มรดกโลกในเมืองไทย


มรดกโลกในเมืองไทย
ัประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติอยู่มากมายหลายแห่งทั่วประเทศ
และเป็นที่น่ายินดีว่าในบรรดาแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ ได้รับการคัดเลือกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกถึง 4 แห่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย -ณ กำแพงเพชร อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร- ห้วยขาแข้ง

การจัดให้มีมรดกโลกนั้น เกิดจากยูเนสโกได้มีการเสอให้จัดตั้งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลกขึ้น ด้วยความคิดที่ว่าการปกป้องพิทักษ์สมบัติทางวัฒนธรรม และธรรมชาติของโลกนั้น ควรเป็นการร่วมกันของมนุษย์ชาติทั่วโลก ไม่ใช่ความรับผิดชอบของประเทศใดประเทศหนึ่ง ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 17 ของยูเนสโก ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้การรับรองอนุสัญญาฉบับนี้ และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2518 ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญานี้ เมื่อเดือนกันยายน 2530 ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมดจากทุกภูมิภาคทั่วโลกในปี พ.ศ. 2533 เป็นจำนวน 125 ประเทศ

ปัจจุบันคณะกรรมการมรดกโลก ประกอบด้วยคณะกรรมการ 21 ประเทศ ที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิก 125 ประเทศ และสามารถดำรงตำแหน่งได้คราวละ 6 ปี นอกจากนี้ยังมีกรรมการที่ปรึกษาอีก คณะหนึ่ง คณะกรรมการชุดนี้มีชื่อว่า World Heritage ซึ่งจะมีการประชุมเป็นประจำทุกปีในเดือนธันวาคม กรรมการชุดนี้มีหน้าที่พิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศภาคี ในการพิทักษ์รักษาแหล่งมรดกโลกที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น ๆ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนมรดกโลก ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาจากค่าสมาชิก เงินบริจาค และเงินดอกเบี้ยของกองทุน

มรดกโลกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) และมรดกทางธรรมชาติ (Natural Heritage) ซึ่งในอนุสัญญาได้ให้ค่านิยามไว้ดังนี้

    มรดกทางวัฒนธรรม หมายถึง สถานที่ซึ่งเป็นโบราณสถาน ไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม หรือแหล่งโบราณคดีทางธรรมชาติ เช่น ถ้ำหรือกลุ่มสถานที่
    ก่อสร้างที่แยกหรือเชื่อมต่อกัน ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ หรือแหล่งสถานที่สำคัญที่อาจเป็นผลงานจากฝีมือมนุษย์ หรือเป็นผลงานร่วมกันระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ รวมทั้งพื้นที่น่าเป็นแหล่งโบราณคดี ซึ่งสถานที่เหล่านี้มีคุณค่าล้ำเลิศในทางประวัติศาสตร์ ศิลป มานุษยวิทยา หรือวิทยาการ

มรดกทางธรรมชาติ หมายถึง สถานที่ธรรมชาติที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพอันมีคุณค่าเด่นชัดในด้านความงาม หรือด้านวิทยาศาสตร์ หรือสถานที่ซึ่งสภาพทางธรณีวิทยาและภูมิประเทศที่ได้รับการวิเคราะห์แล้วว่า เป็นที่อยู่ของพันธุ์พืชและสัตว์ ซึ่งถูกคุมคามและมีคุณค่าในทางวิทยาศาสตร์สมควรแก่การอนุรักษ์ หรือแหล่งธรรมชาติอันทรงคุณค่าล้ำเลิศในทางวิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์หรือความงามตามธรรมชาติ


ในการพิจารณาคัดเลือกสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นมรดกโลก โดยได้รับการขึ้นบัญชีมรดกโลกนั้น คณะกรรมมรดกโลกได้กำหนดบรรทัดฐานเพื่อประกอบการพิจารณาดังนี้

มรดกทางวัฒนธรรม ได้แก่ ลักษณะประการใดประการหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวของความสำเร็จทางศิลปะ และเป็นผลงานสร้างสรรค์อันถือว่าเป็นอัจฉริยภาพของมนุษย์
  2. ทรงอิทธิพลต่อพัฒนาการของสถาปัตยกรรม ประติมากรรม การวางผังเมือง การจัดภูมิทัศน์ ตลอดช่วงระยะเวลายาวนานอย่างต่อเนื่อง หรือต่อวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง
  3. เป็นหลักฐานสำคัญที่เด่นเฉพาะของแหล่งอารยธรรมที่สูญสลายไป
  4. เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของรูปแบบอาคาร หรือสถาปัตยกรรมที่แสดงให้เห็นถึงขั้นตอน หรือช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์
  5. เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของวิวัฒนาการ การตั้งถิ่นฐานของชุมชนพื้นเมือง ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภายนอก และอาจถูกทำลายไป
  6. เป็นสถานที่ที่มีความสัมพันธ์โดยตรงหรือเห็นได้ชัด ต่อเหตุการณ์ความคิด ความเชื่อ ที่มีความสำคัญในทางสากลอย่างเด่นชัด

มรดกทางธรรมชาติ ได้แก่ ลักษณะประการใดประการหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  1. เป็นตัวแทนของวิวัฒนาการขั้นสำคัญของภูมิศาสตร์กายภาพของโลก
  2. เป็นตัวแทนของกระบวนการทางธรณีวิทยา วิวัฒนาการทางชีววิทยาและปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยจะพิจารณากระบวนการอันต่อเนื่องของวิวัฒนาการพืชและสัตว์ พื้นดินและท้องทะเล ตลอดจนแหล่งน้ำจืด
  3. เป็นพื้นที่ที่ประกอบด้วย ลักษณะเด่นทางปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือการก่อตัวทางธรรมชาติ อาทิ ระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่สำคัญ สถานที่ที่มีความงามตามธรรมชาติอย่างเด่นชัด หรือการผสมผสานขององค์ประกอบทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอย่างเป็นเลิศ
  4. เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะสัตว์หรือพืชที่กำลังถูกคุมคาม และยังมีชีวิต ทั้งนี้สัตว์และพืชดังกล่าวจักต้องมีคุณค่าอย่างเด่นชัดในระดับสากล ทั้งจากแง่มุมทางวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์

ทั้งนี้แม้ว่าสถานที่หนึ่งจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นมรดกโลก แต่หากภายหลังสถานที่นั้นได้ ทรุดโทรมลง จนสูญเสียลักษณะที่สำคัญข้างต้น หรือถูกคุมคามด้วยการกระทำของมนุษย์ สถานที่นั้นจะ ถูกลบออกจากบัญชีมรดกโลกได้เช่นกัน มรดกโลกที่ทางยูเนสโกได้คัดเลือกแล้วมีเป็นจำนวนมาก เช่น มรดกโลกทางวัฒนธรรม ได้แก่ ปิรามิด แห่งอียิปต์ หอคอยลอนดอน แห่งอังกฤษ พระราชวังแวร์ซายส์ แห่งฝรั่งเศส เมืองโบราณโปลน นารุวะ แห่งประเทศศรีลังกา และกำแพงเมืองจีนและพระราชวังแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฯลฯ และมรดกโลกทางธรรมชาติ ได้แก่ แนวปะการังใหญ่ แห่งออสเตรเลีย แกรนด์แคนยอน แห่งสหรัฐอเมริกา และอุทยานแห่งชาติ สการ์มาธา แห่งประเทศเนปาล ฯลฯ

สำหรับประเทศไทย สถานที่ได้รับการคัดเลือกเป็นมรดกโลกมีอยู่ 4 แห่ง คือ

  1. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย –ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ไดรับการคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์ 2 ข้อ คือ มีซากของโบราณวัตถุที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมีความเป็นเลิศในด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์ของคนไทยในอดีต และเป็นประจักษ์พยานถึงความรุ่งเรืองของอายธรรมในอดีต
  2. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อ ปี พ.ศ. 2534 โดยผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์ 1 ข้อ คือ เป็นประจักษ์พยานถึงความรุ่งเรืองของอารยธรรมในอดีต
  3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ได้รับการคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์ 1 ข้อ คือ เป็นประจักษ์พยานถึงความรุ่งเรืองของอารยธรรมในอดีต
  4. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ได้รับการคัดเลือกให้เป็น มรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อ ปี พ.ศ. 2534 โดยผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์ 3 ข้อด้วยกันคือ มีความดีเด่นเป็นเลิศในด้านวิวัฒนาการทางชีวภาพ-ชีวาลัยเป็นพิเศษของโลกฯ เป็นแหล่งธรรมชาติพิเศษที่เป็น ต้นน้ำที่สำคัญหลายสายของไทย มีป่าไม้นานาชนิด ประกอบด้วยเทือกเขา เนินเขา ตลอดจนทุ่งหญ้า ลักษณะทั้งหมดจึงมีคุณค่าในด้านวิทยาศาสตร์ มีความงดงามทางธรรมชาติที่หาได้ยากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นแหล่งพันธุกรรมของพืชและสัตว์หลากชนิด โดยมีสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ถึง 28 ชนิด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 15 ชนิด นก 9 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลานอีก 4 ชนิด

สิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับเมื่อเป็นมรดกโลกก็คือ ความช่วยเหลือที่กองทุนมรดกโลกมีให้ ได้แก่

  1. ความช่วยเหลือชั้นเตรียมการ ได้แก่ การให้คำปรึกษา การให้อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ตลอดจน การอุดหนุนทางการเงินในการดำเนินการรักษาชั้นต้น
  2. ความร่วมมือในด้านเทคนิค ได้แก่ การจัดส่งผู้เชี่ยวชาญ ช่างเทคนิค และแรงงานฝีมือ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อดำเนินการอนุรักษ์
  3. ความช่วยเหลือเร่งด่วน เป็นความช่วยเหลือในการจัดการกับภัยที่ร้ายแรงต่อมรดกโลก เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟถล่มและอุทกภัย
  4. การฝึกอบรม เป็นความช่วยเหลือในด้านการช่วยกำหนดสถานที่ที่มีคุณลักษณะของมรดกโลก การคุ้มครองรักษา และการฟื้นฟูสภาพของมรดกโลก
  5. การประชาสัมพันธ์ ได้แก่ การจัดการประชุมในระดับนานาชาติและภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์การอนุรักษ์มรดกโลก ตลอดจนการประชุมในระดับชาติ การจัดตั้งสมาคมและการประชาสัมพันธ์เพื่อการปกป้องอนุรักษ์สถานที่อันทรงคุณค่าทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม
หมายเลขบันทึก: 127392เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2007 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 00:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากได้เนื้อหาที่มากกว่านี้คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท