KM Team Tour (3) … เรียนรู้ได้ เมื่อลงมือทำจริง


ลงมือทำ เราก็จะรู้

 

ยังมีคำถามมากมาย หลากหลาย ที่สงสัยกับผลที่จะเกิดจากการจัดการความรู้ ... ถามมา ก็ได้คำตอบไป แต่ยังไม่ใช่ คำตอบสุดท้าย

คุณนพรัตน์ ผลิตากุล กลุ่มอนามัยเด็กวัยเรียน สำนักส่งเสริมสุขภาพคุณนพรัตน์ ถามคำถามที่น่าสนใจว่า ... ตอนที่ให้ทำ KM ก็สนใจว่า KM คืออะไร ไปเรียน ไปฟังมา ก็ยังไม่เข้าใจ ว่าต้องทำงานอะไร ยังไง และตอนที่ไปทำ KM ของสำนักส่งเสริมฯ ที่ รร.ริชมอนด์ โดยสำนักที่ปรึกษามาเป็นวิทยากรให้ ก็ยังสับสนว่า ... ทำแล้วเราจะได้อะไร และเราจะทำอะไร เพราะว่าตอนที่เราต้องทำแผน ทำ CoP เราจะทำเรื่องอะไร ก็รู้สึกว่า เราก็ยังไม่รู้ชัดว่า ว่าจุดมุ่งหมายปลายทางของเราคืออะไร ถูกต้องหรือเปล่า ชัดเจนหรือเปล่า มาครั้งนี้ก็ชัดเจนขึ้นสักหน่อย แต่ก็ยังไม่แน่ใจ

คุณจินตนา ... ตอนแรกที่เข้ามาทำก็งงค่ะ ว่าคืออะไร และที่เราทำอยู่เดิมนั้น เป็นการจัดการความรู้ไหมนั่น เพราะที่เราคุยๆ กัน และทำออกมาแล้ว ก็คิดว่าใช่นะ คล้ายนะ แต่ก็ยังไม่แน่ใจนัก แต่ที่ได้ทำเรื่อง Thallassemia กับอาจารย์สมศักดิ์ ก็เข้าใจว่า วิธีการที่ได้ทำมานั้นเป็นการจัดการความรู้แน่ๆ แต่พอมาทำแผนของสำนัก ก็ยังงงๆ เพราะว่า พอเสร็จแล้ว เราต้องมาเลือก Domain ซึ่งเป็นเรื่องของกลุ่มอายุ และเราจะเลือกเรื่องอะไร ที่จะให้งานที่เลือกตรงกันมากที่สุด พอไปเลือกงานส่งเสริมสุขภาพ ก็เลยหยิบงานของตัวเอง (งานแม่และเด็ก) มาเล่าให้ฟัง และมันจะใช่หรือไม่ Domain อันนี้มันกว้างไหม เราต้องเลือก Domain แบบไหน ก็เลยยังหาข้อสรุปไม่ได้จนปัจจุบันอีกค่ะ ว่า เราจะเอา Domain เฉพาะทางไปเลย หรือจะเอา Domain กว้างๆ ดี

นพ.ชื่น ได้เล่าถึงการประชุม ที่มาคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในสำนักว่า ... ในที่ประชุมตอนที่มาคุยกันครั้งสุดท้าย เพื่อเป็นการให้ความรู้เรื่อง KM ก็รู้สึกว่านักวิชาการให้ความสนใจ ที่รู้สึกอย่างนั้น เพราะว่าที่จัดครั้งนั้นเป็นการเชิญแบบไม่บังคับ ใครว่างก็มา ก็ตั้งใจมากันเยอะ กลุ่มแม่และเด็กส่วนใหญ่ไม่ค่อยมา เพราะมีภารกิจเยอะ แต่วันนั้นมาเกือบหมด คิดว่า ... เขาก็คงสนใจเรื่อง KM เหมือนกัน ก็มานั่งคุย และวิเคราะห์กัน และสรุปร่วมกันว่า เรื่องที่จะนำมาคุย คงเป็นเรื่องที่ทุกกลุ่มงานเกี่ยวข้อง มีประสบการณ์ร่วมกัน และมีลักษณะงานค่อนข้าง specific หน่อย เพื่อที่เวลาคุยออกมาจะได้เป็นเรื่องเดียวกัน การที่มีประสบการณ์ร่วมกัน ก็จะได้ต่อยอดกันได้ เพราะถ้าเอามาแต่เรื่องของกลุ่มงานที่แต่ละหน่วยรับผิดชอบ คนที่เข้ามาร่วมด้วย อาจไม่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ หรือต่อไปถ้าเกิดความรู้ตรงนี้ ก็สามารถให้จังหวัดรอบๆ หรือพื้นที่ใกล้ๆ มาร่วมกับเราได้ ก็เป็นการเพิ่มความรู้มากขึ้น นอกเหนือจากความรู้ของพวกเราเอง จึงเสนอให้มีการคุยกันเดือนละครั้ง และต่อไปก็ค่อยเอาเครือข่ายใกล้ๆ ศูนย์ หรือจังหวัดใกล้ๆ เข้ามาร่วมด้วย จึงเลือกเรื่อง เครือข่ายส่งเสริมสุขภาพ เพราะว่าทุกกลุ่มงานจะเกี่ยวข้องอยู่กันแล้ว

นพ.สมศักดิ์ ... ลองต่อตรงนี้ก่อนก็ได้ เพราะว่าตอนแรกๆ ผมเห็นแผนของสำนัก ผมมีคำถามว่า ตกลงว่า ถ้าทำ KM ปี 49 อะไร คือ ความเปลี่ยนแปลงของสำนักฯ ที่น่าจะเกิดขึ้น คุณหมอชื่นบอกว่า จะทำให้ทุกคนสามารถสร้างเครือข่ายการส่งเสริมสุขภาพได้ดีขึ้น ... จริงหรือเปล่า ... ผมตีความไม่ถูก เพราะว่าในแผนใช้คำว่า จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กลุ่มชุมชนแนวปฏิบัติ การพัฒนาเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพ คำว่า การพัฒนาเครือข่ายการส่งเสริมสุขภาพนี้ คือ หัวปลาใช่ไหม คือ ลักษณะของงานที่เราอยากทำให้ดีขึ้นใช่ไหม แปลว่า เมื่อทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วเมื่อปีที่แล้ว อาจจะทำเรื่อง การตรวจเต้านมด้วยตนเอง Thallassemia และเรื่องอื่นๆ และต่อมาในปีนี้ เรื่องที่ทำไปปีที่แล้วนั้น มาปีนี้ไม่ทำแล้ว ถูกต้องหรือไม่

นพ.ชื่น ... ยังไม่ถูกต้อง ก็ตรงที่งานตรงนั้นเป็นงานที่เราพยายาม Intervention กับจังหวัด หรือที่เราเป็นผู้ดำเนินการด้วย แต่ไม่ได้ผลการดำเนินงานสม่ำเสมอ เช่น เรื่อง CoP เรื่อง breast exam, รพ.ส่งเสริมสุขภาพ คือถ้ามีโอกาส ในปีนี้ก็จะยังดำเนินการอยู่ เช่น เรื่อง Food Safety ก็จะมีการดำเนินการต่อที่จังหวัดแพร่ โดยใช้หลักการ KM ไปหาวิธีการใหม่

และการที่กำหนดในเรื่อง เครือข่าย เพราะคิดว่า มันเป็น Key strategy และเป็นประเด็นใน Bangkok charter ในหัวข้อ Policy and partnership จึงเอาเรื่อง partnership มาเป็นประเด็นว่า ถ้าจะทำงานส่งเสริมสุขภาพ เรื่องของเครือข่ายเป็นประเด็นสำคัญ เพราะเราไม่สามารถทำเองได้ จึงเอาประเด็นนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้กว้างขวางมากขึ้น

คุณนพรัตน์ได้เสริมขึ้นว่า ... การที่เรามองว่า ส่วนใหญ่เราทำงานวิชาการ เช่น กลุ่มอายุทำงานวิชาการ เรื่องความรู้ และในประเด็นที่ว่า ถ้าเราทำ KM เพื่อพัฒนาสำนักฯ กลุ่มคนรถ หรือว่าฝ่ายบริหารเขาน่าจะมีส่วนร่วมด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่ได้มาคุยด้วย ก็ถือว่าไม่ได้พัฒนาองค์กร คือ มองในจุดนั้นด้วย เพราะฉะนั้น เราก็คิดว่า เรื่องเครือข่าย ส่วนการเงิน หรือว่าคนรถก็มีส่วนร่วม เขาจะสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการประชุมวิชาการเป็นเรื่องๆ เขาอาจไม่ได้มาร่วมด้วย ก็ไม่ทราบว่าคิดถูกหรือผิดในแบบนี้ ก็เลยยังลังเลอยู่ว่า แล้วเป้าหมายของ KM ที่แท้จริง นั้น เราจะเลือกในเรื่องพัฒนาองค์สำนัก หรือว่าเราพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพดี

นพ.สมศักดิ์ ... ขอตอบเท่าที่รู้ก่อนนะครับ ผมก็ยังไม่มีความรู้ ยังนึกไม่ตก เอาที่พอนึกออกก่อนว่า

ที่เราทำ KM เป้าหมายก็คงอยากให้พัฒนาองค์กร เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่เรื่อง OD แบบที่เราเคยทำกัน มันเป็นความพยายามที่จะพัฒนาองค์กร โดยทำให้คนในองค์กรเป็นนัก เรียนรู้ และองค์กรมีความรู้สะสม ทีนี้ก็มีประเด็นที่ว่า ทุกคน ไม่ว่าคนขับรถ หรือนักวิชาการ ก็เป็นนักเรียนรู้ และองค์กรก็น่าจะได้สะสมประสบการณ์ของทุกคนในองค์กร อันนี้ก็เป็นหลักการ
ทีนี้ คำถามที่ยากกว่าก็คือ แล้วมันควรจะทำพร้อมๆ กันหรือต่างคนต่างทำ ถ้าเราเอาเรื่องๆ หนึ่งมาคุยกัน เช่น เรื่อง ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง แล้วก็เป็นการไปทำงานกับเครือข่ายนอกพื้นที่ด้วย เราควรเอาคนขับรถเข้ามาร่วมในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้ไหม จะได้ไปด้วยกัน หรือว่า เอาเฉพาะนักวิชาการเท่านั้น อันนี้ผมนึกไม่ค่อยออกว่า จะตอบยังไง ก็บอกได้อย่างเดียวว่า ลองดูสิ ได้ทั้ง 2 แบบมั๊ง

นึกถึงตัวอย่างที่คุณจินตนาเล่า ก็นั่งนึกไปว่า เออ ก็เป็นไปได้นะ ถ้าเราสมมติว่า เราไปส่งเสริมการสร้างเครือข่าย สมมติออกไปที่พื้นที่ ให้เขต 4 ก็แล้วกัน ชวนเครือข่ายของเขต 4 เรื่องส่งเสริมสุขภาพมาคุยกัน มาประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และเราเอาคนขับรถไปด้วย เราก็อาจให้คนขับรถพาเราไปแล้ว เขารู้จักเครือข่ายมากน้อยแค่ไหน เขามีบทบาทแค่ไหนที่จะทำให้เครือข่ายรู้จักกรมอนามัยดีขึ้น หรือรู้จักนักวิชาการดีขึ้น สมมติว่าเขาขับรถเฉยๆ แล้วพอขับรถถึงที่เขาก็ไปนอน ก็เป็นไปได้เราอาจจะรู้บทบาทใหม่ของคนขับรถ คล้ายๆ กับเรื่องที่เล่าตอนต้นๆ เรื่อง สตง. เราก็ไม่ได้สั่งเขานะ ให้เขาดูแล สตง. เราทำให้คนขับรถเป็นห่วงเป็นใยว่า ถ้าเขาทำความหงุดหงิดให้ สตง. แล้ว เขาจะลำบากได้ด้วย เขาไม่น่าจะกลัวว่า สตง. จะไล่เขาออก แต่เขาก็ดี เขาก็มีใจนะ ของพวกนี้ก็เป็นของดีที่เราน่าจะรู้ และถ้าเรารู้ก็ดีนะ พอเวลาเขาเล่าคนอื่นก็จะได้รู้ว่า คนขับรถไม่ใช่แต่จะขับรถอย่างเดียวนะ ต้องรู้ความเป็นความตายขององค์กรด้วย อันนี้ก็คงเป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่ผมนึกออก แต่ยังนึกรูปธรรมไม่ออกเหมือนกันว่าเป็นยังไง มีแต่ว่า เอ้า ก็ชวนคนขับรถมาคุยกันสิ อย่างน้อยคนขับรถเวลาพาเราออกไปพื้นที่น่ะ เขารู้จักเครือข่ายของเราหรือเปล่า และเขาคิดว่าเขามีบทบาทแค่ไหน และที่เขาทำ เขาคิดว่า ควรจะทำกับเครือข่ายของเรา อันนี้คงเป็นความคิดแบบเร็วๆ ครับ แต่หลายๆ อย่างคงยังไม่มีคำตอบได้ว่า จะทำอย่างไรบ้าง

พญ.นันทา … ในเรื่องนี้ ถ้าเรามีหัวปลาอันเดียวกันนี้นี้ เราลองชวนคนขับรถ ให้เขาได้คุย อาจจะมีอะไรที่เราไม่รู้มาก่อน ในสิ่งที่เขาได้ช่วยสร้างเครือข่ายให้เรา และอันนี้ก็เป็นอันหนึ่งที่เขาจะมีส่วนร่วมได้ กับอีกอันหนึ่งก็คือ เรามีการสร้างเครือข่ายในอีกเรื่องก็ได้ คือเรื่อง การบริการให้ผู้รับบริการพึงพอใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าตัวเองก็ยังคิดว่า ถ้าเราเอาคนขับรถ ซึ่งก็เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับเรามาก ถ้าเอาเขามาเล่า ก็น่าจะมีเรื่องเล่าได้

พญ.นันทา อ่วมกุล และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัยตัวเองได้ไปเยี่ยม รพ. แห่งหนึ่ง เขาจะเป็นธรรมเนียมเลยว่า เวลาคนขับรถพาไปดูงานอีกโรงพยาบาลหนึ่ง เขาไม่ได้แปลว่า ให้คนขับรถไปถึงแล้วจอดรถ อาจจะนั่งรอ ดูแลรถ หรือไปไหนก็ไม่รู้ เขามีการจัดการให้คนขับรถไปดูงานเหมือนกัน คือ ไปร่วมงาน ดูงาน ทั้งที่ไปลักษณะพร้อมทีมของเขา แล้วก็ไปดูงานเรื่อง ยานพาหนะ ก็ปรากฏว่า ทำอย่างนี้สักพัก เขาก็ได้เรียนรู้ และนำความรู้มาปรับใช้โดยโรงพยาบาลไม่ต้องบอก เขาจะมีระบบ maintenance ที่ดี ดูแล ทำแผนเรื่องรถดีมาก เลิกกินเหล้า เลิกสูบบุหรี่ และมีการเอื้ออาทรต่อกัน เช่น เขามีคนขับรถที่อายุมาก และมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ก็จัดไม่ให้คนนี้ขับรถฉุกเฉิน ให้คนอื่นขับแทน นั่นก็คือ เกิดการสร้าง การเปลี่ยน และสร้างความมีส่วนร่วม ของการขับรถในงานของ รพ. มากขึ้น ทีมยานพาหนะ เป็นฝ่ายที่คิดเองที่จะทำโน่นทำนี่ ก็คิดว่า การที่เราจะพัฒนาองค์กร ทุกคนในองค์ก็มีความสำคัญ น่าจะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมที่จะมีโอกาสเล่าเรื่องความสำเร็จ ที่จะทำให้เราไม่ต้องมาปากเปียกปากแฉะในอนาคต แต่ก็ทำให้เราคล้ายๆ กับเรียนรู้ มีคนชื่นชมกับสิ่งที่เขาทำ เขาจะได้ทำดี และการที่จะมาพบกันบ่อยๆ น่าจะทำให้ตัวเองอยากจะมีเรื่องมาเล่าเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็จะเกิดความพยายามทำเรื่องดีๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้มาเล่า โดยไม่ได้คิดไปว่า คนนั้นคงไม่พยายามที่จะไปหาเรื่องโกหกมาเล่ากัน แต่ว่าเอาเรื่องจริงๆ ที่ปฏิบัติมาเล่า และใช้การเล่านี้กระตุ้นกันไปมาในองค์กรเพื่อการทำเรื่องต่างๆ ให้ดีด้วย

นพ.สมศักดิ์ ... โดยรวมๆ ผมขอตั้งประเด็นนี้ก่อน และลองคิดตัวอย่างมาร่วมแลกเปลี่ยนกันต่อนะครับ

ประเด็นมีว่า สำนักส่งเสริมฯ แปลว่าอะไร โดยรวมๆ การแลกเปลี่ยนรู้มันก็จะเกิดกับคนทุกคนในองค์กร และก็ cover เรื่องทุกเรื่องที่องค์กรจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ก็คือหลัก

คำถามก็คือ ความยากที่พวกเราคุยกันว่า จะเอาใครคุยกันใคร จะคุยเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ขนาดไหน นี่คือความยาก และคำว่า ใครคุยกับใครนี้ มีทั้ง 2 แง่ คือ คุยกันเฉพาะข้างใน หรือคุยกับข้างนอกด้วย คำว่าคุยในที่นี้คือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ โจทย์ที่ยากกว่านี้ก็คือว่า ระหว่างนักวิชาการ และฝ่ายสนับสนุน มันควรจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันพร้อมๆ กันไหมนี่ ทีนี้พอเวลาเจอความยากนี่ คำตอบก็ง่ายมาก คือ ลองทำ ก็ลองดูสิ ก็เหมือนที่พวกเราลอง

เมื่อกี้เราคุยเรื่อง ตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมาก และผมก็ชอบไปแซวพวกเราอยู่เรื่อยว่า ระวังนะ จับ CoP แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องตรวจเต้านมด้วยตัวเอง มันจะไปคุยซะแต่เรื่องตรวจเต้านม แต่พวกเราก็ไม่ได้ชวนมาคุยเรื่องตรวจเต้านมใช่ไหม พวกเรามาคุยกันเรื่อง วิธีการสนับสนุนการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง แล้วได้เรียนรู้กลวิธีการจัดการของพื้นที่ขึ้นมา เช่น MLM (Multi Layer Marketing) นี้ มีวิธีหาลูกค้าได้ 10 คนได้รางวัล ผมก็ไม่รู้นะว่าเทคนิคนั้นมีอะไรบ้าง การไปคิดโมเดลราคาถูกขึ้นมา หรือไปปรับโมเดลให้ดีขึ้นกว่าเก่า พวกนี้เป็นความรู้ ประสบการณ์ที่ทำให้การสนับสนุนการตรวจเต้านมด้วยตัวเองง่ายขึ้น ใช่ไหม นี่ก็เป็นตัวอย่างว่า พอเริ่มทำก็เริ่มเห็นว่า ได้ประโยชน์ และพอได้ประโยชน์ก็มีคำถามต่อไปว่า เออ แล้วความรู้ที่ได้นั้นทำยังไง ที่จะทำให้คนอื่นเขารู้ มันทำยังไง ก็ไปคิดต่อสิ สักพักก็จะมีคำถามต่อว่า แล้วจะทำบ่อยขนาดไหนนี่ และก็ถามว่า แล้วมันควรจะไปอีกสัก 4 จังหวัดไม๊ หรือเอา 4 จว. เก่านี่แหล่ะ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อ เพราะว่า อาจจะมีประสบการณ์ชุดใหม่ในรอบหน้าก็ได้นะ อย่างนี้ แล้วก็ถึงประเด็นคำถามว่า เวลาทำอย่างนี้มันควรเอาคนในสำนักฯ มาร่วมด้วยหรือเปล่า คนศูนย์เขตฯ อื่นๆ มาร่วมด้วยหรือเปล่า หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่คล้ายๆ กันมาร่วมด้วยหรือเปล่า เขาจะได้รู้พร้อมกันไปเลย แทนที่จะเป็นเราสกัดความรู้จากเขาแต่ฝ่ายเดียว เพราะว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้ บางทีถ้ามีคนมาร่วมเรียนรู้เยอะๆ ระหว่างสกัดความรู้คนอื่นก็ได้ด้วย และการสกัดความรู้นี่ คนเล่ากลุ่มเดียว แต่คนฟัง 10 คน หรือคนฟัง 5 คน ก็จะต่างกัน อันนี้ก็เป็นประสบการณ์ของพวกเรา แน่นอนถ้าถามคนที่มีประสบการณ์เขาก็จะได้เป็นฉากๆ ว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะ หัวข้อต้องชัดเจนนะ แต่ความชัดเจนนี้แปลว่า เรื่องการเต้านมด้วยตนเองมีวิธีที่ชัดเจนไหม ต้องเจอกันบ่อยๆ นะ ถ้าเป็นไปได้ก็มีคนคลำ มี background ที่หลากหลายมาร่วมกันนะ จะได้มาช่วยกันมอง ช่วยกันดู มาช่วยกันสกัด จดบันทึก จดบันทึกแล้วก็ต้องเผยแพร่ต่อนะ และต้องพยายามมีคนติดตามว่า มีคนได้นำไปใช้ต่อไม๊ และเมื่อนำไปใช้ต่อแล้ว ก็จะได้ประสบการณ์ชุดใหม่ กลับมาเติมชุดเก่าหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นหลักที่เขามีตลอดเวลา เราก็จะท่องได้ แต่ว่าพอไม่ได้ลงมือทำ ก็เลยไม่รู้ว่า แล้วจะทำอะไรก่อนหลัง ทำยากง่ายแค่ไหน ไม่รู้อะไรเลยก็ทำไปก่อน step หนึ่ง เดี๋ยว step 2 – 3 ก็จะตามมาเอง คำถามมันก็จะเกิดขึ้นมาเอง ว่า จะทำมากทำน้อย ทำบ่อย ทำถี่ทำห่างแค่ไหน

นี่ก็คงเป็นการแลกเปลี่ยนให้เห็นว่า ของพวกนี้บางทีก็ถามได้ แต่ว่าลงมือทำ เราก็จะรู้

 

หมายเลขบันทึก: 14279เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2006 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท