วิธีเซฟชีวิตยามฉุกเฉิน สำหรับผู้โดยสารเครื่องบิน


เขาพบว่าครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผู้โดยสารมักจะติดกับเข็มขัดนิรภัย ที่คาดเอาไว้ โดยมักจะลืมตัวกดปุ่มเข็มขัดในยามฉุกเฉิน เหมือนกับตอนนั่งรถ แต่ที่จริงแล้วมันคนละระบบกัน ต้องใช้วิธีผลักตัวล็อกขึ้นมาต่างหาก
วิธีเซฟชีวิตยามฉุกเฉิน สำหรับผู้โดยสารเครื่องบิน

ช่วงนี้สภาพอากาศบ้านเราแปรปรวนบ่อย และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินถลารันเวย์ จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนับร้อยราย ที่จังหวัดภูเก็ต จริงอยู่เราคงไปกำหนดเรื่องฝนฟ้าอากาศไม่ได้ เพราะอย่างที่รู้กันว่าขณะนี้ร่องมรสุมได้ปกคลุมทางภาคใต้ของประเทศไทย เชื่อว่าสนามบินไหนๆ ก็คงได้รับผลกระทบเหมือนกัน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของนักบินจึงมีความสำคัญมากในเวลานี้ ถึงกระนั้นสำนวนไทยว่าไว้ “รู้รักษาเอาตัวรอด เป็นยอดดี” ผู้โดยสารเครื่องบินเอง ก็ต้องศึกษาวิธีเอาตัวรอดเอาไว้บาง จะได้งัดออกมาใช้ในยามที่จำเป็น

เราทราบจากการรายงานของช่องข่าวหรือหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางอากาศอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ที่จังหวัดภูเก็ต ที่มีรายงานว่าตัวเครื่องบินหักเป็น 2 ท่อน มีไฟลุกท่วมและที่น่าสังเกตคือ สภาพศพผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคาดเข็มขัดนิรภัยติดอยู่กับเก้าอี้ นั่นเป็นเพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน ชนิดไร้การแจ้งเตือนล่วงหน้าทำให้ผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังคงนิ่งนอนใจ ไม่ขวนขวายหาทางรอดกันอย่างที่เห็น

หากดูจากข้อมูลโดยรวมแล้ว เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางโดยเครื่องบินค่อนข้างจะมีความปลอดภัยสูงกว่าทางถนน เพราะมีน้อยครั้งที่จะเกิดเหตุขัดข้องให้ต้องเสียหาย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคิดให้ลึกลงไปว่าเครื่องบินเป็นพาหนะในที่สูง หากมีข้อผิดพลาดขึ้นมาย่อมสร้างความเสียหายได้อย่างมหาศาล นั่นหมายถึงชีวิตของคนบนเครื่อง ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ผู้โดยสารควรได้รู้วิธีการเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการเดินทางโดยเครื่องบินกันบ้าง

เว็บไซต์ข่าวของสำนักข่าวบีบีซี เคยได้รวบรวมวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุเครื่องบินตกจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางการบินหลายๆ ท่านเอาไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งแต่ละวิธีก็สามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย เรียกได้ว่าตราบใดที่เครื่องบินยังคงลอยอยู่บนฟ้าก็ยังเป็นประโยชน์อย่างมากเลยทีเดียว

โดยศาสตราจารย์เอ็ด กาเลีย ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางการบิน ซึ่งได้ศึกษารายงานจากผู้รอดชีวิตกว่า 2,000 ราย แล้วประมวลเป็นฐานข้อมูลพบว่า คนที่รอดชีวิตจากเครื่องบินตกไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา แต่อยู่ที่ว่าจะทำให้ตัวเองหลุดออกมาจากเครื่องบินให้เร็วที่สุดได้อย่างไรเท่านั้น... ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือการเพิ่มโอกาสของการมีชีวิตรอด ซึ่งเขาพบว่าครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผู้โดยสารมักจะติดกับเข็มขัดนิรภัย ที่คาดเอาไว้ โดยมักจะลืมตัวกดปุ่มเข็มขัดในยามฉุกเฉิน เหมือนกับตอนนั่งรถ แต่ที่จริงแล้วมันคนละระบบกัน ต้องใช้วิธีผลักตัวล็อกขึ้นมาต่างหาก

กรณีนี้เข้าข่ายกรณีเดียวกันกับที่จังหวัดภูเก็ต ที่พบว่าศพของบรรดาผู้เสียชีวิตยังคงคาดเข็มขัดนิรภัยติดอยู่กับเก้าอี้นั่ง ดังนั้นผู้โดยสารเครื่องบินโดยเฉพาะที่เพิ่งจะเคยขึ้นเครื่องเป็นครั้งแรกก็ให้ตรวจสอบการทำงานของเข็มขัดนิรภัยให้ละเอียดสักนิด ลองปลดล็อกดูให้ชินมือ จะได้ไม่เป็นปัญหาในกรณีฉุกเฉิน

เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม ต้องทำตัวให้อยู่ในท่าปลอดภัยที่สุด โดยการป้องกันตัวเองไม่ให้พุ่งไปข้างหน้า ที่สำคัญคือปกป้องลำตัวส่วนบนไม่ให้ถูกกระแทก ดังนั้นท่าก้มตัวไปข้างหน้าจึงเป็นท่าที่ค่อนข้างปลอดภัย อันนี้ตามคู่มือบนเครื่องบินก็มีแนะนำไว้ ว่างๆ ขึ้นเครื่องไปแล้วก็เปิดอ่านกันสักหน่อย ถือว่าประดับความรู้ก็ยังดี...

ข้อสำคัญอีกอย่างเป็นคำแนะนำจากศาสตราจารย์เฮเลน มูร์ มหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ ผู้ศึกษาพฤติกรรมผู้โดยสารระหว่างหนีภัย บอกว่า ถ้าอยากรอดชีวิต ทุกครั้งที่ขึ้นเครื่องบิน ให้มองดูรอบๆ ว่าลูกเรือคนไหนอยู่ใกล้ที่นั่งของเรามากที่สุด เพราะเขาจะเป็นผู้แนะนำเราในเรื่องความปลอดภัยยามเกิดเหตุฉุกเฉินให้เราได้ และตัวเราเองก็ต้องสังเกตว่าทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ตำแหน่งของเราที่สุดอยู่ตรงไหน ซึ่งมีข้อสังเกตง่ายๆ คืออาจจะนับแถวที่นั่ง ก็ได้ว่าเราอยู่ห่างจากประตูทางออกกี่แถว เพราะกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เกิดหมอกควัน ไม่มีไฟนำทางจะได้คลำทางออกโดยนับแถวที่นั่งไปยังประตูที่ใกล้ที่สุดได้นั่นเอง

วิธีการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก และเชื่อว่าหลายคนคงทราบถึงวิธีการเหล่านี้ดี หากแต่พอเกิดเหตุเข้าจริงๆ อาจจะตื่นตระหนก หรือขาดสติไปจนลืมนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ ฉะนั้นให้พึงระลึกไว้เสมอว่า “สติมา ปัญญาเกิด” แล้วเราก็จะเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัยในที่สุด


*** คลิกดู คลิป วิธีการปฎิบัติเมื่อเครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
หน้านี้ถูกเปิดอ่านแล้ว 4865 ครั้ง
หมายเลขบันทึก: 129465เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2007 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 01:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท