ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

การจัดการความรู้เกษตรกรรมแบบประณีต ตอนที่ 4


เกษตรกรรมแบบประณีต เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ดังนั้นใครไม่เรียนรู้ก็ยากที่จะสำเร็จได้ในอาชีพ

อาจกล่าวได้ว่า... การทำเกษตรกรรมแบบประณีตเป็นกระบวนการค้นหาคำตอบให้กับตนเอง เพื่อพี่น้องเกษตรกรจะได้พัฒนาวิธีคิด วิธีทำในการที่จะยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง และจากกระบวนการดำเนินการดังกล่าวพบว่าสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดคือการจัดการความรู้ (KM - Knowledge Management) จึงมีคำถามว่า....

มีการจัดการความรู้อย่างไร?...กระบวนการเรียนรู้ (Learning Process) เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต การฟัง การบอกเล่า การบันทึก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การสาธิต การฝึกอบรม การทดลองปฏิบัติ รวมทั้งการตั้งสมมติฐาน การตั้งคำถาม การแสวงหาคำตอบ สำหรับผลการเรียนรู้ (Learning Outcome) ซึ่งได้แก่ความรู้ความเข้าใจในบริบทต่างๆ ความสามารถในการกระทำ การใช้ทักษะในกระบวนการต่างๆ รวมทั้งความรู้สึก หรือเจตคติอันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ หรือวิธีการเรียนรู้  จากกระบวนการดังกล่าวสุดท้ายจึงเกิดผลลัพธ์ คือความรู้ (Knowledge) ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการในสิ่งที่เราได้สั่งสมเนื้อหาเป็นความจริง ผ่านการพิสูจน์และทดลอง สามารถตั้งเป็นกฎ นำไปปฏิบัติงานได้จริง หรือ สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งสามารถทำนายผลได้ อย่างไรก็ตามความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่บุคคลสร้างขึ้นมา หรือความรู้ในองค์กรที่ร่วมกันสร้างขึ้นมาก็ดี ควรที่จะได้มีการจัดเก็บในลักษณะของแหล่งข้อมูลที่บุคคลสามารถเข้าถึงได้โดยอาศัยช่องทางต่างๆ ที่องค์การ ชุมชนจัดเตรียมไว้ เพื่อนำความรู้ที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งก่อให้เกิดการแบ่งปันและถ่ายโอนความรู้ และในที่สุดความรู้ที่มีอยู่จะแพร่กระจาย และไหลเวียนทั่วทั้งองค์การและชุมชนอย่างสมดุล เป็นไปเพื่อเพิ่มความสามารถในการพัฒนาผลผลิตและองค์การ ชุมชน ซึ่งเรียกว่าการจัดการความรู้ (Knowledge Management-KM) โดยเฉพาะการทำเกษตรกรรมแบบประณีต นับเป็นการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่อง เกษตรกรมีการเรียนรู้ตลอดเวลาและนอกจากนั้นยังได้นำผลที่ได้จากการปฏิบัติของตนเองทั้งที่ประสบความสำเร็จ และไม่สำเร็จไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกเครือข่ายด้วยกันเอง (Share & Learn) เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจะจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกๆ สองเดือนและหมุนเวียนไปตามฐานเรียนรู้ต่างๆ ของสมาชิกเครือข่ายหลังจากนั้นก็จะได้นำความรู้ที่ได้มาพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขในกระบวนการผลิตของตนเองให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา อันเป็นผลให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ในอาชีพของตนเองอย่างยั่งยืน 

พบปะพูดคุยกันเป็นนิดเพื่อพัฒนาชีวิตที่เป็นสุข จากแนวทางการเรียนรู้ของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านที่ผ่านมานั้นจะเห็นได้ว่าการพบปะพูดคุย และประชุมเป็นช่วงๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี ดังนั้นปราชญ์ชาวบ้านจึงให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่าย และพันธมิตรทางวิชาการ

มุ่งมั่น....ทำได้จึงทำตาม

Dsc01931+%28small%29

                จากการเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน และสมาชิกเครือข่ายที่เป็นเกษตรกรต้นแบบทำให้ทราบว่าในการทำเกษตรกรรมแบบประณีตนั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสานอย่างเป็นระบบสามารถส่งผลให้เกษตรกรสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ดังเช่น พ่อผาย   สร้อยสระกลาง ปราชญ์ชาวบ้านอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้อธิบายถึงการทำเกษตรกรรมแบบประณีต 1 ไร่ว่าเป็นรูปแบบเริ่มต้นของการทำเกษตรเกษตรผสมผสานได้ดี ใช้เวลา และเงินทุนไม่มาก พ่อผายปลูกพืชผักสวนครัวที่ตนเองต้องกินต้องใช้เกือบทุกชนิด เลี้ยงโค เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้มีอาหารการกินพอเพียงตลอดปี นอกจากนั้นยังมีเหลือแจกเพื่อนบ้านเพื่อสร้างกัลยาณมิตรได้ดี อีกทั้งเกษตรกรมีชุดความรู้เกี่ยวกับการจัดการดิน น้ำ พืช สัตว์ และระบบในการที่จะดำรงอยู่ในอาชีพให้สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมีความสุข  มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถลดจำนวนหนี้สินได้  ด้วยหลักการ และแนวคิด เกษตรกรรมแบบประณีต อันจะนำไปสู่ความพออยู่พอกิน และครอบครัวเป็นสุข จากการส่งเสริมการทำเกษตรประณีต 1 ไร่ ของสมาชิกเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานนั้นเป้าหมายสำคัญก็เพื่อให้คนเกิดการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพของตนเอง พื้นที่ 1 ไร่ คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับที่จะตอบคำถามของตนเอง และพี่น้องเกษตรกรโดยรวมว่าแท้ที่จริงแล้วในการประกอบอาชีพของตนเอง การดำเนินกิจกรรมการผลิตแต่ละอย่าง ตนเองจะต้องมีความรู้ จึงจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคให้ตนเองอยู่รอดในอาชีพได้ พื้นที่เล็กๆ เพียง 1 ไร่ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่มีความเหมาะสมทั้งขนาด และเงินทุนในการดำเนินกิจกรรม ที่เกษตรกรโดยรวมสามารถจัดหาได้ นับเป็น จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่สำคัญ และสามารถขยายพื้นการผลิตให้เพียงพอต่อความจำเป็นในการดำรงชีพของตนเอง และชุมชนได้ต่อไป  

จากแนวคิดดังกล่าวจึงมีความสอดคล้องกับภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, (2543) ที่ได้ศึกษาถึง เงื่อนไขที่เป็นตัวกำหนดความสำเร็จของการทำเกษตรผสมผสานนั้น ประกอบด้วย  1) เงื่อนไขทางด้านกายภาพ ได้แก่สภาพของพื้นที่ เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จได้ต้องเลือกรูปแบบการผลิตทางการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่เป็นการเอาชนะธรรมชาติ แต่เป็นการเอาประโยชน์จากธรรมชาติ 2) เงื่อนไขด้านชีวภาพ เกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จได้ต้องมีการเลือกพันธุ์พืชและสัตว์ ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ในไร่นานั้นได้ 3) เงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ ถ้าเกษตรกรมีการลงทุนต่ำมีการใช้ทรัพยากรในไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยการเกื้อกูลของกิจกรรมการผลิตเพื่อลดรายจ่ายภายในฟาร์ม นอกจากนั้นในการผลิตต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้วยและ 4) เงื่อนไขทางด้านสังคม มีเงื่อนไขที่มีผลต่อความสำเร็จของเกษตรกรหลายอย่าง ได้แก่ ความสามัคคีในครอบครัว การอยู่ประจำในไร่นา การมีกลุ่มและเครือข่าย ที่สำคัญเกษตรกรจะต้องมีความขยันมุ่งมั่น ตั้งใจ อดออม และควรมีหลักธรรมประจำใจ จากแนวคิด และ หลักการการทำเกษตรกรรมแบบประณีต อันจะนำไปสู่ความพออยู่พอกิน และครอบครัวเป็นสุขนั้น พ่อสุพรม   แงวกุดเรือ หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบของอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ที่ได้นำแนวคิดเกษตรกรรมแบบประณีตไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพของตนบนพื้นที่ 1 ไร่ กล่าวว่า...ตนเองได้ค้นหาวิธีการทำการเกษตรที่มีความเหมาะสมมาเป็นเวลานานแสนนาน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้พออยู่พอกินจนกระทั่งได้รับคำแนะนำในการทำเกษตรแบบประณีตจากฐานการเรียนรู้ของครูบาสุทธินันท์   ปรัชญพฤทธิ์ พร้อมได้เข้าไปร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำเกษตรกรรมแบบประณีต ซึ่งตนเองได้นำมาใช้ในครอบครัวได้ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงปลา เลี้ยงโค เลี้ยงหมูพันธุ์เหมยซาน เลี้ยงไก่ไข่ ตลอดทั้งการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผลมากกว่า 10 ชนิด จากแนวทางการดำเนินดังกล่าวทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ตนเองและครอบครัวได้บริโภคสัตว์น้ำ และพืชผักที่ปลอดสารพิษ และสิ่งหนึ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการเกษตรกรรมแบบประณีตคือ การได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน เนื่องจากตนเองเป็นผู้นำชุมชน (อบต.) เมื่อมาทำเกษตรประณีตแล้วทำให้เกษตรกรโดยรอบเกิดการตื่นตัวในการเรียนรู้ในอาชีพของคนในชุมชน เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสาน มีการจัดการเรื่องการออมดิน ออมน้ำ ออมพืชและสัตว์ สามารถพึ่งตนเองได้ในแง่ของการผลิต และการบริโภค จากการดำเนินงานกว่า 2 ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อจะทำการขยายการผลิตในปริมาณที่มากขึ้นปัญหาที่พบคือการตลาด เนื่องจากสินค้าการเกษตรในชุมชนเป็นสินค้าที่มีลักษณะที่เหมือนกัน จึงทำให้ขายผลผลิตไม่ค่อยได้ราคาที่ดี และช่องทางการตลาดยังไม่กว้างขวางพอ จึงเป็นปัญหาอยู่มากสำหรับการขยายผล อย่างไรก็ตามพ่อสุพรมได้อธิบายเพิ่มเติมว่าจากการเข้าร่วมโครงการทำให้เป็นคนอยากรู้ อยากเรียนเพิ่มขึ้นสำหรับการพัฒนาอาชีพโดยเฉพาะ การจัดการความรู้เป็นแนวคิดที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับการพัฒนาอาชีพควบคู่กับการการพัฒนาท้องถิ่น จากแนวคิด และวิธีปฏิบัติของพ่อสุพรม นับเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเกษตรกรรายอื่นๆ จะได้นำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพของตนเอง จะทำให้เกษตรกรสามารถเห็นตัวตนของตนเองตามแนวคิดของอาจารย์ ดร.เสรี  พงศ์พิศ (2548)  ซึ่งกล่าวไว้ว่า “…การเรียนรู้จะทำให้คนได้สืบค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง ค้นพบ ทุนที่แท้จริงที่ยังคงเหลืออยู่ไม่น้อยในชุมชน ทุนทรัพยากร ทุนโภคทรัพย์ ผลผลิต ความรู้ ภูมิปัญญา ทุนทางศีลธรรม ทุนวัฒนธรรม ทุนทางสังคม ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมซึ่งหมายถึงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ที่มีฐานอยู่ที่ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกับความรู้สากลหรือความรู้จากวัฒนธรรมอื่น โดยอาศัยทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก…”  ดังนั้นพ่อสุพรม จึงเกิดความมั่นใจว่าตนเองเดินมาถูกทางแล้ว และจะเพียรพยายามต่อไป

ทุนที่มีความสำคัญในการประกอบอาชีพ คือ ทุนทางปัญญา พ่อสำเริง  เย็นรัมย์ หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบกิ่งอำเภอแคนดง เครือข่ายพ่อคำเดื่อง  ภาษี ได้เล่าให้ฟังว่าปัจจัยพื้นฐานในการทำเกษตรประณีต 1  ไร่ นอกจากจะมีที่ดิน มีน้ำแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีปัญญา พ่อสำเริงเป็นคนที่ไม่รู้หนังสือ เนื่องจากขาดโอกาสในการเรียนตอนเป็นเด็ก พ่อ-แม่ ยากจนไม่มีทุนเรียน จึงต้องออกมาช่วยพ่อ - แม่ทำมาหากิน พ่อสำเริงเป็นคนที่มีความเพียรพยายามอย่างยิ่งในการทำเกษตรกรรมแบบประณีต ในการทำเกษตรประณีต  1 ไร่  จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีที่ดิน  เมื่อมีที่ดินแล้วก็ต้องมีน้ำ  ซึ่งอาจจะขุดคลองรอบที่  หรือขุดสระ  หรือเจาะบาดาลก็ได้  ที่สำคัญคือต้องการมีปัญญาที่จะเรียนรู้ในการจัดการน้ำ  เรียนรู้การบำรุงดิน  การเพาะพันธุ์พืช  การเพาะพันธุ์สัตว์  ซึ่งจำเป็นต้องมีกัลยาณมิตรร่วมทาง  ร่วมกันคิดร่วมกันทำจนประสบความสำเร็จ  พ่อสำเริงได้เริ่มงานมา 3 ปี สามารถพึ่งพาตนเองได้ และนอกจากนั้นยังได้ช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกเครือข่ายด้วยกันอีกมากมาย อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เริ่มต้นใหม่จึงต้องเอาวิธีคิดไปปรับใช้ และหารูปธรรมจากงานวิจัยและพัฒนาของเกษตรกรท่านอื่น ๆ  ที่กำลังทำอยู่ นอกจากนั้นแล้วเกษตรกรที่จะทำเกษตรจะต้องเป็นคนที่เรียนรู้ คิดวิเคราะห์ และวางแผนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสอดคล้องกับการจัดการความรู้ของ  ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์  พานิช (2548) ได้กล่าวไว้ว่า “…การจัดการความรู้นั้น จะต้องดำเนินการอย่างน้อย 6 ประการได้แก่1) การกำหนดความรู้หลักที่จำเป็นหรือสำคัญต่องาน หรือกิจกรรมของกลุ่มหรือองค์กร 2) การเสาะหาความรู้ที่ต้องการ 3) การปรับปรุง ดัดแปลง หรือสร้างความรู้บางส่วนให้มีความเหมาะสม    และสอดคล้องกับงานของตน    4) การประยุกต์ใช้ความรู้ในกิจการงานของตน   5) การนำประสบการณ์จากการทำงาน   และการประยุกต์ใช้ความรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสกัด ขุมความรู้ออกมาบันทึกไว้  6) การจดบันทึก ขุมความรู้และแก่นความรู้สำหรับไว้ใช้งาน และปรับปรุงเป็นชุดความรู้ที่ครบถ้วน ลุ่มลึก และเชื่อมโยงมากขึ้น เหมาะต่อการใช้งานมากขึ้น  และประเด็นสำคัญต้องเป็นการดำเนินการแบบบูรณาการทั้ง 6 ประการ ให้เป็นเนื้อเดียวกัน สะดวก เหมาะสม และง่ายต่อการทำความเข้าใจและการปฏิบัติ... 

Dsc01799+%28small%29 เกษตรกรรมแบบประณีต...ซุปเปอร์มาร์เกตของคนชนบท  ครั้นเมื่อพ่อสำเริงเข้าไปในเมือง และเคยเข้าไปซื้อของกิน ของใช้ในซุปเปอร์มาร์เกต ก็พบว่ามีทั้งของกินของใช้มากมายอีกทั้งมีพวกพืชผักนานาชนิด จึงเกิดประกายความคิดขึ้นมาทันที (ปิ๊งแว้บ) ว่าตนเองจะต้องกลับไปปลูกพืชผักในสวนของตนเอง และประชาสัมพันธ์ ให้คนมาซื้อที่สวนให้ได้ หลังกลับมาถึงบ้านจึงได้ใช้ความเพียรพยายามในการผลิตพืชผักปลอดสารพิษ กล้วย ไม้ผล และอื่นๆ เกือบ 20 ชนิด เลี้ยงวัว เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด และไก่ไข่ โดยเฉพาะไก่ไข่พ่อสำเริงได้มีการจัดการความรู้โดยนำผักตบชวาสดๆ มาเป็นอาหารเสริมสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี เมื่อผลผลิตเริ่มขายได้ก็เปิดให้กับคนในชุมชนมาซื้อได้ที่สวน อยากได้อะไรก็ให้คนที่ต้องการซื้อไปเก็บเองเพื่อจะได้ของที่ใหม่และสดแถมปลอดสารพิษ แล้วนำไปชั่งน้ำหนักเอง สำหรับราคาของแต่ละชนิดนั้นพ่อสำเริงได้ติดป้ายราคาไว้ให้ดูอย่างชัดเจน หากเจ้าของสวนไม่อยู่ ผู้ซื้อก็จะจัดการเก็บผลผลิตเอง ชั่งน้ำหนักเองและจ่ายเงินโดยหยอดในตู้ที่พ่อสำเริงเตรียมไว้ให้ จากการดำเนินงานมากว่า 3 ปีก็พบว่าเป็นแนวทางที่ดี สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวให้มีความสุข พออยู่ พอกิน พึ่งพาตนเองได้ และมีกินมีใช้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และที่สำคัญที่พ่อสำเริงภูมิใจมากคือการที่สามารถยืนหยัดได้บนลำแข้งของตนเอง และไม่มีหนี้สินอีกต่างหาก นี่แหละครับชีวิตจริงต้องทำให้เห็นจริงแบบจะจะ

เกษตรประณีต เป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาสู่สุขภาวะทั้งทางกาย  ทางใจ  ทางสังคมและปัญญา พ่อสมพงษ์   ชุบไธสงค์ เกษตรกรมืออาชีพแห่งอำเภอพุทไธสง ที่ได้นำแนวคิดเกษตรกรรมแบบประณีตไปปรับใช้ได้เล่าให้ฟังว่าในการทำเกษตรกรรมแบบประณีตนั้น เป้าหมายสำคัญของการทำเกษตรประณีต  คือความสุข ซึ่งประกอบไปด้วยความสุขทางกาย  เนื่องจากมีอาหารการกินที่หลากหลายปลอดสารพิษไว้กันไว้แจกไว้ขาย ไม่ต้องเสี่ยงต่อการใช้สารเคมี  ได้ออกกำลังกายทุกวัน  ได้อยู่ในร่มเงาของต้นไม้ยืนต้นจึงแข็งแรงมาก  ในขณะเดียวกันก็เกิดความสุขทางใจที่ได้เห็นพืช และสัตว์เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันทำให้เกิดความปิติ  และได้ทำงานอยู่ในสวนที่ร่มรื่นขึ้นเรื่อยๆ  ไม่มีสารเคมี ที่ตนเองออกแบบไว้ซึ่งมีทั้งผัก ไม้ดอก ไม้ผล สมุนไพร ไม้ใช้สอย ช่วยทำให้ใจเป็นสุข นอกจากนั้นการชวนคนในครอบครัว  คนในชุมชน  มาช่วยกันคิด  ช่วยกันออกแบบ  ช่วยกันทำ  ทำให้เกิดความใกล้ชิดสมัครสมานสามัคคีของคนในครอบครัว  และคนในชุมชน  ที่สำคัญคือได้เรียนรู้อย่างอิสระจากของจริง  ได้คิด  ได้เรียนรู้  และได้ทดลอง  ทุกวันจนเกิดปัญญา  เป็นความสุขทางปัญญาที่แก้ปัญหา  ต่าง ๆ ได้  และแบบอย่างในการแก้ปัญหาอื่น ๆ ด้วยหลักอริยาสัจสี่  รวมทั้งเป็นแบบอย่างแก่คนอื่น ๆ  แก่ผู้สนใจในชุมชนและในเครือข่ายได้เป็นอย่างดี

บทส่งท้าย...ทำเกษตรกรรมแบบประณีตแล้วได้อะไร?                ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานได้พยายามผลักดัน เชิญชวนให้สมาชิกเครือข่ายที่เป็นเกษตรกรต้นแบบ และเกษตรกรที่มีความสนใจทั่วไปได้หันมาทำเกษตรกรรมแบบประณีต เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ เสริมสร้างปัญญากับกิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถวางแผนการผลิตได้ พร้อมกับได้เป็นชุดความรู้สำหรับเป็นแนวทางในการผลิต และพัฒนาต่อไป ประกอบด้วย ชุดความรู้การจัดการพื้นที่ การบำรุงดิน การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การไล่แมลง การจัดการน้ำ และองค์ความรู้ในการจัดการเกษตรประณีต 1 ไร่  จากความรู้ดังกล่าวอันจะนำพาเกษตรกรไปสู่สุขภาวะ 4 มิติ ได้แก่ สุขทางกาย ซึ่งว่าด้วยในเรื่องของอาหารการกิน (ปัจจัย 4) คนที่ทำเกษตรกรรมแบบประณีตจะได้บริโภคพืชผัก ผลไม้ที่ปลอดภัยจากสารเคมีก็จะส่งผลให้มีสุขภาพที่ดี  สุขทางใจ เมื่อคนมีอาหารการกินอย่างพอเพียง มีสุขภาพดี ก็ไม่มีปัญหาด้านจิตใจตามมา สุขทางสังคม เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับการออกไปทำงานนอกบ้าน แถมยังได้อยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตาของคนในครอบครัว ก็จะทำให้คอบครัวมีความสุข และสังคมเป็นสุขด้วย และสุขทางปัญญา เกษตรกรได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง และมีเครือข่ายการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สามารถพัฒนาการเรียนรู้ในการแก้ปัญหาให้กับตนเอง และชุมชนได้ นับเป็นการพัฒนาการใช้ปัญญาในการทำงานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการมองเพื่ออนาคตเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมแบบประณีตจะให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยจะจัดสรรพื้นที่สำหรับการปลูกไม้ยืนต้นเพื่อให้ติดแผ่นดินอันเป็นการมองกาลไกล เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ให้หวนคืนกลับมาสำหรับเยาวชนรุ่นหลังต่อไป

ขอบคุณมากครับ

อุทัย   อันพิมพ์

หมายเลขบันทึก: 137576เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2007 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
 ดิน พืช สัตว์ ภูมิปัญญา กาพัฒนา ในส่วนนี้จึงเกิดการเรียนรู้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในความสำคัญของคำว่า เกษตรกรรมแบบประณีต ขอบคุณครับที่ให้ความรู้ที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

เป็นข้สรุปที่น่าสนใจครับ

และที่น่าสนใจกว่าคือที่มา และข้อมูลที่สะท้อนข้อสรุปนี้ครับ

อ่านแล้วได้ความรู้มาก  ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท