BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สังเคราะห์ (สงเคราะห์) และวิเคราะห์


สังเคราะห์ และวิเคราะห์

สองคำนี้เลียนเสียงมาจากสันสกฤตว่า สังครหะ และ วิคครหะ ... ถ้าเป็นบาลีก็จะเขียนว่า สังคหะ และ วิคคหะ ... และเป็นภูมิปัญญาโบราณของไทยที่แปลงมาเป็น สังเคราะห์ (บางครั้งใช้ว่า สงเคราะห์) และ วิเคราะห์ ... โดยผู้เขียนจะอธิบายตามแนวบาลีเท่านั้น

รากศัพท์บาลีว่า คหะ  (สันสกฤตว่า ครหะ) แปลว่า ถือเอา

สํ (สัง) และ วิ เป็นอุปสัคนำหน้า โดย สํ แปลว่า พร้อม, กับ, ดี ... และ  วิ แปลว่า วิเศษ, แจ้ง, ต่าง

........ 

สํ + คหะ = สังคหะ (สงเคราะห์) แปลว่า่ ถือเอาพร้อม, ถือเอาดี, กับถือเอา .... เมื่อแปลตามรูปศัพท์อย่างนี้ ไม่ได้ความหมายชัดเจน ดังนั้น จึงต้องค้นหาความหมายให้ตรงกับสำนวนไทย เช่น

ถือเอาพร้อม ก็คือการถือเอาทุกสิ่งทุกอย่าง ตามสำนวนไทยอาจตรงกับคำว่า รวม รวบ หรือ รวบรวม .... เป็นต้น

ถือเอาดี เมื่อหมายถึืง การถือเอาในสิ่งที่ดีๆ ก็น่าจะตรงกับสำนวนไทยว่า กลั่นกรอง หรือ ตรวจสอบ ... เป็นต้น

ถือเอาดี เมื่อหมายถึง การถือเอาว่าเป็นสิ่งที่ดี นั่นก็คือการยอมรับสิ่งนั้นเข้ามาเป็นของเรา ซึ่งเราอาจพลอยยินดียินร้ายไปกับสิ่งนั้นๆ ... อธิบายทำนองนี้ก็ยังคงเข้าใจได้ยาก... จึงต้องรวบความแล้วแปลว่า ช่วยเหลือเกื้อกูล นั่นเอง ดังเช่นคาถาในมงคลสูตรว่า

  • ปุตตะทารัสสะ สังฺคะโห     การสงเคราะห์บุตรและภรรยา
  • ญาตะกานัญจะ สังคะโห   และการสงเคราะห์ญาติทั้งหลาย

ตามนัยนี้ สังคหะ แปลว่า ช่วยเหลือเกื้อกูล ... ซึ่งความหมายนัยนี้ สำนวนไทยนิยมใช้ว่า สงเคราะห์ (ไม่นิยมใช้ สังเคราะห์)

...... 

กับถือเอา ตามสำนวนไทยนิยมแปลกันว่า เข้ากันได้ เช่น ในบทสวดอภิธรรมในหมวดธาตุกถา วรรคหนึ่งว่า

  • สังคะหิเตนะ สังคะหิตัง สิ่งที่่สงเคราะห์ได้กับสิ่งที่สงเคราะห์ได้ (หรือ)
  • สังคะหิเตนะ สังคะหิตัง สิ่งที่เข้ากันได้กับสิ่งที่เข้ากันได้

คำว่า สังคะหิเตนะ และ สังคะหิตัง สองศัพท์นี้มาจาก สํํ + คหะ เหมือนกัน ส่วนที่เขียนเปลี่ยนไปก็ด้วยอำนาจการประกอบศัพท์ขึ้นมาจากปัจจัยและวิภัตติตามนัยไวยากรณ์บาลี (ไม่อธิบายประเด็นนี้)

เมื่อพิจารณาคำแปลแล้ว ก็ยังยากที่จะเข้าใจ จึงขอยกตัวอย่างเล็กน้อย กล่าวคือ สิ่งที่สงเคราะห์ได้ (สิ่งที่เข้ากันได้) เช่น ขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เข้ากันได ้กับ นามธรรม   ๔ อย่างเท่านั้น (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ... ส่วน รูป จัดเป็น รูปธรรม จึงเข้ากันไม่ได้กับนามธรรม ... ประมาณนี้

อนึ่ง สังคหะ ตามนัยบาลีมีการใช้หลากหลาย ความหมายที่แท้จริงก็ต้องพิจารณาร่วมกับบริบทหรือคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโยงใยกันอยู่...

เมื่อมาเป็นภาษาไทย เรามักจะใช้ สังเคราะห์ ในความหมายเพียง กลั่นกรอง หรือ รวบรวม เท่านั้น ...  ส่วนในความหมายว่า ช่วยเหลือเกื้อกูล เรามักจะใช้ว่าสงเคราะห์ ... ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าตรงกับความหมายเดิมของบาลี เพียงแต่บาลีมีความหมายกว้างออกไปอีก... ประมาณนั้น

.......

วิ + คหะ = วิคคหะ (วิเคราะห์) ตามนัยบาลีที่เคยเจอทั่วไปแปลว่า ถือเอาต่าง เท่านั้น นัยอื่นๆ ไม่เคยเจอ...

ถือเอาต่าง ตรงกับสำนวนไทยว่า แยกแยะ แจกแจง ... ประมาณนี้

ตามนัยที่ใช้เชิงวิชาการ สังเคราะห์และวิเคราะห์ ซึ่งแปลมาจากคำภาษาอังกฤษอีกต่อหนึ่ง... เมื่อมารวมกัน ความหมายกว้างๆ น่าจะหมายว่า สังเคราะห์ เป็นการประมวล ส่วนวิเคราะห์ เป็นการแยกแยะ ... ทำนองนี้ 

....

อนึ่ง รากศัพท์ว่า คหะ ซึ่งแปลว่า ถือเอา นี้ เมื่อผสมกับอุปสัคนำหน้าแล้วก็มีความหมายหลากหลายออกไป เช่น

ป + คหะ แปลว่า ถือเอาทั่ว หมายถึง ยกย่อง เชิดชู

นิ + คหะ แปลว่า ถือเอาลง หมายถึง ตำหนิ ติเดียน ข่ม

ดังตัวอย่างของบาลีภาษิตว่า

  • นิคฺคณฺเห นิคคารหํิ    พึงตำหนิผู้ควรแก่การตำหนิ
  • ปคฺคณฺเห ปคฺคารหํ พึงยกย่องผู้ควรแก่การยกย่อง
หมายเลขบันทึก: 129466เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2007 23:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เข้าใจเด่นชัดเลย ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท