เมื่อเครื่องจักร...ทำให้วิถีชีวิตของชาวนาเปลี่ยนแปลงไป


เมื่อเครื่องจักร...ทำให้วิถีชีวิตของชาวนาเปลี่ยนแปลงไป

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวนาเริ่มมีการเกี่ยวข้าวกันแล้ว โดยเฉพาะข้าวเบา ซึ่งจะสุกก่อนข้าวหนัก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการทำนาหลายอย่าง เนื่องจากบ้านผมเองก็เป็นชาวนา พ่อทำผมนามานานกว่า 50 ปีแล้ว แต่หลังจากที่ผมซึ่งเป็นลูกคนสุดท้องจบและมีงานทำ นาจึงปล่อยให้เขาเช่า โดยได้ค่าเช่าเป็นข้าวปีละ 1 เกวียนแทน

ความเปลี่ยนแปลงที่ผมกล่าวถึงคือเรื่องของการเกี่ยวข้าว เป็นเวลา 2 ปีมาแล้วที่ผมไม่เห็นคนรับจ้างเกี่ยวข้าวมาอยู่ในตำบล เพราะทุกปีคนรับจ้างเกี่ยวข้าว หรือที่เรียกกันว่า "แขกเกี่ยวข้าว" จะมาอาศัยบ้านในหมู่บ้านหรือตามยุ้งเก่าๆของคนในหมู่บ้านผมเพื่อรับจ้างเกี่ยวข้าว

หากผมจะแบ่งวิถีชีวิตของชาวนาในจังหวัดตราด โดยใช้เรื่องของการเกี่ยวข้าวแบ่ง คงจะแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะใหญ่ๆคือ

ระยะที่1 เมื่อประมาณกว่า 15 ปีที่แล้ว สมัยที่ผมยังเด็กๆ ชาวบ้านจะลงแขกเกี่ยวข้าวหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ แต่ละคนก็ห่อข้าวกันไปกินกันเองในมื้อกลางวัน แต่มื้อเย็นเจ้าของนาจะเลี้ยงตอบแทน 1 มื้อ ซึ่งกับข้าวส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาหารจากปลา เพราะว่าช่วงดังกล่าวน้ำในห้วยหนองจะแห้ง ชาวบ้านก็จะออกไปจับปลากันด้วย ตอนเย็นหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จ บรรยากาศดังกล่าว ผมเองก็ได้สัมผัสอยู่ช่วงหนึ่งของชีวิต

ระยะที่ 2 เริ่มมีคนรับจ้างจากต่างถิ่นเข้ามารับจ้างเกี่ยวข้าว คงเริ่มมาประมาณ 15 ปีได้แล้ว คนส่วนใหญ่จะมาจากเขตภาคกลางแถวจังหวัดปทุมธานี อยุธยา เข้ามารับจ้างชาวบ้านเกี่ยวข้าว โดยมาแต่ละกลุ่มประมาณ 10 คน โดยคิดค่าเกี่ยวเป็นไร่ มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านประมาณ 2 เดือนคือเดือนพฤศจิกายน และธันวาคมแล้วก็จะกลับ แขกเกี่ยวข้าวเหล่านี้ทำให้ร้านค้าในหมู่บ้านขายดีไปตามๆกัน ซึ่งเมื่อเกี่ยวข้างเสร็จจะมีการลงแขกนวดข้าวกัน โดยในหมู่บ้านของผมจะแบ่งคนออกเป็น 2-3 ชุด เพื่อไปลงแขกนวดข้าว จำนวนชุดที่แบ่งขึ้นอยู่กับจำนวนสีฝัดข้าว (เป็นเครื่องมือที่ใช้แรงลมทำความสะอาดเมล็ดข้าว)ภายในหมู่บ้าน ซึ่งบ้านผมเองก็มีอยู่ 1 ตัว สภาพยังดีอยู่แต่ไม่ค่อยได้นำมาใช้งานจริงแล้ว ไว้จะนำภาพมาให้ชมกันครับ

ระยะที่ 3 มีมาประมาณ 5 ปีแล้ว แต่ที่เห็นชัดเจนอยู่ประมาณ 2 ปี ระยะนี้จะเป็นการเกี่ยวข้าวโดยใช้รถเกี่ยวพร้อมนวด ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของนาจะชวนเพื่อนบ้านเพียง 1-2 คนมาช่วยเท่านั้น ทำให้บรรยากาศการลงแขกทำกิจกรรมได้หายไปจากหมู่บ้าน ระบบการจ้างถูกเข้ามาทดแทน แขกเกี่ยวข้าวก็สูญหายไปจากหมู่บ้าน วิถีการผลิตของชาวนาแม้จะง่ายขึ้น สะดวกขึ้น แต่ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจะน้อยลง

ผมเองยังคงชอบบรรยากาศการลงแขกเก่าๆ ของหมู่บ้านอยู่   ที่แต่ละคนเอาใจมาช่วยกันทำงาน เมื่องานเสร็จก็กินข้าวกันสักมื้อ อาหารก็เป็นอาหารพื้นบ้านที่หาได้จากธรรมชาติ ด้วยความหิวบวกความเหนื่อย ทำให้อาหารแต่ละมื้อนั้นเป็นอาหารที่อร่อยมากๆ แต่ละคนก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน อาจจะมีเหล้าขาวสักเล็กน้อยที่กินพอเป็นกระสัยไม่ถึงกับเมามาย แต่ปัจจุบันด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัย ทำให้วิถีชีวิตของชาวนาจังหวัดตราดเปลี่ยนแปลงไป

หมายเลขบันทึก: 143021เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2007 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

สวัสดีครับ คุณสุดทางฯ

จินตนาการแบบนี้ นักวิจัยทางสังคมศาสตร์บอกว่า เป็นจินตนาการของการโหยหาอดีตในท้องถิ่นชนบทอันงดงามครับ (nostalgia of rural romanticism) ผมเองก็เสียดายครับ ที่ภาพเหล่านั้นหายไปจากความจริง และเหลือเพียงความทรงจำ

หากจะรื้อฟื้นมาเล่าก็จะงดงามมากทีเดียวครับ

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องการพัฒนาที่เน้นการผลิตเพื่อขายมากขึ้น  เป็นเหตุการณ์ทางสังคมที่ปกติครับที่เกิดการเข้าแทนที่ของเครื่องจักรอันแข็งกร้าว เทอะทะ ยากเกินที่จะเรียกความสวยงามของวิถีเดิมๆกลับคือมาเสียแล้ว ...อยากให้มีการอนุรักษ์วิถีดั้งเดิมของเกษตรกรไทยไว้บ้าง

การลงแขกเป็นการสร้างความสัมพันธ์แนวราบระหว่างคนในชุมชนที่น่ารัก โอบอ้อม อารี นับวันก็จะหายไป บ้านผมยังพอมีให้เห็นบ้าง แต่ก็น้อยลงมากครับ

 

  • สวัสดีค่ะ
  • ที่ปางมะผ้า ยังเปลี่ยนไม่มากค่ะ
  • เพราะเครื่อจักรเข้าไปไม่ได้
  • ยังใช้แรงคน เกี่ยวข้าว ตีข้าว
  • เหมือนในรูปแหล่ะ ค่ะ

Dscf1304

  • สวัสดีค่ะ น้อง X
  • เข้าใจง่าย ภาพสวย และเห็นด้วยเลยค่ะ แบ่งเป็นยุคๆ ทำให้นึกภาพตามไปได้เรื่อยๆ ประสบการณ์มากมาย เขียนให้ได้ทุกวันนะคะ คุณภาพคับพุงจริงๆ..อิอิ
  • ดีใจจริงๆ ค่ะ ที่อ่าน ขอบคุณสำหรับการแบ่งปัน
สวัสดีค่ะ คุณสุดทางบูรพา ดีใจค่ะที่คุณชอบการเกี่ยวแบบสมัยก่อน มีเทคโนโลยีทำวิถีชีวิตคนเปลี่ยนไปจริงๆค่ะ
  • สวัสดีครับอาจารย์เอก
  • ผมอาจจะมีความรู้สึกโหยหามากเป้นพิเศษ เนื่องจากได้รับรู้ความรู้สึกในแต่ละช่วงมาเปรียบเทียบกันครับ
  • เมื่อความสุขเริ่มน้อยลง เราย่อมที่จะแสวงหามาทดแทนครับ
  • ขอบคุณครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • สวัสดีครับหมอกุ้ง
  • ที่ปางมะผ้าอาจจะมีลักษณะการปลูกแบบข้าวไร่ สภาพพื้นที่ค่อนข้างลำบาก ทำให้ไม่มีรถกล้าเข้าไปมั้งครับ กลัวตกเขา
  • อย่าหนีหอยโข่งเที่ยวบ่อยนักนะเดี๋ยวหอยโข่งจะปล่อยลมยางเอา
  • ขอบคุณครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • สวัสดีครับพี่ปลาเค็ม
  • รออ่านบันทึกจากญี่ปุ่นอยู่นะครับ
  • ขอบคุณครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • สวัสดีครับ คุณberger0123
  • ผมเองก็ประเภทอนุรักษ์นิยมเหมือนกันครับ ชอบวัฒนธรรมเก่าๆแต่ไม่ชอบของเก่าครับ
  • ขอบคุณครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • สวัสดีครับ คุณประดิด
  • แถวๆบ้านผม ไม่มีนาให้เกี่ยวข้าวแล้วครับ เห็นแต่รถบรรทุก แบกรถเกี่ยวข้าวผ่านหน้าบ้าน ลงไปทางใต้ คงจะไป จ.พัทลุง เพราะยังมีพื้นที่นาเยอะ
  • การลงแขกเกี่ยวข้าว อนาตค คงจะเป็นตำนาน มั้งครับ
  • สวัสดีพี่หนุ่มร้อยเกาะ
  • อนาคตของการลงแขกเกี่ยวข้าว นวดข้าวคงหมดไปเร็ววันนี้แหละครับ
  • ขอบคุณครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
การทำนาทุกวันนี้ลงทุนเยอะ มีแต่น้ำเงินไม่มีน้ำใจ อยากจะให้เป็นเหมือนก่อนจังเลย

สวัสดีคะ น้องสุดทางบูรพา

  • ต้องขอขอบคุณชาวนา ที่ปลูกข้าวให้เรารับประทาน
  • ข้าวเบาสุกก่อนข้าวหนัก
  • แล้วนอกจากจะสุกก่อนแล้วข้าวเบามีรสชาด หรือคุณค่าทางอาหารแตกต่างจากเข้าหนักหรือเปล่าคะ...
  • ขอบคุณสำหรับคำบอกเล่าวิถีชีวิตชาวนาจังหวัดตราดที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนเปลง
  • พี่ก็รู้สึกชอบบรรยากาศในระยะที่ 1 ที่ชาวนาช่วยเหลือ แบ่งปันกันกันมาก

สวัสดีครับคุณประดิษฐ์

สบายดีไหมครับ เอามาฝากครับผม

คุณเห็นภาพเหล่านี้ในทุ่งนา ล่าสุดเมื่อไหร่ ครับ

สนุกในการทำงานครับ 

สวัสดึคะ

ย้อนภาพอดีตได้ชัดเจนเลยคะ

ทำให้นึกถึงบ้านตัวเอง...

ตอนนี้เป็นระยะของการปรับเปลี่ยน และคาบเกี่ยวกันทั้งสามระยะ

คนมีสตางค์และมีที่นามากๆ ก็จ้างรถเข้ามาจัดการ

คนมีที่นาที่รถเข้าไม่ได้ก็จ้างแขกเกี่ยวข้าว

คนมีที่นาไม่มาก แต่เพื่อนฝูงมาก ก็เอามื้อเอาวันกันตามวิถี...บ้างก็พูดว่า เลี้ยงข้าวคนมาช่วย คิดแล้วยังแพงกว่าจ้างคนมาเกี่ยวให้...

ก็ไม่รู้ว่าจะได้เห็นวัฒนธรรมการเอามื้อเอาวันกันอีกนานแค่ไหน...

---^.^---

 

 

  • เอาภาพมาฝากค่ะ
  • Mb1
  • ภาพแบบนี้เริ่มเป็นที่ชินตาของชาวบ้าน
  • ผู้หากินจากแดนไกล...มาจากภาคกลางค่ะ
  • สาเหตุสำคัญที่ทำให้สามารถสร้างความนิยมในหมู่ชาวนาได้ คือ การไม่เรื่องมากของรถเกี่ยวนวด...จ่ายค่าจ้างแล้วก็เสร็จ....ไม่ต้องเลี้ยงรับเลี้ยงส่งแขก...ไม่อู้งาน....เกี่ยวได้เต็มความสามารถ
  • โดยเจ้าของแปลงอาจลืมคิดไปว่า...เจ้าตัวนี้น้ำหนักมากแค่ไหน...บดขยี้แปลงนาสร้างความเสียหายกับผืนนา...สร้างความเสียหายของระบบความสัมพันธ์ในชุมชน...
  • เอาความรวดเร็วเข้าว่า...เกี่ยวเร็ว (เกี่ยวเสร็จ นวดเรียบร้อย...บรรจุถุงทันที) ...ขายเร็ว...ได้ตังค์เร็ว....ใช้หนี้ได้ทันใจ
  • โลกาภิวัตน์...เป็นอย่างนี้เองเนาะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะน้อง

พี่ได้รับเงินแต่ไม่รู้เป็นเท่าไรค่ะ มีหลายยอดเหลือเกินค่ะ และอยากให้น้อง faxมาใหม่ค่ะเพราะไม่ได้รับค่ะ บอกไซส์แบบ และจำนวนเงินที่ส่งด่วนนะค่ะ จะได้ทำและส่งไปให้ค่ะ ขอบคุณ รบกวนแจ้งพี่ด้วยค่ะ

  • สวัสดีครับคุณ nancy
  • ปลุกข้าวด้วยน้ำเงินไม่มีน้ำใจกินไม่อร่อยครับ
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์เม้ง สมพร ช่วยอารีย์
  • นาข้าวอยู่หลังบ้าน แต่ผมเห็นภาพทุ่งนาครั้งสุดท้ายเมื่อหลายเดือนมาแล้วครับ
  • ว่าจะไปถ่ายภาพทุ่งนาสวยๆยามเช้ามาให้ดูกันครับ
  • สวัสดีครับ คุณพิมพ์ดีด
  • ความสำคัญของการลงแขกมันไม่ใช่จบด้วยการเลี้ยงข้าวหนึ่งมื้อนะครับ แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์Gutjang
  • การใช้เครื่องมือเครื่องจักรขนาดใหญ่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สภาพพื้นที่มากครับ โดยเฉพาะในเรื่องของสภาพพื้นดินที่แข็งขึ้น
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท