ประเพณีรับขวัญแม่โพสพ บ้านไผ่ขอน้ำ (3 : ตอนจบ)


การรำมีการสร้างความสัมพันธ์และการแสดงความสัมพันธ์ทางสังคมด้วย
ที่สุดก็มาถึงตอนจบจนได้ วันที่ 2 ของประเพณี เริ่มต้นแต่เช้าตรู่ด้วยการทำบุญตักบาตรตามแบบพุทธศาสนาหลังเสร็จพิธีทางศาสนา พระสงฆ์พรมน้ำมนตร์ให้ผู้เข้าร่วมพิธี และแม่โพสพโปรยทานตามหลังพระสงฆ์ (เหรียญตกมาที่ดิฉันตั้งเยอะ แต่แย่งไม่ได้สักเหรียญ ภาษาเหนือบ้านดิฉันเรียก จั๊ตต๋าบ่ากอกแห้ง) แต่ก็อิ่มบุญค่ะ เพราะได้มาทำบุญตักบาตรร่วมกับคนทั้งหมู่บ้านไผ่ขอน้ำทีเดียว

          อาจเป็นเพราะเป็นพิธีทางศาสนา ตอนเช้านี้จึงมีผู้ชายมาร่วมงานด้วยพอสมควรแต่ก็จำกัดเขตการเข้าร่วมงานอยู่รอบนอกและส่วนใหญ่จะช่วยงานหนักๆ เช่น ดูแลบาตรเมื่อข้าวเต็มบาตร ช่วยยกตะกร้าจานชามมาใส่อาหาร เป็นต้น

          เสร็จพิธีทำบุญตักบาตรก็ถึงช่วงโปรดของหลายๆ คน ก็ตั้งวงทานอาหารเช้ากันค่ะ ก็อาหารที่นำมาทำบุญตอนเช้านั่นแหล่ะค่ะ จัดใส่สำรับมานั่งล้อมวงสามัคคีอาหารเช้า อิ่มเอมไปตามๆ กันอิ่มบุญ อิ่มท้อง และ อิ่มความอบอุ่น

          พิธีมาเริ่มอีกทีหนึ่งตอนบ่ายสองโมงเช่นวานนี้ เริ่มออเดิร์ฟด้วยวงมังคละมีแม่โพสพแต่งตัวสวยงามร่ายรำไปตามจังหวะเพลง และมีหลายลักษณะของการรำ เท่าที่ลองเก็บข้อมูลการรำดูพบว่ามีหลายลักษณะ

           รำดุ แม่โพสพที่มีบทบาทรำดุมักจะมีท่ายักษ์ ท่าที่คนอื่นๆ จะไม่กล้าเข้าใกล้ มีท่าทีรุกรานอย่างเห็นได้ชัดและมักเป็นผู้คอยหยิกผู้หญิงที่ใส่กางเกง หรือผู้ชายที่เข้าไปใกล้รัศมีแม่โพสพมากเกินไป

           รำหวาน แม่โพสพที่มีบทบาทนี้จะคอยหลีกหนีจากบทบาทแรก และมีลูกคู่คอยดูแลรายรอบและรำสวยมาก 

            รำจังหวะสนุกสนานมักจะถนัดจังหวะม้าย่องเป็นพิเศษและใส่หน้าตาท่าทางที่ตลกขบขัน แตกต่างจากรำดุที่ทุกคนจะมีอารมณ์สนุกสนานร่วมด้วย  

            นักรำหน้าใหม่ ส่วนใหญ่จะร้องไห้ก่อนออกมารำ (ถามผู้ร่วมพิธี บอกว่า แม่โพสพเข้าสิง) และจะรำไม่ค่อยเก่งแม่โพสพคนก่อนจะคอยสอนท่ารำให้

           ท่ารำพักเหนื่อย (ดิฉันตั้งชื่อเอง) แม่โพสพบางคนที่รำมานานๆ จะมีท่านี้เป็นพักๆ คือ การเอามือไขว้หลังมองซ้ายมองขวาและโยกตัวไปตามจังหวะเพลงอยู่กับที่

           การรำมีการสร้างความสัมพันธ์และการแสดงความสัมพันธ์ทางสังคมด้วย เพราะมือใหม่หัดรำจะถูกสอนด้วยมืออาชีพ ก่อนออกรำก็จะมีลูกคู่คอยสนับสนุนให้ออกไปรำ เช่น ตบมือตามจังหวะ พูดจากระตุ้น หรือโห่สนับสนุนเป็นพักๆ รวมไปถึงแม่โพสพที่รำอยู่ก่อนแล้วเอาผ้าสไบมาคล้องออกไปรำ คนที่นั่งล้อมรอบก็จะคอยตบมือ โห่ และให้กำลังใจ

           กว่าพิธีอื่นๆ จะเริ่มก็ผ่านเวลาการรำกว่า2 ชั่วโมง มีแม่โพสพรำดุบางคน ไม่ยอมเลิกรำ ตะโกนว่าพึ่งมาเมื่อวานวันนี้ให้กลับเร็วไปหน่อยยังไม่อยากกลับ ได้รับเสียงโห่รับทั้งศาลาทีเดียว

           แต่ที่สุดงานเลี้ยงก็ต้องมีวันเลิกรา หลังจากพิธีทางศาสนาแล้ว ทุกคนก็นำขันบายศรีกลับบ้านโดยมีกลองมังคละตามไปส่งจนถึงบ้านหลังสุดท้าย แต่รายการรับขวัญยังไม่จบค่ะ มีพิธีเพิ่มเติมอีกที่ยุ้งข้าว

           เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว บรรดาผู้รับขวัญแม่โพสพทั้งหลายก็นำขันบายศรีไปยังยุ้งข้าวของตนและนำธูป 3 ดอกไปปักบนกองข้าวและกล่าวรับขวัญ ขอพรให้การทำนาได้ผลดีพร้อมกับขอพรให้ตนและครอบครัวประสบกับความสุขต่างๆ ตามแต่จะนึกขึ้นได้นะขณะนั้น  เป็นอันจบพิธี



ความเห็น (6)
  • หลายๆ ท่านอาจสงสัยโผล่มาได้อย่างไร มีโน๊ตเพิ่มค่ะ
  • รายการนี้เขียนเสร็จเป็นส่วนใหญ่ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 และซ่อนไว้ แต่มาปรับปรุงวันนี้เพราะ บล็อกห้องสมุด คึกคัก เลยอดใจไม่ไหว
  • เพื่อให้มีคนอ่าน เลยนำมาลงใหม่เป็นบันทึกใหม่อีกครั้งหนึ่งค่ะ แบบว่า ของเก่านำมาเล่าใหม่

ขอขอบคุณอาจารย์ wanpen...

  • รายการศิลปวัฒนธรรมอย่างนี้... ถ้ามีภาพประกอบละก็ ยอดไปเลย
  • ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอวัลลภ
    Pค่ะ  สำหรับคำแนะนำ ดิฉันจะเสาะหารูปมาประกอบในโอกาสต่อไปค่ะ ตอนนี้เปลี่ยนเครื่องใหม่ค่ะ รูปกระจัดกระจายพอควร
  • บรรณารักษ์ บางคราวก็เปลี่ยนเป็นบรรณารก (แบบว่าหาของไม่เจอ)ได้เหมือนกันค่ะ
  • เพ็ญคะ น่าจะทำเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้เลย เพราะมีข้อมูลอยู่แล้ว
  • จะได้ช่วยกันเผยแพร่ภูมิปัญญาไทย อนุรักษ์ ประเพณีและดำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมของบ้านไผ่ขอน้ำ  
  • ลืมบอกไปว่า เพ็ญทำงานวิจัยได้ดีอยู่แล้ว และงานวิจัยลักษณะนี้น่าจะเป็นงานวิจัยที่ถนัดของเพ็ญ....
  • ให้กำลังใจค่ะ จะได้มีงานวิจัยด้านภูมิปัญญาไทยเพิ่มขึ้นอีก 

อยากอ่านทั้ง 3 ตอนไม่รู้จะอ่านไง

น่าจะมีรูปภาพประกอบ

ถีอว่าใช้ได้เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท