พัฒนากระบวนทัศน์สู่การสร้างสุข....สุขภาพพอเพียง รุ่นที่ ๑


หลายคนมีประสบการณ์จัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพมาบ้างแล้ว

วันนี้เป็นวันแรกของการอบรมครู ก. ในโครงการ “พัฒนากระบวนทัศน์สู่การสร้างสุข....สุขภาพพอเพียง” รุ่นที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๙-๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มี ผศ.ดร.นัยนา หนูนิล เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สปสช.เขตพื้นที่สุราษฎร์ธานี ผู้เข้าอบรมมาจาก ๗ จังหวัดภาคใต้ตอนบน รุ่นละ ๔๐ คน แต่วันนี้นับผู้ที่มาได้ ๓๕ คน

เราใช้ห้องประชุมที่เรือนวลัยเป็นที่จัดงาน แม้จะไม่ดีนัก เพราะไม่ได้ออกแบบมาสำหรับงานประชุมโดยเฉพาะ แต่ก็พอใช้ได้ และสะดวกเพราะที่พัก ที่ประชุม ที่รับประทานอาหารอยู่อาคารเดียวกัน ช่วงเช้าเริ่มจากกิจกรรมสัมพันธ์ เพื่อรอผู้เข้าประชุมที่มาถึงช้าไปด้วย พร้อมทั้งให้ผู้เข้าอบรมเขียนความคาดหวังของตนเองและการเตรียมตัวมาเข้าอบรมครั้งนี้

ในการจัดงานครั้งนี้ ทีมผู้รับผิดชอบวางแผนให้ผู้เข้าอบรมได้ประเมินสุขภาพตนเองไปด้วย เราจึงขอยืมอุปกรณ์ตรวจน้ำตาลในเลือดจากบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันมาใช้ ดิฉันไปร่วมกิจกรรมเมื่อเวลาประมาณ ๐๙.๓๐ น.อาจารย์นัยนาบอกว่าได้แจ้งผู้เข้าอบรมว่าจะให้ตรวจน้ำตาลในเลือดของตนเอง มีบางคนบอกไม่ขอเจาะ

ทีมงานต้องการให้ผู้เข้าอบรมได้ตรวจน้ำตาลในเลือดของตนเองก่อนพักรับประทานอาหารว่าง ดิฉันจึงบอกวัตถุประสงค์ว่าอยากให้ทุกคนมีประสบการณ์ด้วยตนเอง แนะนำวิธีการตรวจเลือดและใช้เครื่อง ตรวจเลือดของตนเองให้ดู เราไม่ได้เตรียมแอลกอฮอล์มา ดิฉันบอกให้ทุกคนล้างมือก่อนตรวจ แต่เอาเข้าจริงไม่เห็นใครออกจากห้องไปล้างมือสักคน บางคนที่บอกว่าไม่ตรวจหรอกเพราะตรวจมาแล้วปกติ แต่เมื่อเพื่อนๆ ตรวจกันก็ทำตาม ทุกคนบอกว่าเจาะเลือดไม่เจ็บเลย แต่เสียวไส้

อาหารว่างมื้อนี้หนักทีเดียว มีทั้งน้ำหวานที่หวานมากไป ขนมถั่วแปบ และผลไม้ เราแจ้งให้ผู้จัดอาหารลดน้ำตาลลงครึ่งหนึ่งในมื้อต่อๆ ไป

 

 ขนมถั่วแปบ อร่อย แต่กินหมดก็ไม่ไหว

ต่อจากนั้นดิฉันรับหน้าที่บรรยายให้เห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพ เอาข้อมูลการสำรวจสภาวะสุขภาพของคนไทยที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ ๓ ปี ๒๕๔๖-๒๕๔๗ มานำเสนอให้เห็นถึงพฤติกรรมเสี่ยงและปัญหาสุขภาพของคนไทย ทำความเข้าใจเรื่องของแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพ ยกตัวอย่างกิจกรรมในชุมชนและในโรงเรียนที่เคยมีประสบการณ์มาเล่าให้ฟัง บรรยากาศนอกห้องที่มีฝนตกปรอยๆ ตลอด ประกอบกับน้ำเสียงของดิฉัน ทำเอาผู้เข้าอบรมก้มคำนับกันหลายคน

เหลือเวลาอีกประมาณ ๓๐ นาทีจะเที่ยง อาจารย์นัยนาจึงให้แต่ละกลุ่ม พูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าจะมีแผนจะไปจัดกิจกรรมในกลุ่มเป้าหมายอย่างไรบ้าง ใช้เวลา ๑๕ นาที แล้วให้แต่ละกลุ่ม (มี ๕ กลุ่ม) ออกมานำเสนอ

 

 แลกเปลี่ยนกันในกลุ่มย่อย

สิ่งที่ตัวแทนแต่ละกลุ่มมาเล่าให้ฟัง ทำให้เรารู้ว่าหลายคนมีประสบการณ์จัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพมาบ้างแล้ว บางกลุ่มเล่าให้ฟังว่าตนเองทำอะไร อย่างไร มีอะไรที่ภูมิใจบ้าง บางกลุ่มเล่าปัญหาที่พบ เช่น คัดกรองความเสี่ยงแล้ว ปรากฏว่าคนที่เสี่ยงจริงๆ มาร่วมกิจกรรมไม่ได้ คนที่มาร่วมบางคนถูกบังคับให้มา

บางกลุ่มมาบอกเคล็ดลับที่จะทำให้การจัดกิจกรรมประสบความสำเร็จ เช่น อย่าเอาคนมาก แค่ ๓๐-๕๐ คน กำลังดี ถ้าไปเข้าค่ายนอกสถานที่ต้องเหมารถไปด้วยกัน ถ้าปล่อยให้ไปเองจะมีคนที่หายไปหรือกลับก่อน ถ้าจัดค่ายแบบไม่ค้างคืนจะมีคนที่มาสายหรือขาดไป ต้องใช้ความเป็นกันเองเพื่อดึงเขาให้อยู่กับเรา เมื่อคัดกรองแล้วให้ส่งผลกลับไปที่หน่วยงานต้นสังกัดด้วย เมื่อติดตามประเมินก็ให้ส่งผลการประเมินกลับไปอีก และมีรางวัลสำหรับคนที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น

หลายเสียงบอกอยากมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งอาจารย์นัยนารับปากว่าจะจัดให้แน่นอน

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 142835เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2007 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนอ.วัลลา

ตามเข้ามาร่วมลปรรค่ะ

ที่รพ. เมื่อวานนี้ก็แจกแป้งจอห์นสันให้กลุ่มเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด  3 เดือนย้อนหลังได้

หวังว่าดือนธ.ค คงได้พบอาจารย์อีกครั้ง

ผู้จัดการภญ.ธีรารัตน์  อยากได้ตารางที่จะจัดอบรมเดือนธ.ค นี้ด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท