KM Team Tour (2) ... ตอน ประสบการณ์ การจัดการความรู้ ... ของชาวสำนักฯ


เรียนรู้จากการทำงาน

 

สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย มีการทำ KM มาก่อนหน้านี้แล้ว ทีมสำนักฯ เล่าให้ฟังต่อค่ะ

คุณหมอชื่น บอกว่า สำนักส่งเสริมฯ เคยทำ CoP มาแล้ว (แบบว่า มือใหม่หัดขับละค่ะ) เพราะว่า อารมณ์ที่มีผู้มาชวนเชิญ ... ก้อ คุณหมอนันทา และทีม ... และความกล้าหาญชาญชัย ที่กล้าลองของ (ดี) ก็คือ CoP การตรวจเต้านมด้วยตนเอง 4 จว. ต้นแบบ
จาก CoP เรื่องนี้ สำนักฯ รวบรวมข้อมูลไว้ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ... วันที่ทำ CoP เรื่องนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อคิด ในเรื่องของเทคนิคที่ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนัก และมีส่วนร่วมในการตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง กับ 4 จว.

เรื่องที่สอง เป็น CoP โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ... ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ องค์ความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพ และมีการรวบรวมประเด็น และข้อสรุป พร้อมกับได้มีการแบ่งระดับว่า ในแต่ละองค์ประกอบของการจัดการความรู้ตรงนั้น แต่ละศูนย์ แต่ละแห่งอยู่ในระดับไหนบ้างใน 5 ระดับ ซึ่งศูนย์ต่างๆ ก็ได้นำตรงนี้ไปใช้ประโยชน์เรื่อง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ

เรื่องที่สาม เป็น CoP Thallassemia ซึ่ง อ.สมศักดิ์ เป็นผู้ดำเนินการแต่เริ่มแรก และทำอยู่ต่อเนื่องตลอด

สำนักฯ จึงคิดสมัครเป็น หน่วยงานต้นแบบการจัดการความรู้ของกรมอนามัย โดยที่ตัวเองก็คิดว่ายังไม่มีอะไรเท่าไร คิดว่าต้องเริ่มเดิน ก็เลยสมัครไปก่อน และตอนนี้จึงเกิดการผลักดันให้เดินตามแนวทาง KM แต่ก็รู้สึกว่า เวลามาคุยกันก็คุยกันอยู่ในคณะกรรมการ บางทีประสบการณ์ก็ยังไม่กว้างขวางพอ และวิธีการแนวคิดอะไรก็อาจยังไปไม่ถึงเท่าไร แต่ก็พยายามที่จะทำไปเรียนไป พยายามชักนำ แนะนำให้แต่ละกลุ่มให้เริ่มทำ ใน CoP ของแต่ละกลุ่มงาน โดยยังไม่ต้องหาข้อมูลอะไรมากมายนัก ให้เน้นการพยายามแลกเปลี่ยนกัน

คุณรัตนา ตั้งชลทิพย์ กลุ่มงานวัยทำงาน สำนักส่งเสริมสุขภาพคุณรัตนา ... จากประสบการณ์ ทำ CoP เรื่อง ตรวจเต้านมด้วยตนเอง มี 4 จว. ที่ทำผลงาน มีความโดดเด่นในการที่ทำให้ประชาชนตระหนัก และสามารถตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองได้ เป็นประจำทุกเดือน เดือนละครั้ง โดยกระบวนการที่เราดำเนินการผ่าน จว. และ จว. ผ่านไปที่แกนนำสตรี หรือแกนนำชุมชนที่เป็นผู้หญิง และไปแนะนำโดยใช้เครื่องมือที่เป็นแผ่นพับ การตรวจคลำเต้านม ดี ไม่ดีอย่างไร แต่ละจังหวัดก็จะมีเทคนิคการชักจูงว่า แต่ละจังหวัด ประชาชนเกิดความตระหนักยังไง มีวิธีการพูด วิธีการคุยอย่างไร และนำเสนอวิธีการของเขาว่า มีเทคนิคการติดตาม เทคนิคการคุยอย่างไร

... โรงพยาบาลท่าเรือ คิดวิธีการผลิตหุ่นเต้านมของเขาเอง 2 เต้า 200 บาท เต้านึงราคา 100 บาท การทำ ... เต้าหนึ่งจะไม่มีเป็นก้อนเนื้อที่ผิดปกติ แต่อีกเต้าหนึ่งจะมี และฝังอยู่ในระดับต่างๆ กัน ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่เขาเอามานำเสนอเพราะว่า หุ่นเต้านมที่เราสั่งซื้อจากต่างประเทศจะมีราคาแพงมาก เต้าหนึ่งประมาณ 4,500 บาท

... โรงพยาบาลบางแห่ง มีวิธีการเผยแพร่ความรู้ไปสู่ประชาชน เขาใช้วิธีการแบบขายตรง ลักษณะของธุรกิจเข้ามานำเสนอ เช่น คนนี้แนะนำไปแล้ว ให้ไปแนะนำต่ออีก 10 คน และมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน

ใน CoP นี้ เป็นการชวนมาพูดคุยกันได้ครั้งเดียว เพราะมีงบไม่พอจัดหลายครั้ง และนำความรู้ของ จว. มาสรุปเป็นประเด็นเปรียบเทียบกัน อยู่ระดับไหน ยังไง และเราถือเอากลุ่มนี้เป็นเครือข่าย ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างสรุปเป็นบทเรียนออกมา และจะนำไปกระจายให้ทุก จว. ได้ทราบทั่วกัน

... รพ.อุทัยธานี มีการทำบัตร Smart Card แจกให้ผู้หญิงชาวบ้านที่ได้รับการฝึกสอนการตรวจเต้านมแล้ว โดยมีลายเซ็นรับรองจากคุณหมอ เพื่อแสดงว่า เขาสามารถไปฝึกสอนต่อได้ ซึ่งเขาก็เกิดความภูมิใจว่า รพ. ได้ให้คำรับรองว่า เขาผ่านการฝึกตรวจมะเร็งเต้านมแล้ว

... ที่โคราช เขาได้ทำหุ่นเต้านม โดยใช้ หุ่นแขวนเสื้อ ใช้ยางฝังเข้าไป เวลาใช้ฝึกให้นำมาทับตัว และฝึกให้มีการคลำได้ด้วยตัวเอง

เราได้คัดเลือกจากจังหวัดที่มีความเด่น เพราะน่าจะทำให้ได้ดูตัวอย่างดีๆ เพราะเวลาที่เราไปเยี่ยมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เราก็เห็นว่าเขามีการสร้างเครื่องมือช่วยทำงานเรื่อง มะเร็งเต้านมเยอะ ก็เลยได้จังหวะ เลือกหน่วยงานที่น่าสนใจมาเป็นหน่วยงานสำหรับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 4-5 แห่ง คนที่เราเชิญมา มี รพ. เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องของมะเร็งเต้านม สสจ. ศูนย์ฯ เขต อสม. เราเชิญมาตั้งแต่ รพศ. รพท. รพช. จนถึงอาสาสมัคร ของ 4 จังหวัดที่เข้าร่วม

ในตอนแรก เราจะจัดเป็นประชุมเชิงปฏิบัติการปกติ ซึ่งทำแผนปกติไว้แล้ว คิดว่าจะเชิญผู้บริหารของระดับกรมที่รับผิดชอบเรื่องของมะเร็งเต้านมมาคุยกัน อ.หมอนันทา (ขณะนั้น เป็นช่วงคุณหมอนันทา และคณะ ได้ไปรับรู้เรื่อง KM จากทีมอาจารย์วิจารณ์มาหมาดๆ ไม่ถึงเดือนละค่ะ) ก็เลยชวนให้มาลองเชิญระดับปฏิบัติมาตั้งต้นคุยกันดีกว่า

พญ.นันทา ได้เสริมให้ว่า ... คุณรัตนาได้มาหา และบอกว่า จากแผนแม่บทที่กลุ่มมะเร็งเต้านมทำ มีหลายกรม แต่ละกรมก็มีการจัดให้ทำหน้าที่ต่างๆ กัน จึงจะจัดประชุมกับคณะกรรมการต่างๆ ตัวเองก็มีความเห็นว่า การประชุมทั่วไป ประชุมแล้วก็จบไป แทบจะไม่มีอะไรเคลื่อนไหว ... ก็เลยคิดว่า เรื่องมะเร็งเต้านมนี้ มีคนที่ทำได้ดีๆ หลายจังหวัด และที่เชิญได้ 4 จังหวัด เพราะว่า คุณรัตนาบอกว่าไม่มีสตังค์ … เพราะฉะนั้น จึงคิดว่า ทำยังไงดี จึงจะใช้สตังค์น้อยแต่ได้เนื้อหา และนี่ยังไม่เสร็จทั้งกระบวนการนะคะ ยังต้องทำต่อ ก็คือ ต้องเอาคุณกิจตัวจริงมา คุณรัตนาก็ต้องไปควานหาคุณกิจตัวจริง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่ได้ประโยชน์จริงๆ เพื่อที่จะได้ข้อชี้แนะ ในการปฏิบัติเพื่อการคัดกรองการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองให้สำเร็จ ... ก็ถือว่า ในครั้งที่ผ่านมานั้น คุณรัตนา ได้ไปควานหา คือ เกือบทั้งหมด อาจจะ 99% แต่ที่มานั้น อาจจะมาคนละบทบาท ก็เป็นคุณกิจตัวจริง ทำให้ตรงนั้นก็เกิดบรรยากาศแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเขาไม่ได้แลกเปลี่ยนเฉพาะงานของเขา จะเป็นงานของส่วนอื่นๆ ด้วยที่เกี่ยวข้องในเรื่องมะเร็งเต้านม ในที่ประชุมการจัดการความรู้ครั้งนั้น เขาก็ได้เรียนวิธีอื่นๆ จากคนอื่น ที่ทำแล้วได้ผล และเราก็เห็นได้ชัดว่า มี อสม. 2 ท่าน ที่เขารู้สึกดีๆ ที่เขามาได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่นๆ ด้วย

คุณศรีวิภา ได้ให้ความรู้สึกร่วมด้วยว่า ... เวทีนี้เป็นเวทีแรกของการใช้ KM หลังจากที่สำนักที่ปรึกษาได้ไปเรียนรู้จาก อ.วิจารณ์ เมื่อได้ใช้ ก็ค่อนข้างติดใจ ... ติดใจเพราะว่า เราไม่คิดว่า จะได้เจอบรรยากาศที่เป็นมิตรในวงสนทนา และขณะเดียวมีความรู้ที่ผุดขึ้น ธรรมดาอย่างเต้านมที่พี่แจ๋ (คุณรัตนา) พูด มันจะเป็นอะไรที่ ... ปกติก็มีการนำเสนอ ในที่ประชุมวิชาการ นำเสนอผลงานของกรมฯ แต่ในเวทีเล็กๆ ที่มีกันอยู่ไม่กี่คน มันมีโมเดลที่มากกว่านั้น และมันก็ผุดออกมาด้วย เช่น ตรวจเต้านมนี่นะ ตรวจให้ดี ผู้ชายก็ตรวจได้ และสามีจะเป็นคนแรกที่ตรวจเจอ เราได้องค์ความรู้ออกมา เยอะกว่าที่เราคิดว่ามันน่าจะได้ ก็ติดใจในส่วนนั้น

คุณจินตนา พัฒนพงศ์ธร กลุ่มอนามัยแม่และเด็ก สำนักส่งเสริมสุขภาพคุณจินตนาได้เล่าว่า สำนักฯ ก็ทำ KM ของหน่วยงานมาแล้ว 1 ครั้ง ที่ รร.ริชมอนด์ ... เรามีการคุยกันว่า หัวปลา คือ การทำงานส่งเสริมสุขภาพที่สำเร็จของแต่ละคน ก็ให้ทุกคนเล่า ว่าสิ่งที่ทำสำเร็จของเรามีอะไร แต่ละคน (อ.หมอนันทา เป็นวิทยากรค่ะ) และผู้ที่เข้าเล่าในวันนั้นมีตั้งแต่ คนขับรถ ธุรการ การเงิน นักวิชาการ และผู้อำนวยการ หัวหน้ากลุ่มงาน ทุกคนก็จะเล่ากันหมดว่า ได้ทำอะไรกันบ้าง ... แต่พอจะมาสกัดสกัดความ เริ่มมีปัญหาแล้วค่ะ ว่าจะสกัดอะไรออกมาจากที่เขาเล่ากัน เรายังสกัดไม่ค่อยได้เลย ... และตอนนี้ก็มีเรื่องเล่าอยู่ประมาณ 50 เรื่อง จะสกัดอย่างไรดี ให้ออกมาว่า สิ่งที่เขาเล่าแต่ละคนนั้นมีประโยชน์

เช่น มีพนักงานขับรถ เล่าว่า เขาประทับใจในการทำงานในหน้าที่พนักงานขับรถ และได้รับเลือกให้พา สตง. ไปตรวจสอบเรื่องของเล่นเด็กที่ได้รับการฟ้องร้อง เพราะฉะนั้นเขาจึงคิดว่า เขาจะต้องทำยังไงก็แล้วแต่ ให้ สตง. ประทับใจ เราจะได้ลดแรงกระแทกที่มาตรวจสอบในลักษณะอะไรอย่างนี้ และเขาสามารถจัดการได้ โดยใช้วิธี ... สร้างความนอบน้อมเข้าไป ... งานอะไรที่ช่วยเหลือได้ ไม่ใช่เรื่องขับรถอย่างเดียว ช่วยในทุกเรื่อง และตรงนั้นเขาก็เลยได้รับคำชมจาก สตง.

และจากเรื่องต่างๆ ในวันนั้น เราสรุปได้ว่า ในการทำงาน มีประเด็นที่สำคัญ คือ

  1. มีใจรักในการทำงาน
  2. มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในการทำงาน
  3. มีการวางแผนเป็นระบบ
  4. มีการทำงานเป็นเครือข่าย เป็นทีมงาน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำงานได้

ก็มีการประเมินว่า งานที่จะประสบผลสำเร็จนั้น เรามองที่อะไรบ้าง มองที่งาน หรือมองที่ตัวคน หรือมองที่อะไร ก็ได้มาเป็นคร่าวๆ แต่ว่ายังสกัดไม่หมด ลงธารปัญญาไม่ได้

พญ.นันทา ได้เสริมตรงส่วนนี้ไว้ว่า ในวันนั้นจะมีประมาณ 50 คน ซึ่งเป็นจำนวนมาก มีคนที่ทำงานสำเร็จแต่ยังไม่ได้ share อะไรอีกเยอะ ต่อจากวันนั้น เราจึงน่าจะมาคุยกันต่อในเรื่องของการทำงานนี้ เพื่อที่จะทำให้ได้ประเด็นมาสกัดได้เพิ่มขึ้น และเป็นการกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนในหน่วยงานด้วย เราไม่ต้องพะวงมากถึงการสกัด แต่ถ้าเราได้มีการนำมาแลกเปลี่ยนถึงความสำเร็จ ... เพราะคนที่เล่าวันนั้น บางคนก็อยากเล่ารอบ 2 รอบ 3 เพราะฉะนั้น เรายังมีความสำเร็จอื่นๆ พอมีความสำเร็จเยอะๆ เราก็จะได้ความรู้ในการทำงานที่จะไปสนับสนุนหน่วยงานอื่นๆ ในการทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น และกว้างขวางครอบคลุมมากขึ้นด้วย

นพ.สมศักดิ์ ได้ข้อเสนอแนะในจุดนี้ไว้ว่า ... มีประเด็นที่น่าสนใจ พอฟังคำถามว่า หน่วยงานวิชาการจะทำ KM อย่างไร ทำงานอย่างไร และเล่ากรณีที่ว่า พี่นันทาแนะนำว่า ให้ลองไปเล่าเรื่องที่ภูมิใจสิ

ผมเอง ... โดยส่วนตัว ... จะถามคำถามนี้เป็นประจำ ว่า สำนักส่งเสริมฯ ก็ตาม กองทันตฯ ก็ตาม บทบาทเขาทำอะไร ถ้าจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องอะไร ทีนี้เวลาคิดถามคำถามนี้บ่อยๆ ตัวเองก็ชอบต่อ ทั้งที่ไม่มีความรู้หรอก ชอบต่อ

วิธีหนึ่งที่ผมคิดว่า ง่ายๆ คือ ทำอย่างที่พวกเราทำ ก็คือ ให้คนทำงานไปเล่าเองสิ ว่าตัวเองทำงานอย่างไหนที่ภูมิใจที่เราได้ทำ ระหว่างเล่า มันจะออกมาเอง ว่า ตัวเองต้องทำงานประเภทไหน มันจะออกมาเอง เพราะตัวเองก็ต้องถามตัวเองว่า เรื่องอะไรที่จะภูมิใจ ก็บอกว่า ฉันทำอย่างนี้มา ฉันก็ภูมิใจมากเลย เพราะฉันทำอย่างนี้ๆ ผลงานอย่างนี้ๆ เราก็ช่วยกันดูว่า แล้วงานที่เขาภูมิใจนั้น มันใช่งานของหน่วยงานหรือเปล่า แต่ในงานเดียวกันก็จะได้ด้วยนะว่า วิธีการทำให้ดี มันยังไง นี่คือ Question ที่ 1 พูดง่ายๆ คือ นึกไม่ออกก็ลองเล่าเรื่องกัน เพราะถ้าเล่าเรื่อง ก็จะเล่าของจริง เช่น ถ้าเป็นหน่วยบริการ ก็จะเล่าเรื่องบริการผู้ป่วย ถ้าเป็นยามก็เล่าเรื่องวิธีการดูแลคนที่เข้าไปในสถานที่ทำงาน คนขับรถก็จะเล่าเรื่อง วิธีการบริการคนนั่ง

ผมกลับมาเรื่อง ตัวอย่าง กรณี สตง. ความจริง สิ่งที่เขาเล่านั้น ถ้าเราจะถอดเป็นความรู้ มันไม่ใช่วิธีการขับรถให้ สตง. พอใจ มันน่าจะเป็น วิธีขับรถให้คนนั่งพอใจ เพียงแต่ว่า พอเขาเล่าเรื่อง สตง. ที่เขาภูมิใจ เขาก็จะเล่าหมดเลยว่า เขาคิดยังไงที่จะทำให้คนนั่งภูมิใจ แน่นอน อาจจะไม่ใช่พฤติกรรมปกติของเขาก็ได้ คือ ปกติเขาก็อาจจะไม่ได้ Serious เหมือนส่ง สตง. วันนั้นแต่ว่า เขาได้ใช้ความรู้ที่ดีที่สุดของเขาที่ทำให้คนนั่งพอใจ เพราะฉะนั้นประสบการณ์ของเขา วิธีทำงานของเขา กลายเป็น Good practice ในชีวิตของเขา ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้ทำทุกวันก็ได้ แต่ว่าเขาทำอย่างไรบ้าง เขาคิดยังไง ทำไมเขาถึงให้ความสนใจกับลูกค้า เรื่องอะไรบ้าง เรื่องรถกระโดด เรื่องรถเร็ว เรื่องกระชาก พวกนี้หรือเปล่า หรือว่าคอยพูดเพราะๆ หรือคอยหาน้ำหาท่าให้กิน พวกนี้ก็จะเป็น tactic ของเขาหมด เพราะฉะนั้น มันก็สำหรับผมมันเป็น Good Practice สำหรับคน มันไม่ใช่เรื่องวิธีการขับรถส่ง สตง. ให้พอใจ เช่นเดียวกันเวลาเราเล่าเรื่องว่าเขาไปทำงาน

สมมติว่าหน้าที่พวกเรา พวกเราเล่าบอกว่า มีความภูมิใจมากเลย เพราะว่าสามารถจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับหน่วยงาน 4 หน่วยงาน จนกระทั่งได้ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาชุดหนึ่ง แล้วก็เล่าว่า ทำยังไง ให้ 4 หน่วยงานนี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และความรู้ที่ได้นั้นมีความรู้อะไรบ้าง และจัดการความรู้นั้นต่อไปอย่างไรบ้าง เล่าเสร็จก็ต้องถามต่อไปว่า จริงนะ บทบาทของเราคือ บทบาทที่จะพยายามให้คนที่ทำงานเขาได้เรียนรู้จากการทำงาน และต้องพยายามทำให้ความรู้ที่เขามีจากการทำงาน เกิดการไปเผยแพร่ต่อที่อื่น เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือ หน้าที่เพื่อการประสานงาน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

หน้าที่ของเราไม่ใช่คนที่ไปสอนชาวบ้านทำเต้านมเอง ใช่ไหม อย่างนี้เป็นต้น สักพักเราจะรู้นะว่า วิธีการทำงาน คือวิธีการทำงานแบบนี้แหล่ะ สำนักส่งเสริมก็ทำงานแบบนี้ สมมติเราภูมิใจนะ สุดแท้ยังไงนั้นก็เป็นเรื่องอีกที พวกเราก็จะมีตัวอย่างเยอะแยะไป ทีนี้แน่นอน บางวันพวกเราก็ทำงานไม่ได้เรื่อง ไม่สนุก ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องเล่า แต่วันไหนที่เราทำงานแล้ว มันใช่นะ ลองเล่ากันหน่อยเป็นไร

ถ้าวันดีคืนดี ... ขอเล่าเว่อร์ๆ หน่อย คนๆ หนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักส่งเสริม เขามาเล่าว่าเขามีความดีใจมากเลย ได้ไปทำคลอดให้กับคนไข้ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง อาจจะดีใจมาก เล่าซะเยอะแยะเลยว่าทำยังไงให้สำเร็จ เราอาจจะคุยกันก็ได้ว่า นี่ไม่ใช่งานเรามั๊ง สงสัย คุณดีใจก็จริง แต่ว่า เพราะว่าคุณเป็นพยาบาล คุณก็อยากทำคลอดละนะ จริงๆ ไปอยู่สำนักส่งเสริมคุณก็อยากทำคลอดอยู่ ก็เอ คุณกลับไปทำงานบริการดีไหม ใช่ไหม แบบว่าเจ้าตัวเขาก็จะได้รู้ว่า แล้วเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร นี่เป็นเว่อร์ว่า เวลาที่เราเล่า อาจจะเล่าความสำเร็จเยอะแยะ เฉพาะคราวคราว ว่า บังเอิญได้ไปทำมาพอดี คงไม่ใช่ไปเล่าว่า ผมดีใจมากนะ ที่ผ่านมา ผมได้ไปดูคนไข้ที่ รพ.เอกชน แห่งหนึ่ง แปลว่า ผมแย่แล้วละ ผมต้องไปทำงาน รพ. ดีกว่า เพราะว่าทั้งปีทั้งชาติ ทำตั้งเยอะตั้งแยะเล่าได้เรื่องเดียวคือ เรื่องที่ very exceptional สำหรับตัวผมเอง แต่ผมคิดว่า การที่จะให้คนมาเล่าเรื่องที่ตัวเองภูมิใจ มันก็เป็นการสกัดบทเรียนจริงๆ ว่า เราทำอะไรที่เราภูมิใจ ที่ของสำนักส่งเสริม เราก็จะได้เห็นว่า ธรรมชาติของงานที่เราทำนั้นคืออะไร ผมก็ไม่มีคำตอบโดยตรงนะ แต่ว่า นี่ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดี ...

คงยังไม่มีคำตอบนะคะ ว่า KM Team กรมอนามัย เสนอให้หน่วยงานทำอะไร มีแต่ ... เสนอให้หน่วยงานช่วยกันคิดละค่ะ ว่า งานของหน่วยงานควรทำอะไร ???

 

หมายเลขบันทึก: 14189เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2006 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คุณหมอนนทลีกรุณาเล่าเรื่อง CoP ที่คิดว่าดีที่สุดในกรมอนามัยได้ไหมครับ   เล่าตั้งแต่การเกิด ทำไมจึงเกิด มีใครเป็นตัวละครบ้าง    แต่ละคนแสดงบทบาทอย่างไรจึงเกิด CoP   ตอนโต ทำไมจึงโต (พัฒนา  กิจกรรมเข้มข้น  โดยจำนวนคนอาจเท่าเดิม) สมาชิกแต่ละคนแสดงบทอย่างไร    มีพลังเข้ามาเสริมจากภายนอกหรือเปล่า    ตอนนี้นับจากจุดเริ่มต้น เป็นเวลานานเท่าไรแล้ว    ทำไมจึงดำรงความมีชีวิตชีวาอยู่    ตอนนี้ทำอะไรกันบ้าง    เกิดผลลัพธ์/ผลกระทบ อะไร บ้าง    ต่องาน  องค์กร  คน (สมาชิก CoP และไม่ใช่สมาชิก)    มีคำแนะนำ/บทเรียน ให้แก่ CoP / ผู้สนใจทำ CoP อย่างไรบ้าง

ถ้าได้อย่างนี้ผมจะเอาไปลงจดหมายข่าวถักทอสายใยแห่งความรู้ และจะมอบเสื้อสามารถให้ครับ     ความยาวของบทความประมาณ ๓ - ๔ หน้า A4   และขอรูปหน่วยงาน   สมาชิก (ถ่ายร่วมกัน)  รูปกิจกรรม

ของคุณล่วงหน้าครับ

วิจารณ์ พานิช 

ยินดีเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ อาจารย์ แต่คิดว่า คงจะมอบให้คุณศรีวิภา เป็นผู้เล่า เพราะเขาได้เข้าไปร่วมรับรู้มากกว่า และจะสามารถถ่ายทอดความเข้าใจ และดึงบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้มากด้วย และจะช่วยกันเป็นทีมค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท