BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๒๐


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๒๐

จากครั้งก่อน (เล่า... ๑๙) ผู้เขียนได้ทิ้งคำถามไว้ว่า ทรัพย์สมบัติเพื่อประโยชน์อะไร ?  และ จะใช้จ่ายทรัพย์สมบัติอย่างไร ? ซึ่งคำตอบมีอยู่ในส่วนสุดท้ายของคาถาประพันธ์ดังนี้ คือ

  • คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ ครั้นสะสมโภคสมบัติได้อย่างนี้แล้ว พึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็นสี่ส่วน เขาย่อมสมานมิตรไว้ได้ พึงใช้สอยโภคสมบัติส่วนหนึ่ง พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วย หมายว่าจักมีไว้ในยามอันตราย ดังนี้ ฯ

เมื่อพิจารณาในคาถาประพันธ์นี้ เนื้อความอื่นๆ สอดรับกันดี  กล่าวคือ ครั้นสะสมทรัยพ์ได้แล้วก็ให้แบ่งเป็น ๔ ส่วน โดย

  • ใช้สอยจ่าย ๑ ส่วน
  • ประกอบอาชีพ ๒ ส่วน
  • สำรอง ๑ ส่วน

ซึ่งประเด็นนี้ สามารถตอบคำถามในการใช้จ่ายทรัพย์สมบัติเบื้องต้นได้ ซึ่งผู้เขียนจะขยายความต่อไป... แต่จะพักประเด็นนี้ไว้ก่อน โดยจะกลับไปพิจารณาคาถาประพันธ์อีกครั้ง...

...... 

จะเห็นได้ว่าในคาถาประพันธ์จะมีข้อความว่า เขาย่อมสมานมิตรไว้ได้ แทรกเข้ามา ซึ่งผู้เขียนก็ไม่เข้าใจประเด็นนี้นัก จึงลองไปค้นหาในคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งท่านขยายความไว้ว่า...

  • ผู้ที่มีโภคะย่อมสามารถประสานมิตรไว้ได้ คนนอกนั้นไม่สามารถ

ซึ่งคำอธิบายสั้นๆ เพียงแค่นี้ ผู้เขียนว่าชัดเจนแล้ว เมื่อมาพิจารณาสำนวนไทยๆ ว่า...

  • มีเงินนับว่าน้อง มีทองนับว่าพี่ หมดเงินหมดทอง พี่น้องไม่มี

นั่นคือ คนมีโภคทรัพย์เท่านั้นย่อมผูกมิตรไว้ได้... ส่วนคนไร้โภคทรัพย์ แม้จะมีคุณสมบัติอื่นๆ ผูกมิตรไว้ได้ แต่ความสามารถจะหมดไปหรือด้อยลงทันที เมื่อไร้โภคทรัพย์... หรือคนมีโภคทรัพย์จะมีความสามารถในการผูกมิตร ชนิดที่คนไร้ทรัพย์ไม่สามารถกระทำได้... ประมาณนี้

ประเด็นนี้ บางคนอาจรู้สึกขัดแย้ง หรือไม่ค่อยจะ่เห็นด้วย... แต่นี้คือปรากฎการณ์ทางสังคมที่ค่อนข้างจะเป็นจริง มากกว่าสิ่งที่เราต้องการจะให้เป็น... ซึ่งปรากฎการณ์ทางสังคมทำนองนี้ อาจพิจารณาได้จากคำกลอนที่มีผู้แต่งล้อว่า....

  • เมื่อมั่งมี           มากมาย       มิตรหมายมอง
  • เมื่อมัวหมอง    มิตรมอง       เหมือนหมูหมา
  • เมื่อไม่มี           หมดมิตร      มุ่งมองมา
  • เมื่อมอดม้วย   แม้หมูหมา    ไม่มามอง 

ดังนั้น จากข้อความว่า เขาย่อมสมานมิตรไว้ได้ จึงมีนัยปรากฎการณ์ทางสังคมที่เป็นจริงทำนองนี้แฝงเร้นอยู่...

........

อนึ่ง สิงคาลกสูตรตอนนี้ จะเน้นที่ การคบมิตร และการขยันทำงานเพื่อสะสมโภคทรัพย์ (หรือเพื่อความมีฐานะทางเศรษฐกิจตามสำนวนปัจจุบัน)... และเมื่อมาเชื่อมกันว่า ผู้มีโภคะนั้นสามารถผูกประสานมิตรไว้ได้อีกครั้ง.... ผู้เขียนว่า ประเด็นนี้ มีนัยลึกซึ้งแฝงอยู่อีกชั้นหนึ่ง เมื่อมาพิจารณาจากบาลีภาษิตที่ผู้เขียนจดจำไว้ดังนี้

  • อลสสฺส กุโต สิปฺปํ          อสิปฺปสฺส กุโต ธนํ
  • อธนสฺส กุโต มิตฺตํ          อมิตฺตสฺส กุโต สุขํ
  • อสุขสฺส กุโต ปุญฺญํ        อปุญฺญสฺส กุโต วรํ
  • คนเกียจคร้านจะมีวิชาแต่ที่ไหน   คนไร้วิชาจะมีทรัพย์แต่ที่ไหน
  • คนไร้ทรัพย์จะมีมิตรแต่ที่ไหน       คนไร้มิตรจะมีความสุขแต่ที่ไหน
  •  คนไร้ความสุขจะมีบุญแต่ที่ไหน   คนไร้บุญจะประเสริฐแต่ที่ไหน

นั่นคือ โภคทรัพย์เพื่อความสุข นั่นเอง... ประเด็นนี้ อาจเพ่งเฉพาะความเป็นคนธรรมดา และปรากฎการณ์ทางสังคมทั่วๆ ไป เท่านั้น มิได้มุ่งหมายประเด็นอื่นๆ ที่กว้างออกไป...และจากสิงคาลกสูตรตอนนี้ อาจสรุปได้ง่ายๆ สั้นๆ ว่า...

  • คบเพื่อน ขยัน มีทรัพย์ ความสุข

แค่นี้เอง...

ส่วนประเด็นอื่นๆ ผู้เขียนจะนำมาเล่าในตอนต่อไป...

หมายเลขบันทึก: 136919เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2007 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท