การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข


เวลาใช้ก็หมด...เวลาไม่ใช้ก็หมด
การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข                  น่นอนที่สุด ชีวิตมนุษย์เราต้องการและแสวงหาก็ล้วนแต่เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข แต่สำหรับความสุขของแต่ละบุคคลก็ยังคงมีความสุขที่แตกต่างกันออกไป   เพราะมนุษย์ล้วนแตกต่าง   ต่างเพศ ต่างวัย  ต่างความต้องการ  ต่างอาชีพ  แล้วเราจะเอาอะไรมาวัดตรงความสุขของแต่ละคนล่ะ....พูดยากส์            สำหรับตัวผู้เขียนมองว่าแน่นอนที่สุดเงื่อนไขของความสุข ย่อมมีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นคำถามที่ต้องมีคำตอบว่า เวลาใช้ก็หมด...เวลาไม่ใช้ก็หมด   ผมถามท่านว่าจริงหรือไม่ แล้วแต่ท่านจะตอบแต่ที่แน่แน่ เวลาไม่เคยที่จะรอคอยใคร ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็จำเป็นต้องห้วนกลับไปคิดถึงวัยเด็กและเรียบเรียงเหตุการณ์มาจนถึงปัจจุบัน ว่าชีวิตของเรามีความสุขช่วงใด  ที่สำคัญปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร  ตัวเราเองนั้นที่ย่อมทราบดี ในขณะเดียวกันอนาครเราต้องการอะไร ต้องการไปเพื่อทำไม สิ่งที่เราต้องการนั้นทำให้เรามีความสุขหรือไม่ หรือได้มาแล้วกลับกลายเป็นทุกข์ลาภ เราจำเป็นต้องนำมาคิดเพื่อที่จะทำให้แต่ละย่างก้าวของเรานั้นเปี่ยมล้นไปด้วยความสุข            ผมมีความเห็นว่า ทางสายกลาง การเดินทางสายกลางตามแนวทางของพระพุทธเจ้ายังเป็นประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้กับชีวิตในปัจจุบัน ที่สภาพบุคคลที่เกิดมาต้องดิ้นร้นต่อสู้กับสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว หากเราได้แต่พยายาม วิ่ง กระโดด เพื่อตามให้ทันกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานั้น เรามีความสุขกับชีวิตของเรามากน้อยเพียงใด แต่ถ้าหากเราไม่ตามกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงเราจะมีความสุขหรือไม่  สิ่งเหล่านี้เราจำเป็นต้องนำมาขบคิด นำมาทบทวน แต่สำหรับผม  ทางสายกลาง กับ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง   คงจะเป็นแนวทาง เป็นการสร้างประกายความสุขให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงต่อชีวิตที่รู้จัก พอ เราต้องการให้คำนึงถึงการใช้ชีวิต เพราะชีวิตนั้นจะอยู่คู่กับเวลา อยู่คู่กับธรรมชาติ แม้นคุณจะสร้างฐานชีวิตไว้มากมายเพียงใดแต่มันก็จะมีวันหมดเวลาสำหรับคุณ  แล้วทำไมละ...เราจึงไม่ยอมรับคำว่ารู้จักพอเพียง  ผมเห็นว่าสังคมปัจจุบันที่มีความวุ่นวายสับสนก็เพราะมนุษย์ไม่รู้จักพอนี้   แหล่ะ ด้วยเหตุนี้แนวทางการดำรงอยู่ การปฏิบัติตน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงของแผ่นดินเป็นสิ่งสูงส่งยิ่งสำหรับคำว่าความสุขของชีวิต สิ่งเหล่านี้ไม่ใช้หรือคือสิ่งที่พวกเราต้องการ ในส่วนของแนวทางนั้นก็อยู่ที่ตัวคุณจะต้องรู้จักวางแผน วางเป้าหมาย รู้จักทางที่ตัวเองจะเดินว่าแนวทางพอเพียงของคุณจะอยู่ตรงจุดไหน             ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมต้องมีองค์ประกอบเพื่อเป็นแนวทาง เป็นเข็มทิศ เป็นทางเดินของชีวิต สำหรับท่านที่มีความปรารถนาใช้เป็นแนวทาง องค์ประกอบนั้นก็คือ    ความพอประมาณ  +   ความมีเหตุผล + มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี  อยู่ภายใต้เงื่อนไข ความรอบรู้ นั้นหมายถึง คุณมีความรู้ในตัวคน    ในหลักวิชา รอบคอบ และต้องระมัดระวัง ประการต่อไปคือ คุณธรรม เราจะต้องมีความซื้อสัตย์ สุจริตและสิ่งสุดท้ายก็คือ ความเพียร เป็นองค์ประกอบของความอดทน ขยันหมั่นเพียร และมีสติ นั่นคือแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง                 เรายากที่จะปฏิเสธว่าการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมีหลายสิ่งหลายอย่างมากมายที่เข้ามาเป็นปัจจัยในชีวิตการดำรงอยู่  และมนุษย์เราก็นำปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นมาเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตของตัวเอง   จึงทำให้เกิดการแข่งขันในการสร้างวัตถุเพื่อนำมาเป็นองค์ประกอบในตนเอง ผลักดันตัวเองในสังคม และปัจจัยที่เป็นตัวกลางเพื่อให้ได้มาของวัตถุก็คือ  เงินตรา  ซึ่งเป็นตัวกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เข้าถึงวัตถุหรือปัจจัยที่ต้องการ ดังนั้นหากเราไม่มีการวางแผนในเรื่องของความสุขของชีวิตในแต่ละช่วงวัยให้รอบคอบ รัดกุม  เราอาจจะหลงทางหาทางออกไม่เจอ  และวันหนึ่งเราอาจจะสะดุดกับเส้นทางเดินชีวิตโดยเฉพาะการใช้ชีวิตด้วยบัตรเครดิต การใช้ชีวิตด้วยการแข่งขัน ความมีหน้ามีตาในสังคม การหลงผิดในค่านิยม ฯลฯ                ทั้งหมดที่เขียนมาก็เพียง ถามว่า คุณใช้ชีวิตอย่างที่เป็นอยู่นี้มีความสุขหรือยัง หากมีความสุขแล้วคุณจะทำอะไรต่อไป...?  หากยังไม่มีความสุข  คุณจะต้องทำอย่างไรต่อไป... ?  แต่อย่างน้อยที่สุดผมต้องการให้เราทุกคนให้ความสำคัญต่อเด็ก ๆ กันบ้าง เพราะพวกเขาคือต้นกล้าที่รอวันเจริญเติมโต พวกเราจำเป็นต้องใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดิน  หากเราเร่งดอกผลหรือทำทวายมากเกินไป ต้นไม้นั้นอาจจะเป็นต้นไม้ที่รอแต่ถูกโค่นทิ้งหรือตายไปเองในช่วงเวลาที่รวดเร็ว  สำหรับเด็กๆ เราจึงมีความจำเป็นในการสร้างค่านิยมหรือภูมิคุ้มกันในตัว เพราะวัยเด็กถือได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางชีวิต  วัยเรียนก็ดี วัยทำงานก็ดี จะมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน เป้าหมายในระดับที่ควรจะเป็นทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่ควรที่จะมองข้ามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
หมายเลขบันทึก: 139126เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2007 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท