พระอาจารย์มั่น : ตอน บำเพ็ญสมาธิและผู้เป็นเลิศในธุดงควัตร


พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นผู้มีอัธยาศัยใฝ่บำเพ็ญสมาธิยิ่งนัก

 

 

ตอน  บำเพ็ญสมาธิ

 

                 พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต  เป็นผู้มีอัธยาศัยใฝ่บำเพ็ญสมาธิยิ่งนัก  ก่อนที่ท่านจะได้รับการยกย่องว่า เป็นพระอาจารย์ผู้ชำนาญสมาธิ วิปัสนากรรมฐานนั้น  ท่านต้องใช้ความเพียรฝึกปฏิบัติ "ลองผิดลองถูก" อยู่นานทีเดียว จึงจะถูกจริตในอัธยาศัยของท่าน

                    การบำเพ็ญสมาธินั้น หมายถึง  การกำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในความสงบนิ่ง เพื่อให้เกิดปัญญา สามารถรู้ธรรมอันวิเศษ หลุดพ้นจากสังสารวัฏ  คือ การเวียนว่ายตายเกิดนั้นได้  ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนา

 

                      การฝึกปฏิบัติสมาธิโดยทั่วไป  อาจใช้วิธีกำหนดจิตด้วยการบริกรรมภาวนาบท "พุทโธ"  ถือเอาสติคือ ความระลึกได้ในขณะหายใจเข้าว่า  "พุทธ" หายใจออกว่า  "โธ"  และถือเอาสัมปชัญญะ  คือความรู้ตัวว่า  กำลังหายใจเข้าและออกตามจิตที่ระลึกอยู่นั้น 

 

                          หรืออาจใช้วิธีเดินจงกรม ก้าวย่างอย่างมีสติสัมปชัญญะทุกย่างก้าว  จิตของเราก็จะรวมตัวสงบนิ่ง  ต่อเมื่อฝึกจิตจนเกิดสมาธิกล้าแข็งขึ้นมากแล้ว  อาจบำเพ็ญสมาธิขั้นสูง  โดยน้อมนำจิตพิจารณาเพ่งสังขารเป็นอารมณ์  ให้บังเกิดมรณสติ คือ ระลึกถึงความตายที่ทุกคนไม่อาจหลีกพ้นได้  และเป็นไปตามกฏแห่ง      "ไตรลักษณ์ "   คือ  อนิจจํ   ความไม่เที่ยงแท้  คือแปรผัน ทุกขํ   ความทนอยู่ไม่ได้   และอนัตตา  ความไม่ใช่ตัวตน   ทั้งนี้เพื่อให้จิตเกิดความเบื่อหน่าย  ละวาง  บางเบา  ต่อกิเลส   เมื่อเกิดความรู้สึกที่ไม่ยึดติดสิ่งใดแล้ว  ย่อมแสดงว่าได้ดำเนินไปตามวิถีทางที่ถูกต้องแล้ว

  

                       พระอาจารย์มั่น เมื่อแรกครั้งฝึกปฏิบัติจิตอยู่ ณ วัดเลียบนั้น  วันหนึ่งขณะจิตสงบ  ก็บังเกิดอุคนิมิต  เป็นภาพในจิตชวนสยดสยอง  คือ เกิดภาพคนตาย  กายเน่าพุพอง   น้ำหนอง น้ำเหลืองไหลเยิ้ม  สุนัขแร้งกาต่างพากันยื้อแย่ง กัดกินซากศพ จนกระจัดกระจายอยู่ต่อหน้า  เป็นที่น่าสังเวชใจ  ท่านจึงกำหนดเอาภาพนั้น เป็นนิมิตเพียรเพ่ง  แต่ทว่าภาพนิมิตนั้น กลับแปรเเปลี่ยนไปเป็นภาพอื่นๆ  แตกต่างออกไป  ยิ่งเพ่งจิตติดตามเท่าใด  ภาพนั้นก็แปรเปลี่ยนไปจนตามแทบไม่ทัน  ผันแปรไปไม่มีที่สิ้นสุด  ท่านบำเพ็ญเพียรเพ่งโดยวิธีเช่นนี้นานถึง ๓ เดือน  จิตก็มิได้สงบนิ่ง  กลับวิ่งติดตามภาพที่เพ่งไปนั้น  แลบังเกิดความหวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่มากระทบ   จนท่านบังเกิดความสงสัยว่า   เห็นจะไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง  เพราะจิตของท่านไม่สงบดำรงมั่น  กลับคลอนสั่น วอกแวก 

        

                ดังนั้น   ท่านจึงกำหนดจิตเสียใหม่  ให้เพียรเพ่งอยู่แต่เพียงส่วนต่างๆ รอบกาย  และใช้วิธีเดินจงกรมมากกว่าอิริยาบถใด   แม้จะพักคลายอิริยาบถ หลับนอน   ก็เพ่งพิจารณาแต่กายเป็นอารมณ์   

  

              เมื่อท่านปฏิบัติเช่นนี้อยู่ ๒-๓ วัน  จิตของท่านก็รวมตัวสงบนิ่งอย่างง่ายดาย  รวดเร็ว  ไม่เที่ยวซอกซอนเหลวไหล  หรือหรือไหวสั้นคลอน

  

              ท่านจึงแจ้งชัดในใจว่า   นี่เป็นอุบายที่ถูกต้องแล้ว  ทานจึงดำเนินไปตามวิธีการดังกล่าว  ฝึกจิตเป็นสมาชิกชำนาญขึ้น โดยไม่ย่อหย่อนสืบไป

ตอน   พระผู้เป็นเลิศทางธุดงควัตร

 

                 จริยาวัตรของพระอาจารย์มั่น  คือ จริยาวัตรที่ดำเนินตามรอบบาทแห่งพระศาสดาโดยเคร่งครัด   ท่านถือปฏิบัติเป็นนิสัย ใฝ่บำเพ็ญเพียรให้หลุดพ้น  จากวังวนแห่งกามกิเลส ด้วยความตั้งใจมั่น  อันปรารถนาธรรมวิเศษยิ่งชีวิตดังนี้ 

 

                   ท่านมีอุปนิสัยใฝ่หาความสงบวิเวก  ชีวิตในเพศบรรพชิตของท่านส่วนใหญ่  จึงมุ่งไพรธุดงค์เดินไปตามถิ่นทุรกันดาร   เพื่อบริหารจิตวิปัสนา ตามม่านไม้  ถ้ำผาที่แทบจะหาผู้คนอาศัยอยู่มิได้  แถบแนวไพรทั่วทั้งภาคอีสาน เช่น นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองคาย เลย เพชรบูรณ์  ตลอดไปจนทั้งดินแดนอีกฟากฝั่งแม่น้ำโขง ของลาว เช่น ท่าแขก เวียงจัน  ไปจนถึง หลวงพระบาง   ส่วนดินแดนทางภาคเหนือ ท่านชอบจาริกบำเพ็ญธรรมในถิ่นเทือกเขาแถบเชียงใหม่ เชียงรายไปจนถึงดินแดนพม่า

 

                     เหตุที่ท่านชอบจาริกเพื่อบำเพ็ญสมาธิวิปัสนากรรมฐานในดินแดนกันดารตามแนวไพรเหล่านี้  ก็เนื่องด้วยเป็นถิ่นอันสงบวิเวก  เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรจิตอย่างมาก สามารถฝึกหัดขัดเกลากิเลสได้ง่าย 

  

                   พระสัมมาสัมพุธเจ้า ได้ตรัสสรรเสริญพระสมณะ ผู้มุ่งมั่นแสวงหาความสงบวิเวก เพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิตในป่าเขาว่า เป็นสมณะอันประเสริฐยิ่ง  พระอาจารย์มั่น ได้รับการยกย่องจากผองชน และบรรพชิตโดยทั่วไปว่า  "พระผู้เป็นเลิศทางธุดงควัตรโดยแท้

                    จริยาวัตรโดยตลอดแห่งการดำเนินชีวิตของพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านมิได้ห่างเหินจากความเพียรเลย  สมดังพุทธภาษิตเตือนสติว่า วิริเยน ทุกขมัจเจติ    คนเราล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร  ดังนั้นทุกอิริยาบถของท่าน จึงประกอบด้วย  ความเพียร   การฝึกจิตนั่งสมาธิโดยตลอด ไม่ยอมเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์   ไม่ว่าท่านจะบิณฑบาต  กวาดลานวัด  ขัดกระโถน  เย็บผ้า  ย้อมผ้า  ฉันอาหาร  ท่านแลเห็นโทษแห่งความโงกง่วง หาวนอน  จึงพักผ่อนแต่เพียงเล็กน้อย  แล้วค่อยแก้ไขโดยอุบาย  เดินจงกรมจนหลุดพ้นความโงกง่วงดังกล่าว แล้วจึงนั่งสมาธิภาวนาไปจนสมควรแก่เวลา  ครั้นถึงคราวบิณฑบาต ท่านก็เดินโดยอาการสำรวม ประกอบความเพียร  มีสติกำกับทุกย่างก้าว  เมื่อจะฉันภัตตาหาร ท่านก็พิจารณาปัจจเวกขณะ ด้วยบท ปฏิสังขาโย   มิได้เพลิดเพลินในรสอาหารนั้น  จิตใจเป็นธรรม  รำงับตัณหา  ครั้นเสร็จภัตตกิจทำความสะอาดภาชนะแล้ว  ท่านก็มุ่งสู่ป่า บำเพ็ญสมาธิภาวนา เดินจงกรมทำความเพียรต่อไป

(ติดตามตอนต่อไป)

 

                     

 

                       

หมายเลขบันทึก: 127863เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2007 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 02:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะ

  สาธุ กับทุกตัวอักษร ที่ได้ยกย่องสรรเสริญ คุณครูบาอาจารย์ค่ะ

  • ตัวผมเองเคารพและนับถือพระสายธรรมยุต  ที่เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต ทุกองค์ครับ
  • เคยเดินสายไปหลายๆวัด  แดนดินถิ่นอีสาน เส้นทางพุทธศาสนา

ขอบคุณมากครับอาจารย์

สวัสดีคตรับคุณP

                ได้พูดคุยกับคุณตันติราพันธ์ทุกวันก็เป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งในชีวิตครับ ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับคุณP

          ผมดีใจได้เห็นคุณสะ-มะ-นี-กะ ทุกวันเช่นกัน ดีใจที่ได้พูดคุยกับผู้เลื่อมใสในปฏิปทาพระภิกษุสายพระอาจารย์มั่นครับ

  • แวะมาฝึกจิตคะอาจารย์
  • การมีสมาธิที่ดี...ใช้ประโยชน์ได้ตลอดเวลาคะ
  • รวมถึง การมีสติระลึกรู้ด้วยนะคะ
  • ปัญหาจะเกิดน้อยลงคะ...ถ้าทุกคนปฏิบัติตามคำสอนที่แท้จริงของศาสดาที่ตนนับถือนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

อ่านแล้วประทับใจในความเพียรของท่านมากค่ะ

การกำกับสติตลอดเวลาไม่ว่าจะทำอะไรนั้น สำหรับตัวเองจัดว่ายากมาก แ่ต่ท่านได้ทำตัวอย่างให้ดูว่า หากมีความเพียร ก็จะสำเร็จได้ ดีจริงๆ เลยค่ะ

ขอบคุณที่นำมา ลปรร จะรออ่านตอนต่อค่ะ 

สวัสดีครับคุณP

           ความเห็นของคุณmareeถูกต้องแล้วครับ ถ้าทุกคนปฏิบัติได้ สมานฉันท์ในสังคมคงไม่ต้องมาร้องเรียกหากัน

สวัสดีครับคุณP

             ความเพียร เป็นบารมีที่ทุกคนควรกระทำให้เกิดครับ โชคดีที่เรามีพระอริยสงฆ์เช่นนี้ และได้เห็นปฏิปทาเป็นตัวอย่างแก่เราครับ

นางสาวพีชาณิการ์ อินประชา

หนูได้อ่านบันทึกของอาจารย์แล้วหนูมีความคิดเห็นว่ามีประโยชน์ต่อนักศึกษาและประชาชนทุกคนนะค่ะเพราะการทำสมาธินั้นทำให้คนเรามีสติและปัญญา

ด้วยความเคารพอย่างสูง

นางสาวพีชาณิการ์  อินประชา

49322119

ขอบพระคุณ งานดีๆนี้ครับ จะติดตามต่อไปนะครับ

นางสาวศศิวิมล ศรีวิชัย

สวัสดีคะอาจารย์

     หนูเพิ่งเคยเปิดเว็ปอาจารย์ครั้งแรกค่ะ  เนื่องจากอาจารย์ให้หาข้อมูลการพัฒนาทักษะการอ่านจากบันทึกของอาจารย์  แต่หนูเป็นคนที่เรียนภาษาไทยไม่ค่อยเก่ง รู้สึกว่ามันยาก อย่างเช่นเขียนคำที่ถูกต้อง การสะกดคำ แต่ก็จะพยายามอ่านให้เยอะขึ้นค่ะ และจากเทคนิคการอ่านมีประโยชน์มาก แต่ถ้าเป็นคำกลอน จะไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ้ง ก็เลยเลือกบันทึกของพระอาจารย์มั่น เพราะภาษาเข้าใจง่ายกว่าค่ะ อ่านแล้วรู้สึกว่าการทำสมาธิถ้าหมั่นฝึกฝนทุกวัน ก็เป็นสิ่งที่ดี และก็คงไม่ยาก หนูจะลองไปทำบ้างค่ะ

     อาจารย์สอนสนุกดีคะ มีมุกตลก ๆ ทำให้ไม่ง่วงนอน

ด้วยความเคารพอย่างสูง

นางสาวศศิวิมล  ศรีวิชัย

50422126

สวัสดีครับ

        ดีใจมากที่ได้อ่านความคิดเห็นของหนู อยากให้ลงมือปฏิบัติ  จะเห็นผลดีมากครับ หมั่นเข้ามาอ่านนะครับ

สวัสดีครับคุณวัฒนศักดิ์

             ดีใจครับที่แวะเข้ามาอ่านและแสดงความเห็น ติดตามต่อไปเรื่อยๆ นะครับ

สวัสดีครับ คุณศศิวิมล

          ดีใจมากครับที่เขียนแสดงความคิดเห็นไว้ ขอขอบคุณที่ชื่นชมมาทำให้มีกำลังใจขึ้นมาก และดีใจที่ได้ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ แก่ทุกคน  ติดตามอ่านไปเรื่อยๆ นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท