ภาษาไทย สื่อ หรือใคร ? คือผู้ทำลาย


ภาษาไทย สื่อ หรือใคร ? คือผู้ทำลาย
                ในสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในหลายๆด้าน ล้วนแล้วแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนหลายๆคนเกิดความวิตกกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของสภาพสังคมในแทบทุกทวีปของโลก วัฒนธรรม และอีกหลากหลายสิ่งอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ที่ได้รับอิทธิพลจากการสื่อสารที่สามารถส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็วทันใจ                ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบนั้น ที่เห็นได้ชัดก็เป็นเรื่องทางวัฒนธรรมซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากมายจากทางฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นด้านการแต่งกาย ทรงผม เสื้อผ้า และภาษา   เยาวชนไทยได้รับอิทธิพลเหล่านั้นมาอย่างเต็มที่ ซึ่งการแพร่เข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกนั้น      มาจากการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงที่ทันสมัยและรวดเร็วของสื่อ เช่น โทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี อินเตอร์เน็ต ที่เยาวชนสามารถรับเอาตัวอย่างวัฒนธรรมเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ภาษาไทย สื่อ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป                 ภาษาเป็นระบบการสื่อสารที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ เพราะมนุษย์ต้องใช้ภาษาในการติดต่อ บอกความประสงค์ ความรู้สึกนึกคิด ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้แก่กัน  ภาษาไทยก็เป็นภาษาที่ใช้เป็นสื่อในการแสดงความรู้ ความคิด ประสบการณ์ และวัฒนธรรมของชาติซึ่งมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวและมีเอกลักษณ์แตกต่างจากภาษาอื่น                 ปัจจุบัน การใช้ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากทั้งในด้านที่เป็นความงอกงามของภาษาและในด้านที่ตรงข้ามซึ่งควรปรับปรุงแก้ไข กล่าวคือภาษาไทยมีคำใช้มากขึ้น เหมาะแก่ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการต่างๆ ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ภาษาอย่างมักง่ายมีการตัดคำตามสะดวกและใช้คำผิดหน้าที่ ปัญหาการใช้ภาษาไทยเป็นปัญหาที่เกิดมานานและเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งมีผู้เพียรพยายามที่จะรักษาความถูกต้องเพื่อรักษามาตรฐานของภาษา จึงได้มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มหาวิทยาลัย โรงเรียน สื่อมวลชนทุกแขนง รวมทั้งผู้สนใจอนุรักษ์ภาษาได้ดำเนินการแก้ไขการใช้ภาษาที่ผิดๆ ด้วยวิธีการอันหลากหลาย เพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง เช่น  การกำหนดให้มีการสอบวิชาภาษาไทยในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

                    นายจักรภพ เพ็ญแข กล่าวในฐานะผู้มีอาชีพในสาขาสื่อมวลชน ว่าปัจจุบันในวงการสื่อมวลชนและสังคมไทยมีปัญหาในเรื่องของลักษณะนามในภาษาไทย เช่น   สามคนร้าย   ห้าผู้ป่วย   การขาดทักษะในการย่อความเนื่องจากยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงไป การนำเสนอข้อมูลต่างๆ  ต้องมีความกระชับและเข้าใจได้ง่ายในขอบเขตที่จำกัด  เพียงหน้าเดียว   นอกจากนี้ความรักในภาษาไทย คนไทยรุ่นใหม่ยังไม่เห็นความสวยงามของภาษาไทยทำให้ไม่เกิดความรักในภาษาไทย การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องจึงไม่เกิดขึ้น                     นายจักรภพ กล่าวด้วยว่า อยากฝากเรื่องการโต้วาที และรายการทีวีประเภทโต้วาที ที่มีการพูดโต้กันด้วยการใช้คำพูดที่ผิดแปลกจากภาษา ไทยเพื่อดึงดูดความสนใจผู้ชมแต่เป็นการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง  ในหลายๆ เรื่อง   อยากฝากให้สังคมไทยได้วิเคราะห์เพราะลักษณะการโต้วาทีเช่นนี้ ขณะนี้ได้สั่งสมไปถึงเด็กประถม และมัธยมศึกษาแล้ว รวมทั้งการกล่าวถึงสุนทรพจน์ต่างๆ 

                    นอกจากนี้ นายจักรภพ เพ็ญแข ยังกล่าวในฐานะผู้มีอาชีพสาขา
สื่อมวลชน ติงสื่อมวลชนเองมีปัญหาในเรื่องลักษณะนาม และขาดทักษะ
ในการย่อความ   พร้อมระบุรายการประเภทโต้วาที   คิดคำแปลก
ในการดึงความสนใจ แต่ทำให้เด็กและเยาวชนได้รับการสั่งสมภาษาไทย
ที่ไม่ถูกต้อง 
                    ศ.ดร.สุจริต เพียรชอบ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย 
กล่าวว่า การสอนภาษาไทยให้กับเยาวชนและคนไทยต้องชี้แนะ 
แสดงให้เห็นถึงความงดงามของภาษาไทย เพื่อให้เกิดความรักในภาษาไทย 
ขณะที่ นายประยอม ซองทอง ในฐานะนักประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า 
ภาษาไทยมีความสำคัญยิ่งต่ออาชีพ นักประชาสัมพันธ์เป็นหัวใจของทุกสาขาวิชา 
หากคนไทยยังเข้าใจภาษาไทยไม่ได้ดี  การเรียนรู้ภาษาอื่น ก็คงจะไม่ดีด้วย
และสำหรับนักประชาสัมพันธ์  การใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง
หมายถึงหน้าตาขององค์กร

                ภาษาไทย ความห่วงใยและสิ่งหวงแหนของในหลวง                                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย  คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย     ณ หอประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ในงานวันกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสฯ ทรงเปิด อภิปรายในหัวข้อเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" และได้ทรงแสดงความห่วงใย การใช้ภาษาไทยดังความตอนหนึ่ง จากกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานในการทรงร่วมอภิปราย  เรื่องปัญหาการใช้คำไทย ว่า    "ภาษานั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี ประเทศไทยนั้นมีภาษาเป็นของเราเอง ซึ่งต้องหวงแหน ประเทศใกล้เคียงของเราหลายประเทศมีภาษาของตนเองแต่ว่าเขาก็ไม่ค่อยแข็งแรง เขาต้องพยายามหาทางที่จะสร้างภาษาของตนเองไว้ให้มั่นคง เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้..."                 นอกจากนี้ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ซึ่งแสดงความห่วงใยถึงการใช้ภาษาไทย ดังความตอนหนึ่งว่า   "ในปัจจุบันนี้ ปรากฏว่า ได้มีการใช้ถ้อยคำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายจริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้  ฉะนั้น  จึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกัน เพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"    และในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าถวายฯ ชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕  ดังความตอนหนึ่งว่า  "นอกจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์ เสียงจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เสียงโทกลายเป็นเสียงตรี เสียงตรีกลายเป็นเสียงจัตวา เลยทำให้ฟังดูแปลก เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร..."  ดังนั้น ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล ของนายชวน หลีกภัย จึงเห็นชอบและมีมติให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ตามการเสนอของทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ด้านภาษาไทย และเพื่อกระตุ้นให้สถาบันการศึกษา องค์กรหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ให้ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมใจกันใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง  

ผู้แก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือทุกคนทั้งสังคม ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร     

        นักวิชาการหลายกลุ่ม ได้พยายามหาทางออกในการแก้ปัญหาารใช้ภาษาของคนไทย การใช้ภาษาได้ดีต้องเกิดจากการฝึกที่มีประสิทธิภาพ ฝึกออกเสียงให้ถูกต้อง ฝึกฟัง ฝึกเขียน ฝึกอ่าน   ซึ่งสามารถฝึกได้โดยเริ่มตั้งแต่ในชั้นเรียน ปัญหาความสามารถในการใช้ภาษาไทยขณะนี้น้อยลงเมื่อเทียบกับแต่ก่อนในการศึกษาระดับเดียวกัน การที่ตำราภาษาไทยมีน้อยทำให้ขาดเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมความสามารถในการใช้ภาษาไทย หลักสูตรการเรียนการสอนก็ไม่ให้ความสำคัญแก่วิชาภาษาและวรรณคดีไทย ก่อให้เกิดการขาดแคลนครูภาษาไทยที่มีสมรรถภาพ ขาดกิจกรรม และอุปกรณ์การสอน ขาดการกระตุ้นสมองให้ทำงานสร้างสรรค์ด้วยภาษาไทยอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกิดจากการขาดความรู้ทางภาษาไทยด้วย                

           แนวทางแก้ปัญหาการใช้ภาษาไทยของสื่อต่างๆ ซึ่งกำลังผจญกับปัญหาเรื่องนี้  โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ผู้อ่านข่าวและผู้ประกาศจะผ่านการฝึกอบรม และการคัดเลือกอย่างเคร่งครัด แต่ก็มีข้อยกเว้นบ้างตามประสาของธุรกิจ ซึ่งบางครั้งได้คัดเลือกหน้าสวย เสียงเพราะไว้ก่อน ส่วนความสามารถและความรู้ทางภาษาไทยเป็นอันดับหลัง ผู้อ่านข่าว โฆษก และผู้ประกาศจะต้องเป็นผู้อ่านหนังสือแตก อ่านรวดเร็ว หลายครั้งต้องใช้ปฏิภาณเชาวน์ไหวพริบประกอบด้วย โดยเฉพาะเมื่อผู้พิมพ์ต้นฉบับเกิดพลาดพลั้งตกหล่น ผู้อ่านข่าวจะอ่านคำตกหล่นคำผิดให้เป็นคำถูกได้ทันที                

          นอกจากนี้ ความรู้ทางภาษาไทยที่ผิวเผินจะก่อให้เกิดความพลาดพลั้งบ่อยครั้ง เมื่อผิดแล้วแก้เองไม่เป็น หนังสือแปลภาษาไทยในท้องตลาดปัจจุบันจำนวนไม่น้อยที่ใช้ภาษาแปลแบบไม่รู้หลักภาษาไทย  จะเป็นไทยก็ไม่ใช่ เป็นฝรั่งก็ไม่เชิง อ่านไม่รู้เรื่อง อาศัยที่หนังสือต้นฉบับเป็นหนังสือดีมากดังมาก ผู้ซื้ออยากรู้จักหนังสือนั้น จึงสู้อุตส่าห์ซื้อหนังสือแปลที่อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องมาช่วยแปลไทยเป็นไทยอีกทีหนึ่ง ซึ่งสมาคมนักแปลและล่ามกำลังหาทางช่วยเหลือนักแปลผู้อับจนภาษาไทยอยู่ ส่วนนักแปลเองก็ต้องช่วยตัวเองมากๆ เรื่องความรู้ศัพท์  ไม่ควร คิดว่าภาษาไทยมีคำใช้น้อย”                

           ปัญหาสุดท้ายของการใช้ภาษาไทยที่ ศาสตราจารย์ปรีชา ช้างขวัญยืน หยิบยกมาคือ ปัญหาการขาดความรู้อื่น ซึ่งก็หมายรวมถึงความรู้รอบตัวด้วย เช่น การขาดความรู้เกี่ยวกับชื่อที่คล้ายกัน เช่น งูเหลือม-งูหลาม ,ปลาตีน-ปลาจุม พรวด, กบ-เขียด-ปาด                

       สรุปแนวทางแก้ปัญหาการใช้ภาษาไทยจากกลุ่มต่างๆ  ที่ผู้เขียนได้ค้นคว้ามา แบ่งเป็น  3 กลุ่ม ดังนี้               

          กลุ่มที่ ๑ : แนวทางแก้ปัญหาการเรียนการสอนภาษาไทย                 แนวทางแก้ปัญหาอันดับแรกที่ผู้เขียนมองเห็นว่าสำคัญที่สุดคือครูอาจารย์ ควรเพิ่มพูนความรู้ให้ทันสมัยตลอดเวลา มีความรู้แน่นแม่นยำ เป็นตัวของตัวเอง ปรับประยุกต์การใช้ภาษาไทย รักภาษาไทย และทำให้ผู้เรียนรักภาษาไทยได้ ส่วนกระบวนการเรียนการสอนนั้น ควรควบคู่ภาษาและวรรณคดี ส่งเสริมการอ่าน ในเรื่องสื่อการสอน ควรมีการปฏิรูปให้ทันยุคสมัย บูรณาการภาษากับเนื้อหา มีศิลปะในการนำเสนอเพื่อจูงใจผู้เรียน ราคาไม่แพง องค์กรที่เกี่ยวข้องได้แก่สื่อมวลชน ราชบัณฑิตยสถาน สมาคมครูภาษาไทย และองค์กรส่วนท้องถิ่นควรจัดกิจกรรม หรือดำเนินการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง                

          กลุ่มที่ ๒ : แนวทางแก้ปัญหาการใช้ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย                 ผู้เขียนได้ศึกษาจากตำราที่นักวิชาการได้มองเห็นปัญหาการใช้ภาษาไทยที่ผิดเพี้ยนไปอีกอย่างหนึ่งคือ  การพูดภาษาไทยสลับภาษาอังกฤษ การใช้โครงสร้างภาษาอังกฤษ เรียบเรียงประโยคภาษาไทย การบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ จากภาษาอังกฤษไม่ทันกับความเจริญทางเทคโนโลยี วิธีแก้ไขปัญหาก็คือทุกคนควรช่วยกัน ทั้งคนในครอบครัว ครูอาจารย์ สื่อมวลชน ผู้รู้ ช่วยเขียนหรือแปลบทความเผยแพร่ความรู้ ผู้อ่าน ผู้ฟังช่วยแสดงความคิดเห็น และปรับปรุงการใช้ภาษาไทยกับเทคโนโลยีสมัยใหม่                

          กลุ่มที่ ๓ : แนวทางแก้ปัญหาการใช้ภาษาไทยของสื่อต่างๆ                 ในกลุ่มนี้ผู้เขียนได้ศึกษาพบว่า มีดารา ข่าวทีวี และวิทยุมากหน้าหลายตา เก็บปัญหามาเสนอเรื่องคำใหม่ที่เกิดใหม่ ซึ่งการหาข้อยุติไม่ทันการ ผู้ประกาศออกเสียงเพี้ยนทั้งสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ การใช้ภาษาไทยในข่าวเป็นภาษาแปร่งเพราะแปลจากภาษาต่างประเทศด้วยความรวดเร็วมาก  และผู้ที่รู้ภาษาไทยมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะช่วยตรวจแก้   ค่านิยมทางธุรกิจบีบรัดให้การคัดเลือกผู้อ่านข่าว โฆษก ผู้ประกาศ หันเหไปจากหลักการและมาตรฐาน บางครั้งสื่อขาดจิตสำนึกความเป็นเลิศในวิชาชีพ สื่อขาดที่พึ่งที่ปรึกษาเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย แนวทางแก้ไขเน้นไปที่บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมทุกคนให้พัฒนาตนเอง และระมัดระวังในการใช้ภาษา สื่อกับสื่อควรแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างใกล้ชิด ให้ความร่วมมือกัน เตือนกันเมื่อพบความผิดพลาดไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการใช้ราชาศัพท์  และสื่อควรศึกษาภาษาไทยให้ถูกต้องเพื่อธำรงไว้ ซึ่งคุณค่าแห่งความเป็นไทย  ดังที่ ลาสเวลล์ , ชาร์ลส์ ไรต์ และแม็คเควล ได้กล่าวเอาไว้มาหลายยุคหลายสมัย ถึงหน้าที่หลักของสื่อมวลชนต่อสังคมคือ ต้องสอดส่องดูแลระวังระไวสิ่งแวดล้อมให้กับสังคม  ประสานเชื่อมโยงส่วนต่างๆของสังคมหรือสมาชิกในสังคมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ถ่ายทอดมรดกทางสังคมและวัฒนธรรมจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง ให้ความบันเทิงเพื่อจรรโลงใจสังคมให้มีความสุนทรีย์ ความบันเทิงเริงรมย์ ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลทางจิตใจจากภาวะกดดันจากสิ่งแวดล้อมในสังคม และรณรงค์ให้เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงพัฒนาสังคม                 แล้ววันนี้..... ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะใด..... คุณก็คือส่วนหนึ่ง... ที่จะทำให้ ภาษาไทย      คงอยู่คู่กับประเทศไทย ตลอดไป

หมายเลขบันทึก: 139068เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2007 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในฐานะที่เป็นครูภาษาไทยก่อนอื่นขอขอบคุณที่นำสิ่งดีๆๆเหล่านี้มาให้อ่าน และขอแสดงความเห็นว่าภาษามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มนุษย์เป็นได้ทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้ทำลาย  หน้าที่ของครูภาษาไทย  คนไทยต้องร่วมกันอนุรักษ์ภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานต่อไป  โดยการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารให้มากที่สุดและถูกต้องตามหลักการใช้ภาษาทั้ง  ฟัง พูด  อ่านและเขียน

ขอบคุณครับ ที่เข้ามาอ่านครับ ผมดีใจที่มีคนรู้สึกเช่นเดียวกันครับ ผมเองเขียนบทความนี้ส่งอาจารย์ในหลักสูตรปริญญาโท เนื่องจากได้อ่านในบทความและหนังสือหลายๆเล่ม รู้สึกเป็นห่วงภาษาไทยและภาษาถิ่นของทุกภาค มาช่วยกันนะครับ ไม่ต่องอายที่จะพูดภาษาไทย หรือภาษาถิ่นกันครับ เพราะทุกภาค ทุกภาษาของไทย น่าฟังและน่าภาคภูมิใจมากๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท