ไปกันใหญ่แล้ว...KM ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


             วันนี้ผมมีโอกาสได้เข้าไปร่วมพูดคุยกับ รศ.ดร.รัชนี รักวีรธรรม คณบดี และ คณาจารย์แกนนำในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จริงๆแล้วเคยพูดคุยเรื่องการจัดการความรู้กับท่านคณบดีมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ท่านอยากให้คณาจารย์ในคณะของท่านได้รู้เรื่องบ้าง จึงได้นัดมาพูดคุยกันอีกครั้ง

               ผมเตรียม Slides ไป ๕ หน้าครับ พิมพิ์ลงกระดาษไปไม่ได้เอา note book ไปเปิดเพราะเป็นการพูดคุยในห้องประชุมของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ไม่มีที่ติดตั้งอุปกรณ์ ห้องประชุมนี้ เมื่อก่อนเป็นห้องของท่านคณบดี คณะบริหารธุรกิจครับ เพราะคณะบริหารธุรกิจเดิมเราอยู่ที่ห้องนี้ แต่ได้ย้ายออกจากห้องพักนี้ไปที่อยู่ที่อาคารอำนวยการ ประมาณ ๓ ปีแล้วครับ ผมกลับเข้ามารู้สึกห้องพักของอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ฯ ดูเป็นระเบียบและสงบมาก ตรงข้ามกับบูธของผม รกมากครับ ๕ส ไม่ผ่านมานานแล้วครับ และ มักจะมีนักศึกษามาพบประจำ จึงทำให้บรรยากาศแตกต่างกัน กลับมาอีกทีเลยทำให้คิดถึงบริเวณที่นั่งเดิม ซึ่งตอนนี้เขากั้นเป็นห้องให้นักศึกษามารอพบอาจารย์ไปแล้ว

              กลับมาเรื่องการจัดการความรู้ครับ หลังจากเล่าระลึกความหลังอยู่นาน ตอนได้รับการติดต่อให้มาพูดคุย ผมยังนึกไม่ออกครับว่า ผลจะออกมาอย่างไร กลัวเอาเองว่าต้องการรู้แค่การจัดการความรู้คืออะไร แล้วจะหยุดอยู่แค่นั้นไม่ผลักดันและเดินหน้าต่อ ไม่นำไปใช้ในการพัฒนางานภายในคณะ (กลัวเอาและคิดเอาเองครับ) แต่ก็พยายามเต็มที่ครับ เปิดเวทีด้วยการพูดสไลด์ที่เตรียมมา ซึ่งทั้งหมดก็เกี่ยวข้องกับ โมเดลปลาทู ทั้งนั้น ที่ผมเตรียมมาน้อยก็เพราะว่า ทางคณะวิทยาศาสตร์ฯ เคยเชิญ ดร.ยุวดี จากศิริราชมาบรรยายแล้วครั้งหนึ่ง ผมเลยไม่อยากไปพูดซ้ำ เลือกเอาแต่เนื้อหาที่เด่นๆ และการทำอย่างไรให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดขึ้น เริ่มประมาณ ๑๓.๓๐ พูดได้ประมาณ ๒๐ นาทีเท่านั้นครับ แล้วก็เป็นการถามตอบพูดคุยกัน ถึงประเด็นที่สงสัย คำถามมีมากมายครับ ผมคิดเอาเองว่า ได้เรื่องแน่เลย เพราะน่าจะเอาจริง ก็เพราะถามเยอะมาก (ไม่ได้กลัวคำถามนะครับ และผมเองพอตอบได้เกือบทั้งหมด บางส่วนก็ยังต้องกลับไปหาคำตอบเพิ่มอยู่บ้าง)

              แต่พอผมถามกลับว่าแล้วจะเอาการจัดการความรู้ไปใช้ในงานของคณะอย่างไร หรือจะไปทำอะไรต่อ คำตอบเอาผมฝ่อและแผ่วเลยครับ เพราะบอกว่า จะกลับไปคิดหัวข้อในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ฝ่อเพราะผมเองคิดว่า กลับไปคิดก็คงไม่ได้ทำแน่เลย (ผมกลัวเอาเองอีกแล้ว) เลยชวนคุยต่อเพื่อให้เห็นหัวข้อที่สามารถมาเป็นหัวปลาในการแลกเปลี่ยนและพัฒนางานไปได้ด้วย โดยที่ไม่ให้เป็นภาระเพิ่มแก่ผู้ปฏิบัติงาน

               คุยไปคุยมาครับ ทางท่านคณบดีบอกว่าจะมีการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ขึ้นในเดือนตุลาคม แล้วอาจารย์ที่คุมเด็กมาเข้าร่วม ส่งเด็กเสร็จก็ว่างไม่ได้ทำอะไร เอาอาจารย์เหล่านั้นมาตั้งวงแลกเปลี่ยนเรื่องการสอนวิทยาศาสตร์ดีกว่า แล้วให้อาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ เป็นคุณอำนวย ท่านคณบดีไวมากครับ จับไอเดียได้เด็ดจริงๆ แถมพอได้ความคิดนี้ ยังสามารถร่างกำหนดการพร้อมโครงการคร่าวๆ เสร็จเลยในห้องประชุม แถมคณาจารย์ในห้องก็ร่วมกันหาข้อสรุปในการจัดงานด้วยเลย

               เมื่อเป็นเช่นนี้ผมเลยขออาสา รับฝึกคุณอำนวยให้กับคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ฯด้วยเลย เป็นเวทีครั้งแรกเหมือนกันที่จะฝึกคุณอำนวย ภายในมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ เพราะด้วยความตั้งใจจริงของท่านคณบดี และคณาจารย์อย่างนี้ยินดีช่วยเต็มทีครับ

               กำหนดไว้ว่า(หากโครงการได้รับอนุมัติ) จะฝึกคุณอำนวยในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๐ และจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนให้กับคุณครูมัธยมที่สอนสายวิทยาศาสตร์ ในวันที่ตรงกับการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๐ นี้

               ร่างกำหนด คือ ช่วงเช้าเป็นการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อเทคนิคการสอนวิทยาศาสตร์ แบ่งกลุ่มเป็นห้องย่อยๆตามวิชา เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา พ่วงด้วย คณิตศาสตร์ ส่วนช่วงบ่าย จะเป็นการสรุป AAR และสอนการบันทึก blog ใน http://learners.in.th เพื่อใช้เป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อไป

                ที่บอกว่าไปกันใหญ่แล้ว เพราะผมไม่คิดมาก่อนว่า จะเกิดกิจกรรมนี้ขึ้นได้ เพราะทางท่านคณบดี และ คณาจารย์ในคณะวิทยาศาสตร์สามารถนำการจัดการความรู้มาใช้ประโยชน์ได้หลายต่อมากๆ ไกลเกินกว่าที่คาดไว้มากครับ เสร็จการพูดคุยประมาณ ๑๖.๐๐ น. รู้สึกสนุกกับการได้มาพูดคุยครั้งนี้มาก

หมายเลขบันทึก: 132034เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2007 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีครับอาจารย์
  • อ่านบันทึกนี้ เหมือนได้กินกล้วยหักมุกครับ ฮ่าๆๆ
  • ---
  • มีการต่อยอดความคิดกันได้อย่างน่าทึ่งเลยนะครับ...ดีใจด้วยครับ
  • อยากอ่านเรื่องการฝึกคุณอำนวยด้วยน่ะครับ
P
ยินดีด้วยค่ะอาจารย์

สวัสดค่ะอาจารย์มณฑล

  • เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งค่ะที่ท่านคณบดีให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ถึงขนาดนี้
  • การที่หน่วยงานแต่ละหน่วยงานจะเริ่มดำเนินการสิ่งใดที่คิดว่าเป็นสิ่งใหม่สักอย่างหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายนัก แต่หากว่าคณบดี ผู้เป็นใหญ่ที่สุดในคณะ เป็นผู้เห็นความสำคัญและลงมือลงใจ เข้าใจการทำงานนี้ด้วยแล้วงานนั้นก็จะดำเนินการได้ผ่านฉลุยค่ะ
  • เอาใจช่วยอาจารย์มณฑลค่ะ งานนี้สำเร็จแน่นอน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท