เศรษฐศาสตร์และการเงินข้างเสา – ตอนที่ 7 งบดุลนั้นสำคัญไฉน


ท่านว่างบดุลก็เหมือนขวดโหล ข้างซ้ายคือสินทรัพย์ ก็เหมือนเงิน (หรือของก็ได้) ในขวดโหล ส่วนข้างขวาคือหนี้สินกับทุน ก็เหมือนเอาป้ายมาติดข้างขวดโหล ว่าที่มาของเงินในขวดโหลนั้นน่ะ มาจากไหน เป็นเจ้าหนี้ให้ (ยืม) มา หรือเจ้าของทุนให้มา

ตอนที่แล้วๆ มา ผมเล่าถึงกระแสเงินสดในแง่มุมต่างๆ   มาคราวนี้ ผมจะขอพูดถึงงบดุลบ้าง   สำหรับท่านที่เพิ่งเข้ามาอ่าน Blog ของผมนะครับ อย่าเพิ่งคิดว่าเรื่องนี้เหมือนจะเป็นเรื่องราวของนักบัญชีนักการเงินเท่านั้น เพราะคิดว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตของคุณแน่นอน

ก่อนจะเข้าเรื่องงบดุลผมขอเล่าเรื่องสัก 1 เรื่องและขอเท้าความอีกสัก 1 เรื่องก่อนนะครับ

เรื่องแรก มีท่านหนึ่งมาถามผมเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นครับ หรือพูดง่ายๆ ก็คือการเล่นหุ้นนั่นล่ะครับ   ถามผมว่า ช่วงนี้ (ตอนนั้น) สถานการณ์เศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ ยังลงทุนในหุ้นได้อีกหรือเปล่า   ผมไม่ตอบครับ แต่ถามกลับไปว่า ตอนนี้ท่านมีเงิน (และสินทรัพย์อื่นๆ) ทั้งหมดเท่าไหร่ จัดสรรอย่างไรบ้าง คิดว่าอยากจะลงทุนในหุ้นสักกี่เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ที่มี   ที่ผมถามก็เพราะจะมาคิดว่าควรจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นหรือลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น หรือที่เรียกว่า Asset Allocation นั่นแหละครับ   แต่ปรากฏว่า ท่านไม่ทราบ คือไม่ได้จดบันทึกรวบรวมไว้ว่าตอนนี้ลงทุนไปในอะไรบ้าง มีสินทรัพย์ทั้งหมดเท่าไหร่ จัดสรรอย่างไร   ถ้าถามว่าแปลกไหม ผมก็ว่าไม่แปลก เพราะเท่าที่ผมลองสอบถามมา มีคนส่วนน้อยเท่านั้นครับที่จดบันทึก ทั้งที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่น่าทำมากๆ   อย่างนี้ต้องอาศัยการทำงบดุลครับ

เรื่องที่สอง จะขอเท้าความถึงตอนที่ 4 ที่พูดถึงกระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน ตอนหนึ่งได้เตือนไว้ว่าให้ระวังเรื่องการกู้หนี้ยืมสินให้ดี เพราะถ้าไม่ระวังให้ดี กู้หนี้มาโปะ ดอกเบี้ยพอกพูน หนี้สินจะโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหนี้ท่วม   ถ้าอย่างนั้น เราจะตรวจติดตามภาวะหนี้สินเราได้อย่างไร ว่ายังไม่มากเกินไป   นี่ก็อีกเหมือนกับครับ หลายคนมากๆ ก็ไม่ได้จดบันทึกหนี้สินเอาไว้   ก็ต้องอาศัยการจดบันทึกงบดุลนี่ล่ะครับ

(หมายเหตุ ดูความตอนที่ 4 ได้ที่นี่ http://gotoknow.org/blog/wachirachai/121655)

เกริ่นพอแล้ว ขอเข้าเรื่องงบดุลสักทีครับ   ท่านที่เคยผ่านหูผ่านตาเรื่องงบดุลในทางบัญชี คงเคยได้ยินหลักการสำคัญที่ว่า ทำงบดุลแล้วต้อง “ดุล” นั่นคือ ข้างซ้ายเท่ากับข้างขวา   ข้างซ้ายคือสินทรัพย์ ส่วนข้างขวาคือหนี้สินบวกกับทุน (หรือส่วนของผู้ถือหุ้น)   เมื่อผมเริ่มรู้จักงบดุลใหม่ๆ ผมก็ได้ยินอย่างนี้เหมือนกัน แล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมันต้องเท่ากัน   ต้องทำความเข้าใจหลักการบัญชีอยู่ตั้งนาน   คราวนี้ เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน ผมมีโอกาสได้ฟังการอบรมจาก อ.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ ท่านอธิบายเรื่องงบดุลให้กับคนที่ไม่ใช่นักบัญชีฟังได้น่าสนใจมาก ฟังดูเข้าใจง่ายดี ผมจึงขอยกวิธีการอธิบายของท่านมาอธิบายไว้ ณ ที่นี้

ท่านว่างบดุลก็เหมือนขวดโหล   ข้างซ้ายคือสินทรัพย์ ก็เหมือนเงิน (หรือของก็ได้) ในขวดโหล   ส่วนข้างขวาคือหนี้สินกับทุน ก็เหมือนเอาป้ายมาติดข้างขวดโหล ว่าที่มาของเงินในขวดโหลนั้นน่ะ มาจากไหน เป็นเจ้าหนี้ให้ (ยืม) มา หรือเจ้าของทุนให้มา   เพราะฉะนั้น ถ้าจดป้ายถูก มันก็ต้องเท่ากันแน่นอน ไม่ได้มหัศจรรย์อะไร
  • ตอนแรก บริษัทระดมทุนมา โดยเอาเงินมาจากเจ้าของทุน (หรือผู้ถือหุ้น) ส่วนหนึ่ง สมมุติว่า 10 บาท แล้วก็กู้มาจากเจ้าหนี้อีกส่วนหนึ่ง สมมุติว่า 15 บาท   ได้เงินมาใส่ขวดโหลไว้ เงินก็เป็นสินทรัพย์จำนวน 25 บาท แล้วก็จดได้ว่าเป็นหนี้สิน 15 บาท เป็นทุน 10 บาท; ได้ดุล

เงิน (25) = หนี้ (15) + ทุน (10)

  •  พอบริษัทเอาเงินไปซื้อเครื่องจักรราคา 20 บาท เงินในขวดโหลก็จะเหลือ 5 บาท แต่ได้เครื่องจักรราคา 20 บาท ก็เอาเครื่องจักรใส่ขวดโหลไว้อีก ของในขวดโหลก็จะยังเป็น 25 บาทเท่าเดิม; ได้ดุล

เงิน (5) + เครื่องจักร (20) = หนี้ (15) + ทุน (10)

  • พอเครื่องจักรผลิตของได้กำไรเป็นเงินมา 5 บาท เอาใส่ขวดโหล สินทรัพย์หรือของในขวดโหลก็จะเพิ่มเป็น 30 บาท เราก็จดป้ายไว้ว่า หนี้สินยังเป็น 15 บาท แต่ส่วนของผู้ถือหุ้น (ทุน บวกกำไรสะสม) จะเพิ่มเป็น 15 บาทแล้ว เพราะกำไร 5 บาทที่ได้มาเป็นของเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นนั่นเอง; ได้ดุล

เงิน (10) + เครื่องจักร (20) = หนี้ (15) + ส่วนของผู้ถือหุ้น (15)

  • ถ้าเราเอาเงิน 10 บาทที่มีในขวดโหล (5 บาทจากตอนแรก บวกกับ 5 บาทจากกำไร) เอาไปคืนหนี้ สินทรัพย์หรือของในขวดโหลก็จะเหลือ 20 บาท (คือเครื่องจักร) แล้วเราก็จดป้ายไว้ว่า หนี้สินเหลือ 5 บาท (เพราะคืนไปแล้ว 10 บาท) และส่วนของผู้ถือหุ้นยังเป็น 15 บาท; ได้ดุล

เงิน (0) + เครื่องจักร (20) = หนี้ (5) + ส่วนของผู้ถือหุ้น (15)

  • ฯลฯ
(หมายเหตุ ใครต้องการอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงบดุล หาอ่านได้ที่นี่ครับ http://th.wikipedia.org/wiki/งบดุล และ http://en.wikipedia.org/wiki/Balance_sheet )

หลักการเรื่องงบดุล ถ้านำมาประยุกต์ใช้กับการเงินในชีวิตประจำวัน ก็คือการนับของในขวดโหลแล้วก็จดบัญชีปิดป้ายไว้ อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ   นับของในขวดโหลว่ามีอะไรอยู่ในขวดโหลบ้าง ก็คือนับดูว่าเรามีสินทรัพย์อะไรบ้าง อยู่ในรูปอะไรบ้าง   แล้วก็จดบัญชีปิดป้ายไว้ว่า เรามีหนี้สินอยู่เท่าไหร่   ส่วนที่เรามีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน ก็เป็นส่วนของเรา ส่วนของเรานี้ บางทีก็เรียกว่า Net Worth บางทีก็เรียกว่าสินทรัพย์สุทธิ (หรือ Net Assets) ก็มี

สำหรับตัวผมเอง ผมจดบันทึกงบดุลอยู่สม่ำเสมอครับ   จริงๆ แล้ว ที่จดก็จดแต่สินทรัพย์เท่านั้นล่ะครับ เพราะไม่มีหนี้สิน (โชคดีจริงๆ)   เพราะฉะนั้น Net Worth ของผมก็จะเท่ากับสินทรัพย์ทั้งหมด   โดยผมจะพยายามบันทึกหรือ Update ทุก 3 เดือน ว่าขวดโหลของผมมีสินทรัพย์อะไรบ้าง   หลักๆ ก็มี เงินฝากธนาคารบ้าง เงินลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้บ้าง เงินลงทุนในกองทุนรวมบ้าง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ RMF และกองทุนหุ้นระยะยาวหรือ LTF ซึ่งจะพูดถึงต่อไปเมื่อมีโอกาสครับ) แต่ในขวดโหลยังไม่มีที่ดินหรืออาคารครับ   เมื่อเราทำงานเก็บออมมากขึ้น ก็จะเห็นขวดโหลเรามีของมากขึ้น จะได้มีไว้พอสำหรับหลังเกษียณ (หัวข้อนี้ก็น่าสนใจนะครับ ไว้จะพูดถึงต่อไปอีกเหมือนกันครับ)

กลับมาพูดถึงเรื่องแรกที่ผมเล่าถึงข้างต้น  ท่านผู้ถามนั้นก็ควรทำอย่างที่ผมทำสิครับ   ลองจดบันทึกดูว่าขวดโหลเรามีอะไรบ้าง   แล้วก็เริ่มแบ่งประเภทของในขวดโหล ว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเท่าไหร่ เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเท่าไหร่ จะได้ตัดสินใจได้ว่า ตอนนี้เรามีความกังวลแค่ไหน สามารถลงทุนในหุ้น (ซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะราคาหุ้นมีขึ้นมีลงได้) ได้ในสัดส่วนเท่าไหร่ของของในขวดโหลทั้งหมด

ส่วนเรื่องที่ 2 ที่ผมเท้าความจากตอนที่ 4 ที่ผ่านมา เรื่องการตรวจติดตามภาวะหนี้สินอย่างไรไม่ให้หนี้ท่วม   เราก็ควรจะดูว่าเวลานี้ของในขวดโหลเรามากกว่าป้ายหนี้สินที่เราติดไว้ข้างโหลหรือไม่ ก็คือ Net Worth เราเป็นบวกหรือไม่   ถ้า Net Worth เราเป็นบวกและโตขึ้น ก็แปลว่าเรายังมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน   แต่ถ้า Net Worth เราลดลงเรื่อยๆ ก็ต้องระวังแล้วครับ ระวังจะเกิดอาการหนี้พอกหางหมู   ส่วนเมื่อไหร่ถ้า Net Worth เราติดลบ แปลว่าแย่แล้วครับ เสี่ยงต่อการล้มละลายสูง ต้องกลับไปอ่านตอนที่ 1 และ 2 แล้วครับ ว่าจะทำอย่างไรดี

(หมายเหตุ ดูความตอนที่ 1 และ 2 ได้ที่นี่ http://gotoknow.org/blog/wachirachai/120409 และ http://gotoknow.org/blog/wachirachai/120663)

ก็ขอให้ทุกคนดูแลขวดโหลของตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยนะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 127282เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2007 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 12:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณนะคะ ที่เขียนบทความดีๆ อย่างนี้  อ่านง่าย เข้าใจง่ายสำหรับคนไม่มีความรู้และไม่ชอบเรื่องการเงินก็อ่านได้  กิ๊กเองก็ไม่มีหนี้สินค่ะ แต่ปัญหาคือ ไม่รู้เหมือนกันว่ามีสินทรัพย์อยู่เท่าไร  คงต้องเริ่มเช็คขวดโหล และแปะป้ายให้เป็นระเบียบซะแล้วล่ะค่ะ  จะติดตามตอนต่อไปนะคะ

ต้องขออภัยอย่างยิ่ง ผมตรวจสอบ Blog แล้วพบว่า link ที่ผมอ้างถึงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงบดุลใน wikipedia นั้น ผมสะเพร่าให้ข้อมูลผิดพลาดครับ ได้แก้ไขแล้วข้างต้นครับ
คุณเปรียบเทียบได้เข้าใจง่ายมากขึ้น  การบันทึกรายรับรายจ่าย งบดุลอะไรเนี่ย  ก็จะเริ่มทำแล้วคะ  เพราะสมควรงบแล้ว เพราะเวลาหาไม่มี จะได้รู้ว่า โหลไหนมีอะไรพอได้อาศัยบ้าง เวลาจำเป็นและเดือดร้อน อาศัยโหลได้ ยังมีซีกซ้าย ซีกขวา ต้องงบอยู่ตลอด ให้สมดุลย์กันใช่ไหมคะ  คืออย่าให้หนี้มันมากกว่ารายได้ สรุปบทเรียนรี้ใช่ไหมคะ  สวัสดีคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท