ค่อนทางของโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจนฯ


เข้าใจว่าเป้าหมายสุดท้ายของโครงการฯนี้ มุ่งให้เกิดองค์ความรู้ในชุมชน เพื่อรับมือกับการกระทำของรัฐ(ที่กำลังแสดงเป็นตัวแบบ)ที่มากระทบชุมชนได้อย่างรู้เท่าทัน ไม่เพียงรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียวเช่นที่ผ่านมา แต่เครื่องมือที่ใช้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น คือ กระบวนการทำแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง

การประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน  การพัฒนาสังคมและสุขภาวะ  จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 15 ตค. 50 

                    การทำงานของโครงการฯ ภายใต้ความร่วมมือของ 5 ภาคี สกว.  สสส.  ธกส.  พม.  และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น  ในระยะเวลา 7 เดือน เมย.-ตค. 50  วางแผนงานไว้ 7 ขั้นตอน ขั้นที่ 1 สร้างกลไกความร่วมมือ: คณะทำงานระดับต่าง ๆ   ขั้นที่ 2 พัฒนาชุดเครื่องมือการจัดการสารสนเทศ: โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แบบบัญชีครัวเรือน  แบบสำรวจครัวเรือน  ขั้นที่ 3 จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลชุมชนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาตำบล  ด้านการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพวิทยากรกระบวนการภาคประชาชนระดับหมู่บ้าน/ตำบล  ขั้นที่ 4 การจัดเก็บบัญชีครัวเรือน ข้อมูลครัวเรือน ข้อมูลชุมชน ใช้ฐานชุมชนอินทรีย์/แผนแม่บท ปรับให้เป็นปัจจุบัน ร้อยละ 60-70  ขั้นที่ 5 การบันทึกข้อมูลบัญชีครัวเรือน ข้อมูลชุมชน  ลงระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ณ อบต.  ขั้นที่ 6 การจัดการความรู้ ประมวลข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อปรับปรุงแผนชุมชน  ขั้นที่ 7 จัดเวทีนโยบายสาธารณะ               

                     จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาแล้ว 3 ขั้น เกิดกลไกคณะทำงาน 4 ระดับ คือ คณะกรรมการบริหารโครงการ  คณะทำงานโครงการ  คณะทำงานระดับโซนอำเภอ  คณะทำงานระดับตำบล(หากการบริหารงานในแต่ละระดับมีการเสริมหนุนกันเข้าใจว่ากลไกความร่วมมือกำลังทำงานได้ดี)  เกิดวิทยากรกระบวนการระดับตำบล/หมู่บ้าน ในกระบวนการ บริหารจัดการงบประมาณจากส่วนกลาง  สนับสนุนการทำบัญชีครัวเรือน                

                   สำหรับขั้นตอนที่กำลังดำเนินการคือขั้นที่ 4 การจัดเก็บข้อมูลผ่านทางคุณกิจแกนนำ 8 ท่าน มีวิธีการไม่ให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อน และเป็นการเพิ่มความสมบูรณ์ของข้อมูล  ด้วยการตรวจสอบข้อมูลฐานเดิมทั้งประเด็นความสมบูรณ์ของข้อมูล  ความสมบูรณ์ของกระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชน  และความสมบูรณ์ของเนื้อหาแผนแม่บทชุมชน                

               เข้าใจว่าเป้าหมายสุดท้ายของโครงการฯนี้  มุ่งให้เกิดองค์ความรู้ในชุมชน  เพื่อรับมือกับการกระทำของรัฐ(ที่กำลังแสดงเป็นตัวแบบ)ที่มากระทบชุมชนได้อย่างรู้เท่าทัน ไม่เพียงรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียวเช่นที่ผ่านมา  เมื่อความช่วยเหลือทางด้านวัตถุหมดลงด้วยความไม่รู้เท่าทันต่อนโยบาย(กุศโลบาย)ต่าง ๆ  ชุมชนนอกจากหมดวัตถุแล้วยังยิ่งอ่อนแอลงด้วยหลงผิดว่าแม้มีความช่วยเหลือแต่ยังไม่ดีขึ้น  สู้อยู่เฉย ๆ  ไม่เจ็บตัว  ได้ก็ดี  ไม่ได้ก็ไม่ดิ้นรน

                       แต่เครื่องมือที่ใช้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น คือ กระบวนการทำแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง  ซึ่งการทำงานด้วยกระบวนการนี้ย่อมเกิดคำถามถึงความซ้ำซ้อนของงาน  เนื่องจากในพื้นที่ระดับตำบลย่อมมีแผนอบต.  อยู่แล้ว  จำเป็นต้องทำแผนแม่บทชุมชนอีกหรือ?  ที่ประชุมในวันนี้ให้คำตอบชัดเจนว่า  เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างแผนอบต.กับแผนแม่บทฯ   แผนอบต. ผ่านการทำประชาคม  แสดงถึงความมีส่วนร่วมจากประชาชน  แต่กิจกรรมของแผนเป็นไปตามคะแนนเสียง  ทำเพื่อคะแนนเสียงข้างมาก  ดังนั้นแผนจึงออกมาในรูปแบบที่ทำได้เร็ว  ไม่มีความต่อเนื่อง  จึงจำเป็นต้องทำแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง  โดยประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น(ที่ผ่านการให้ความรู้ที่ถูกต้องในการอยู่ด้วยการพึ่งตนเอง)ในการทำแผนฯ  เป็นแผนที่ใช้พัฒนาชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้การทำแผนแม่บทฯมีการอิงกับแผนอบต.อยู่แล้วเพื่อความไม่ซ้ำซ้อนแต่มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลฐานเดิมในกระบวนการทำแผน(ข้างต้น) เพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูล และกระบวนการทำแผน

                   ทุกกระบวนการใน 7 ขั้นตอนของโครงการฯ เชื่อมร้อยกระบวนการทำงานที่สอดรับกับยุทธศาสตร์  ชุมชนอินทรีย์  ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าหากกระบวนการทำงานของโครงการฯ เป็นไปเพื่อการสร้างองค์ความรู้แก่ชุมชน  นับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง  เพราะสถานการณ์ปัจจุบันของชุมชนขาดความรู้(เท่าทัน)ในการรับมือกับการกระทำจากภายนอกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มากกว่าสิ่งอื่นใด

หมายเลขบันทึก: 138940เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2007 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 ขอแลกเปลี่ยนหน่อยนะครับ

 โครงการนี้เราพยายามสลายการมองแบบขั้วตรงข้ามนะครับ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้บอกว่าชุมชนต้องมีความรู้ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อต่อสู้ ต่อรอง หรือรับมือการกระทำของรัฐ อย่างที่คุณได้นำเสนอ  เพราะรัฐก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่กระทำต่อชุมชน   เราไม่อยากให้มองว่ารัฐทำให้ชุมชนเสียหายอย่างเดียว เพราะบางครั้งชุมชนก็ทำเอง ซึ่งอาจจะเกิดจากการครอบงำทางความคิด ของระบบเศรษฐกิจ หรือกระบวนการระบบโลก และ....  อะไรทำนองนั้นด้วย

    แต่ถ้าจะบอกว่า ด้านหนึ่ง โครงการนี้มุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชนได้รู้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมรับมือกับมันอย่างมีสติ ผ่านการนำข้อมูลที่เป็นจริง มีประสิทธิภาพ  มาวางแผนกำหนดตำแหน่งแห่งที่ให้ตัวเอง ออกแบบแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับบทบริบทที่เฉพาะเจาะจง ของชุมชน และที่สำคัญต้องเกิดขึ้นอย่างมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการหนุนเสริมได้ตามความต้องการของชุมชนจริง ๆ

ด้วยความศรัทธา 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท