หมอบ้านนอกไปนอก(32): ทักษะหรือความจำ


ผมชอบเขียนเป็นภาษาง่ายๆ ภาษาที่คนอ่านแล้วนึกภาพออกได้เลย เป็นภาษาเชิงปฏิบัติ แต่พอแก้ไปหลายๆครั้งภาษาจะกลายเป็นภาษาทางวิชาการที่สื่อถึงวิธีการปฏิบัติน้อยลงเรื่อยๆ จนดูเหมือนหลักการทฤษฎีหรือนามธรรมไป การเข้ามาของการจัดการความรู้ที่เน้นภาษาปฏิบัติ หลักการปฏิบัติที่สื่อให้เข้าใจง่ายๆว่าทำอย่างไรได้เลย แล้วก็พยายามจูนคลื่นเข้าหากันระหว่างงานวิจัยกับการปฏิบัติงานประจำในรูปแบบของการพัฒนางานวิจัยจากงานประจำหรือ Routine to Research หรือ R2R

                  เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม ช่วงเช้าเป็นการทำงานเดี่ยวโดยอาจารย์ให้อ่านบทความห้าบทความเพื่อเตรียมตัวในการอภิปรายในชั้นเรียน ผมกับพี่เกษมหลบไปอ่านที่ห้องสมุด ทำให้มีสมาธิในการอ่านดีมาก คาบที่สองเรียนระบาดวิทยาเป็นการใช้ข้อมูลและตัววัดกับอาจารย์วีเริล เป็นการทำแบบฝึกหัดกลุ่ม กลุ่มผมมีเอ็ดวิน คริส แซมบิเต้ จากการทำงานกลุ่มสังเกตได้ว่าเอ็ดวินเป็นคนที่มีความละเอียดรอบคอบมาก สนใจในรายละเอียดและเตรียมการนำเสนออย่างสมบูรณ์และเข้าใจเนื้อหาที่อาจารย์สตัฟท์บรรยายเมื่อวานดี ผมเองยังตามไม่ทันบางเรื่อง พอทำงานกลุ่มก็เลยได้เข้าใจมากขึ้น และรับอาสาเป็นผู้นำเสนอหน้าชั้นเอง

                 หลังพักกลางวันมีประชุมกลุ่มนำเสนอปัญหาแล้วเรียนคาบที่สามกับอาจารย์แพทริคมีการอภิปรายกลุ่มเล็กก่อนแล้วตอบคำถามกลุ่มผมมีสี่คน ดูแล้วเพื่อนในกลุ่มบางคนไม่ได้อ่านบทความมาเลย อภิปรายโดยใช้ความคิดเห็นเป็นหลัก หลังจากนั้นทั้งห้ากลุ่มก็ออกไปนำเสนอหน้าชั้นแล้วช่วยกันอภิปรายโดยมีอาจารย์ร่วมอภิปรายด้วย แต่ตอนจบอาจารย์ก็ไม่ได้สรุปให้ฟังว่าควรเป็นอย่างไร ทำให้สรุปประเด็นได้ยากและคิดว่าเพื่อนๆในห้องคงเข้าใจไม่เหมือนกัน

                   ในวันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม อากาศหนาวมากเช่นเดิม หลังทานอาหารเช้าแล้ว ผมก็ออกไปซื้อกับข้าวที่ตลาดนัดวันเสาร์ (Saturday open market) คล้ายๆตลาดนัดบ้านเรา แต่กว้างขวางมาก มีทั้งของกิน ของใช้ อย่างผักก็มีหลายอย่างเช่นพริกหวาน ถั่ว (ฝักไม่ยาว) เห็ด กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กระเทียมหัว กระเทียมต้น ฟักทอง ผลไม้เช่น องุ่น ส้ม ลูกแพร์ สตอเบอรี่ มะม่วง (ไม่เหมือนบ้านเรา ผิวสีออกแดง เนื้อสีเหลือง) ราคาก็มีหลากหลาย มีอยู่ร้านหนึ่งราคาถูกที่สุด คนจะเข้าคิวกันแน่นมาก ถ้าซื้อเกิน 6.5 ยูโร จะแถมผักอื่นๆให้ด้วย สังเกตดูผักผลไม้เมืองหนาวจะมีขนาดใหญ่ เปลือกหนากว่าบ้านเรา อย่างฟักทองนี่ลูกใหญ่มาก คาดว่าน่าจะเพราะอากาศหนาวทำให้ต้องมีเปลือกหนา ผลใหญ่ ก็คงเหมือนๆกับฝรั่งที่ตัวสูงใหญ่ ดูทุกอย่างขนาดใหญ่ไปหมด ไข่ไก่ลูกใหญ่ๆราคา 3.30 ยูโรต่อ 30 ฟอง เนื้อหมูกิโลกรัมละ 13 ยูโร เนื้อไก่กิโลกรัมละ 10 ยูโร ปีกไก่กิโลกรัมละ 1.85 ยูโร ส่วนซี่โครงไก่อันละ 0.25 ยูโร ส่วนพวกปลา ปู กุ้งหรืออาหารทะเลก็มีขาย แต่ไม่ได้ซื้อมาทำอาหาร ราคาค่อนข้างแพงและกลิ่นคาวมาก ส่วนอื่นๆก็มีขายคล้ายตลาดนัดบ้านเรา มีเสื้อผ้า ถุงเท้า เสื้อกันหนาวขาย และมีร้านข้าวผัดเวียดนามเป็นแบบรถมาขายชื่อร้านแลมเปีย ขายดีมาก พวกขนมปัง เนย ขนมหวานก็มีรวมทั้งช็อคโกแลตและผลไม้ดองก็มีหลายชนิด น้ำมันพืชก็มีสองแบบ แบบหนึ่งใช้ทอดผลไม้หรือมันฝรั่ง ส่วนที่ใช้ทำกับข้าวต้องใช้น้ำมันมะกอกหรือOlive oil จะมีไขมันต่ำกว่าและมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า

                   หลังจากซื้อของเสร็จก็รีบไปร่วมกิจกรรมกับสถาบัน วันนี้พาไปดูพิพิธภัณฑ์บ้านรูเบน จิตกรมีชื่อเสียงมากของยุโรป ปกติต้องเสียค่าเข้าชมคนละ 6 ยูโร แต่เราเป็นนักเรียนไม่ต้องเสีย มีไกด์ภาษาอังกฤษนำชมพร้อมบรรยายไปด้วย เป็นบ้านที่อยู่สี่ร้อยกว่าปีแล้ว เขายังรักษาไว้ได้ดีมาก รวมทั้งภาพวาดของรูเบนด้วย ภายในบ้านไม่ให้ถ่ายภาพ ถ่ายได้เฉพาะข้างนอกและในสวนหลังบ้าน เป็นบ้านสามชั้น แต่เขาเรียกชั้นแรกว่า Ground ชั้นที่สองเป็นชั้นที่ 1 และชั้นที่สามเป็นชั้นที่ 2 มาเที่ยวแอนท์เวิป ถ้าไม่ได้มาบ้านรูเบน ถือว่าไม่ถึงแอนท์เวิปครับ

                 เสร็จแล้วก็กลับบ้านพักทานอาหารกลางวันแล้วออกไปเล่นกีฬาที่โรงยิมของมหาวิทยาลัยแอนท์เวิป (Sports Hall UA) อยู่ที่ถนนGrote Kauwenberg/Vekestraat ได้เล่นแบดมินตัน 1 ชั่วโมง เล่นฟุตบอลอีก 1 ชั่วโมง ตอนแรกก็คิดหนักเหมือนกันว่าจะไปเล่นกีฬาหรือจะอยู่อ่านหนังสือ ในที่สุดก็ตัดสินใจไปเล่นกีฬาเพราะคิดว่าถ้าได้เล่นกีฬาน่าจะได้คลายเครียดและสมองจะทำงานดีขึ้น จริงๆแล้วผมเป็นคนชอบเรียน ชอบอ่านหนังสือแต่ไม่ชอบสอบ คิดว่าการสอบเป็นการสร้างความตึงเครียดในการเรียนรู้และส่วนใหญ่ข้อสอบมักชอบวัดความจำ ในขณะที่ผมเรียนหรืออ่านหนังสือผมชอบจำแนวทาง หลักการกว้างๆมากกว่ารายละเอียด และไม่ชอบท่องจำ  

                  วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม ตอนเช้าไม่ได้ออกไปไหน นั่งทำการบ้านที่ต้องส่งอาจารย์โดมินิคและสรุปปัญหาที่ต้องเสนออาจารย์บรูโน หลังกินอาหารกลางวันแล้วก็ไปขี่จักรยานเล่นโดยไปที่อุโมงค์ข้ามน้ำที่ห่างจากบ้านไปประมาณ 2 กิโลเมตร ลอดอุโมงค์ข้ามน้ำสเกลท์ไปฝั่งตรงข้ามของเมืองแอนท์เวิปที่เป็นพื้นที่สีเขียว มีสระน้ำสำหรับเล่นเรือใบ ต้นไม้ใหญ่ใบเปลี่ยนเป็นสีส้มเหลือง ร่วงหล่นเต็มพื้นหญ้ามองไกลๆเป็นสีเหลืองทองงามอร่ามตา ดูสวยงามมาก ผมกับพี่เกษมก็เก็บภาพกันจนเต็มที่ผลัดกันเป็นนายแบบ ขากลับๆทางอุโมงค์อีกแห่งหนึ่งที่สร้างมา 72 ปีแล้วเป็นแบบบันไดเลื่อนสองชั้น ยาวประมาณครึ่งกิโลเมตร กว้างสี่เมตรกว่าๆ คนเดินและขี่จักรยานผ่านไปได้สบายๆ ส่วนอุโมงค์แรกนั้นใหม่กว่า เป็นแบบลิฟต์เลื่อนขึ้นลงกับแบบทางเดิน พอออกจากอุโมงค์สังเกตว่าด้านใต้อุโมงค์ที่ผมข้ามมานั้นมีถนนสำหรับรถยนต์ด้วยน่าจะเป็นอุโมงค์ลอดข้ามของรถยนต์ แต่ยังหาทางลงไม่เจอ คราวหน้าคงต้องไปสำรวจให้ได้

                  หลังจากนั้นก็กลับบ้านพักเพื่อคุยกับครอบครัวและอ่านหนังสือเตรียมสอบ ขณะที่เพื่อนๆในชั้นส่วนใหญ่แทบไม่ออกไปไหนเลยทั้งเสาร์อาทิตย์เพราะเตรียมตัวสอบ แต่ผมกับพี่เกษมออกสำรวจเมืองทั้งสองวันเลย ไม่รู้คะแนนสอบจะออกมาเท่าไหร่ จะให้อุดอู้อ่านแต่หนังสือคงไม่ไหว ตอนเรียนแพทย์ที่เชียงใหม่ ช่วงสอบผมจะต้องออกกำลังกายอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงทุกวัน ไม่อย่างนั้นจะเครียดมากและไม่มีความสุข

                 วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม อากาศหนาว ฝนตกปรอยๆ ฟังบรรยายทั้งวัน คาบแรกเรียนสังคม-มานุษยวิทยากับอาจารย์โมนิค เรื่องการส่งเสริมสุขภาพและสุขศึกษา อาจารย์โมนิคเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษแล้วผมฟังได้มากที่สุด ฟังได้เกือบทุกคำ ทำให้เข้าใจง่าย คาบที่สองเรียนระบาดวิทยากับอาจารย์สตัฟท์ เรื่องการวิเคราะห์ตัวแปรสองตัว อาจารย์มีวิธีการอธิบายที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่เน้นสูตรที่จำยาก มีตัวอย่างให้เข้าใจที่มาที่ไปแต่มีปัญหาตรงที่ว่าอาจารย์พูดภาษาอังกฤษแล้วผมฟังได้ยากที่สุด ตอนพักบ่าย (ไม่ได้พักเที่ยง) คุณฟิโอน่า (Fiona) พาเดินไปที่คอมมูน (เทศบาล) ไปลงนามทำบัตรผู้อาศัย (บัตรประชาชน) ผมขอทำใบรับรองบ้านพักด้วย กว่าจะกลับมาสถาบันก็บ่ายสองครึ่ง รีบกินข้าวแล้วเข้าเรียนสายไปพักหนึ่งคาบสามเรียนกับอาจารย์โมนิคต่อในเรื่องพฤติกรรมของผู้ให้บริการสุขภาพ เสร็จแล้วก็กลับบ้าน อ่านอีเมล์ อ่านข่าวมติชนแล้วก็อ่านหนังสือเตรียมสอบ

                  วันอังคารที่ 30 ตุลาคม ตื่นเช้ามาอ่านหนังสือ ว่างครึ่งวันให้อ่านหนังสือสอบหลังกินข้าวกลางวันแล้วก็ไปสอบ ข้อสอบไม่ยากนัก น่าจะผ่านไปได้ หลังสอบกลับมาบ้านพักมาต่อสไกป์คุยกับลูก น้องแคนเป็นคนรับสายแล้วก็คุยกับน้องขลุ่ยๆให้วาดภาพช้างให้ดู ผมวาดให้ดูแล้วก็หัวเราะ น้องขิมวาดรูปโบว์ ตุ๊กตาหมี ม้า โดราเอมอนให้ดู น้องขลุ่ยก็เล่าเรื่องไปเล่นกับเพื่อนให้พ่อฟังบอกว่าเพื่อนนั่งดูคอมพิวเตอร์นานเกินไป ไม่ยอมพักสายตา น้องขลุ่ยบอกแล้วก็ไม่เชื่อแล้วก็ร้องเพลงรุ่นใหญ่ของคาราบาวให้ฟัง น้องแคนวาดรูปขั้วโลกเหนือและฟาร์มให้ดู

                  หลังจากคุยเสร็จก็กลับไปที่สถาบันร่วมงานเลี้ยงเล็กๆของชั้นปีและพบอาจารย์ที่ปรึกษาเรื่องการเตรียมนำเสนอการแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ร่วมงานปาร์ตี้กับเพื่อนๆแค่สามสิบนาที เป็นบรรยากาศที่สนุกและเป็นกันเอง จัดง่ายๆ มีอาจารย์มาร่วมงานด้วย ได้เห็นลีลาการเต้นของเพื่อนๆหลายคนสอดประสานไปกับจังหวะดนตรีที่สับเปลี่ยนกันไปของแต่ละชาติเป็นMulticultural party ที่เร้าใจมากก็คือเพลงของละตินอเมริกามีทั้งโคลอมเบีย โบลิเวีย อีกัวดอร์ภายใต้การนำของสามหนุ่มสองสาวรวมทั้งเพื่อนๆที่เข้าไปร่วมวงเต้นด้วย ผมยังไม่ได้เต้นกับเขา เข้าไปงานทีหลัง เลยต้องรอดูท่าทีก่อน ของอินเดียกับยูกานดาก็สนุก เสียดายผมไม่ได้เตรียมเพลงรำวงของไทยไปด้วย พอห้าโมงครึ่งผมต้องไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาเรื่องงาน มีการนำเสนอกันในกลุ่มแล้วอาจารย์กับเพื่อนๆช่วยกันวิพากษ์ เลิกประมาณทุ่มครึ่งก็กลับบ้าน           

                 วันพุธที่ 31 ตุลาคม เป็นวันว่าง ไม่มีเรียน แต่มีงานต้องทำ ก็ไม่ได้ออกไปไหน อยู่เคลียร์งานที่บ้านพัก อาจารย์ที่ปรึกษานัดอีกครั้งบ่ายวันศุกร์ ตามตารางเรียนว่างทั้ง 5 วัน เริ่มเรียนอีกทีวันจันทร์หน้า เป็นการส่งท้ายสิ้นเดือนตุลาคมแบบสบายๆ

                  สัปดาห์ก่อนผมได้พยายามแก้ไขงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ส่งไปเพื่อพิจารณาตีพิมพ์แล้วถูกส่งกลับมาแก้ไขหลังการอ่านพิจารณาของกองบรรณาธิการ หลายประเด็นทำให้เห็นได้ชัดว่าคนอ่านกับคนเขียนสื่อความหมายและมีมุมมองไม่เหมือนกัน แต่ถ้าหากต้องการตีพิมพ์ก็ต้องปรับแก้ไขตามแนวทางของวารสารวิชาการนั้นๆ และผมเองก็ได้เรียนรู้หลักการเขียนงานวิจัยจากการให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับแก้ของกองบรรณาธิการไปด้วย บางส่วนเราเองก็ไม่ได้นึกถึงอาจเป็นเพราะคาดไม่ถึงโดยไม่รู้หรืออคติโดยคิดว่าเราเขียนดีแล้ว การได้รับข้อแนะนำย้อนกลับแบบนี้จึงมีประโยชน์มาก สิ่งที่ผมพยายามทำก็คือปรับรูปแบบในส่วนการเขียนและแนวทางให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะโดยพยายามคงเนื้อหาในส่วนที่เราต้องการสื่อไว้ให้ได้ ก็นับว่ายากเหมือนกัน การเขียนฉบับนี้ผมพยายามปรับตามแนวทางข้อเสนอแนะของงานวิจัยที่ส่งตีพิมพ์ฉบับก่อนๆ แต่คิดว่าคนอ่านงานวิจัยน่าจะเป็นคนละคนกัน จึงมีข้อเสนอแนะที่แตกต่างกันไปบ้าง ก็นับว่าเป็นประโยชน์มากเช่นกัน

                 แต่สิ่งที่ผมสังเกตได้อย่างหนึ่งจากการเขียนงานวิจัยของผมก็คือผมชอบเขียนเป็นภาษาง่ายๆ ภาษาที่คนอ่านแล้วนึกภาพออกได้เลย เป็นภาษาเชิงปฏิบัติ แต่พอแก้ไปหลายๆครั้งภาษาจะกลายเป็นภาษาทางวิชาการที่สื่อถึงวิธีการปฏิบัติน้อยลงเรื่อยๆ จนดูเหมือนหลักการทฤษฎีหรือนามธรรมไป อันนี้ก็ยังไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน ยิ่งเมื่อตำราเรื่องวิจัยเชิงปฏิบัติการหลักการก็บอกว่าปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และความเหมาะสม ไม่มีรูปแบบตายตัว และต้องการสื่อถึงการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติก็ทำให้ยากที่จะเขียนสื่อถึงการปฏิบัติจริงให้เข้าใจง่ายด้วยภาษาทางวิชาการ ผมคิดเองว่า อันนี้น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเข้ามาของการจัดการความรู้ที่เน้นภาษาปฏิบัติ หลักการปฏิบัติที่สื่อให้เข้าใจง่ายๆว่าทำอย่างไรได้เลย แล้วก็พยายามจูนคลื่นเข้าหากันระหว่างงานวิจัยกับการปฏิบัติงานประจำในรูปแบบของการพัฒนางานวิจัยจากงานประจำหรือ Routine to Research หรือ R2R

                   การเขียนงานวิจัยเป็นทักษะ ถ้าทำบ่อยๆก็จะดีขึ้น โดยไม่ต้องไปเข้าฟังบรรยายว่าการวิจัยคืออะไร มีรูปแบบอย่างไรใช้แบบ Learning by doing เข้าใจได้เร็วกว่า เพราะได้ทำจริง การพูดและการอ่านก็เป็นทักษะที่ต้องปฏิบัติจริงเช่นกัน ผมสังเกตว่าตอนผมไปบรรยายครั้งแรกๆ ไม่ค่อยรื่นไหลเหมือนครั้งหลังๆ  คิดว่าคนที่สอบวิธีการพูด วิธีการวิจัยได้คะแนนดีๆ อาจพูดไม่เก่งหรือทำวิจัยไม่เป็นก็ได้ เพราะได้แค่จำความรู้จากตำราหรือเอกสารบรรยายของอาจารย์ไปตอบให้ตรงกับคำตอบในใจของอาจารย์เท่านั้น จำได้มากก็ตอบได้ตรงมาก ขยันท่อง ขยันจำ แต่ไม่ขยันทำก็สอบได้  

                 ผมหัดขี่จักรยานเป็นตั้งแต่เด็กๆ ตอนเรียนชั้นมัธยมปลายก็ขี่จักรยานไปโรงเรียนไปกลับก็ 8 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็แทบไม่ค่อยได้ขี่จักรยานมากนัก พอมาอยู่ที่แอนท์เวิป ช่วงแรกๆก็ไม่กล้าขี่จักรยาน พอขี่วันแรกก็เกร็งๆ ขี่ช้าๆ ผ่านไปสี่ห้าวันก็คล่องขึ้นเหมือนเดิม อันนี้ก็เป็นทักษะ ถ้าเคยมีแล้วจะไม่ลืม พอทบทวนหน่อยก็จะทำได้เหมือนเดิม เหมือนหุงข้าว ทำกับข้าว รีดผ้า ซักผ้า ล้างจาน เรื่องทักษะคอมพิวเตอร์ก็เหมือนกัน พอได้ลองทำบ่อยๆก็คล่องขึ้น ผมเสียดายที่ไม่ได้เรียนพิมพ์ดีดมา ทำให้พิมพ์ (จิ้ม) ได้ไม่เร็วนัก แต่หลายๆคนที่เห็นผมพิมพ์ก็บอกว่าทำได้เร็วมากเหมือนกัน

                 สำหรับทักษะด้านกีฬานั้น นึกถึงตอนที่หัดว่ายน้ำ ผมไม่ได้เรียนทฤษฎีหลักการว่ายน้ำเลย อาบน้ำในแม่น้ำยมทุกเย็น ดำผุดดำว่ายอยู่ มีครั้งหนึ่งออกไปน้ำลึกจมน้ำไปมีป้าคนหนึ่งชื่อป้าเวง (เป็นแม่ของเพื่อน) มาช่วยไว้ทัน ก็เลยต้องหัดว่ายน้ำให้ได้โดยฝึกเหวี่ยงแขน เตะขาไปตามธรรมชาติก็ว่ายจนได้เรียกว่าท่าวัดวา ตอนเด็กๆช่วงหน้าน้ำ น้ำขึ้นเต็มตลิ่ง น้ำยมจะขุ่นและไหลเชี่ยวมาก ผมชอบว่ายน้ำข้ามฝั่งจากจุดเริ่มต้นกว่าจะถึงฝั่งได้ก็ห่างกันเกือบห้าหกร้อยเมตร ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งท้าทายมาก แต่พอมาคิดตอนนี้แล้วถือว่าเป็นการกระทำที่เสี่ยงมาก ถ้าเป็นตะคริวจมน้ำไปก็ตายอย่างเดียวเลย ตอนเด็กบางทีเราคิดอย่างเดียวว่าสนุก เห็นเป็นเรื่องสนุก ไม่มีอะไร เพราะเรายังคิดไม่ไกลนัก เด็กจึงต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลแนะนำ พอไปเรียนเชียงใหม่ ได้ไปดูนักกีฬาว่ายน้ำที่สระรุจิรวงศ์ ก็แอบจำท่าทางต่างๆมาหัดเอง (ครูพักลักจำ) ในช่วงปิดเทอมที่แม่น้ำยม จนว่ายได้ทุกท่า ที่ยากมากคือท่าผีเสื้อ สำลักน้ำไปหลายอึกกว่าจะได้ การหัดเล่นกีฬาของผม มีข้อเสียคืออ่านตำราหรือฟังวิธีทำแล้วทำตามไม่ได้ ต้องลงมือเล่นไปเลยเล่นไปปรับไป อย่างวอลเลย์บอล บาสเก็ตบอล ตอนเรียนมัธยมทำได้ไม่ดีเลย แต่พอเรียนจบไปเล่นกับเด็กนักเรียนมัธยม สังเกตว่าเขาทำอย่างไรแล้วก็ลองทำตามก็พอเล่นได้ดีในระดับหนึ่ง

                   มาอยู่ที่แอนท์เวิปนี่ เขาเล่นแบดมินตันกัน ก็ต้องหัดเล่นกับเขาด้วย จับไม้ได้ก็ตีลูกเลย แล้วก็ปรับไปเรื่อยๆ ส่วนฟุตบอลก็เคยเล่นมาบ้าง ก็พอจะเรียนรู้ได้เร็วและสามารถเล่นเป็นกีฬาเพื่อการออกกำลังกายกับคนอื่นๆได้ สิ่งเหล่านี้ผมได้สังเกตเห็นว่ามีอิทธิพลมาถึงการทำงานของผมด้วย ว่าต้องลงมือทำเอง ทำไปเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่ชอบอบรม ชอบทำไปเลย พอทำแล้วติดขัด มีปัญหาอะไรก็ค่อยอ่านหนังสือ ถามผู้รู้หรือค่อยไปอบรมทีหลัง ไม่ว่าจะเรื่องการพัฒนาคุณภาพหรือการจัดการความรู้ก็เป็นแบบนี้ ทำให้ไปตรงกับคำพูดของอาจารย์หมอวิจารณ์ที่กล่าวว่า KM (การจัดการความรู้) ไม่ทำไม่รู้ แล้วผมก็แอบต่อไปอีกว่า ไม่รู้ต้องทำ           

                  ผมรู้ตัวเองว่าทักษะภาษาอังกฤษของผมไม่ดีมากๆตอนไปสอบของกรมวิเทศสหการ ผมฟังไม่ได้เลย ตอนเรียนในชั้นมัธยม ผมได้คะแนนสอบเกือบเต็มทุกครั้ง ผมทำข้อสอบได้เพราะผมใช้การจำมากกว่าทักษะ อาจารย์ให้ฝึกพูด ก็ไม่ค่อยฝึก ให้ไปฝึกอ่านออกเสียงก็ไม่ค่อยทำ อ่านเฉพาะในหนังสือเรียน ไม่เคยอ่านข่าวหรือบทความภาษาอังกฤษ ยิ่งพอมาอยู่ที่เบลเยียมก็เห็นได้ชัดเลย โดยเฉพาะการฟังและการพูด ส่วนไวยากรณ์ก็ไม่ค่อยได้เพราะใช้ความจำ เรียนมายี่สิบปีแล้ว ลืมไปเยอะเลย แต่ก็ทำให้ผมรับรู้ได้ว่าสิ่งที่อาจารย์ภาษาอังกฤษที่โรงเรียนบ้านป่ากุมเกาะและสวรรค์อนันต์วิทยาสอนผมมานั้นมีคุณค่าอย่างมากที่ช่วยให้ผมสามารถสื่อสารใช้ชีวิตอยู่ได้ในต่างแดน หากผมได้ปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนของอาจารย์แล้ว ผมคงทำได้ดีมากขึ้น

                  ถ้าเป็นความจำ จะลืมได้ง่าย แต่ถ้าเป็นทักษะมักติดตัวไปเพราะมันฝังลึกอยู่ในสมอง โนนากะและทาเคอูชิจึงได้แบ่งความรู้ออกเป็น 2 จำพวก คือความรู้ชัดแจ้งหรือความรู้ในวัตถุ (Explicit knowledge) กับ ความรู้ฝังลึกหรือความรู้ในตัวคน (Tacit knowledge) การศึกษาที่ดีควรเน้นการเรียนรู้ ในลักษณะทุกคนเป็นครู ทุกที่เป็นห้องเรียน เน้นการสร้างความรู้ในตัวที่ทำให้คนมีทักษะ ประสบการณ์ จะนำติดตัวไปใช้ได้ตลอด เรียกง่ายๆ เรียนแล้วต้องรู้ด้วย

                  เมื่อคืนนี้ก่อนนอนความรู้ฝังลึกอันหนึ่งของผมที่เรียกว่า Heuristic หรือสามัญสำนึก (six sense) บอกผมว่าอาจจะมีอะไรเกิดขึ้นไม่ดีสักอย่างที่เมืองไทย คิ้วขวากระตุก (เขม่น) เช้ามานี้ก็ทราบข่าวการเสียชีวิตของคุณยายแยง ยายของภรรยา ท่านอายุเก้าสิบกว่าแล้ว เป็นญาติผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ผมไม่มีโอกาสไปร่วมทำบุญงานศพของท่าน ขออธิษฐานจิตส่งให้คุณยายไปสู่สุคติ การตายเป็นหนึ่งของทุกข์ในคำสอนเรื่องอริยสัจสี่ตามหลักพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า 

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52

2000 Antwerp, Belgium

31 ตุลาคม 2550

09.00 น. ( 15.00 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 143294เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2007 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาอ่าน ได้เรียนรู้เยอะเลย

  

คิดถึง ภาษาอังกฤษ ที่อาจารย์เล่า

อาจารย์หรือใครสอนดีขนาดไหนเท่าไร ลูกศิษย์ก็ฟังและพูดไม่ได้ดี ถ้าไม่ฝึกทำเอง

 ทำนิดหน่อยก็ได้น้อย ทำมากก็ได้มาก

เป็นโอกาสทีดีนะคะที่จะได้ฝึกทุกอย่าง ฟัง พูด สนทนาโต้ตอบ อ่านเขียน เรียนรู้ไปด้วยกัน บูรณาการทุกอย่าง 

เต็มที่เลยค่ะ

 

สวัสดีครับอาจารย์หมอระวิวรรณ

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ หลักการที่ดีที่สุดสำหรับภาษาอังกฤษ ก็คือ จงลงมือปฏิบัติ ใช่ไหมครับ

ฝากความคิดถึงไปให้คุณหมอสำเริง สีแก้ว กับอาจารย์หมอชำนาญ ด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท