ประเพณีลอยกระทง


ประเพณีลอยกระทง
ท่ามกลางแสงจันทร์ในคืนเพ็ญกลางเดือนสิบสอง ซึ่งตรงกับช่วงเดือนพฤศจิกายนแบบนี้ บนสายน้ำที่หลากไหลท่วมท้นทั้งสองฟากฝั่ง  แสงเทียนนับร้อยนับพัน วูบวับระริกไหวเคลื่อนไปตามแรงกระแสน้ำ คือภาพอันน่าจำเริญตาของประเพณีที่เจนใจคนไทยมาช้านาน ประเพณีลอยกระทงคนไทยเริ่มลอยกระทงมาตั้งแต่เมื่อใดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แม้ครั้งหนึ่งเราจะถูกอบรมบ่มเพาะกันมาแต่เล็กแต่น้อยให้เชื่อว่า โคมลอยน้ำรูปดอกบัวนี้ถูกประดิษฐ์คิดขึ้นโดยยอดหญิงงามนามว่า“ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” หรือ “นางนพมาศ” สนมเอกของพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย โดยมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในวรรณกรรมชื่อ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์“
แต่ความเชื่อนี้ก็ถูกสั่นคลอนจากนักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน ว่าตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นวรรณกรรมที่ไม่ได้เก่าไปกว่ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ดังนั้นลอยกระทงจึงไม่ได้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ถึงแม้จะทำให้ผู้คนสับสนงงงัน  แต่ทฤษฎีใหม่ก็ไม่สามารถลบล้างประเพณีอันดีงามและทรงคุณค่านี้ไปได้  ไม่ว่าจะเริ่มต้นมีมาแต่ครั้งใด ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า ทุกวันนี้คนไทยทุกชนชั้น ทุกอาชีพยังคงลอยกระทงกันอยู่ ทั้งเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่เชื่อกันว่าประดิษฐานอยู่บนหาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที (ปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพัททา แคว้นทักขิณาบถ ประเทศอินเดีย) เพื่อบูชาพระเจดีย์จุฬามณี บนสวรรค์ เพื่อขอขมาพระแม่   คงคา หรือเพื่อลอยทุกข์โศกไปกับสายน้ำก็ตาม   อันที่จริงใช่เพียงคนไทยเท่านั้นที่มีประเพณีลอยกระทงหากยังมีอีกหลายวัฒนธรรมที่ร่วมลอยกระทงไปกับเราด้วย ...
ไม่ไกลจากเรานัก บ้านพี่เมืองน้องของเราอย่างประเทศลาว ก็มีประเพณีการบูชาแม่น้ำด้วยการลอยประทีปและไหลเรือไฟ โดยเชื่อว่าเป็นการบูชาคุณแห่งแม่น้ำโขงที่เลี้ยงดูพวกเขามา และเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จกลับมาจากการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์


โดยสันนิษฐานกันว่าต้นแบบของความเชื่อนี้มาจากศาสนาพุทธแบบมหายานที่แพร่หลายไปจากจีน แน่นอน....จีนก็ลอยกระทงเหมือนกันกับเรา
คู่ปรับเก่าของเราอย่างพม่า ก็ยังร่วมลอยกระทงไปพร้อมกัน  นอกจากเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าแล้ว ชาวพม่ายังลอยกระทงเพื่อบูชาผีนัต  ซึ่งหมายถึงวิญญาณที่คอยคุ้มครองบรรดาสรรพสิ่งอยู่ทั่วไป
เมืองเก่าทางเหนือของประเทศไทยซึ่งรียกกันว่าล้านนา ก็มีประเพณีลอยกระทงเพื่อบูชาแม่น้ำ พิเศษตรงที่ล้านนามีประเพณีบูชาด้วยไฟ โดยการจุดโคมที่เรียกว่า ประเพณียี่เป็ง โดยเชื่อว่าการปล่อยโคมลอยขึ้นไปบนฟ้าคือการบูชาพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเท่ากับเป็นการปล่อยทุกข์โศกให้ลอยไปพร้อมโคม
และแม่แบบของวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์อย่างอินเดีย ก็ยังคงมีการลอยกระทงกันอยู่  โดยเขาอ้างว่าวัฒนธรรมนี้เริ่มต้นที่นี่ เมื่อหลายพันปีก่อน... เริ่มต้นจากความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ที่ว่า เราควรลอยประทีปลงน้ำในคืนเพ็ญกลางเดือนสิบสอง เพื่อบูชาพระนารายณ์ที่บรรทมอยู่กลางเกษียรสมุทร และพระองค์จะทรงนำบาปเคราะห์ของเราลอยล่องไปกับประทีปอันนั้นด้วย
ในบ้านเรา... เมื่อคืนเพ็ญกลางเดือนสิบสองเวียนมาถึง ผู้คนก็พร้อมใจกันทำกระทงเป็นโคมลอยรูปดอกบัวอันสดสวยจากวัสดุหลายหลาก ไม่ว่าจะเป็นกระทงแบบประเพณีที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เข่นใบตอง หยวกกล้วย ประดับประดาดอกไม้สดนานาพันธุ์ หรือช่วงหลังจะสร้างสรรค์กระทงให้แปลกออกไป เช่น กระทงขนมปัง หรือกระทงพลาสติกซึ่งมักกลายเป็นปัญหาวุ่นวายเมื่องานจบทุกครา
ในกระทงมีธูปเทียนปักไว้ บ้างมีหมากพลู เงินทองเล็กน้อยใส่ลงไป เชื่อว่าเป็นการบูชาพระแม่คงคาระลึกถึงพระคุณที่ให้เราใช้น้ำในการดำรงชีวิต ได้อาบ ได้กิน และเพื่อเป็นการลอยเคราะห์บาปไปตามสายน้ำ แม้ว่าบ่อยครั้งกระทงน้อยจะลอยไปได้เพียงไม่ไกลก็มีอันต้องล้มคว่ำเพราะมิจฉาชีพที่ “ ปล้นบุญ ” กันหน้าตาเฉย
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม
ประเพณีลอยกระทงก็ยังคงสามารถสะท้อนภาพความผูกพันของคนกับสายน้ำออกมาได้อย่างงดงาม ทั้งยังสื่ออุปนิสัยกตัญญูรู้คุณของผู้คนเหล่านี้ได้อย่างแจ่มชัดที่สุด
และจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเพณีลอยกระทงยังคงครองตำแหน่ง ประเพณีที่สุดแสนจะโรแมนติกในใจใครต่อใครอีกหลายคน....
หมายเลขบันทึก: 136925เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2007 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

                   คำกลอนนี้จากใจกลุ่ม 8 เน้อเจ้า

               ตื่นเต้นแท้อยากให้ถึง วันนั้นที่

                แสงริบหรี่กลางวารีที่ใฝ่ฝัน

               วันเดือนปี ที่คล้อยเคลื่อนเพื่อนคือจันทร์

                เพ็ญเด่นนั่นคืนวันลอยกระทง 

                         กระทงเล็กและใหญ่ไหลตามน้ำ

                 สิบห้าค่ำวันยี่เพ็ญเล่นโขย่ง

                จุดประทัดดอกไม้ไฟรับลอยกระทง

                ป๊ะเท่งโมง..ลงปล่อยไปในน้ำปิง

                         ทั้งเธอฉันพากันปล่อยลอยในน้ำ

                กระทงงามของเธอฉันทั้งชายหญิง

                บ้างซื้อเอากระทงนั่นช่างงามจริง

                บ้างก็วิ่งแฟนทำให้ถูกใจจัง

                            สาธุ...สา...ชาติหน้า มีจริงหนอ

                สาธุ...ขอ..กระทงนี้มีมนต์ขลัง

                ช่วยให้พบอีกชาติหน้าอย่าชิงชัง

                ทุก ๆ ครั้งจงประสบพบแต่เธอ.

 

              

             

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท