พาเจ้าทฤษฎีเศรษฐกิจชุมชนชาวนาไปเยี่ยมโรงเรียนชาวนา


พาเจ้าทฤษฎีเศรษฐกิจชุมชนชาวนาไปเยี่ยมโรงเรียนชาวนา

         เจ้าทฤษฎีที่ว่านี้คือ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา     เราไปกัน ๖ คน คือ ศ. ฉัตรทิพย์, ศ. ดร. วิชัย บุญแสง, คุณพรพิไล เลิศวิชา (เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ทำวิจัยเรื่องการจัดการน้ำท้องถิ่น), ดร. ทิพวัลย์ สีจันทร์ (ม. เกษตรกำแพงแสน), อ้อม และผม    เมื่อวันที่ ๒๔ มค. ๔๙

         ลงจากรถมองไปเห็นคนกลุ่มหนึ่งกำลังเรียนคัดพันธุ์ข้าวกันอยู่     สอบถามได้ความว่าเป็นชาวนาจาก อ. ระโนด  จ. สงขลา  ๒๕ คน มาเรียนคัดพันธุ์ข้าว    มานอนค้างที่สำนักงานมูลนิธิเลยทีเดียว

         หลังกินข้าวเที่ยงมื้ออร่อย   ที่ผมได้กินปลากระดี่เค็มทอดกรอบที่ไม่ได้กินมานาน ๓๐ – ๔๐ ปี    เราก็เปิดฉากสนทนากันเลย โดยกำหนดการบอกว่าจะเลิกเวลา ๑๓.๓๐ น. เพราะ ศ. ฉัตรทิพย์ จะไม่ค่อยสบายในตอนบ่าย ต้องนอน

         คุณเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ บอกว่าโรงเรียนชาวนามีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงวิธีทำนาเป็นทำนาโดยไม่ใช้สารเคมี    ต้องเปลี่ยนวิธีคิด/ความคิด    การเปลี่ยนความคิดต้องทำโดยการเรียนรู้    เรียนรู้เป็นเวลานาน ผ่านการปฏิบัติ สัมผัสด้วยตนเอง     ก่อนกินข้าวเที่ยง ศ.

ฉัตรทิพย์ ถามว่าชาวนามีปัญหาเพราะเปลี่ยนจากวิธีคิดแบบตนเองเป็นชาวนา เป็นต้องการเป็นนายทุน ต้องการรวย ใช่หรือไม่
  
         นักเรียน รร. ชาวนาจาก อ. อู่ทอง จำนวน ๖ คน มาร่วมเสวนา    ได้แก่คุณปู่เลิศ   คุณอุไร   คุณกนกวรรณ  คุณบุญรอด  คุณจันทร์  และคุณประทิน   (ทั้งหกคนเป็นไทยดำ บรรพบุรุษอพยพมาจากเพชรบุรี)     ชาวนาบอก ว่าเดิมชาวนาอยู่ในสภาพถูกหลอก     ที่จริงการเข้ามาฝึกอบรมให้แก่ชาวนานั้นทางราชการก็เข้ามา     แต่คุณอุไร นักเรียน รร. ชาวนา บอกว่า มา “แบบไฟไหม้ฟาง” หรือมาแว้บๆ  คือไม่ต่อเนื่อง     แต่มูลนิธิข้าวขวัญเข้ามาแบบต่อเนื่องยาวนาน     ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง

         เดชา : ต้องไปถึงมิติวิญญาณ / ศีลธรรม ให้ได้     ไม่ใช่หยุดอยู่แค่มิติทางเทคนิค    มิติทางเศรษฐกิจ    หรือมิติทางความคิด    คุยกันเรื่องบุญ / บาป     คุยเรื่องหนี้ที่ปู่ พ่อ และตนเองซึ่งมีนาถึงหมื่นไร่ เคยเอาเปรียบชาวนา จึงเสมือนเป็นหนี้ชาวนา     เดชาจึงทำ มขข. เพื่อใช้หนี้แก่ชาวนาแทนปู่ พ่อ และตนเอง    การพูดคุยเช่นนี้ทำให้เป็นรูปธรรมในการเข้าสู่มิติเชิงศีลธรรม เชิงจิตวิญญาณ

         อุไร (ชาวนา) : ชาวนาไม่คิดต้นทุน    ไม่จด    จ่ายทีละน้อย     เวลาขาย ๆ ทีเดียวได้เงินเป็นแสน เงินมาก เห็นเป็นก้อนเป็นกำ     รายได้ครั้งเดียว จ่ายเป็นร้อยครั้ง     ชีวิตแบบเดิมแทบไม่มีรายจ่าย     แต่เวลานี้รายจ่ายมากผ่านตลาดหมด ทั้งปัจจัยการผลิต  ผลผลิต  และการบริโภคของตนเอง     ไม่มีเครื่องมือให้เห็น “ความจริง” ที่มีข้อมูลยืนยัน     เห็นแต่มายาที่คนนอกเอามาหลอกชาวนาเริ่มรู้จักจดเมื่อมาเป็นนักเรียน รร. ชาวนา    การจดบันทึกนำไปสู่ความรู้ และความก้าวหน้า  
 
         พรพิไล : ในการเรียนรู้ ต้องเน้นจดบันทึกความสำเร็จ ไม่เน้นจดบันทึกความล้มเหลว    KM ต้องอยู่บนฐานจิตวิทยาของความก้าวหน้า    การผลิตกับการเรียนรู้ ชาวนาจะไม่เปลี่ยนความคิดจากการถาม    จะเปลี่ยนต่อเมื่อทุกอย่างแจ่มชัดในสมอง ผ่านการปฏิบัติที่เป็นจริง

         เดชา : เดิมเข้าใจกันว่าการทำนาปลอดสารเคมีให้ผลผลิตต่ำ     แต่เวลานี้พิสูจน์แล้วว่าให้ผลผลิตสูงกว่า

         พรพิไล :  เดิมเกษตรอินทรีย์แพ้ เพราะผลผลิตต่ำกว่าเกษตรเคมี    ตอนนั้นเทคนิคของเกษตรอินทรีย์ยังไม่ถึง     แต่เวลานี้เทคนิคถึงขนาดแล้ว    จึงได้ผลผลิตสูงและน่าจะสู้ได้      

         เดชา : เดือนหน้าชาวนาจีนจะมาดูงาน    ต่อไปจะร่วมมือกับอินโดนีเซียและจีน  

         เห็ดตีนแรดติดมากับจุลินทรีย์ห้วยขาแข้ง     ขึ้นมาดอกโตมากชาวบ้านไม่รู้จัก    คนอีสานบอกว่าเป็นเห็ดตีนแรด กินได้     ต้องการให้นักวิชาการมาวิจัยว่าเห็ดตีนแรดติดมากับจุลินทรีย์ได้อย่างไร     จะเพาะเห็ดนี้ได้อย่างไร

          ได้ทดลองเอาจุลินทรีย์รดต้นกล้วยเป็นโรคตายพราย  ต้นกล้วยฟื้นหายโรค    เป็นโจทย์วิจัย    ดินดีต้องแหนแดงขึ้น

          ฉัตรทิพย์ :  ถามชาวนา อยากเรียนเรื่องอะไรต่อ   ตอบ ผสมพันธุ์ข้าว   

          เดชา : เรียนวิธีติดต่อกับแม่โพสพ แม่คงคา    ตนเชื่อว่าความรู่ที่สูงสุดไม่ได้อยู่กับคน    แต่อยู่กับสิ่งที่เหนือคน    ไปอินโดนีเซียหมอผี กินเห็ด ที่มีฤทธิ์ทางจิตประสาท ทำให้เกิดความรู้แบบฌาณหรือภาวนามยปัญญา     ไม่ต้องศึกษา ความรู้จะมาเอง     นิวเอจก็ใช้วิธีนี้

          ฉัตรทิพย์ :  การรู้จักความเป็นมาของผู้คนที่นี่    ได้มีความรู้อยู่แล้วระดับหนึ่ง     ถามว่าอยากเรียนรู้ให้มากขึ้นไหม    (ที่อู่ทองคนเป็นไทยดำ    โรงเรียนชาวนาควรมีวิชาวัฒนธรรมประเพณี ประวัติศาสตร์  

          ปู่เลิศ (ชาวนา) :บรรพบุรุษเดิมมาจากเมืองแถง ที่เวียดนาม    แล้วมาอยู่ที่เพชรบุรี    กลุ่มที่ อ. อู่ทองอพยพมาจากเพชรบุรีมา ๒ – ๓ ชั่วคน    ตอนสงกรานต์มีการฟื้นฟูประเพณี    มีฝรั่งมาดู

          เดชา :  น่าจะให้ นศ. มาเรียนกับชาวนา สัปดาห์ละครึ่งวัน    เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์    เมื่อจบการศึกษาจะได้ทำงานอยู่ข้างชาวนา  ไม่ใช่ไปอยู่ข้างนายทุนทั้งหมดอย่างปัจจุบัน   

          ข้าวหอมมะลิแดง เป็นเบาหวานกินหาย     ที่อโศกมีคนกินหาย    มีตัวอย่างที่อื่นๆ อีกมากมาย    ศ. ฉัตรทิพย์ จะลองกินดู     

          ลุงเลิศ (ชาวนา) : อยากให้ชาวนาอินทรีย์ อยู่โซนเดียวกันทั้งหมด   

          อุไร (ชาวนา) : เวลามีคนนอก/คนกลางมาดู    ชาวนาที่ใช้เคมี ต้นข้าวสวย    แต่ได้ข้าวเปลือกน้อยกว่า    กำไรยิ่งน้อย    ทำให้เห็นจริง     คนนอกที่เข้ามาจะช่วยเชื่อมให้ชาวนาเคมียอมรับการทำนาอินทรีย์

          พรพิไล : การทำนาอินทรีย์เป็นที่ติดกันผืนใหญ่ จะช่วยทำให้เกิดผลในทางสร้างความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อน มีพลัง

          ทิพวัลย์  : ใช้การวิจัย Action Research    ใส่ intervention หลายตัว   

          ฉัตรทิพย์ : น่าจะเติมวิชาการจัดการชุมชน / การจัดการท้องถิ่น    ออกไปนอกครอบครัวของเรา    มีการแปรรูป    ให้ขนาดของกิจการใหญ่ขึ้น   อาจเชื่อมโยงออกไปนอกตำบล    ในกลุ่มไทยดำด้วยกัน หรือนอกกลุ่มไทยดำ

          เดชา  : ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญไปเป็นกรรมการเกษตรอินทรีย์จังหวัด    เขียนแผนส่งเสริมการทำนาอินทรีย์ ๑๕๐,๐๐๐ ไร่ จัดโรงเรียนชาวนา ๕๐ รร.  ครอบคลุมทั้งจังหวัด   ระยะเวลา ๕ ปี  

          ฉัตรทิพย์ :  รร. ชาวนามีการค้นคว้าเรื่องของพื้นที่   เรื่องพื้นถิ่น หรือไม่  

          พรชัย (มขข.) : มีการเรียนเชิงภูมิศาสตร์ของพื้นที่ 

          บุญรอด (ชาวนา) : อ. พรหม จะพูดเรื่องภูมิศาสตร์ ฤดูกาลที่น้ำจะมา      

          พรพิไล :  การเรียนรู้ต้องไม่เรียนเทคนิคล้วนๆ    ควรมีเรื่องภูมิศาสตร์    ประวัติศาสตร์ด้วย    ทำให้การเรียนรู้กว้างขึ้น    ที่ลำพูนคนคิดว่าใช้น้ำแม่น้ำกวง มุ่งแก้ปัญหาแม่น้ำกวง     พอวิจัยจึงรู้ว่าใช้น้ำแม่น้ำปิง  

          ประทิน : มีปัญหาน้ำท่วมตอนข้าวจะสุก    (ผมนึกในใจว่าควรวิจัยเรื่องการจัดการน้ำ  ที่เป็นการวิจัยโดยชาวบ้าน) 

          ยุทธภัณฑ์ (ผู้ประสานงานการวิจัยท้องถิ่น สกว.) :  บ้านอยู่ทุ่งสมอ  หนองขาว  กาญจนบุรี    มีนา ๑๐๐ ไร่ พี่สาวจะไม่ทำนาจะทำกินเท่านั้น   

          คนที่หนองขาวคิดสร้างเขื่อนขนาดใหญ่   คิดสู้รัฐ  สู้นโยบาย ไม่คิดจัดการตัวเอง    เห็นว่าต้องสร้าง “คุณอำนวย” จัดการความรู้ท้องถิ่น     และทำวิจัยบางเรื่องในท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน 

          พรพิไล : ต้องเอาการจัดการความรู้มาเชื่อมกับความรู้ที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น     ทำให้ชาวนามีอำนาจในการจัดการตัวเองในหลากหลายด้าน รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ     ยึดกลับมา    คิดว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในมือชาวนา    แต่ต้องช่วยให้ชาวนากล้าลุกขึ้นมาจัดการ   
KM ไม่เล่นกระดานเดิม   ไม่ไปเสนอหน่วยราชการ    แต่เล่นกันเอง

          ฉัตรทิพย์  : ควรเริ่มโดยยึดกุมด้านวัฒนธรรม ซึ่งยังอยู่กับตัวเรา รัฐยังไม่ยึดไป    เราควรเริ่มตรงนี้ จะช่วยให้รุกเข้าไปในด้านการเมืองการปกครอง และเศรษฐกิจ    ยึดกลับมาได้

          วิจารณ์ : มขข. จะทำเรื่องใหม่นี้ได้อย่างไร

          เดชา :  มขข. มีกำลังจำกัด

          วิจารณ์ : อ. ตุ้ม (ทิพวัลย์) รับได้แค่ไหน   

          ทิพวัลย์  : ทำวิจัยเรื่องสหกรณ์อยู่    ที่ราชบุรี   งบผู้ว่าซีอีโอ    มองโลกแง่ดี    ไปคุยหาแนวร่วม สร้างปัจจัยทวีคูณ    ใช้การจัดการความรู้สร้าง “คุณอำนวย” “คุณเอื้อ” เพิ่ม

          เดชา :  คุณโดโรธีบอกว่าแม่โพสพบอกให้ทำต่ออีก ๔ ปี   ทำให้ลึก    แล้วขยายผล    ครบ ๖ ปี การเปลี่ยนแปลงใหญ่จะเกิดในประเทศไทย 

          มองว่า มขข. ถูกเลือกให้มาอยู่ที่นี่    ที่จะทำโครงการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเรื่องรอง    งานหลักคืองานลงลึก   ทำกับ Oxfam  

          ฉัตรทิพย์  : ทำทางวัฒนธรรมเพิ่ม   ที่ทำมาทำทางกายภาพมาก    จะส่งหนังสือ “ชาวนา ประวัติ ชีวิต และทางออก”  และ  “จิตสำนึกและวัฒนธรรมชาวนาฝั่งโขง” มาให้ 

          พรพิไล  : คุณเดชาทำเรื่องสำคัญมาก    หากปราศจากกำลังการผลิต เอาชนะยาก    ชาวนาต้องเข้าใจ พื้นที่ของตน และใช้วัฒนธรรมของตนเป็นตัวขับเคลื่อน    เราจะทำเกษตรอินทรีย์    ต้องมีสำนึกด้าน identity    ใช้สมองส่วน emotional brain    คุณเดชาต้องการพันธมิตร    เคลื่อนออกนอกเทคนิค สู่มิติที่ใหญ่กว่า    ขับเคลื่อนส่วนที่ใหญ่กว่า    ขบวนการชาวนายุคใหม่ในประเทศไทย    จะไปสู่ระดับโลก

   
          ถึงตอนนี้เวลา ๑๕.๑๕ น.  ศ. ฉัตรทิพย์, ศ. วิชัย, อ. ตุ้ม,  คุณยุทธภัณฑ์ลากลับก่อน

          เดชา : เทคนิคต้องทะลุ    ก่อนส่งเสริมชาวบ้าน

          พรพิไล  : นักเรียนชาวนา ๒๐๐ คน ผลอย่างไร

          บุญรอด : ของ อ. อู่ทอง เหลือเกือบๆ ๓๐ คน    คนทำอย่างจริงจังประมาณครึ่งของทั้งหมด  ประมาณ ๑๕ คน    ทำในช่วงแรกเห็นผลไส้เดือน แมงกะชอน ในดิน รู้ว่าจะได้ผลฟื้นดิน    แต่เพื่อนชาวนาติดกันไม่สนใจทำ

           อุไร : เกษตรมาสั่งงาน   ให้ทำอันนี้นะ   แล้วก็ไป

           เดชา : เกษตรทำเองไม่เป็น   ได้แต่สั่ง

           อุไร  : เขายังแนะนำเคมีอยู่  

           จันทนา (ผู้จัดการ มขข.) : มาลาไปส่งทีมกบนอกกะลา  มาเจาะทำรายการทีวีเรื่อง รร. ชาวนา    ตามทางข้าวปลอดภัย   

            เดชา : รายการกบนอกกะลา จะทำรายการทีวี ๓ ตอน    ลงไปทำรายละเอียดที่ชาวบ้าน    iTV ได้ออกรายการ คิดได้ไง ๓๐ นาที    ป่าใหญ่ครีเอชั่นก็จะมาทำรายการ

            พรพิไล :  ตลาดความรู้มีสูง     ในท้องถิ่นภาคเหนือมีเกษตรกรทำปุ๋ยชีวภาพขาย แกลลอนละ ๒๐๐ บาท    เขาไม่มีความรู้ขั้นสูงอย่างนี้ อย่างที่เดชาทำ   

            เดชา :  ไม่ว่าเกษตรกรอะไร ต้องลงลึกทั้งสิ้น   ลำไย    สมาคมชาวนาไทยเรียกร้องประกันราคา    แต่ไม่ช่วยตัวเอง    ต้องพึ่งตนเองได้จึงจะต่อรองได้

            ทุกหน่วยที่มีปัญหาต้องจัดการความรู้ตามแบบของเขา   ใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นไปจัดการลงลึก   แก้ได้ด้วยตัวเอง    แก้จากส่วนที่แก้ได้เองก่อน    ส่วนที่เหลือจึงไปชวนคนอื่นมาร่วม   ต้องแก้จากฐานขึ้นไป   ไม่ใช่แก้จากยอดลงมา   

            พรพิไล :  กำลังเก็บตัวเลขอยู่ใช่ไหม

            เดชา : กำลังเก็บตัวเลข    และรวบรวมได้ไม่ยาก    เมษายนนี้จะประชุมใหญ่    อ. เนาวรัตน์ก็มาวิจัย  

            พรพิไล : ถ้ามีตัวเลข     จะช่วยความน่าเชื่อถือแก่เกษตรอินทรีย์    มีตัวแปรใหม่มาก    จะช่วยหนุนเชิงนโยบาย    และยกขึ้นเป็นความรู้แห่งชาติ    เอาตัวเลขของต่างประเทศมาเปรียบเทียบได้ยิ่งดี   

             เดชา :  มีข้อมูล   รวบรวมไม่ยาก  

            มูลนิธิชัยพัฒนามาดู    นัดให้ ดร. สุเมธ กับเจ้าแขวงจำปาศักดิ์ จะมาเดือนมีนาคมนี้    แม่โพสพว่า มขข. ต้องร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนา    

            มขข. ทำงานกับชาวบ้านต่อยอดความรู้ซึ่งกันและกัน    (ตรงนี้ผมนึกในใจว่า ต่างจากเกษตรที่สั่งให้ทำตามสูตรสำเร็จ)   ชาวนาที่นี่ชอบท้าพิสูจน์   

            บุญรอด : มีคนมาขอซื้อน้ำหมัก ซื้อปุ๋ย จากคุณอุไร ไม่ทำเอง    

            ตนได้ความรู้จากการมาฟังการพูด   การไปดูงาน

           ได้ข้อสังเกตเรื่องปลูกให้ได้แสง  จากประสบการณ์ของตนเอง

           มีรถรับจ้างปั่นฟาง    ไม่ต้องไถ 

           จันทร์ : ทำนาแบบล้มตอซัง    ปล่อยน้ำเข้า    ไม่ต้องหว่าน    ปล่อยให้หน่อและข้าวหล่นงอก   ได้ ๘๐%   คือ ๘๐ ถังต่อไร่    

           ผมได้โจทย์วิจัย พิสูจน์วิธีฟื้นดินจากดินเคมีเป็นดินอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์  วิธีที่คุณเดชาค้นพบ    เกิดปฏิกริยาในดิน    แล้วเกิดหนอนแดง   แหนเขียว   แหนแดง   ตามลำดับ  เป็นการค้นพบจากการทดลองทำในที่ดินแปลงที่อยู่หน้าสำนักงาน มขข.     
ลากลับเวลา ๑๖.๓๐ น.

                              

                    จากซ้าย คุณพรพิไล, ศ. ฉัตรทิพย์,  ดร. ทิพวัลย์

                              

                   ชาวนา อ. ระโนด  จ. สงขลามาเรียนวิธีคัดพันธุ์ข้าว

     

                ดอกรางจืด                        บรรยากาศในห้องประชุม 

                                   

นกยางในนาที่ถอนพิษสารเคมีด้วยจุลินทรีย์แล้ว มีแหนเขียว แหนแดง และเสียงกบเขียดร้องระงม

AAR
              คุณพรพิไล    อ้อม   และผม นั่งรถกลับมาด้วยกัน    เรา AAR กันว่า สิ่งที่ นักเรียน รร. ชาวนาต้องการมากที่สุดคือการใส่ความคิด  และการเรียนรู้ในประเด็นที่นอกเหนือจากการปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี  จากประสบการณ์ตรง     เพื่อให้ชาวนามีความรู้ / ความคิด ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น    นั่นคือต้องทำ KM ในมิติอื่นๆ เข้าไปเสริม KM ทำนาอินทรีย์


 
วิจารณ์ พานิช
๒๔ มค. ๔๙


หมายเลขบันทึก: 14097เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2006 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท