กลุ่ม "ทองหลาง"
นศ.มรภ.พระนคร ศูนย์เรียนรู้สุราษฎร์ธานี

อยู่อย่างไรให้พอเพียง........


เรื่องเล่าจากเด็กบ้านสวน

 อยู่อย่างไรให้พอเพียง

      ฉันเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัวชาวสวนมีพี่น้องจำนวนทั้งสิ้น 6 คน  ในสังคมชนบทซึ่งยังห่างไกลความเจริญและค่อนข้างทุรกันดาน เนื่องจากในสมัยนั้นการจราจรยังเป็นการเดินทางด้วยเรือ และเดินเท้าเป็นส่วนใหญ่  เนื่องจากพื้นที่ ตำบลคลองน้อย แม้ว่าอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่การพัฒนายังล้าหลังอยู่มากพราะไม่มีถนน และไฟฟ้าและน้ำประปา    เข้าถึงอย่างเช่นปัจจุบันทำให้การเดินทางค่อนข้างลำบาก  และใช้เวลาใน       การเดินทางกันเป็นวัน ๆ ระหว่างบ้านกับตลาด ทำให้ต้องใช้ชีวิต โดยอาศัยปรัชญา “เศรษฐกิจพอแบบไม่ได้ตั้งใจแต่กำเนิด” เริ่มตั้งแต่ความเป็นอยู่ อาหารการกิน และการเดินทางซึ่งพึ่งพาแรงงานมากกว่าการใช้เครื่องจักรกลเหมือนเช่นปัจจุบันซึ่งต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก พ่อและแม่ของข้าพเจ้าเป็นชาวสวน เรามีบ้านหลังเล็ก ๆ อยู่ที่ หมู่ที่ 3 ตำบลคลองน้อย อ.เมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

    ซึ่งในสมัย 30 – 40 ปีก่อนนั้น การเดินทางไม่สะดวกต้องอาศัยเรือแจว เรือพาย หรือเรือหางยาวสำหรับคนที่พอจะมีฐานะหน่อย การเดินทางระหว่างบ้านกับตลาดต้องอาศัยเรือเมล์ซึ่งวิ่งวันละ 2 -3 เที่ยวต่อวัน ชาวบ้านจะนำผลิตผลทางการเกษตร เช่น กล้วย มะพร้าวแห้ง กุ้ง หอย ปูปลา เพื่อไปขายที่ตลาด เมื่อได้เงินมาก็นำมาซื้อข้าวสาร อาหารแห้งและอาหารสด โดยในแต่ละเดือนนั้นจะมีการไปตลาดเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น ปกติชาวบ้านมักจะอาศัยและทำงานในสวนเป็นหลัก ฐานะทางครอบครัวของข้าพเจ้าไม่ดีนักเนื่องจากประกอบอาชีพ   ทำสวนและรับจ้างเก็บมะพร้าว ตลอดจนขายของในเทศกาลต่าง ๆ ให้เราพอจะมีจะกินแต่ไม่ค่อยมีเงินเก็บเนื่องจากมีลูกหลายคน และต้องเรียนหนังสือ เรามีรายได้จากการขายมะพร้าว โดยพ่อค้าคนกลางมาซื้อที่ในสวนโดยมะพร้าวจะให้ผลผลิตในช่วง 30- 45 วัน ในช่วงที่มะพร้าวยังไม่ให้ผลผลิต พ่อกับแม่ก็ประกอบอาชีพรับจ้าง เช่น ถางสวนมะพร้าวทำไร่เพื่อปลูกข้าวไว้กินเอง เย็บจากสำหรับมุงหลังคา ไว้ขาย และมีรายได้เสริม จากการเก็บพืชผักสวนครัวไปขายตามงานวัด งานบวชนาค หรืองานเทศกาล ซึ่งในสมัยนั้นมักจะมีมหรสพ เช่น หนังตะลุง  ลิเก โนห์รา และหนังกลางแปลงขายยา ตลอดจนงานออกร้านต่าง ๆ  เพื่อให้ชาวบ้านไปเที่ยวสนุกสนานกัน แต่สำหรับครอบครัวของข้าพเจ้า “งานวัด” นั้นเป็น “โอกาส” ที่ครอบครัวจะมีรายได้เสริมมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อ “วางแผนและเตรียมการ” ว่าจะต้องทำอะไรกันบ้าง พ่อกับแม่จะเป็นตัวตั้งตัวตีในการนำลูก ๆ ไปจัดเตรียมสินค้าที่จะนำไปขายอย่างขมีขมัน เมื่อมีงานวัดที่ไหนก็จะรีบขวนขวายหา “สินค้าพื้นบ้าน” ไปขายในงานเช่น ทอดกล้วยแขกขายทำข้าวต้มมัด ข้าวหลาม ขนมจาก ขนมใส่ใส้ และมีพืชในสวน เช่น ยอดลำเพ็ง ผักแว่น หัวปลี ขิง ข่า ตะไคร้ กล้วยน้ำหว้าดิบ กล้วยหอม สินค้าเหล่านี้ก็สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวของข้าพเจ้า  และเมื่อขายเสร็จก็จะซื้อ อาหารทะเลและปลากลับมาขายที่บ้าน ทำให้เราพอมีรายได้พอจุนเจือครอบครัวได้ตามอัตภาพ ไม่มีการสร้างหนี้สินระยะยาว  แต่อาจจะมีปัญหาเนื่องจากเวลาต้องไปเรียนหนังสือในตัวเมืองทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และบางครั้งต้องกู้ยืมเงินระยะสั้นจากพ่อค้าคนกลางเพื่อเป็นทุนให้ลูก ไปเรียนหนังสือทำให้พี่น้องของข้าพเจ้าแต่ละคนเรียนหนังสือได้ไม่สูง จะมีเฉพาะพี่น้องบางคนที่เรียนจบปริญญาตรี ตั้งแต่ประถมจนกระทั่งจบได้งานทำ  ส่วนข้าพเจ้าเนื่องที่บ้านมีปัญหาทางด้านการเงินทำให้เรียนหนังสือได้เพียงมัธยม  3 ต้องออกมาทำงานก่อนวัยอันควรเนื่องจากเศรษฐกิจในครอบครัวขณะนั้นรายได้ไม่สม่ำเสมอและเราไม่มีเงินเก็บเพียงพอที่จะจุนเจือด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องได้ แต่อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่พึ่งพาตนเองตั้งแต่ปฐมวัย  และต้องเดินเท้าเปล่าไปเรียนหนังสือที่ โรงเรียนวัดซึ่งมีถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้เวลาในการเดินทางชั่วโมงเศษ ๆ   เวลาเดือน 11 เดือน 12 ซึ่งมีน้ำท่วมก็จะต้องพายเรือกันไป เราได้ค่าขนมเพียง 50 สตางค์ ไม่เกิน 2 บาท และเราต้อง “คดข้าวห่อ” ไปกินที่โรงเรียน ส่วนเวลากลางคืนยังต้องใช้ตะเกียงเพื่อให้แสงสว่าง สภาพ ที่เกิดขึ้นสอนให้เรารู้จักคำว่า “พึ่งพาตนเอง” ตั้งแต่เริ่มต้น และฝึก   “ความอดทน” หากต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนคำว่า “อดออม” นั้นเรารู้จักตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ เพราะบางครั้งหากไม่ได้ออกตลาดเรา ต้องหาอาหารในพื้นที่ เช่น หากุ้ง หาปลา หรือ ดักนก เลี้ยงหมู  เลี้ยงไก่ไว้รับประทานเอง หากมีเงินเหลือก็เก็บไว้ไปซื้อของใช้ที่จำเป็นที่ตลาดทำให้เราไม่ “ฟุ่มเฟือย” เพราะไม่มีทางเลือกให้เรามากนัก และพื้นเพของครอบครัวที่พึ่งพาตนเองเป็นหลักทำให้เรารู้ว่า “อะไรต้องทำ และควรทำ” และ "อะไรไม่ควรทำ "ในช่วงที่เรียนหนังสือชั้นประถมข้าพเจ้าเคยไปช่วยพี่สาวขายขนมช่วงวันเสาร์อาทิตย์ และมีคนจำนวนมาก ที่มาดูรายการ “ชกมวย”   สมัยนั้นโทรทัศน์นั้น ยังเป็นสิ่งบันเทิงที่หายาก และมีเฉพาะบ้านคนที่มีฐานะดี เพราะยัง ไม่มีไฟฟ้าต้องใช้ไฟฟ้าจากการใช้เครื่องปั่นไปส่วนตัว และต้องตั้งเสาสูง ๆ ทำให้ชาวบ้านแถบนั้นใช้ร้านค้าเป็นแหล่งชุมนุมกัน   คล้ายกับตลาดนัด   ในปัจจุบัน   อย่างไรก็ตาม เมื่อข้าพเจ้าเติบโตขึ้น  พื้นฐานครอบครัวได้สั่งสมให้ข้าพเจ้ารู้จักพึ่งพาตนเอง ซึ่งในวงจรชีวิต ของคนคงไม่ต่างจากคำโบราณที่ว่า “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” หรือ  “ชีวิตเริ่มต้นที่หลักสี่” คงไม่ต่างจากความเป็นจริงมากนัก   เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจดีในปี 2537 -2540   แล้วกลายเป็นวิกฤติการเงิน ของประเทศไทยนั้น ข้าพเจ้ามีประสบการณ์จากความ ไม่ระมัดระวัง หรืออาจจะเรียกได้ว่า “ใช้ชีวิตโดยประมาท” ก็ว่าได้ เพราะในช่วงนั้น รายได้ก็พอจะดีอยู่เพราะนอกจากมีรายได้ประจำจากงานแล้ว ยังมีรายได้เสริมจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อให้ได้ดอกผล แต่ปรากฎว่า  ผลสุดท้ายเศรษฐกิจไม่ดีทำให้ถูก “เบี้ยวหนี้” เป็นเงินกว่าแสนบาท  ทำให้เส้นทางด้านการเงิน เดินถอยหลัง อยู่ระยะหนึ่ง แต่เนื่องจากพื้นฐานเป็นคนที่ “สู้ชีวิต” ดังนั้นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียง “บทเรียน” ที่ราคาแพงสำหรับการเดินทางข้างหน้าที่จะต้องใช้คำว่า   “ห้ามผิดพลาด” เพราะ ความผิดพลาดทำให้เสียเวลา ต้องแก้ไข  และเกิดการถดถอยมากกว่าก้าวไปข้างหน้า อย่าลืมว่า เวลาเดิน ไปข้างหน้าตลอดเวลา และเป็นสิ่งที่ยุติธรรมที่สุดเพราะทุกคนมีเท่ากัน “24 ชั่วโมง” ดังนั้นหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เราอาจจะให้อภัยกันได้ แต่เวลาไม่เปิดโอกาสนั้นและไม่ต้องการรับฟังคำอธิบาย คนเราสามารถอยู่โดยใช้แนวคิด “อยู่อย่างไร ให้พอเพียง” ได้โดยแนวคิดที่สำคัญคือ ต้องมีการดำเนินชีวิตโดยมี “เป้าหมายที่ชัดเจน” เพราะการดำเนินชีวิตที่ไม่มีเป้าหมายเหมือนการเดินเรือที่ไม่มี “หางเสือ”  เราก็จะไม่รู้ทิศทางว่าเราจะเดินทางไปทิศทางใด

       สำหรับ  เป้าหมายในชีวิตของข้าพเจ้าคือ การมีความเป็นอยู่ที่ดี เรียนจนจบปริญญาตรี  และมีงานทำ มีรายได้ มีรายรับมากกว่ารายจ่ายทำให้เหลือ “เงินออม” ซึ่งจะเป็นสินทรัพย์อีกตัวหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับข้าพเจ้าในยามที่จำเป็น  เช่น ชรา หรือป่วยไข้ไม่สบาย ดังนั้นข้าพเจ้าคิดว่า การวางแผนทางการเงิน ตั้งแต่ในสมัยที่เรายังมี “ศักยภาพ” หรือสุขภาพดีแข็งแรงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่ จะสามารถมี “เงินออม” ไว้ใช้ในอนาคต แนวคิดสำคัญในการ “อยู่อย่างไรให้พอเพียง”    คือ ควรมีการเก็บเงินอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการ เก็บเงินก่อนใช้จ่าย  ซึ่งจะทำให้มีเงิน “เก็บ” เหลือไว้ส่วนที่เหลือเราก็สามารถนำไปใช้จ่าย    ได้ตามความจำเป็น เช่น เรามีเงินเดือน ๆ ละ 12,000 บาท  หากเราออมเดือนละ 20 %จะต้องเก็บเงินเดือนละ 2,400 บาทต่อเดือน   หรือปีละ 28,800 บาท ซึ่งหากเราต้องการมีเงินเก็บประมาณ 500,000 บาท  เราก็ต้องใช้เวลาในการเก็บเงินประมาณ 18 ปี ซึ่งเป็นการคิดโดย ไม่คำนึงถึงดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ เราสามารถมีรายได้เพิ่มจากดอกเบี้ย   ซึ่งอาจจะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายในการเก็บเงินได้เร็วขึ้น  และต้องระมัดระวังในการใช้จ่าย และหาทางเพิ่มหายได้ เพื่อทำให้การบรรลุเป้าหมายในเรื่องเวลาเร็วขึ้น   และนำเงินที่ออมไว้ไปสร้างดอกผล เช่น การซื้อที่ดิน   หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เพราะจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น  เพราะอสังหาริมทรัพย์นั้นมักจะมีมูลค่าเพิ่มตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป   นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังคงประกอบอาชีพขายตรงสินค้า เครื่องสำอางซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้เสริมให้กับ  ข้าพเจ้าทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงิน หรือมีอิสระทางการเงินเร็วขึ้น  เนื่องจากคนเราหากไม่มีหนิ้สินเข้ามากระทบด้านจิตใจแล้วจะทำให้มี  ความคิดสร้างสรรค์และสามารถทำงานได้อย่างอิสระและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 131732เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2007 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แลแค๋ใสเสื้อต๊ะ เดี๋ยวคันบอบแหละ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท