(ไม่) อาจสามารถโมเดล (3)


                ขอให้ยาขนานที่ สาม  ในการแก้ปัญหาการสื่อสารเพื่อให้ครบวงจรการรักษา  (ไม่) อาจสามารถโมเดล  นะครับ
                เคยสังเกตไหมครับว่าบางครั้งผลของการสั่งการไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องการหรืออยากได้  เช่น  บอกให้ทำอย่างหนึ่ง  กลับทำอีกอย่างหนึ่ง
                เรื่องนี้วิเคราะห์ได้หลายสาเหตุครับ  อาทิ 
                1. คนรับคำสั่งไม่รู้เรื่อง (ไม่มีความรู้เรื่องนั้นๆ เลยทำไม่ถูก)
                2. คนสั่งไม่รู้เรื่อง  ไม่มีความเข้าใจในเรื่องที่สั่ง (แล้วคนรับคำสั่งจะทำถูกได้อย่างไร)
                3. คำสั่งไม่ชัดเจน  คลุมเครือ  และขาดรายละเอียด (ใครจะทำได้)
                4. วิธีการสั่ง (สื่อสาร) ไม่เหมาะสม (ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน)
                เห็นไหมครับว่าการสื่อสารก็มีหลักการนะครับ  โดยอาจเขียนเป็นสัญลักษณ์ได้ดังนี้ครับ
                 S (Sender) ---- M (Message) ---- C (Channels) ---- R (Receiver) 
                   ผู้ส่งข่าว              ข่าว                  ช่องทาง             ผู้รับข่าว
                สิ่งที่สำคัญที่สุด  คือ  ช่องทางส่งข่าวสารครับ  อาจใช้ท่าทางเป็นสัญลักษณ์  การพูด  การฝากคำพูดคนอื่น  การพูดทางโทรศัพท์  การโทรเลข  แต่ที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรครับ  เพราะชัดเจน  แน่นอน  ผ่านกระบวนการคิด  และการเรียบเรียง  ทำให้ผิดพลาดน้อยที่สุด
                เคยได้ยินนิทานเรื่อง  อุจจาระเป็นอีกาบินออกมาเป็นฝูงไหมครับ?  เรื่องเล่าว่า
                ชายคนหนึ่ง  สังเกตว่าอุจจาระมีลักษณะดำและคล้ายอีกา (นกชนิดหนึ่ง) จึงไปเล่าให้เพื่อนฟัง  เพื่อนไปเล่าต่อว่า  อุจจาระเหมือนอีกา  เพื่อนอีกคนเล่าต่อว่าอุจจาระเป็นอีกา  อีกคนเล่าต่อว่าอุจจาระเป็นอีกาบินออกมา  คนสุดท้ายเล่าต่อว่าอุจจาระเป็นอีกาบินออกมาเป็นฝูง  ทำเอาเป็นข่าวใหญ่ของหมู่บ้าน (Talk of the Town) ไปเลย
                ที่เล่ามาข้างต้นเป็นเรื่องปัญหาการสื่อสารที่ผู้บริหารอาจคาดไม่ถึงผลสุดท้ายที่ได้รับเลยทีเดียว
                ดังนั้นการสื่อสารที่ดี  จึงช่วยให้การบริหารมีประสิทธิภาพ  และประสิทธิผล  กรณีปัญหาการยืมของจากต่างคณะ  หากได้มีการใช้วิธีการสื่อสารหลายช่องทางก็จะช่วยให้งานรวดเร็วและงานสำเร็จ  เช่น  ประสานงานทางโทรศัพท์  เพื่อบอกกล่าวหรือหาข้อมูลล่วงหน้าไว้ก่อน  แล้วส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์ (ขอยืม) ตามไปภายหลัง
                เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ม.ค. นี้  เวลา 13.55 น.  ผมได้รับโทรศัพท์จากรองคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ (อ.วิมาลา) ขอยืมรถบัสให้นิสิตไปร่วมงานเพื่อนที่เสียชีวิตที่เพชรบูรณ์  โดยกำหนดออกจากมหาวิทยาลัยเวลา 15.00 น.  ขณะรับสายผมมีนัดสอบวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาเอก  สาขาบริหารการศึกษา  ที่ผมเป็นประธาน  เวลา 14.00 น.  จึงบอกกับ อ.วิมาลา ว่าขอให้ประสานกับเลขานุการคณะ (เจ๊ตุ๋ย) ถ้ารถบัสว่าง  ก็ไม่ขัดข้อง (อนุเคราะห์) และสั่งเจ้าหน้าที่ว่า  ถ้าบันทึกขอความอนุเคราะห์มา  ให้นำไปให้ที่ห้องสอบวิทยานิพนธ์  ผมดูเวลาตอนที่เกษียนหนังสือให้ความอนุเคราะห์  เวลา 14.10 น. ครับ  ใช้เวลา 15 นาที  ทุกอย่างเรียบร้อย  รวมไปถึงพนักงานขับรถที่เตรียมตัวพร้อม  และออกเดินทางได้ตามกำหนด
                ทำไมผมตั้งชื่อเรื่อง (ไม่) อาจสามารถโมเดล  เพราะ  คำว่า (ไม่) อาจสามารถ  ของผมเป็นคำกริยา  หมายถึง  การปฏิบัติครับ  ถ้าทุกคนในองค์กรร่วมมือกัน  มีโอกาสแสดงความคิดเห็น  มีบรรยากาศการทำงานที่ดี  มีการแลกเปลี่ยนความรู้  ฯลฯ  องค์กรนั้นก็เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization)  และมีการจัดการความรู้ (Knowledge Management) องค์กรก็ อาจสามารถ  แต่ถ้าไม่  องค์กรก็เป็นไม่อาจสามารถ ครับ  ส่วนองค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรของเรา  เราจะไม่รู้เลยว่า  เป็นองค์กรอาจสามารถหรือไม่อาจสามารถ  ต่างกับรีลริตี้โชว์  ที่อาจสามารถของนายกทักษิณครับ  มีปัญหาเกี่ยวข้องกับองค์กรไหน  ให้ยาโดยเรียกองค์กรนั้นมาสั่งการได้ทันที  อย่างนี้  อาจสามารถของแท้  แต่ยั่งยืนหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ส่วนอาจสามารถด้วยการปฏิบัติจะยั่งยืนครับ  โดยเฉพาะที่นี่เป็น KM (Knowledge Market) และองค์กรสมาชิกของ Goto Know  เป็นองค์กรการเรียนรู้  ผมจึงคิดว่าอาจสามารถแน่นอน
                การเสนอแนวคิด (ไม่) อาจสามารถ  ทั้ง 3 ตอน  เป็นการให้ยารักษา (แก้ปัญหา) ที่ครอบคลุมอาการป่วย  และสร้างภูมิคุ้มกันด้วย  ดังนี้
                ตอนที่ 1  พัฒนาระบบงานสารบรรณ
                ตอนที่ 2  พัฒนาการบริหารองค์กร
                ตอนที่ 3  พัฒนาวิธีการสื่อสาร
                การบริหาร  ไม่ยากอย่างที่คิด  และอาจสามารถทำได้ครับ
หมายเลขบันทึก: 13002เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2006 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เนื่องจากช่วงนี้ที่ ม.เรา มีงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร  เลยทำให้ไม่ได้เข้ามาดู blog พอเข้ามาเจอบันทึกของท่านอาจารย์เลยอยากรีบอ่านเร็วๆ แต่มีภารกิจที่จะต้องไปทำ  และที่สำคัญคิดว่าอยากมีเวลานานๆ ในการอ่าน ทำความเข้าใจ และซึมซับความรู้  เลยต้องขอติดท่านอาจารย์สมบัติไว้ก่อนแล้วจะรีบเข้ามารับความรู้ทันทีที่มีเวลามากพอค่ะ  ขอบคุณท่านอาจารย์เหมือนเดิมค่ะ

ติดตามอ่านตลอดเลยค่ะ  ต้องอ่านช้าๆ เพราะต้องคิดตามความรู้ที่อาจารย์ถ่ายทอดออกมา

อาจารย์อธิบายง่ายๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ แต่เข้าใจมากเลยครับ ชอบบันทึกของอาจารย์จริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท