หมอบ้านนอกไปนอก(8):เรียนเพื่อรู้


ชีวิตมนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ ต้องลองดูและต้องทำ ในโลกนี้ไม่มีคนเก่งที่มาจากนั่งงอมืองอเท้า หากมาจากคนกล้าทำ กล้าคิด กล้าทดลองและกล้าต่อสู้อย่างมีสติสัมปชัญญะ

             (8):เรียนเพื่อรู้                         

                 การเรียนรู้ที่เล่าในบันทึกตอนที่ 7 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นการเรียนรู้เพื่อทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด จุดเริ่มต้นของการเป็นแพทย์คือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่เพียงเท่านั้น ผมได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการทำงาน บริหารงาน การจัดทำโครงการ การสำรวจชุมชนต่างๆในขณะที่เรียนที่เชียงใหม่ 6 ปีโดยการทำกิจกรรมหลากหลายโดยเฉพาะที่ทุ่มเทอย่างมากคือค่ายอาสา ที่ต้องทำงานไปพร้อมๆกับการเรียนและที่สำคัญ ดึงให้นักศึกษาหันมาสนใจกิจกรรมอาสาพัฒนาชนบทมากขึ้น

                บทเรียนจากค่ายอาสาชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยเหมือนโลกกว้างใหญ่สำหรับนักเรียนที่เพิ่งจบชั้นมัธยม ในมหาวิทยาลัยมีกิจกรรมต่างๆให้เลือกเข้าร่วมอยู่มากมายตามความสมัครใจนอกเหนือจากกิจกรรมการเรียนตามปกติซึ่งเป็นหน้าที่หลัก  ผมเข้าเรียนแพทย์เชียงใหม่เมื่อปี 2530 ถือเป็นแพทย์เชียงใหม่รุ่นที่ 30 ตอนอยู่ปี 1 ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในมหาวิทยาลัยอย่างมากอาทิชมรมโรตาแรคส์ ชมรมรักบี้-ว่ายน้ำ ทำกิจกรรมวันมหิดล แต่ที่ชอบเป็นชีวิตจิตใจเลยคือการออกค่ายอาสาพัฒนา ที่ตลอด 6 ปี ผมออกค่ายอาสาพัฒนาถึง 11 ครั้ง

                  ค่ายอาสาพัฒนาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอยู่หลายชมรมทั้งของมหาวิทยาลัยเองและของคณะต่างๆ ผมเคยไปออกค่ายอาสากลางของสโมสรนักศึกษา มช. ออกค่ายคณะศึกษาศาสตร์ ค่ายอาสาพัฒนาของนักศึกษา 5 คณะสวนดอก(ปัจจุบันมีมากกว่า 5 คณะ) ค่ายอาสาของแต่ละคณะก็จะมีความแตกต่างกันไปบ้างโดยจะเน้นในส่วนที่คณะหรือวิชาชีพของตนเองเกี่ยวข้องนอกเหนือไปจากการสร้างสิ่งก่อสร้างให้แก่หมู่บ้าน ซึ่งหลายครั้งเราชาวค่ายที่ออกค่ายบ่อยๆจะเริ่มมีความคิดเปลี่ยนไปจากการไปสร้างอะไรให้ชาวบ้านไปสู่การเรียนรู้อะไรจากชาวบ้าน แต่คนที่เพิ่มออกค่ายครั้งแรกๆจะสนุกและภูมิใจกับการไปสร้างส้วม สร้างประปาหมู่บ้าน ยุ้งข้าว อาคารเรียนให้ชาวบ้าน และเราก็พบว่าหลายครั้งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นอนุสรณ์สถานของชาวค่ายที่ชาวบ้านไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์จริง  อาสาคณะศึกษาก็เน้นการสร้างอาคารเรียนและการเรียนการสอนของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล อาสากลางของมช.จะเน้นการเรียนรู้วิถีชาวบ้าน การขบคิด ถกเถียงเกี่ยวกับปรัชญาชีวิต ปัญหาสังคม ส่วนอาสาของ 5 คณะสวนดอกก็เน้นไปทางด้านสุขภาพอนามัย

                   ค่ายอาสา พอชหรือชมรมพัฒนาอนามัยและชนบท เป็นค่ายอาสาของนักศึกษา 5 คณะสวนดอก ที่สังกัดโดยตรงกับคณะแพทยศาสตร์  ถือกำเนิดตั้งแต่อาจารย์หมอเกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นนักศึกษาแพทย์ (อาจารย์เป็นแพทย์เชียงใหม่รุ่นที่ 4 และเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนแรก  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกิดทีหลังคณะแพทย์เชียงใหม่ 7 ปี) ประมาณ 2507-2508 ขณะอาจารย์เป็นนักศึกษาแพทย์ปี 4 ได้จัดกิจกรรมออกค่ายอาสาเป็นรุ่นแรก และก็ได้ขยายวงเป็นที่รวมการทำกิจกรรมเพื่อชนบทของนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพจนถึงปัจจุบัน

                    ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับค่ายอาสา พอช. ตั้งแต่ปี 1 โดยเป็นชาวค่ายที่อ.แม่แจ่มแล้วเกิดความประทับใจในทีมงานและกิจกรรมของชมรม ตอนอยุ่ปี 2 ก็เลยได้เข้าร่วมเป็นทีมงานค่ายเต็มตัวและขึ้นปี 3 เมื่อ 2532 ก็ได้รับเลือกเป็นประธานชมรม พอช. (คุณหมอขจร วินัยพานิช ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิชัย .อุตรดิตถ์ ชอบแซวเล่นว่า พอช. แปลว่า พวกไอ้เชฐ) ตอนอยู่ชั้นปี 2 มีพี่ดิเรก(ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางคล้า ฉะเชิงเทรา) เป็นประธาน แต่ผมก็ได้ลงไปร่วมทีมด้วย(ปกติปี 2 จะเรียนหนัก มักไม่ค่อยได้รับผิดชอบกิจกรรมชมรมของคณะ) ได้ฝึกการทำโครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง พอมาเป็นประธานเองในปีต่อมาก็เลยรู้ช่องทางดี ไม่ต้องเริ่มใหม่  ค่ายพอช.สมัยนั้นจะรับทีมงานและชาวค่ายจาก 5 คณะฝั่งสวนดอก(ฝั่งคณะแพทย์) ที่มีคณะแพทย์ เภสัช ทันตะ พยาบาล เทคนิคการแพทย์

                    การทำค่าย พอช.ในปีที่ผมเป็นประธานนั้น มีข้อดีคือเรามีทีมงานที่ผนึกกำลังกันแน่นมากทั้งในส่วนเพื่อนร่วมรุ่นคณะแพทย์ด้วยกันและน้องๆจากคณะอื่นๆ(ทีมงานที่ทำค่ายของคณะแพทย์จะเป็นปี 3 ซึ่งเป็นปีที่ต้องรับผิดชอบกิจกรรมชมรมต่างๆของคณะ ส่วนคณะอื่นๆจะเป็นปี1-2 ซึ่งเป็นรุ่นน้อง) ปีนั้นเรามีการออกค่ายทั้งหมด 5 ครั้ง(ครั้งละ 5-8 วัน) ทำให้เราสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านได้ครบทั้งปี ออกค่ายที่บ้านแม่ลายเตียนอาง .ฮอด .เชียงใหม่ การเปิดรับสมัครชาวค่ายแต่ละครั้งจะมีนักศึกษาแย่งกันสมัครจำนวนมากเป็น 2-3 เท่าของจำนวนที่รับได้และรับเฉพาะกลุ่ม 5 คณะสวนดอก เวลารับสมัคร 12.10 . ปรากฎว่า 11.30 . นักศึกษาก็จะมาเข้าแถวสมัครกันเต็มเหยียดแล้ว หลายค่ายต้องขยายจำนวนคน จากรับ 60 คนเป็น 80 คน หรือจาก 80 คนเป็น 120 คน การขยายจำนวนแบบนี้จะส่งผลต่อการบริหารจัดการค่ายเพราะงบประมาณไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย ในการออกค่ายส่วนใหญ่เราจึงไปจำกัดประเภทอาหารการกินเพื่อให้ได้จำนวนเพียงพอกับคนที่เพิ่มขึ้น โปรตีนเกษตรจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่นำมาทดแทนอาหารประเภทหมูหรือเนื้อ

                  ตอนที่เราคัดเลือกหมู่บ้านว่าจะออกค่ายที่ไหนนั้นเป็นช่วงปิดเทอม เราจะกำหนดหลักเกณฑ์การเลือกหมู่บ้านไว้ก่อนแล้วหาข้อมูลเบื้องต้นจากแหล่งต่างๆ  นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันเพื่อคัดเลือกหมู่บ้านจำนวนหนึ่งประมาณ 10 หมู่บ้านไว้สำหรับการออกสำรวจหมู่บ้านจริงว่าข้อมูลจากกระดาษกับของจริงไปด้วยกันไหมและเหมาะจะออกค่ายอาสาจริงไหม ช่วงของการถกเถียงเพื่อเลือกหมู่บ้านจะทำกันอย่างจริงจัง เรียกว่าเถียงกันเอาเป็นเอาตายตามเหตุผลที่แต่ละคนมี พอปิดประชุมก็จบออกไปกินข้าวด้วยกันต่อได้ ไม่โกรธกัน การทำงานสมัยนักศึกษานั้นจะไม่มีผลประโยชน์ซ่อนเร้น นักศึกษาทุกคนทำงานด้วยใจรัก ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีรายได้ให้ ไม่มีสองขั้น มีแต่การขัดกันทางความคิด ไม่มีการขัดผลประโยชน์ ทำให้เราทำงานด้วยกันได้  อาจารย์หมอผจญ วงษ์ตระหง่านบอกว่าการขัดแย้งที่น่ากลัวที่สุดคือการขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์

                    ตอนออกสำรวจหมู่บ้านเพื่อคัดเลือกหมู่บ้านก็จะสนุกมากและทรหดพอควร ออกกันเป็นสัปดาห์ 10 หมู่บ้านพร้อมกับความรับผิดชอบของทุกคนที่ออกสำรวจว่าใครรับผิดชอบการหาข้อมูลด้านไหน ต้องหามาให้ได้ละเอียดมากที่สุด หลังจากออกสำรวจครบก็นำข้อมูลทั้งหมดมาประกอบการพิจารณาเพื่อคัดเลือกหมู่บ้าน ก็ได้ที่บ้านแม่ลายเตียนอาง หมู่บ้านกระเหรี่ยงที่อยู่อำเภอฮอดเกือบถึงเขตอำเภออมก๋อย พอตัดสินใจเลือกหมู่บ้านได้แล้วก็ต้องออกไปสำรวจเชิงลึกในหมู่บ้านที่เลือกเพื่อต้องการหาข้อมูลความต้องการที่แท้จริงหรือFelt needs ของชาวบ้าน โดยออกไปคุยกับชาวบ้าน กับผู้ใหญ่บ้าน โรงพยาบาล สถานีอนามัย ที่ว่าการอำเภอ เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็เอามาจัดทำแผนงานโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากทางมหาวิทยาลัยและมีข้อมูลประกอบเพื่อDefend งบประมาณ 

                  ก่อนออกค่ายครั้งแรกซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องเตรียมพื้นที่ให้ดี เพราะเราต้องออกค่าย 5 ครั้ง ถ้าออกค่ายครั้งแรกแล้วไม่ประทับใจทั้งชาวบ้าน ชาวค่ายก็จะมีปัญหาในการทำงานอย่างต่อเนื่องได้ จึงต้องมีการเตรียมพื้นที่กันก่อนโดยการสำรวจหมู่บ้าน สร้างความสัมพันธ์เบื้องต้น จัดทำแผนที่หมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันแนวคิดเรื่องเครื่องมือทางเวชศาสตร์ครอบครัวเรียกว่าแผนที่เดินดิน  เราก็ทำผังบ้านทุกหลังในหมู่บ้านโดยการเดินสำรวจจริงและปีนต้นไม้สูงเพื่อสังเกตคงวามเชื่อโยงต่างๆด้วย โดยผมมักจะเป็นคนปีนเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นเด็กบ้านนอกและอยู่บ้านก็ปีนเก็บมะพร้าวอยู่บ่อยๆ) ในหน้าแล้งจะทำง่ายเพราะหญ้าไม่รกแต่พอหน้าฝนต้องมาเดินสำรวจกันใหม่เพราะทางเดินในหมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงและหญ้ารกขึ้นมาก  การสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านต้องใช้เวลา ครั้งแรกที่เข้าหมู่บ้านเขาวิ่งหนีเข้าป่ากันหมดคิดว่าเราเป็นป่าไม้จะมาจับเขา แต่พอหลายๆครั้งเขาก็รับรู้ได้ว่าเราเป็นมิตรกับเขา ความคุ้นเคยไว้วางใจก็เกิดขึ้นเรื่อยๆจนเป็นความรู้สึกดีๆและคราบน้ำตาเมื่อเราเสร็จสิ้นค่ายที่ 5 และการเริ่มสร้างสัมพันธ์ที่ง่ายก็คือเข้าหาเด็กๆก่อน ทำกิจกรรมกับเด็กๆ จนเกิดความคุ้นเคยแล้วเขาจะดึงพ่อแม่เข้ามาร่วมกิจกรรมกับเราได้

                     การบริหารงานชมรมอาสาของผมจะแบ่งงานออกเป็นฝ่ายๆคือฝ่ายโยธา ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายศึกษาและฝ่ายสร้างสัมพันธ์ มีหัวหน้าฝ่ายรับผิดชอบโครงการของฝ่ายตนและมีทีมกลางเป็นเสมือนฝ่ายบริหารงานทั่วไปคอยอำนวยความสะดวก หากเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนๆกับการทำงานในโรงพยาบาลชุมชนเลย แต่ในการออกค่ายแต่ละครั้งถือเป็นโครงการๆหนึ่ง ผมจะจัดให้มีประธานค่ายขึ้นมาเป็นผู้รับผิดชอบและตัดสินใจในการออกค่ายครั้งนั้นๆ  มีทีมงาน5-6 คนของประธานค่ายเรียกว่าประสานงานเป็นทีมบริหารจัดการ และฝ่ายต่างๆก็จะมีการตั้งผู้รับผิดชอบงานของฝ่ายในค่ายนั้นๆ ที่จัดแบบนี้เพราะผมเชื่อว่าเพื่อนๆน้องๆมีความสามารถกันหลายคน หากเราทำเองอยู่เรื่อยก็จะได้ประสบการณ์คนเดียวแต่ถ้าทำแบบนี้ก็จะเหมือนมีประธานค่าย 5 คน เป็นการแบ่งอำนาจให้คนอื่นๆด้วย โดยหากมีปัญหาในการตัดสินใจผมก็จะยกให้ประธานค่ายเขาเป็นคนตัดสินใจ ส่วนผมเป็นแค่ที่ปรึกษาและชาวค่ายเท่านั้น ไม่เข้าไปก้าวก่ายการตัดสินใจของเขา

                        งานในค่ายของโยธาก็มีการสร้างอาคารเรียน 1 หลัง ขุดบ่อน้ำตื้นให้โรงเรียน ฝ่ายสาธารณสุขก็มีการตรวจรักษา การตรวจพยาธิให้แก่ชาวบ้าน ฝ่ายศึกษาก็มีกิจกรรมเสริมความรู้สำหรับเด็ก ส่วนสร้างเสริมสัมพันธ์จะเป็นกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ที่ดีของชาวค่ายและชาวบ้าน (ยังมีต่อครับ พิเ

หมายเลขบันทึก: 129126เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2007 23:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดียามดึกที่เมืองไทยค่ะ พี่เชษฐ์ (ขอเรียกอย่างนี้นะคะ)
  • ตามมาอ่านเพราะเดาได้ว่าพี่ต้องอยู่อาสาห้าสวนดอก
  • เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับค่ายจาก...กิ๊กเก่าที่เป็นทันตะในนั้น  รุ่นพี่ของพี่หนึ่งปีค่ะ  แต่อย่าพยายามเดาชื่อเลยนะคะ   หว้าลืมๆไปแล้ว
  • ตอนนั้นชื่นชมในการทำงานอาสาห้าสวนดอกจริงๆค่ะ    เพราะหว้ารู้ว่าทุกคนทำกันจริงๆ
  • ที่ชมรมพุทธศิลป์ก็มีพี่ๆทางสวนดอกเยอะ   แต่กลับไม่มีทางฝั่งนี้เลย...
  • มาเก็บกลิ่นอายของมอเชิงดอยก็ทำให้เรามีความสุขได้เหมือนกันนะคะ

นอนดึกเหมือนกันนะครับ ยินดีอย่างมาครับ ไม่ต้องเรียกหมอก็ได้ เรียนพี่เชฐ เฉยๆ อย่างนี้ดีแล้ว รู้สึกสนิทสนมกันมากกว่า ไม่มีสถานภาพมากั้นดีครับ

ขอบคุณที่ตามมาอ่านและให้กำลังใจกันครับ

 

สวัสดีค่ะ

 เมื่อคืนนอนเร็วไปหน่อย เนื่องจากเดินทางไกลไปเลี้ยงพระให้แม่ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่วัดที่แม่เคารพนับถือ ต่างอำเภอกัน ให้คุณหมออนุโมทนาบุญด้วยกันค่ะ  เลยได้อ่านบันทึกของคุณหมอเมื่อเช้านี้เอง

  ความประทับใจในงานชุมชนนี้สำคัญค่ะ ควรถือเป็นหน้าที่หลักของผู้มีใจรัก และมีประสบการณ์มาก่อน จะต้องเล่าถ่ายทอด พาทำ ให้เป็นจริง เป็นจังค่ะ ดิฉันเอง ก็ได้กัลยาณมิตร คุณหมอบุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ (ปัจจุบันเป็น สสจ.อยู่ราชบุรี) เป็นผู้จุดประกาย พาออกชุมชน จนรักชุมชนเช่นกันค่ะ

 ขอเป็นกำลังใจให้คุณหมอให้จงมีพลังที่จะถ่ายทอดสิ่งที่ได้ทำ ได้รู้ ได้เห็น ให้เป็นประสบการณ์แก่ผู้อื่นต่อไป อย่างน้อยในG2K ก็คงได้เกิดบังเกิดดวงสว่างอีกหลายดวง จากหลากหลายอาชีพ ทำให้แผ่นดินของเราสว่างใสว สมความตั้งใจทำเพื่อพ่อค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท