนเองที่สูง กำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิตของตน มีความต้องการที่จะยกระดับจิตใจ มีความตั้งใจที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น และความทะเยอทะยานของตนเอง  การที่ผู้นำมีความฉลาดด้านนี้สูงจะช่วยสร้างความเข้มแข็งภายใน และสร้างวิสัยทัศน์ส่วนบุคคลให้ แก่ผู้นำ รวมไปถึงการช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การสร้างวิสัยทัศน์ที่แข็งแกร่ง เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมในองค์กรไปสู่เป้าหมายในอนาคต และสร้างให้ผู้นำมีความเชื่อมั่นในการคิดนอกกรอบ และกล้าที่จะทำในสิ่งที่แตกต่าง

9.  LQ : Leadership Quotient หมายถึง  ความฉลาดทางภาวะผู้นำนี้ เป็นความฉลาดของผู้นำที่ควรจะพัฒนาความฉลาดตนเองไม่ว่าจะเป็นในด้าน IQ EQ BQ CQ AQ MQ PQ และ SQ   เพื่อยกระดับความฉลาดทางด้านภาวะผู้นำของตนเองให้สูงขึ้นได้ เพื่อให้สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ตามที่มุ่งหวัง

สิ่งที่สำคัญที่สุดของคนที่จะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ควรมีพฤติกรรมการนำที่เหมาะสม การทำงานให้สำเร็จโดยใช้ความพยายามของผู้อื่น หมายความว่า ผู้นำต้องแก้ปัญหามากกว่าที่จะหนีปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับบุคคล  เป็นปัญหาที่ต้องเผชิญ  ซึ่งหากผู้นำใช้ยุทธวิธีในการบริหารงานที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ดังเช่น

ยุทธวิธี 19 ประการสำหรับภาวะผู้นำที่ประสบความสำเร็จ จะทำให้ที่ทำงานกลายเป็นดินแดนสวรรค์ที่มีคน ทำงานอยู่ร่วมกันอย่างมีด้วยความสุข ทุกคนทำงานเพื่องาน และเพื่อองค์กร ซึ่งจะประกอบไปด้วย

1. รักษาสัมพันธภาพที่ดีกับนาย     สัมพันธภาพที่ดีมีผลโดยตรงกับความสามารถของผู้นำที่จะสร้างความพอใจ และผูกใจผู้ใต้บังคับบัญชา   ผู้นำที่มีความสามารถได้รับอำนาจจากนายของเขา

2. ทำตัวอย่างที่ดี  ในสิ่งที่อยากให้ผู้ร่วมงานปฏิบัติ เช่น    มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ ควบคุมอารมณ์ใช้ปัญญา กล้าตัดสินใจ ยืดหยุ่นมีเหตุผล กำหนดวัตถุประสงค์ ริเริ่ม กระตือรือร้น ผู้นำต้องให้มีคุณสมบัติเหล่านี้    ต้องเป็นแบบอย่าง การเป็นแบบอย่างเป็นยุทธวิธีที่ดีมากสำหรับผู้นำที่มีความสามารถ

3. บอกความคาดหวังให้ชัดเจน ท่านคาดหวังอย่างไรกับผู้ร่วมงานที่เขาจะทำให้เกิดความพึงพอใจ อย่าคิดเอาเองว่าเขาจะทราบ และไม่ต้องกลัวที่จะบอกเขาว่า ท่านต้องการอะไร บอกเขาก่อนที่เขาจะทำงาน และเตือนเขาบ่อย ๆ เท่าที่จะทำได้

4. นัดประชุมเพื่อสร้างทีมให้เข้มแข็ง  ส่งเสริมการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดให้กลุ่มมุ่งเน้นที่เป้าหมาย

5. ให้รางวัลผู้ให้ความร่วมมือและทำงานหนัก ถ้าให้รางวัลเขาแล้ว เขาจะทำงานดีขึ้น

6. ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล และหาประโยชน์จากความแตกต่างเหล่านั้น 

7. ให้คำชมบางคนที่ให้ความร่วมมือกับทีม ดูวัตถุประสงค์ ความจริงใจ และความถี่ ท่านแน่ใจว่าเขาทำตามความคาดหวังของท่าน และสามารถปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

8. รับฟังผู้ใต้บังคับบัญชา   ผู้ร่วมงานจะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ท่านจะได้รับความนับถือและไดรับความจริงใจมากขึ้น    ท่านจะได้ทราบความเป็นไปในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น

9. เลือกบุคคลที่สามารถทำงานกันเป็นทีม  ให้พิถีพิถันในการเลือกคน อย่าต้องมาจ่ายเงินเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งผิดๆ ทิ้งไว้ให้คู่แข่งของท่านจะสวยกว่า

10. ร่วมกันกำหนดเป้าหมายทัศนภาพ สร้างแรงจูงใจ และเหตุผลต่างๆ  ไม่ต้องบอกว่าเขาต้องทำอะไรในสถานการณ์ต่างๆ และให้เขาช่วยตัดสินใจในวิธีการที่ดีที่สุดในการที่จะทำให้บรรลุผลตามความต้องการต่าง ๆ เหล่านั้น

11. ยอมรับความผิดพลาด  การยอมรับความผิดพลาดแสดงถึงความเข้มแข็งมากกว่าการแสดงความอ่อนแอ

12. อย่าให้คำมั่นสัญญาอะไรง่าย ๆ   มีสองสิ่งที่จะเกิดขึ้น เวลาให้สัญญาไม่เป็นสิ่งที่ดีนัก นั่นก็คือ มีความคาดหวังให้เป็นไปตามสัญญา และถ้าไม่เป็นไปตามสัญญามิตรภาพก็จะสลายไป

13.  บริหารเวลาให้ดี  ควรมีเวลาให้เพื่อนร่วมงานของท่านบ้าง

14. มอบหมายงานให้เหมาะสมกับคนสอดคล้องกับความต้องการขององค์กร    สิ่งนี้เป็นคำตอบที่ดีสำหรับคำถามที่ว่า "ข้าพเจ้าจะจูงใจลูกน้องได้อย่างไร"

15. ต้องยอมรับค่าของคน ตามความแตกต่างของบุคลากร สิ่งใดที่จะทำให้รู้สึกดีขึ้น ทุกคนต้องการมีความรู้สึกว่าตนเองสำคัญ   ถ้าท่านยกย่องเขา เขาก็ยกย่องท่าน

16. แก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างซื่อตรง และยุติธรรม     ให้ตระหนักถึงสไตล์การแก้ปัญหาความขัดแย้งของท่าน เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์

17. ให้ข้อมูลในการทำงานก่อนที่เขาจะทำงาน  เพื่อนร่วมงานต้องการข้อมูลที่จำเป็นในการทำงาน     เมื่อท่านมอบหมายงานท่านต้องให้ข้อมูลเขา

18. ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นจากแรงกดดันของแต่ละวันบ้าง  ท่านต้องมีเวลาคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้เป้าหมายบรรลุผล ควรจะวางแผนอย่างไร มิฉะนั้นท่านก็จะต้องต่อสู้กับปัญหาต่างๆ โอกาสที่ท่านจะประสบความสำเร็จยากมาก ต้องปล่อยวางบ้าง

19. อย่าเป็นคนที่เคร่งเครียดจนเกินไป  ร่าเริงและเป็นกันเองกับลูกน้องบ้าง 

ดังนั้น  การเป็นผู้นำ ไม่ได้เป็นกันได้ง่ายๆ หากไม่มีการพัฒนาตัวเองที่ดีและต่อเนื่อง รวมไปถึงการที่จะให้ได้ผู้นำที่มีศักยภาพทั้งทางร่างกาย ด้านสติปัญญา ด้านอารมณ์ คุณธรรมจริยธรรม ที่มีทักษะทางสังคม คนที่มุ่งมั่นทำงานเผชิญปัญหาอุปสรรคอย่างไม่ท้อถอย รวมถึงทักษะทางการเมืองและทักษะทางธุรกิจ องค์กรควรให้การสนับสนุน การพัฒนา IQ EQ BQ CQ AQ MQ PQ และ SQ ให้ดีอย่างสม่ำเสมอ หรืออาจจะมองในแง่ของการพัฒนาตนเองให้ถึงพร้อมทั้ง 9Q เพื่อดำรงตนให้เป็นผู้ที่มีความพร้อมในทุกๆด้าน หากได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ควรต้องมีการจัดการวางแผนให้ดีว่า มีแผนนำทาง (Roadmap) ที่ชัดเจนด้วยว่าจะไปทางไหน จะนำองค์กรไปในทิศทางใด มีองค์ประกอบต่างๆ ครบถ้วนหรือไม่เพียงใดตามที่กล่าวมา และจะสามารถได้ใจลูกน้องเพียงไร (ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในการเป็นผู้นำ) เมื่อกำลังเล่นบทผู้นำ ลองหันมามองรอบตัวเองบ้างว่า บทบาทครั้งนี้ทำได้ดีแล้วหรือ ดังคำกล่าวของ อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวว่า  เราทุกคนควรจะรู้ว่าตนเองอยู่ที่ไหน และเราจะก้าวไปทางใด และ ณ จุดใด  

************************************** 

เอกสารอ้างอิง 

กระทรวงศึกษาธิการ.  ภาวะผู้นำ : เทคนิคการนำที่เหนือชั้น. http://www.moe.go.th/wijai/leader.htm.

ชัยเสฏฐ์  พรหมศรี. 2548. Q ที่คุณควรมี. สำนักพิมพ์เอ็กซเปร์เน็ท: กรุงเทพ. 168 น.

ศักดา ลิกขะไชย. 2549. ผู้นำกับ 6 ความฉลาด (6 Q).   http://www.thairunning.com/newboard/viewtopic.php?t=1685&view=next&sid=c4ba04fcbfa8dd5ce851a8525e26d40a. [25 ธันวาคม 2549]

อุดม  ฟุ้งเกียรติไพบูลย์.  2550. 6Q ที่องค์กรต้องสนับสนุน.  http://gotoknow.org/blog/udomflash/120915 . [21 สิงหาคม 2550]

หมายเลขบันทึก: 143660เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2007 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

แวะมาเยี่ยมชม

ค่อยมาทักทายใหม่นะคะ

เข้ามาอ่านค่ะ ขอบคุณนะค่ะ

ขอก็อปบทความนี้ไปเป็นข้อมูลวิทยานิพนธ์ ไม่ทราบว่าจะอ้างอิงยังไงคะ ใครเป็นผู้แต่งคะ แล้วแต่ง พ.ศ.ไหนคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท