ปัจจัยสำเร็จขององค์การแห่งการเรียนรู้ (1)


จุดสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคือ ต้องวิเคราะห์ตัวเองให้ออกก่อนว่า เราสร้างบุคลิกภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไว้ให้กับตัวเองอย่างไร ภาษาด้านจิตวิญญาณมักเรียกว่า “การตระหนักรู้ตนเอง” ตรงนี้ Senge เรียกว่า รู้ Mental Model ของตนเอง รู้ว่ากลไกทางจิตของตนเองเป็นอย่างไร รู้จุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง เพื่อก้าวข้ามไปสู่การรู้จักศักยภาพของตนเอง หรือ Personal Mastery
  

ดิฉันสรุปการใช้ศาสตร์นพลักษณ์ในการพัฒนาความเป็นผู้นำของทั้งผู้นำองค์กร และพนักงาน โดยมีจุดสำคัญที่เน้นย้ำว่า

นพลักษณ์ไม่มีวัตถุประสงค์ให้นำศาสตร์นี้ไปประยุกต์ใช้แบบ “put the right man to the right job” หากแต่เป็นไปเพื่อ การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของแต่ละคน (ปัจเจก) แล้วพัฒนาเพื่อข้ามพ้นข้อจำกัดของตนเอง ก็คือเป็นการพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากรในองค์กรมากกว่า  (Individual Development / Personal Development)    

   

มีหลายสถาบันในสหรัฐอเมริกา ที่มีการเรียนการสอนศาสตร์นพลักษณ์ เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ เช่น Boston Business School : Institute for Personal Development  นำ enneagram หรือนพลักษณ์สอนอยู่ในหลักสูตร โดย David Daniels

(ในเมืองไทยมีหนังสือที่เขาเขียน แปลเป็นไทยแล้ว 1 เล่ม ชื่อ แก่นนพลักษณ์ : คู่มือค้นหาและพัฒนาตนเอง ) และมีอีกหลายแห่ง หากท่านค้นใน google จะพบว่ามีมากกว่าแสนข้อมูลเมื่อพิมพ์คำว่า enneagram

 

สำหรับในเมืองไทย การอบรมนพลักษณ์ มีอยู่หลายกลุ่ม หลายองค์กร โดยส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ของการอบรมในด้านการพัฒนาจิตวิญญาณ หรือการพัฒนาชีวิตด้านในมากกว่าที่จะตอบสนองการประยุกต์ใช้ในองค์กร แต่เมือผู้เข้ารับการอบรมนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มักพบว่า นพลักษณ์ ส่งผลดีต่อเรื่อง ความสัมพันธ์ ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน ต่อมาจึงมีหลักสูตรการฝึกอบรมที่ตอบโจทย์ต่อองค์กรมากขึ้น และได้รับการทาบทามให้จัดฝึกอบรมในลักษณะของ in house training มากขึ้น

 

ในด้านการศึกษาในระบบของเมืองไทย นพลักษณ์ ก็ได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งวิชาในมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาจิตปัญญาศึกษา

 โลกเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เน้นย้ำว่า ปัจจัยสำเร็จขององค์กร คือ ทรัพยากรมนุษย์ แล้วก็มีศาสตร์ มีเครื่องมือต่างๆ มากมายออกมาให้เราเรียนรู้เพื่อที่จะ จัดการ และ พัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ หรือ คนในองค์กร โลกตะวันตกตอนนี้ มีแนวโน้มในการหันมาสนใจศึกษาศาสตร์ของตะวันออก ในเรื่องของจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกสมาธิ โยคะ ชี่กง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นศาสตร์ที่ฝึกเฉพาะตน หรือเป็นการพัฒนาปัจเจกบุคคล โดยมองเห็นความเชื่อมโยงอย่างเป็นองค์รวมว่า พลังของปัจเจก คือ พลังขององค์กร

         

Peter M. Senge ให้คำจำกัดความคำว่า องค์การแห่งการเรียนรู้ (learning organization) ว่าหมายถึง องค์กรที่บุคลากรสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง จนสามารถสร้างผลงานให้บรรลุได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งเป็นองค์กรที่เกิดรูปแบบการคิดใหม่ ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งบุคลากรมีอิสระที่จะสร้างแรงบันดาลใจ และเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ร่วมกัน

 

          ศักยภาพ คือสิ่งที่นอนเนื่องอยู่ในตัว และพร้อมสำหรับการนำมาใช้ ให้เป็นสมรรถนะ (Competency) ในการทำงาน และการใช้ชีวิต ศาสตร์นพลักษณ์ เน้นย้ำว่า เราทุกคนมี ศักยภาพสัมบูรณ์ อยู่ในตัวเองอยู่แล้ว หรือในทางพุทธศาสนามหายาน เรียกว่า เราทุกคนมีความเป็น พุทธะ หรือ จิตประภัสสร อยู่แล้ว เพียงแต่เรามี อวิชชา หรือความไม่รู้ มาทำให้เราไม่สามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ เรามักจะคิด มองโลก มีทัศนคติว่าเราทำได้ ทำไม่ได้ อยากทำ ไม่อยากทำ ตามเกราะของบุคลิกภาพที่เราสร้างขึ้นมาตามลักษณ์เรา

 

          จุดสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคือ ต้องวิเคราะห์ตัวเองให้ออกก่อนว่า เราสร้างบุคลิกภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไว้ให้กับตัวเองอย่างไร ภาษาด้านจิตวิญญาณมักเรียกว่า การตระหนักรู้ตนเอง  ตรงนี้ Senge เรียกว่า รู้ Mental Model ของตนเอง รู้ว่ากลไกทางจิตของตนเองเป็นอย่างไร รู้จุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง  เพื่อก้าวข้ามไปสู่การรู้จักศักยภาพของตนเอง หรือ Personal Mastery (ไว้ตอนต่อไปจะนำเสนอการใช้นพลักษณ์เป็นเครื่องมือเข้าถึง Fifth Discipline : The Art and Practice of Learning Organization ของ Senge อย่างละเอียด)

 

          อีกคนหนึ่งที่เห็นความสำคัญของ พลังปัจเจก โดยเฉพาะพลังการตระหนักรู้ตนเอง คือ สตีเฟ่น  อาร์โควี่ย์ จากหนังสือ อุปนิสัยที่ 8 ระบุว่า สาเหตุง่ายๆ ประการหนึ่งที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวงว่า ทำไมคนจำนวนมากจึงไม่พอใจกับหน้าที่การงาน และทำไมองค์กรส่วนใหญ่จึงไม่สามารถดึงความสามารถพิเศษ ความฉลาด ความริเริ่มสร้างสรรค์ของพนักงาน และไม่เป็นองค์กรที่ยั่งยืนยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงเลย ต้นตอของปัญหานี้มาจาก กรอบความคิดที่ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ว่า เราเป็นใคร ซึ่งเป็นมุมมองขั้นพื้นฐานถึงธรรมชาติมนุษย์

           นพลักษณ์ เป็นเครื่องมือให้คนในองค์กร รู้จักว่า ตัวเอง คือ ใคร และอะไรจำกัดเราอยู่ เราแต่ละคนสร้างปัญหาให้กับตัวเองและคนอื่นโดยไม่รู้ตัว จากการใช้พลัง 3 ศูนย์ตามทฤษฏีนพลักษณ์ที่ไม่สมดุล คือ พลังหัว (การใช้เหตุผล จินตนาการ ข้อมูล ตรรกะ) พลังใจ (อารมณ์ ความรู้สึก การมีสัมพันธภาพกับคนอื่น การมีภาพลักษณ์) และพลังท้อง (การลงมือกระทำ การเคลื่อนไหว การตอบสนองแบบสัญชาติญาณ การเอาตัวรอด) อีกคนหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึงคือ Jack Welch สุดยอดนักบริหารจาก GE เขามักจะแบ่งพนักงานที่คัดเข้ามาเป็น 4 ประเภทคือ
         A  :  คนที่มีทัศนคติตามความเชื่อของบริษัท และสามารถทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
         B  :  คนที่มีทัศนคติตามความเชื่อของบริษัท แต่ทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ค่อยได้
         C  :  คนที่ทำงานไม่ค่อยได้เรื่องตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และพอมีทัศนคติตามความเชื่อของบริษัทบ้าง
         D  :  คนที่สามารถทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ไม่มีทัศนคติตามความเชื่อของบริษัท
                    เขาคิดว่า คนประเภท D เป็นประเภทที่ต้องให้ออกจากงานมากที่สุด ส่วนคนประเภท C ควรให้โอกาสสัก 2 ถึง 3 ครั้ง

สำหรับพนักงานที่ Welch ต้องการนำไปฝึกอบรมคือพนักงานประเภท A ที่มีคุณสมบัติ 3 อย่าง คือ
         Head  :  ต้องเป็นคนฉลาด คือเป็นคนที่มีความรู้ในงานที่ทำเป็นอย่างดี
         Heart  :  ต้องมีทักษะในการเข้ากับผู้อื่น และมีมนุษย์สัมพันธ์ดี
         Guts   :  มีความมั่นใจในตนเอง ซึ่งจะเกิดได้ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว

 ส่วนคนที่จะได้รับ promotion จากเขาต้องมี Head, Heart, Guts และต้องมีลักษณะความเป็นผู้นำ (leadership traits)

ช่างสอดคล้องกับทฤษฎีนพลักษณ์เสียเหลือเกิน ที่กระตุ้นให้คนแต่ละลักษณ์เรียนรู้ที่จะสร้างสมดุลในการใช้ชีวิตโดยการใช้พลังทั้ง 3 ศูนย์ให้เหมาะสม

 แล้วอย่างนี้คุณจะไม่ทำความรู้จัก นพลักษณ์ สำหรับการพัฒนาคนในองค์กรไม่ได้แล้วหล่ะค่ะ  

  

สมาคมนพลักษณ์ไทย   โทร 02-224 5999 หรือ 081 9229161ศึกษาข้อมุลเพิ่มเติมได้ใน www.enneagramthailand.com  หรือหนังสือเกี่ยวกับนพลักษณ์ ติดต่อ มูลนิธิโกมล คีมทอง www.Komol.com
หมายเลขบันทึก: 130395เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2007 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เข้ามาอ่านคร่าวๆ ก่อนนะครับยัง งง กับศัพท์เทคนิค 555 แต่เป็นบทความที่ดีมากๆ ครับ

  • สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ คุณกวินทรากร
  • ขออภัยจริงๆ เพราะนพลักษณ์ เป็นศาสตร์นำเข้ามาค่ะ ก็เลยยังเป็นศัพท์เทคนิคอยู่เยอะ เป็นไปตามเหตุปัจจัยค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะมาทักทายนะคะ รู้สึกคุ้นๆ ดิฉันแวะไปบล๊อกของคุณคนไร้ราก นั่นเอง..... ชื่อเท่ นะคะ

 

  • สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์ประจักษ์ ขอบพระคุณสำหรับคำอวยพร และภาพน่ารักๆ .. อาจารย์วัยรุ่นน่าดูนะคะ  ท่าทางจะเข้ากับเด็กๆ ได้ดี ...นับถือ ๆ ค่ะ
  • ดิฉันฝากตัวเป็นลูกศิษย์อีกคนนะคะ
  • ปีใหม่นี้ ขอให้อาจารย์สุขภาพแข็งแรง สุขเย็นทั้งกาย ทั้งใจ ค่ะ
  • แล้วแวะมาคุยกันอีกนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท