การวิจัย : การวิจัยกับอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย สวนทางกันหรือไม่


สอนมากจนลืมทำงานวิจัยเพื่อนพัฒนาการเรียนการสอน

    ผมไปอ่านเจอมาเลยน่าสนใจมากต่อการพัฒนาการเรียนการสอนในหมาวิทยาลัย  ผมเลยยกมาให้อ่านครับ

   ถ้าลองเข้าไปใน "กูเกิล" และใส่รายชื่อมหาวิทยาลัยไทยลงไป 2 มหาวิทยาลัยที่มีการทำวิจัยและตีพิมพ์สูงสุด คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่รวมๆ แล้วมีการค้นพบในระดับใกล้เคียงกันคือราว 700 ชิ้น รวมๆ กันแล้ว 2 มหาวิทยาลัยประมาณ 1,400 ชิ้น ซึ่งเท่ากับเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของงานวิจัยของสถาบันการศึกษาทั้งหมดทำรวมกันประมาณ 3,000 ชิ้น

          แต่ถ้าเทียบกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับโลกแล้วถือว่ายังห่างชั้น เพราะว่ากันว่าเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งปีหนึ่งๆ แต่ละมหาวิทยาลัยผลิตงานวิจัยต่อแห่งต่อปีประมาณ 3,000 ชิ้นเท่ากับที่มหาวิทยาลัยทั้งประเทศไทยผลิตได้ในแต่ละปี

          ฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าเพราะเหตุใด มหาวิทยาลัยไทยจึงมักไม่เคยติดอันดับเมื่อมีการจัดอันดับ (ranking) มหาวิทยาลัยระดับโลก ส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ถ้าเป็นในเอเชียก็เป็นญี่ปุ่น สิงคโปร์ที่มักจะติดอันดับอยู่เป็นเนืองๆ เพราะตัวชี้วัดสำคัญที่ใช้ในการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยให้น้ำหนักกับงานวิจัย

          อย่างการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียงตง ที่มีการจัดอันดับท็อป 500 มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั่วโลก เมื่อไม่นานมานี้นั้นมีตัวชี้วัด 5 ประการ ได้แก่ 1.ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล 2.งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการใน ISI 3.งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ science และ nature 4.อาจารย์ที่มีชื่อเสียงที่ถูกอ้างอิง (top people) 5.ค่าเฉลี่ยผลงานการตีพิมพ์ต่อคน

          คำถามก็คือ ทำไมเขาถึงให้ความสำคัญกับบทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่องนี้ ศ.ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์ หนึ่งในกรรมการกำกับทิศทางของโครงการการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย อธิบายว่า การที่บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ได้รับการยอมรับนั้น สามารถมองได้ว่างานวิจัยเหล่านั้นมีคุณภาพ เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะได้รับการตีพิมพ์ ลองนึกว่าทั่วโลกมีคนที่ต้องการจะตีพิมพ์ทั้งนั้น คนที่ได้รับการตีพิมพ์จึงต้องเป็นงานวิจัยที่ดีเยี่ยม

          การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ได้รับการยอมรับจึงเป็นหลักประกันระดับสูงในเชิงคุณภาพ คุณภาพวิจัยสะท้อนภาพการเรียนการสอน

          ผศ.วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ในฐานะกรรมการและเลขานุการโครงการกล่าวว่า "เครื่องมือชี้วัดสำคัญอันหนึ่งที่เขาใช้วัดคุณภาพ ของมหาวิทยาลัยทั่วโลกก็คือ งานวิจัย เพราะ ทุกวันนี้ถ้าจะวัดเรื่องอื่นๆ มันวัดกันยาก ที่สำคัญงานวิจัยนั้นมีหลักฐานชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อมีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ และคุณภาพงานวิจัยนี่เองที่จะบ่งบอกถึงคุณภาพของการเรียนการสอนทางอ้อม เพราะการเรียนในระดับอุดมศึกษานั้นมหาวิทยาลัยยิ่งมีงานวิจัยมากก็เท่ากับว่าจะมีองค์ความรู้ใหม่ในการนำไปพัฒนาการเรียนการสอน"

         แต่น่าเศร้าที่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลกที่ผ่านมาในท็อป 500 ไม่มีมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับ จะมีก็เพียงจากการจัดอันดับของนิตยสารไทม์ ที่จุฬาลงกรณ์ติดอันดับ 100 กว่า แต่ก็ไม่ได้คะแนนในเรื่องการวิจัย

          ภาพเหล่านี้จึงสะท้อนว่ามหาวิทยาลัยของไทยยังมีจุดอ่อนในการเลือกของงานวิจัยเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันที่มีชื่อเสียงทั่วโลก และโดยรวมยังถือว่าอยู่ในระดับที่ยังไม่เข้มแข็ง

          งานวิจัยไทยยังล้าหลัง

          โครงการการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยดำริของคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งเป็นโครงการนำร่องจึงเกิดขึ้น โดยประเมินและให้คะแนนจากบทความทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งในและต่างประเทศ โดยในอนาคตจะขยับไปสู่การประเมินงานวิจัยในสายสังคมศาสตร์ และอาจจะกลายเป็นภาคบังคับของ สกว.ที่มหาวิทยาลัยผู้รับทุนจะต้องเข้าร่วมโครงการประเมิน ที่สำคัญเป็นเพราะการประเมินผลของหน่วยงาน 2-3 แห่งในไทยที่ผ่านมายังมีจุดอ่อนอีกมาก โครงการนี้จึงพุ่งเป้าที่จะเป็นแบบตัวอย่างที่มีนัยในการสร้างการรับรู้คุณภาพงานวิจัยซึ่งเชื่อมโยงกับคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อนำไปกำหนดกรอบทิศทางการวางแผนพัฒนาการศึกษาในอนาคต รวมถึงการวางแผนการจัดสรรทุนวิจัยของ สกว.

          ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ที่ปรึกษาโครงการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย กล่าวว่า งานสอนกับงานวิจัยก็เหมือนเหรียญ 2 ด้าน ถ้าไม่ทำวิจัยแล้วจะล้าหลัง งานวิจัยของไทยโดยเฉลี่ยแล้วยังล้าหลังสหรัฐอเมริกาและยูโรป 20 ปี ออสเตรเลีย 10 ปี ถ้าเราทำงานวิจัยกันมากขึ้นความล้าหลัง ก็จะน้อยลง

          อย่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ที่เราเคยมองข้ามวันนี้ติดท็อป 50 ของโลก หรืออย่าง ม.อิมพีเรียลในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยเมจิ แต่ก็ยังคงติดอันดับท็อป 5 ในเอเชีย เพราะเขาทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจะพูดว่างานวิจัยนั้นเป็นตัวเสริมการสอนที่มีคุณภาพโดยตรง

          ที่สำคัญรูปแบบการประเมินเช่นนี้มีการทำทั่วไปเป็นสากลในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่บังคับให้มีการประเมินการวิจัยในสถาบันการศึกษาเป็นประเทศแรกในโลกอย่างสหราชอาณาจักรในสมัยที่นางมาร์กาเรต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรี เริ่มให้มีการบังคับประเมินกับทุกมหาวิทยาลัยและที่สำคัญรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้แต่ละมหาวิทยาลัยตามคุณภาพของงานวิจัยอีกด้วย

          วิจัยสาขาแพทย์คุณภาพเทียบ ม.ชั้นนำ

          แม้จะเป็นโครงการนำร่องที่มีคณะและสาขาวิชาที่อาสาสมัครเข้าร่วมประเมินเพียง 78 คณะ จากมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนกว่า 26 แห่ง แต่จากการประเมินผลคุณภาพงานวิจัยวิชาการของ สกว.นั้นมีนัยที่น่าสนใจหากมองการประเมินผลครั้งนี้ในภาพรวม !!

          โดยเฉพาะเมื่อลงลึกในรายสาขาวิชา ที่ชัดเจนที่สุด คือ คณะแพทยศาสตร์ รองลงมาจะเป็นสาขาวิทยาศาสตร์กับวิศวกรรมศาสตร์ ที่ไทยมีความแข็งแกร่ง

          เรื่องนี้ ศ.ดร.ปรีดากล่าวว่า ในภาพรวมแม้ไทยไม่มีมหาวิทยาลัยติดอันดับโลก แต่ถ้าลงลึกจากคุณภาพงานวิจัยในรายคณะจะเห็นว่าคณะแพทยศาสตร์ของไทยนั้นโดดเด่นมาก โดยเฉพาะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ที่ผมแน่ใจว่าควรจะติด งานวิจัยลำดับต้นๆ ในโลกเพราะสามารถตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลกซึ่งเป็นเรื่องยากได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงทั้ง ม.มหิดล และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสาขาวิชาที่อยู่ใกล้ชิดกับชีวิตคน

          ดังนั้นจึงมีการทำวิจัยมากกว่าสาขาอื่น หรือคณะที่ได้รับจัดอันดับที่อยู่ในระดับดีมากทั้ง 3 ตัวชี้วัด คือ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล เป็นเครื่องยืนยันว่าเขามีความสามารถในการวิจัยเชิงวิชาการ

          อย่าง ม.มหิดลซึ่งมีวัฒนธรรมในการวิจัยมายาวนาน ถ้าจะให้ประเมินจริงๆ น่าจะติดอันดับ Research Faculty ของโลก ส่วนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ น่าจะเป็นสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          สงขลาฯ-สุรนารี ม้ามืด

          ผลการวัดระดับที่น่าสนใจอีกส่วนที่อาจถือได้ว่าเป็นม้ามืด คือ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และสาขาเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ประมง ทรัพยากรธรรมชาติ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีนั้นมีความน่าสนใจเนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งสามารถสร้างงานวิจัยคุณภาพ อาจเพราะส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการภายในที่มีการประเมินผลงานบุคลากรที่ชัดเจน ในขณะที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้นให้ความสำคัญกับการทำงานวิจัยของอาจารย์อย่างมาก รวมถึงการผลิตผลงานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาโท

          จากผลการประเมินคุณภาพงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นเพียงส่วนเดียวของการวัดคุณภาพของมหาวิทยาลัย แต่หากนำผลการประเมินไปเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคนั้น ผศ.วุฒิพงศ์กล่าวว่า ถ้าจะให้มองคุณภาพงานวิจัยโดยรวมเทียบกับประเทศในอาเซียนที่ไทยสู้ไม่ได้คือ คุณภาพมหาวิทยาลัยที่ดีชัดเจน คือ สิงคโปร์ แต่ถามว่า พอจะมีอะไรที่ไทยชนะบ้างก็น่าจะเป็นสาขาแพทย์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ส่วนประเทศอื่นนั้นไทยยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าและควรจะพยายามรักษาคุณภาพให้ไม่ต่ำกว่ามาเลเซีย ที่สำคัญต้องไม่ให้เวียดนามที่กำลังมาแรงแซงหน้า

ขอบคุณ ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ

หมายเลขบันทึก: 137443เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2007 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท