คราวนี้มาเข้าประเด็นเรื่องดินให้เจาะลึกลงไปว่า ในดินมีอะไร เป็นอย่างไรบ้าง เนื้อหาส่วนนี้สำหรับนักเรียนชาวนา ถือว่า ค่อนข้างยาก เพราะมีภาษาอังกฤษเข้ามาปะปน แถมยังต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้ามาอีก
การเรียนรู้เรื่องธาตุในดิน...จำเป็นอย่างเหลือเกินที่เราต้องให้นักเรียนชาวนาได้เข้าใจในสิ่งที่มันพูดกันได้ลำบาก เพราะมันไม่สามารถมองเห็นได้ชัดด้วยตา ยิ่งมาคุยด้วยเรื่องที่ว่า ข้าวที่เจริญเติบโตจนออกผลผลิตมานั้น เกิดจากการได้รับธาตุอาหารที่เพียงพอ คุณอำนวยทั้งหลาย ก็ต้องหาวิธีการที่จะอธิบายความซับซ้อนนี้ ถึงแม้ว่าจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ (ความรู้ภายนอก) เข้ามา เราก็คิดว่าจะมองข้ามไม่ได้ เอาล่ะมาดูกันว่าเราใช้วิธีไหนในการสร้างความเข้าใจให้ "คุณกิจ"
เน้นๆ เนื้อๆ ก็มานั่งชี้แจงควาหมายของ ธาตุอาหารในดินที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชซึ่งมี 13 ธาตุด้วยกันว่า การปลูกพืชติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้พืชขาดธาตุอาหารต่างๆ ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตที่พืชต้องการเป็นปริมาณมากเมื่อเปรียบเทียบกับธาตุอาหารอื่นมีอยู่ 6 ธาตุด้วยกัน คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน โดยทั่วไปดินมักจะมีธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมไม่เพียงพอแก่ความต้องการของพืช ส่วนแคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถันนั้นมักจะเพียงพอ
ไนโตรเจน (N) เป็นธาตุเดียวที่ไม่อยู่ในองค์ประกอบของหินและแร่ แหล่งของไนโตรเจนในดินจะมาจากการสลายตัวพุพังของอินทรียวัตถุ โดยมีจุลินทรีย์ต่างๆเป็นตัวย่อยสลาย และปลดปล่อยออกมาในรูปของแอมโมเนียมหรือไนเตรต พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโปรตีนและสารประกอบอินทรีย์ต่างๆที่จำเป็นต่อการเจริญ เติบโต และสร้างผลผลิตของพืช เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิล พืชที่ได้รับไนโตรเจนเพียงพอจะมีใบสีเขียวจัด เติบโตเร็ว และมีผลผลิตที่สมบูรณ์
การจัดการเมื่อพืชขาดไนโตรเจน พืชจะเติบโตช้า ใบเหลือง และแคระแกรน ออกดอกช้า และให้ผลผลิตต่ำ วิธีแก้ไขคือ ใส่ปุ๋ย (ปุ๋ยอินทรีย์) หากใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต้องใส่เป็นจำนวนมาก และใส่ล่วงหน้าเพื่อให้เวลาแก่ปุ๋ยอินทรีย์ในการที่จะถูกทำให้สลายตัว และปลดปล่อยไนไตรเจน การประเมินระดับไนโตรเจนในดินในห้องปฏิบัติการนิยมวิเคราะห์ปริมาณอินทรียวัตถุในดิน แต่หากต้องการวิเคราะห์ไนโตรเจนในภาคสนามแล้ว อาจใช้วิเคราะห์ปริมาณแอมโมเนียม หรือ ไนเตรตแทน และควรพิจารณาใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเมื่อดินมีปริมาณแอมโมเนียม ไนเตรตต่ำ หรือ ปานกลางเมื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจแล้วว่าในดินมีธาตุอะไรอยู่บ้าง ชื่อธาตุแต่ละอย่างก็ล้วนแล้วแต่เป็นศัพท์วิทยาศาสตร์และมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษ ก็ทำให้นักเรียนชาวนาได้ฝึกทักษะทางภาษาไปด้วยในตัว แม้จะยากเอาเรื่องอยู่บ้าง ... ก็เห็นป้าๆลุงๆ พยายามฝึกออกเสียงคำศัพท์ชื่อธาตุอาหารในดิน ต้องออกเสียงให้แม่นๆตรงๆ คำกันหน่อย ... ว่ากันอย่างนั้น
พอเริ่มต้นเอาเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ มาวางบนโต๊ะแล้ว ลำดับต่อไปก็จะสร้างบรรยากาศโรงเรียนชาวนาให้เป็นห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ให้ชาวนานักวิจัยได้เรียนรู้กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบดินนี้ เรียกว่า ชุดตรวจสอบดิน เอ็น – พี – เค – กรดด่าง โดยได้นำมาจากโครงการพัฒนาวิชาการดิน – ปุ๋ย และสิ่งแวดล้อม ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการนี้ก็ได้คู่มือมาพร้อม ... แต่ก่อนจะลงมือทดลองกัน ก็ต้องชี้แจงแถลงไขก่อนว่าการตรวจสอบดินในครั้งเป็นการฝึกนักเรียนชาวนาเพื่อการเรียนรู้ในเบื้องต้นเท่านั้น การทดลองจึงไม่ใช่เป็นไปในลักษณะของนักวิชาการหรือในห้องปฏิบัติการ
การตรวจสอบปริมาณธาตุอาหาร ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) ในดินทำได้ 2 วิธี คือ วิธีแรก เป็นการวิเคราะห์ละเอียด วิธีนี้ต้องทำในห้องปฏิบัติการ ใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่มีราคาแพง ใช้เวลาหลายวันกว่าจะทราบผล ต้องใช้นักวิชาการที่มีความชำนาญ และประสบการณ์สูงในการวิเคราะห์ ส่วนอีกวิธีหนึ่ง เป็นการตรวจสอบแบบรวดเร็ว เป็นวิธีทางเคมี แต่ดัดแปลงวิธีการให้ทำได้ง่าย รวดเร็ว ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็ทราบผล ราคาถูก เป็นอุปกรณ์ง่ายๆ ชาวนานักวิจัยอย่างนักเรียนชาวนาสามารถตรวจสอบได้เองอย่างสบายๆ ค่าที่ได้จะเป็นค่าโดยประมาณเท่านั้น แต่จะมีความถูกต้องมากขึ้นถ้าทดลองอย่างระมัดระวัง
เมื่อทำความเข้าใจกันดีแล้ว หลายต่อหลายรอบ เครื่องไม้เครื่องมือพร้อมแล้ว เต็มโต๊ะไปหมด นักเรียนชาวนาก็พร้อมแล้ว เต็มบริเวณไปหมดเช่นกัน ... และแล้ว คุณอำนวยของมูลนิธิข้าวขวัญจึงเริ่มสาธิตการตรวจสอบดินให้นักเรียนชาวนาได้ดูกัน หลังจากนั้นจึงให้ทุกคนมาฝึกปฏิบัติทดลองด้วยตนเอง ... คิดว่าจะทำได้หรือจะทำไม่ได้ ก็ต้องทำให้ได้แหละงานนี้ (เพราะนักเรียนชาวนาหลายคนเป็นวิตกกังวล กลัวเหลือเกินว่าจะทำผิดๆถูกๆ)
ต่อไปจะเป็นการสกัดหรือการละลายธาตุอาหาร นักเรียนชาวนานำดินที่บดอย่างละเอียดจนเป็นผงแล้วมาตวงดินใส่ขวดพลาสติก โดยใช้ช้อนตวง และใส่น้ำยาสกัดเบอร์ 1 ลงไปปริมาตร 20 มิลลิเมตร โดยใช้กระบอกตวง แล้วก็เขย่าให้ดินทำปฏิกิริยากับน้ำยาสกัด ประมาณ 5 นาที จึง กรองสารละลายดินโดยใช้กระดาษกรอง แล้วนำสิ่งที่กรองได้ไปตรวจสอบปริมาณ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) ในดินขั้นต่อไป
พอมาถึงขั้นตอนของการตวงผงดินแล้ว นักเรียนชาวนาต่างก็เห็นว่าดินที่ใช้ในการตรวจสอบนี้ ใช้ในปริมาณเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ดินก้อนใหญ่ที่ขนกันมาแต่คราวแรก ก็ต้องขนกลับบ้านใครนามัน หลายคนบอกว่ารู้อย่างนี้ก็เอามาเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว ไม่น่าจะไปขุดเอามากันเป็นถุงเลย ... นี่แหละเขาเรียกกันว่าการเรียนรู้ด้วยการลองผิดลองถูกจากนั้นจึงทำการตรวจสอบปริมาณไนเตรต โดยดูดน้ำที่กรองได้มา 1 หลอดดูด หรือ 2.5 มิลลิเมตร แล้วนำใส่ลงในหลอดแก้ว และเติมน้ำยาทำสีเบอร์ 4 ลงไปจำนวน 0.5 มิลลิเมตร กับเติมผงทำสีเบอร์ 5 ไปจำนวน ½ ช้อนเล็ก จากนั้นก็ปิดฝาหลอดแก้ว ทำการเขย่าให้น้ำยาต่างๆ เข้ากัน แล้วทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที สุดท้ายจึงสามารถทำการอ่านค่าของไนเตรตได้ โดยเปรียบเทียบกับแผ่นเทียบสีมาตรฐานไนเตรต
แล้วต่อมาก็มาทำการตรวจสอบปริมาณโพแทสเซียม โดยดูดน้ำที่สกัดจากดินมาในปริมาณ 0.8 มิลลิเมตร ให้เติมน้ำยาเบอร์ 8 จำนวน 2 มิลลิเมตร นำใส่ลงไปในหลอดแก้ว พร้อมๆกับเติมน้ำยาเบอร์ 9A จำนวน 1 หยด แล้วจึงเขย่าให้เข้ากัน และเติมน้ำยาทำสีเบอร์ 9 จำนวน 2 หยด ผสมให้เข้ากันโดยเขย่าหลอดทดลองตั้งทิ้งไว้ให้เกิดปฎิกิริยาประมาณ 5 นาที หากมีตะกอนเกิดขึ้นให้อ่านว่า มีปริมาณ โพแทสเซียม (K) สูง หากใสและไม่ตกตะกอนให้เปรียบเทียบสีที่เกิดขึ้นกับแผ่นสีมาตรฐาน หากเป็นสีส้มเข้มให้อ่านว่า มีปริมาณ โพแทสเซียม (K) ต่ำ หากเป็นสีส้มจางให้อ่านว่า มีปริมาณ โพแทสเซียม (K) ปานกลางอนึ่ง ก่อนทำสีโพแทสเซียม จะต้องเตรียมน้ำยาทำสีเบอร์ 9 ก่อน โดยดูดน้ำกลั่นเติมลงในขวดเบอร์ 9 โดยดูดน้ำกลั่นเติมลงในขวดเบอร์ 9 ที่มีผงเคมี จำนวน 3 มิลลิเมตร แล้วจึงเขย่าให้เข้ากันประมาณ 5 นาที จนกระทั่งผงเคมีละลายหมดเป็นสีน้ำตาล – ส้ม เมื่อใช้แล้วควรจัดเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา ซึ่งสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานถึง 3 เดือน แต่หากเก็บไว้ตามปกติธรรมดา จะสามารถเก็บไว้ได้เพียง 7 วัน เว้นแต่ผงเคมีในขวดที่ยังไม่ผสมน้ำลงไปก็สามารถเก็บไว้ได้ตลอดไป
นอกจากนี้ ในระหว่างการทดลองนั้น นักเรียนชาวนาจำเป็นต้องพึงระวังการสัมผัสน้ำยา เพราะเป็นสารเคมี จึงต้องแจ้งข้อควรปฏิบัติในการใช้ชุดตรวจสอบดิน ดังนี้
1. น้ำยาและผงเคมีต่างๆ ในชุดตรวจสอบน้ำมีคุณสมบัติเป็นกรด ด่าง และเกลือ ในระหว่างการทดลองต้องระวังอย่าให้ถูกมือ อย่าให้เข้าปาก และตา
2. ต้องระวังเก็บรักษาชุดตรวจสอบนี้ให้พ้นมือเด็ก เพราะเป็นสารเคมีอันตรายหากบริโภคเข้าไป หรือสัมผัสโดยตรง
3. น้ำยาทำให้เกิดสีโพแทสเซียมเบอร์ 8 เป็นสารระเหยง่าย (แอลกอฮอร์) ต้องระวังการติดไฟไวไฟ อย่าจุดไฟหรืออย่าสูบบุหรี่ขณะทำการทดลอง
4. น้ำยาทำสีโพแทสเซียมเบอร์ 9 เมื่อเตรียมใช้แล้วเป็นสารละลายเสื่อมง่าย หากเก็บไว้ในสภาพธรรมดา จะเก็บไว้ได้เพียง 7 วันเท่านั้น นักเรียนชาวนาจึงควรเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา จึงสามารถจัดเก็บไว้ได้นานถึง 3 เดือน เมื่อใช้แล้ววันต่อวันสามารถนำไปเก็บไว้ในตู้เย็นได้ ไม่จำเป็นต้องแช่ตลอดเวลาการเก็บในตู้เย็น แต่จำต้องเขียนระบุไว้ว่าเป็นน้ำยาเพื่อกันหยิบผิด
5. เมื่อใช้หลอดแก้ว และอุปกรณ์ในการตวง และวัดต่างๆแล้ว ต้องทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดแล้ว ล้างด้วยน้ำกลั่นหรือน้ำกรองอีกครั้งหนึ่ง ผึ่งลมแห้งแล้วจึงเก็บเข้ากล่อง
หลังจากที่ได้เขย่าๆผงดินกับน้ำยาสกัดให้เข้ากันแล้ว กรองน้ำยาสกัดก็แล้ว ใส่น้ำยาเบอร์ต่างๆก็แล้ว กว่าจะได้น้ำที่มีสีหลากหลายออกมา ก็ทำให้นักเรียนชาวนาเหงื่อตกเหงื่อไหลกันเป็นแถวๆ ปนๆกับเสียงอ่านขั้นตอนการทดลอง ปนๆกับเสียงตะโกนถามกันด้วยความไม่มั่นใจที่จะใส่น้ำยาเบอร์อะไร จำนวนเท่าใดกันแน่ ... แต่บรรยากาศกลับสนุกสนาน เป็นบรรยากาศแห่งการเรียนรู้
อ้าวๆ... ใครจะเป็นหมอดิน... ว่ากันอย่างไรดี สรุปได้หรือยังว่าในดินมีอะไร ดินเป็นอย่างไร นักเรียนชาวนาแต่ละคนต่างแสดงผลจากน้ำสีที่อยู่ในหลอดแก้ว แต่ละคนก็มีสีต่างกันออกไปบ้าง มีสีที่เหมือนกันบ้าง
นักเรียนชาวนาหลายคนเลยทีเดียว เริ่มวิตกกังวลอย่างหนัก เพราะว่าสีนั่นเอง กล่าวคือ เมื่อผลการตรวจสอบดินของแต่ละคนออกมาแล้ว ก็ใจหายกันเป็นแถวๆ
บางคนก็บอกว่า อยู่กับดิน เป็นชาวนามาตั้งแต่เกิดแล้ว ก็ยังไม่เคยรู้ว่าดินที่ตนเองดูแลรักษาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี่เป็นอย่างไรกัน
คำตอบที่เกิดขึ้น เป็นผลทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าในดินแต่ละท้องนาของแต่ละคนเป็นอย่างไร
คราวนี้ ลองมาพิจารณาดูผลการตรวจสอบดินจากแปลงนาจำนวน 15 กรณี ทั่วหมู่บ้าน จากการตรวจสอบดินของนักเรียนชาวนา จำนวน 15 แปลง พบว่า ดินในนาของนักเรียนชาวนาส่วนใหญ่ มากกว่าร้อยละ 90 มีไนเตรท (N) อยู่ในระดับที่ต่ำ ร้อยละ 66.7 และรองลงมาอยู่ในระดับต่ำมาก ร้อยละ 26.6 ส่วนแอมโมเนีย ส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 40.0 รองลงมาอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 33.3 และในส่วนของโพแตสเซียม (K) ส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ปานกลาง ร้อยละ 40.0 และอยู่ในระดับที่ต่ำ ร้อยละ 40.0
หลังจากที่นักเรียนชาวนาทราบแล้วว่าในดินมีธาตุอาหารอะไร อยู่ในระดับไหนกันแล้ว จึงทำให้นักเรียนชาวนาบางคนใจคอไม่ค่อยดีไปตามๆกัน เพราะผลการตรวจสอบดินในนาของตน มีธาตุอาหารบางอย่างอยู่ในระดับต่ำหรือต่ำมาก จึงเป็นเหตุให้แต่ละคนคิดมากไปตามๆกัน เป็นเหตุให้ตุณอำนวยต้องทำการชี้แจงแถลงไขให้กับนักเรียนชาวนากันยกใหญ่ว่า ไม่ต้องไปวิตกกังวลอะไรทั้งนั้น ให้ทุกคนดำเนินการปลูกข้าวปลูกผักอะไรกันต่อไป ในขณะเดียวกันก็ค่อยๆเรียนรู้วิธีการบำรุงดินกันไปด้วย ให้รู้และเข้าใจว่า ลักษณะดินที่ธาตุอาหารอย่างนั้นอย่างนี้ มากน้อยในระดับนั้นระดับนี้ ควรจะต้องทำอะไรกันอย่างไร แล้วสุดท้ายก็จะสามารถปรับปรุงบำรุงดินให้ดีขึ้นได้เป็นลำดับๆไป ... นักเรียนชาวนาจึงโล่งอกโล่งใจ และมุ่งมั่นเพื่อจะทำให้ดินดี แล้วจึงจะได้ข้าวดี
ฮุ้....มันช่างเป็นเรื่องที่ยากแก่การอธิบายจริงๆ แต่หลังจากนั้นพอชาวนายิ้มออก เราก็พลอยสบายใจ แล้วค่อยว่ากันอีกครั้งว่า...ที่ยิ้มน่ะ มันมีความหมายว่าอย่างไร....
ผมชื่นชมกับมูลนิธิข้าวขวัญและภาควิชาปฐพีวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ ที่ทำให้เกิดกิจกรรมที่มีคุณค่าเช่นนี้ครับ
การที่เกษตรกรสามารถทราบถึงระดับปริมาณของธาตุอาหารในดินที่อยู่ในแปลงของเขา เป็นสิ่งที่จำเป็นครับ
ผมคิดว่า ถ้าเขาสามารถประเมินสภาพธาตุอาหารในดินของแปลงของเขาได้ด้วยตนเอง ถึงแม้จะเป็นแบบคร่าวๆ ก็ตาม แต่ ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ ทำให้เขามีความผูกพันกับที่ดินของเขามากขึ้น
ต่อไปภายหน้า อาจจะทำให้เกษตรกรเหล่านั้น กลายเป็นหมอดินอาสาไปในตัวด้วยครับ
ขอบคุณครับที่จัดให้มีกิจกรรดีๆ แบบนี้