วิทยาการสุขภาพ มวล. : จะก้าวต่อได้ไหม


คนทำงานต้องมี transformation ถ้าคิดแบบเดิม ติดอยู่ในกรอบเดิม จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้

เวลา ๐๘.๓๐ น.เมื่อวานนี้มีการประชุมระหว่างนายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา กับอธิการบดี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ คณบดีสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ คณบดีสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ และดิฉัน ที่ห้องประชุมชั้น ๓ อาคารจามจุรี ๔ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อคุยเรื่องงานโครงการด้านวิทยาการสุขภาพที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เคยบันทึกไว้ (อ่านที่นี่)

ท่านนายกสภาได้เล่าให้พวกเราฟังว่าได้คุยไอเดียนี้กับคนของหน่วยสนับสนุนทุนระดับนานาชาติ เช่น China Medical Board, คนที่เคยอยู่มูลนิธิ รอคกี้เฟลเลอร์ ฯลฯ ต่างก็ให้ความสนใจ จึงอยากถามความเห็นว่าจะเอาจริงหรือเปล่า “ถ้าเงินมาจะเดือดร้อนถ้าไม่เอาจริง ถ้าเอาจริงก็มีช่องทาง จะประสานกันได้จริงไหม มีผู้นำ มี champion ไหม” ถ้าเป็นแบบเดิมก็ไม่กล้าที่จะเสนอ project

ท่านนายกได้ลองสืบค้นเรื่องเกี่ยวกับ multiprofessional education พบว่ามี references อยู่มากพอสมควรและท่านได้กรุณา save ใส่ใน CD มาให้ด้วย ท่านเล่าว่าที่ Sweden ทำก่อนเพื่อน นอกจากนี้ยังได้พูดถึงปัญหาการขาดแคลนพยาบาลว่าเป็นประเด็นใหญ่ของโลก ตัว nursing ที่ขาดคือ nursing ที่จะยกระดับบริการสุขภาพของประเทศ ไม่ใช่เพียงเรื่องปริมาณ การผลิตเภสัชกรก็เช่นกัน ปัจจุบันอาจมีอยู่เกิน แต่ที่ผลิตออกมานั้นไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ เดี๋ยวนี้สาขาด้านกายภาพบำบัด สาธารณสุข ก็เปลี่ยนไปมากแล้ว คนละเรื่องกับแบบเก่า

การจะทำงานตามที่ท่านนายกสภาฝันอยากเห็น ต้องคิดและมีวิธีการทำงานอีกแบบ ไม่ใช่แบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย ถ้าต่างคนต่างทำไม่รวมหัวกันคิด ก็จะไม่ work

อธิการบดีได้ชี้แจงว่าทีมได้ทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อพยายามจะนำไปสู่จุดที่นายกสภาต้องการ แต่ยอมรับว่าการทำงานยังช้าอยู่ คณบดีบางท่านก็บอกว่าสำนักวิชาของตนเองทำอะไรไปบ้างที่เห็นว่าแตกต่างไปจากเดิมหรือแตกต่างจากที่อื่นๆ

ในการประชุมครั้งนี้ท่านนายกสภาได้ตั้งคำถามและใช้คำพูดให้เราได้คิดลึกๆ หลายครั้ง เช่น “เรายังเปลี่ยนไม่มากพอ ยังยึดในกรอบเก่า” ต้องคิดแบบ “พลิกหัวเป็นหาง พลิกหางเป็นหัว” “๕-๖ คนตรงนี้รวมวิญญาณเป็นหนึ่งหรือยัง”

ดิฉันสังเกตบรรยากาศของการประชุมแล้วรู้สึกว่าบางคนยังไม่มี  inspiration ในการที่จะทำเรื่องนี้แรงพอ บางคนบอกว่าไม่รู้ชัดว่าจะให้ทำอะไร บางสำนักวิชาห่วงว่าตนยังใหม่และมีงานล้นมือ หรือบอกว่าใครทำได้ก็ทำไป ค่อยๆ ทยอยทำ

สิ่งที่ท่านนายกสภาอยากเห็นเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก คนทำงานต้องมี transformation ถ้าคิดแบบเดิม ติดอยู่ในกรอบเดิม จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ดิฉันเสนอว่าทุกคนที่จะทำงานนี้ต้องเปิดใจกว้าง และน่าจะมีคนที่ทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” ช่วยจัดกระตุ้นและประสานให้ทุกสำนักวิชา “สุมหัว” กันคิดและช่วยกันทำเรื่องนี้

ช่วงสุดท้ายเราประชุมกันเอง เพราะท่านนายกสภาติดภารกิจ ที่ประชุมสรุปให้ ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา ทำหน้าที่ประสานกับทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการพัฒนา  proporsal ต่อไป

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 141683เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2007 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
       ขอบคุณอาจารย์วัลลามากที่บันทึกเรื่องนี้มาให้ทราบโดยทั่วกัน ทำให้ดิฉันได้รับทราบผลการหารือดังกล่าวนี้อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของดิฉันไปด้วย อีกทั้งยังได้รับทราบแนวคิดของท่านนายกสภา มวล. ที่ให้แง่คิดที่ดี...และหวังว่า มวล. จะมีทิศทางในการดำเนินการเรื่อง "วิทยาการสุขภาพ" ที่ชัดเจนขึ้นภายใต้การทำงานของทีมผู้นำด้านวิทยาการสุขภาพแบบรวมวิญญาณเป็นหนึ่ง...ซึ่งคงจะเกิดขึ้นได้ในไม่ช้านี้ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท